วิพากษ์กฎ กกต.เลือกตั้ง’66 เลิกรายงานแบบเรียลไทม์

วิพากษ์กฎ กกต.เลือกตั้ง’66 เลิกรายงานแบบเรียลไทม์

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการเลือกตั้งปี 2566 ยกเลิกแอพพลิเคชั่นรายงานผลแบบเรียลไทม์อย่างไม่เป็นทางการต่อสาธารณะ เหลือเพียงให้คณะกรรมการประจำเขต เป็นผู้รวมผลการนับคะแนน และให้มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ ของ กกต.จังหวัด ภายใน 5 วันนับแต่วันเลือกตั้งเท่านั้น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ให้มีการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเรียลไทม์ ผมมองว่าคงต้องมองย้อนกลับไปจะพบว่า กกต.ทำงานภายใต้การตั้งข้อสงสัยของประชาชนเป็นระยะๆ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ชอบธรรมของการทำงานของ กกต. กรณีนี้การที่ กกต.อ้างว่างบประมาณไม่เพียงพอ แล้วมาบอกว่าไม่รายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณภาครัฐ แต่โลกสมัยใหม่สามารถพัฒนาเรื่องแอพพลิเคชั่น สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มให้ข้อมูลประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเรียลไทม์ได้การที่ กกต.มาอ้างเหตุผลแบบนี้มองว่ามีวาระซ่อนเร้น

การที่จะต้องมีการรายงานผลการเลือกตั้งนานถึง 5 วัน ในสถานการณ์โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสามารถรายงานแบบเรียลไทม์ได้ แต่ห้ามไม่ให้มีการรายงาน แต่ต้องรอถึง 5 วัน มันเกิดการตั้งข้อสงสัยได้ว่าทำงานเป็นกลางจริงหรือไม่ หรือโน้มเอียงหรือมีเจตนาอะไรซ่อนเร้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด กกต.อยู่ในภาวะที่จะต้องชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสังคมหลายเรื่อง ที่มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งกรณีที่ไม่นำการเสนอข้อมูลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเรียลไทม์ด้วย

กรณีพรรคการเมืองได้มีการเสนอผลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ออกสู่สังคมด้วยพรรคการเมืองนั้น มองว่าอาจจะมีปัญหากับ กกต.ได้ เพราะว่า กกต.เป็นผู้ควบคุมกติกาและกลไกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด อาทิ พรรคการเมืองนำเสนอผลการเลือกตั้ง ต่อมาผลการเลือกตั้งไม่ตรงกับ กกต. เชื่อจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายออกมาเล่นงานพรรคการเมืองนั้นๆ แน่ ซึ่งความไม่เป็นธรรมย่อมเกิดขึ้น กกต.อาจจะเข้าไปควบคุมการเลือกตั้งทั้งหมด ดีไม่ดีอาจจะเข้าไปควบคุมตัวเลขทั้งหมดก็ได้ พรรคการเมืองที่เสนอผลการเลือกตั้งและไม่ตรงกับ กกต.อาจจะมีความผิดได้เช่นกัน

Advertisement

ในความเป็นจริง กกต.ไม่ควรปฏิเสธเรื่องการนำเสนอผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเรียลไทม์ ถึงแม้ว่า กกต.จะอ้างว่าไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดการเกี่ยวกับการนับคะแนน แต่ กกต.จะต้องเขียนข้อกฎหมายให้ชัดว่า บรรดาพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองสามารถเสนอข้อมูลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งผลดีที่ตามมาก็จะทำให้ กกต.จะต้องนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพราะหากข้อมูลของพรรคการเมืองไม่ตรงกับข้อมูลของ กกต.เมื่อไหร่ ก็จะได้มีการตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกัน ความเป็นธรรมในการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้น

