‘3 พรรค’ เคลมผลงาน เหลี่ยมคู? สู้เลือกตั้ง

รายงานหน้า 2 : ‘3 พรรค’ เคลมผลงาน เหลี่ยมคู?สู้เลือกตั้ง

หมายเหตุ ความเห็นต่อกรณี ครม.เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ได้พิจารณาเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน ทำให้พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างโพสต์ลงโซเชียลในเวลาไล่เลี่ยกัน แสดงความเป็นเจ้าของผลงาน

พิชิต รัชตพิบุลภพ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

มีทฤษฎีทางจิตวิทยาทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า Recency Effect ที่กล่าวว่า มนุษย์จะจดจำผลงานหรือการกระทำที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นไม่นานนี้ได้ดีกว่าผลงานหรือการกระทำที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่นานมาแล้ว ด้วยเหตุจากทฤษฎีทางจิตวิทยาดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดาพรรคการเมืองหรือนักการเมืองทั้งหลายต่างเร่งลงพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมหาเสียงเนื่องด้วยฤดูการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการใกล้เข้ามาถึงแล้ว ฉะนั้น หากนักการเมืองท่านใดอยากก้าวเท้าเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรคงต้องรีบเร่งแสดงผลงานอันโดดเด่นให้ประชาชนเห็นประจักษ์ชัด ซึ่งภาพสะท้อนช่วงเวลาแห่งการอ้าง การแย่ง การเคลมผลงานเริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้น โดยเฉพาะจากกรณีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม.และ อสส.ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

พลันที่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณดังกล่าว พรรครวมไทยสร้างชาติอ้างทันทีว่า เราทำแล้ว พรรคภูมิใจไทยอ้างทันทีว่า พูดแล้วทำ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งสามพรรคต่างก็อ้างว่าเป็นผลงานของพรรคตนตามแต่ละเหตุผลที่แต่ละพรรคจะยกขึ้นอ้าง ก็เห็นด้วยว่าผลงานการเพิ่มค่าป่วยการดังกล่าวเป็นผลงานร่วมที่ทั้งสามพรรคการเมืองสามารถนำไปใช้อ้างเป็นผลงานเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่ม อสม.และ อสส.ได้ แต่ข้ออ้างนี้ก็ใช่ว่าจะถูกทั้งหมด ข้ออ้างที่ควรจะเป็นคือการเพิ่มค่าป่วยการเป็นผลงานของทุกพรรคการเมืองทั้งที่สนับสนุนและที่ไม่คัดค้านการเพิ่มค่าป่วยการดังกล่าว เมื่อทุกพรรคต่างอ้างความเป็นเจ้าของผลงาน ความยากลำบากใจจึงย้อนกลับมาตกยังกลุ่ม อสม.และ อสส.ว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะเทใจลงคะแนนให้กับพรรคใด

ยิ่งช่วงใกล้เวลาเลือกตั้งเข้ามามากเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็น นโยบายซานต้า ที่เน้นการแจก เกทับบลั๊ฟแหลกกันมากขึ้นเท่านั้น ทั้งที่ปรากฏอยู่ในรูปของนโยบายที่สนับสนุนการใช้ชีวิตของประชาชนด้วยการลดค่าครองชีพทั้งค่าไฟฟ้า ค่าประปา หรือค่าเดินทาง หรือนโยบายด้านสวัสดิการสังคมด้วยการเพิ่มเงินช่วยเหลือประชาชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งแนวคิดเชิงนโยบายทั้งหมดล้วนเป็นแนวคิดที่ดีที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชน พยายามลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นที่แตกต่างกันมากขึ้นไปทุกที แต่ต้องยอมรับความจริงว่าจุดประสงค์หลักของนโยบายทั้งหลายที่เสกสรรคิดขึ้นมาเหล่านี้ล้วนเพื่อต้องการการสนับสนุนทางการเมืองจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งด้วยเหตุที่การแข่งขันทางการเมืองในสมรภูมิครั้งนี้สู้กันดุเดือดมาก

Advertisement

สิ่งสำคัญที่ประชาชนอย่างเราต้องคำนึงให้มากคือ นโยบายซานต้า ที่ใช้ในการหาเสียงนี้จะปรากฏเป็นจริง ทำสำเร็จให้เป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหนภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว มีหลายนโยบายที่เคยขายฝันและประชาชนก็เคยคาดหวังจากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งก่อน แต่ผ่อนผันมาเรื่อยๆ ฉะนั้นการเลือกตั้งคราวนี้ประชาชนคงต้องคิดให้ดีตรึกตรองให้รอบคอบ