รวมทั้งมีการรายงานผลการเลือกตั้งขัดกันระหว่างพรรคการเมืองกับ กกต. และมีผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งในเรื่องนี้หาก กกต.ไม่วางระเบียบเอาไว้ ก็จะเกิดผลกระทบต่อพรรคการเมืองผู้รายงานผลการเลือกตั้งนั้นแน่นอน หาก กกต.ผลคะแนนน้อยกว่าพรรคการเมืองย่อมมีผลทันที เพื่อความเป็นธรรมของ กกต.จะต้องเขียนระเบียบข้อบังคับ ในการเปิดช่องให้พรรคการเมืองเสนอผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ได้ เพื่อจะได้มีข้อมูลในการต่อสู้กัน หากไม่มีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เอื้อให้รายงานผลแบบเรียลไทม์ ก็จะต้องทำตาม กกต.ตลอด ซึ่งทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้ เพราะฉะนั้นจะต้องให้พรรคการเมืองนำเสนอผลการเลือกตั้งได้ หากมีปัญหาเกิดความแตกต่างกันในเชิงตัวเลข ถ้า กกต.จะตัดสินไปทางใดทางหนึ่ง ก็จะต้องต่อสู้กันด้วยเรื่องข้อมูลที่เป็นจริง

ส่วนการที่จะรายงานผลการเลือกตั้งแต่ละหน่วยบนกระดานที่นับคะแนนเลือกตั้ง ผมคิดว่าทำได้เลยและเสนอแบบเรียลไทม์ หากมีการรายงานผลการเลือกตั้งเร็วเท่าใดก็สะท้อนถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้งเท่านั้น ถ้าให้ กกต.รายงานแบบรวมศูนย์ อย่าว่าแต่ 5 วันเลย 2 วันก็มีปัญหาแล้ว

ในความคิดของผมหากจะให้การนับคะแนนเป็นไปด้วยความโปร่งใส ในเรื่องนี้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการรายงานผลการเลือกตั้งได้คือ อยากให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มธนาคารที่สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้ให้คิดถึงการเลือกตั้งแบบออนไลน์ ทุกวันนี้การเลือกหัวหน้าชั้น การเลือกผู้นำนิสิตนักศึกษาใช้ระบบออนไลน์หมดแล้ว เห็นได้จากการโอนเงินเป็นแสนเป็นล้านโดยผ่านความเชื่อใจจากแอพพลิเคชั่น เพราะฉะนั้นหากมีการพัฒนาการเลือกตั้งแบบแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ความโปร่งใส การซื้อเสียงจะแก้ไขได้ง่าย การใช้กำลังคน การใช้งบประมาณจะลดลงทันที และเรียลไทม์ได้เลยไม่เกิน 5-6 นาทีรู้แล้วใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง รวมทั้งในส่วนของประชากรผู้สูงวัยคนพิการ อาจจะไม่มีความสามารถเกี่ยวกับออนไลน์ ก็จะใช้ออนไซต์โดยตั้งคูหาไว้ให้ เป็นการพัฒนาการเลือกตั้งเป็นแบบออนไซต์และออนไลน์ เรื่องนี้ กกต.จะต้องคิดแล้ว เพราะเป็นการประหยัดงบประมาณ ประหยัดเวลา และยังเป็นการป้องกันทุจริตการเลือกตั้งได้อีกด้วย

ในอดีตที่บริษัทมือถือหรือธนาคารต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการรายงานผลการเลือกตั้ง และห่างหายไปในช่วงระยะหลังๆ ซึ่งในเรื่องนี้ กกต.ต้องคิด แต่ กกต.ทำงานแบบระบบราชการ ทำงานภายใต้คำสั่งของระบบราชการ ประกอบกับไม่สามารถจัดการและบริหารระบบการเลือกตั้งไม่เป็น แทนที่จะดึงนักศึกษา นิสิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มธุรกิจเอกชน กลุ่มธนาคารต่างๆ ที่มีความพร้อมเข้ามาช่วยเหลือ กกต.ไม่มีความสามารถในเรื่องนี้เลย ถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของ กกต.ชุดนี้

การที่ กกต.ทำงานภายใต้ความคลางแคลงใจของคนทั้งสังคมในหลายเรื่อง ดูแล้วเหมือนกับ กกต.ทำงานภายใต้คำสั่งของใครบางคนอยู่ และทำให้สังคมคลางแคลงใจเสมอ ในการตัดสินใจหรือมีนโยบายเกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมาทุกครั้ง เหมือนมีอะไรแอบแฝง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิด

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

อันดับแรก ผมไม่ชัวร์ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไม่รายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ คือเป็นภาพจำของคนว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จคนต้องมานั่งหน้าจอและรอดูผลการเลือกตั้งสดๆ ถ้าจะหลีกเลี่ยงไม่ทำเลย ผมว่ามันจะฝืนเกินไปเพียงแต่ว่าเขาจะทำอย่างไรและจะทำได้ดีหรือไม่ เป็นคำถามมากกว่า

เท่าที่เคยคุยกับนายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต.ก็เล่าปากเปล่าว่าสิ่งที่จะทำคือไม่มี แอพพ์ Rapid Report และไม่มีเทคโนโลยีพิเศษในการรายงานผลสด แต่จะให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งถ่ายภาพใบรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย (แบบ ส.ส. 5/18) ที่รวมผลคะแนนเสร็จแล้วส่งให้คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางไลน์ อีเมล์ หรือแชต และมีคณะกรรมการกรอกผลลงในโปรแกรมอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นเอ็กซ์เซล หรือกูเกิลสเปรดชีต เพียงแต่ประสิทธิภาพหรือความถูกต้องและความรวดเร็วจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้แย่เลยไม่จำเป็นจะต้องเป็นแอพพ์เฉพาะ

เพียงแต่ผมถามนายแสวงไปว่า วิธีการที่พูด ทำออกมาเป็นระเบียบได้หรือไม่ หรือออกเป็นคำสั่งแนวทางปฏิบัติให้มีลายลักษณ์อักษร แต่เขาบอกไม่ออกเพราะเป็นในทางปฏิบัติ จากระเบียบที่เราเห็นคือไม่มีเรื่องนี้ ดังนั้น ถ้าเขาทำตามที่พูดผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าเขาไม่ทำตามแล้วจะไม่รายงานสดเลย อันนี้เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ

ซึ่งวิธีดังกล่าวมีช่องโหว่ในการทำให้ผลเลือกตั้งคลาดเคลื่อน แบบแรกคืออาจจะพลาดจริงๆ โดยคนที่คีย์ข้อมูลลงในสเปรดชีต บางทีอาจจะกรอกผิด ซึ่งผมก็ได้ขอให้มีการเปิดเผยรายชื่อของบุคคลที่ทำหน้าที่ทั้งหมดได้หรือไม่ นายแสวงบอกว่า เปิดเผยอยู่แล้ว แต่ผมไม่เคยเห็น ก็จะรอดูว่ามีการเปิดเผยจริงหรือไม่

ที่แย่ไปกว่านั้น คือเป็นไปได้หรือไม่ว่าตอนรวมคะแนนออกมาแล้วไม่ตรงกับคะแนนที่ควรจะเป็นด้วยเจตนาทุจริต ซึ่งเป็นไปได้อีก กรรมการทุกหน่วยจะรู้แค่ผลของตัวเอง เมื่อส่งไปรวมที่เขต คนที่เขตอาจจะกรอกไม่ตรงกันเป็นไปได้ ถ้าหากมีการทุจริต ฉะนั้นวิธีการป้องกันมี 3 ขั้นตอนคือ 1.ต้องเปิดเผยรายชื่อของคนที่คีย์ข้อมูลทั้งหมด 2.มีภาพถ่ายที่มาจากหน่วยต่างๆ เปิดเผยด้วย อาจจะใช้เวลาสักหน่อยภาพที่เป็นลายมือของกรรมการประจำหน่วยและมีลายเซ็นของกรรมการทุกหน่วย 3.ตอนนับคะแนนจริงและตอนรวมคะแนนที่หน่วย ต้องเปิดให้มีคนเข้าไปดูและถ่ายภาพ สามารถทักท้วงได้เต็มที่เพื่อให้ถูกต้อง ซึ่งเบื้องต้น นายแสวงรับข้อเสนอทั้งหมดและจะเปิดเผยทุกอย่างตามที่เรียกร้อง ฉะนั้นตอนนี้ผมใช้คำว่า ไม่ชัวร์ ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่

ถ้าเกิดขึ้นคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีและจะทำให้กระบวนการรายงานผลคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้เดินหน้าไปอย่างโปร่งใส แต่ถ้าไม่เกิดขึ้น เช่น ไม่เปิดรายชื่อคนกรอกผลคะแนน ไม่เปิดผลคะแนนรายหน่วยหลังจากเลือกตั้งเสร็จ หรือกรรมการประจำหน่วยไม่ให้ความร่วมมือและไม่ให้ผู้สังเกตการณ์มีส่วนร่วม อันนี้ก็แสดงถึงความไม่โปร่งใส จากการพูดคุยกับนายแสวงนั้น ได้รับปากแล้วว่า 3 ขั้นตอนที่กล่าวไป ต้องได้ เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่เขาจะทำ