อีกประเด็นที่ประชาชนอย่างเราต้องคำนึง ได้แก่ ผลที่ตามมาอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องมาจากการดำเนินโครงการตามนโยบาย คือ ภาระทางการคลังของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้งบประมาณ ฉะนั้น สิ่งที่อยากเห็นควบคู่ไปกับนโยบายหาเสียงจากทุกพรรคการเมือง คือ นโยบายสำคัญที่เป็นหมัดเด็ด หมัดน็อกในการหาเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน เมื่อคิดจะใช้เงินเก่ง ก็ต้องคิดหาเงินเป็นด้วย

วันชัย จึงวิบูลย์สถิตย์
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย

กรณี ครม.อนุมัติงบประมาณสนับสนุนเงินช่วยเหลือ อสม.ในปี 2567 จะได้เงินเพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อเดือน ทำให้หลายพรรคการเมืองพยายามจะโชว์ว่าเป็นผลงานของตัวเอง โดยการโพสต์ลงในโลกโซเชียล หากมองภาพรวมก็ต้องเห็นด้วย เพราะ อสม.จะได้รับเงินเพิ่มมากขึ้นจากการปฏิบัติงาน ถ้ามองแบบทั่วไปเป็นงานปกติของคณะรัฐมนตรี แต่มองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าจะเป็นช่วงสิ้นสุดของรัฐบาล ซึ่งธรรมชาติของการเมือง ทุกพรรคการเมืองต้องสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเอง ถือว่าไม่แปลก โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลพยายามผุดผลงานของตัวเองเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และประกาศว่าเมื่อร่วมรัฐบาลแล้ว มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าได้มีผลงาน ทำอย่างนั้น อย่างนี้นะ พรรคใดก็ตามเมื่ออยู่จุดนี้ก็ต้องทำแบบนี้

หากมองว่า อสม.เป็นฐานคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองที่ดี คงต้องมองย้อนกลับไปว่า อสม.มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และต้องมองว่า อสม.มีความจำเป็นไหม ในขณะที่การแพทย์ของประเทศไทย ยังไม่สามารถนำบุคลากรทางแพทย์ไปดูแลประชาชนได้ทั่วถึง บทบาทของ อสม.จึงเป็นการบรรเทาในเรื่องสาธารณสุข เพราะมีคนมาช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข หากมองไปแล้ว อสม.ทำงานหนักมาก แต่ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท หากให้เปรียบเทียบระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับ อสม.มองว่า อสม.มีประโยชน์มากกว่า

ส่วนจะเป็นหัวคะแนนสำคัญให้กับนักการเมืองหรือไม่นั้น อยากให้มองแบบนักวิชาการ อสม.ถือว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่มีประโยชน์ ส่วนองค์กรไหนจะใช้ประโยชน์ อสม.เพื่อให้เป็นประโยชน์กับตัวเองนั้น ถือว่าเป็นคนละประเด็นกัน อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วในเรื่องการเลือกตั้ง ประชาชนจะต้องรู้ทัน และมีใจเป็นธรรม รวมทั้งมองให้ลึกซึ้ง หากมีนักการเมืองใช้ อสม.เป็นเครื่องมือ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และนักการเมืองผู้นั้นฉวยโอกาสมากกว่า ก็เหมือนกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ถูกกล่าวหามานานแล้วว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และเป็นฐานเสียงด้วยเช่นกัน ดังนั้น อสม.เป็นองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมา มีภาระหน้าที่จะต้องทำ เพียงแต่ว่ามีพรรคการเมืองชอบยัดเยียด หรือดึงเข้ามาเป็นหัวคะแนน แต่อยากให้คนเลือก หรือประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องรู้เท่าทัน

ส่วนการเพิ่มเงิน อสม. 2,000 บาทต่อเดือน คิดว่ามีการวางแผนมานานแล้ว ถ้าผมเป็นพรรครัฐบาลจะต้องมีการวางเกมการเมืองอย่างไร ต้องยอมรับในเรื่องทฤษฎีเกม ใครเล่นเกมเก่งกว่าก็ชนะ เมื่อเห็นประโยชน์ของ อสม.ก็จะต้องสานต่อไปเพื่อเรียกคะแนนเสียง

รวมทั้งการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือในเรื่องสาธารณูปโภคให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มองว่าช่วงนี้รัฐบาลทำอะไรเป็นเรื่องผิดปกติไปทั้งหมด หากคิดว่าเป็นเรื่องงานปกติก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ต้องมาดูว่างบประมาณที่อนุมัติไปสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือน่าเกลียดไหม ควรจะไปวัดตรงนั้น หากมองว่าน่าเกลียดถือว่ารัฐบาลจงใจที่จะหาผลประโยชน์ในการอนุมัติงบประมาณตรงนี้