ดังนั้น ถ้าในทางปฏิบัติไม่เกิดขึ้นยิ่งน่าสงสัยว่ามีใครที่มีเจตนาไม่ดีจึงไม่ทำตามขั้นตอนพื้นฐานเหล่านี้

ทั้งนี้ ทาง iLaw ได้จัดหาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง เตรียมเรื่องนี้มาเป็นปีแล้ว เพราะเมื่อปี 2562 เกิดการรวมคะแนนและรายงานผลคะแนนที่มีปัญหาซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มาก คือเราผ่านการรายงานคะแนนสดมาหลายสิบปีแล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาขนาดนี้ แต่ปี 2562 กลับมีปัญหามากเหมือนกับประเทศไทยเพิ่งมีอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ตอนนั้นเราได้ชวนอาสาสมัครไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่ยังไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาขึ้น พอเกิดปัญหาขึ้นเรารู้สึกว่าการสังเกตการณ์เลือกตั้งเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าที่เราเคยเข้าใจ ซึ่งเราก็ซ้อมมาทั้งตอนเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็เตรียมระบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะคิดได้

สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ที่จะถึงนี้ ประชากรและจำนวนเขตเลือกตั้งมากขึ้น จำนวนหน่วยเลือกตั้งจึงมากขึ้น ปี 2562 มีประมาณ 9 หมื่นเศษๆ ปีนี้คาดกว่าจะมีเกือบๆ แสนหน่วย และมีบัตร 2 ใบ ดังนั้นเราต้องการอาสาสมัครอย่างน้อย 100,000 คน เพื่อไปจับตากระบวนการนับคะแนนและการรายงานผลคะแนนหลังปิดหีบที่หน่วยเลือกตั้งทุกหน่วย แต่จริงๆ แล้วใน 1 หน่วยจะมี 2 หีบและนับพร้อมกัน ดังนั้น ถ้ามีอาสาสมัครมากกว่า 100,000 คนเพื่อให้ 2 คนดูคนละหีบก็จะยิ่งดี

สิ่งที่อยากเชิญชวนประชาชนคือ หลังปิดหีบเลือกตั้งเราไปหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านที่เราสะดวกที่สุด เพื่อดูการนับทุกขั้นตอนว่าเลขที่ขานตรงกับที่กาในบัตรหรือไม่ และคนที่ขีดคะแนนขีดตรงเบอร์หรือไม่ ถ้ากรรมการประจำหน่วยทำพลาดไปก็สามารถทักท้วงเพื่อแก้ไขให้ถูก เมื่อรวมคะแนนแล้วเราก็ถ่ายภาพบอร์ดนับคะแนนและส่งเข้ามาที่เว็บไซต์ vote62.com และจะมีอาสาสมัครอีกจำนวนหนึ่งที่นั่งดูภาพที่ส่งเข้ามาและกรอกคะแนนเป็นระบบดิจิทัล โดยจะมีผลคะแนนที่รายงานสดจากคนเป็นแสนคน ซึ่งจะสามารถรู้ผลคะแนนได้โดยไม่ต้องรอ กกต.ประกาศ สำหรับอาสาสมัครปีนี้เราก็อยากได้ครบจำนวน แต่ถ้าได้ไม่ครบอย่างน้อยเราก็จะมีเขตวิกฤตที่คะแนนค่อนข้างสูสีและมีผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมาก เขตเหล่านี้เป็นเขตที่เรากังวลเป็นพิเศษ ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 40-50 เขต ก็จะพยายามหาคนที่ไว้วางใจได้ร่วมมือกับภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมหลายๆ องค์กร

วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การรายงานผลการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยและสาระสำคัญไม่ใช่อยู่แค่ คนไปกากบาทแค่ 4 วินาที ในการเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง

แต่อยู่ที่กระบวนการทั้งหมดของการเลือกตั้ง แต่สาระทั้งหมดของการเลือกตั้ง อยู่ที่การจัดการเลือกตั้ง การลงคะแนน การนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้ง ทั้งกระบวนการตรงนี้

การยอมรับในการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย อยู่ที่กระบวนการตลอดทั้งเส้นทาง สามารถที่จะตรวจสอบได้หรือไม่ว่าคะแนนเสียงของประชาชนส่งถึงผู้แทนหรือที่เลือกให้ได้ ส.ส.หรือรัฐบาลจริงหรือไม่

การจะให้กระบวนการยอมรับ ในการเลือกตั้งมีหลายวิธี โดยหลักการพื้นฐาน ก็มีเรื่องการตรวจสอบภายในองค์กร ว่าการเลือกตั้งเหมาะสมหรือไม่ และการตรวจสอบโดยสาธารณะไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบโดย ประชาชน เอ็นจีโอ กลุ่มองค์กรต่างประเทศที่เข้ามาร่วมในการติดตามการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งน่าเชื่อถือมีความโปร่งใส การไปถึงจุดนั้นต้องมีช่องทางในการให้คน ให้องค์กร ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลการเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ช่องทางจึงต้องมีหลากหลาย เมื่อเทียบกับปี 2562 ช่องทางนี้ควรต้องมี เพื่อให้ประชาชนได้ดูคะแนนของผู้สมัคร เป็นช่องทางที่ต้องมีถ้าต้องการให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าไม่มี การเลือกตั้งก็จะเป็นเพียงตรายาง

ถ้าประเทศเราอยากเป็นประเทศประชาธิปไตย องค์กรจัดการเลือกตั้งควรเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ร่วมติดตามการจัดการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

แน่นอนว่าการเปิดช่องทาง อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีภาระทางงบประมาณมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระทางงบประมาณอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่เงินของหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐ

นี่เป็นเงินภาษีของประชาชนมาใช้ในการตรวจสอบการเลือกตั้งได้มากขึ้นจึงจำเป็นต้องมี ต้องใช้ เพราะฉะนั้นการอ้างงบประมาณ ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่

ส่วนการอ้างเทคโนโลยีถ้ามีการรายงานตัวเลขไม่ถูกต้องจะทำอย่างไรนั้นปี 2562 ตัวเลขการรายงานผลตัวเลขเปลี่ยนแปลงไปตลอด เงื่อนไขไม่ตรงกัน ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ไม่ใช่ปัญหา ความผิดพลาดเรื่องเครื่องมือ ผิดพลาดด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ การได้มีช่องทางให้ได้ตรวจสอบ การเลือกตั้งแบบชัดเจน การติดตามทางออนไลน์ ออนไซต์ ถ้ามีหลายช่องทางก็จะมีประโยชน์มากกว่า เกิดการรีเช็กข้อมูล ประชาชนจะได้ตรวจสอบจากทุกช่องทางว่ากระบวนการถูก ไม่ถูก แต่สุดท้ายข้อมูลอย่างเป็นทางการ ทาง กกต.จะเป็นผู้รายงานผล

ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่า ถูกหรือไม่ ทำไมต้องมีการตรวจสอบการเลือกตั้งทั้งกระบวนการ เพราะตรงนี้จะทำให้กระบวนการของ กกต.น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นเป็นเหตุผลในการที่ว่าต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะตอนกาบัตรเท่านั้น

แต่ถ้าไม่มีการตรวจสอบเลย จะเป็นปัญหามาก ทำให้การเลือกตั้งเราไม่เป็นที่ยอมรับ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญเพราะการเลือกตั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทย ว่าตอนนี้สภาวะที่เคยเกิดขึ้น ที่เป็นสภาวะเผด็จการ เป็นเผด็จการซ่อนรูปหลังรัฐประหารการเลือกตั้งปี 2562 ไม่มีอีกแล้ว

คนที่ในอดีตเคยเป็นหัวหน้ารัฐประหาร ไม่มีคนที่เคยทำรัฐประหาร คนที่เป็นอดีตหัวหน้ารัฐประหาร ก็มาลงสังกัดพรรคการเมือง มาแสดงตนเป็นนักการเมือง ลงสมัครให้ประชาชนได้เลือกแบบเต็มตัว เป็นการเริ่มเข้าสู่กระบวนการ เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ เป็นการพิสูจน์ตนเอง แบบนี้การเลือกตั้งทำให้เราเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

แต่ถ้าหากขาดการตรวจสอบดังกล่าว ก็จะกลับสู่วงเวียนเดิม คนไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบได้ทุกช่องทาง ให้หลายช่องทาง และควรมีให้มากขึ้นยิ่งกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image