ส่วนจะมีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่ค่อยจะติดตาม หรือศึกษาในเรื่องเหล่านี้ว่าจะเกิดผลประโยชน์ในท้องถิ่นของตนเองมากน้อยเพียงใด หากมองไปประเทศอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาเหมือนกับประเทศไทยที่ยังไม่ทะลุมิติ ประชาชนก็จะเลือกผู้ที่นำผลประโยชน์มาให้มากกว่า เพราะยังกลั่นกรองไม่ได้เยอะ ในเรื่องนี้สถานศึกษาจะต้องมีความเข้มข้นในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองทั้งในระบบและนอกระบบ ให้รู้เท่าทันเรื่องการเมือง

อยากให้มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแจกเงินกันอย่างสะบัดเลย เมื่อช่วงผมไปสอนนิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับการเมือง มักจะกล่าวว่าการไปรณรงค์ไม่ขายสิทธิซื้อเสียงถือว่าโบราณไปแล้ว จึงบอกไปว่าใครให้ก็รับไปเลย แต่ไปเลือกคนที่ใช่ก็แล้วกัน

ในฐานะนักวิชาการในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงจะต้องให้ความรู้ประชาชน ต้องใช้เวลา ต้องเอาผลการปฏิบัติงานของนักการเมือง หรือพรรคการเมืองมาตีแผ่เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ เหมือนเคยกล่าวไปแล้ว ส.ส.จะต้องมีแบรนด์ติดตัวเป็นคนของสังคม และเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่มีเงินแล้วมาลงสมัครรับเลือกตั้ง คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 เจเนอเรชั่น หรือหมดคนรุ่นเราไปแล้ว การเมืองถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อยากให้มองดูผลงาน ส.ส.แต่ละคนไปทำงานในสภา 4 ปีแล้ว ยังมองไม่ออกอีกหรือว่าจะเลือกใคร หรือจะเลือกพรรคไหน เมื่อมีการแจกเงินเลือก ส.ส. เมื่อจะไปเลือกตั้งควรเลือกคนที่ตัวเองคิดว่าใช่จะดีกว่า

การที่พรรคร่วมรัฐบาลเทงบประมาณในช่วงนี้ และมีแนวโน้มจะไปตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า มองแล้วมีความเป็นไปได้สูง และรัฐบาลสมัยหน้าก็คงเป็นแบบเดิมๆ เพราะที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ถล่มกันอย่างจริงจัง เพียงแตะกันเท่านั้นเพื่อเกมการเมือง

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มมร.วิทยาเขตล้านนา

รัฐบาลเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม.และ อสส.จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาทต่อเดือนก่อนครบวาระ วันที่ 23 มีนาคมนี้ เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อหาเสียงทิ้งทวนก่อนยุบสภา เนื่องจาก อสม.และ อสส.ทั่วประเทศ มีกว่า 500,000 คน การเพิ่มค่าตอบแทนเป็นการสร้างขวัญกำลังใจผู้ที่เสียสละ ปฏิบัติหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยประชาชนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด มากว่า 3 ปี ก่อนกระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นโรคประจำถิ่นตามลำดับ

อีกมุมหนึ่ง ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 1,000 บาทต่อเดือน เป็นการกระตุ้นใช้จ่ายในระดับชุมชน เพราะ อสม.และ อสส.ส่วนใหญ่ไม่เก็บเป็นเงินออม แต่นำมาซื้ออาหารของใช้ในครัวเรือน เพื่อเก็บกักตุนและใช้ระหว่างเดือน เป็นการแบ่งเบาภาระครอบครัว ที่สำคัญ เงินดังกล่าวสามารถหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ 5-6 รอบ ส่งผลให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นคึกคัก เพราะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ส่วนงบประมาณสร้างถนน แหล่งน้ำ สาธารณูปโภคพื้นฐาน 2,765 โครงการ 67 จังหวัด วงเงินกว่า 8,100 ล้านบาท พร้อมเยียวยาชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยในพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้นถือว่าเป็นผลงานพรรคร่วมรัฐบาล ที่ผลักดันขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว แม้บางโครงการอาจล่าช้าไปบ้าง แต่ยังได้รับการดูแลจากรัฐบาลอยู่ดี แต่คนที่ได้รับเครดิตสูงสุด คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รองลงมาเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าว หลังลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องจากประชาชนกลุ่มต่างๆ การเลือกตั้งทุกครั้ง มีเงินหมุนเวียนในชุมชนทั่วประเทศ 40,000-50,000 ล้านบาท สะท้อนถึงการจับจ่ายใช้สอยที่สูงกว่าปกติทั่วไป

ส่วนการใช้งบประมาณเพื่อตอบสนองนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลที่ใช้หาเสียงนั้น ต้องดูว่าเป็นนโยบายที่เคยแถลงต่อสภามาแล้วหรือไม่ หรือเป็นนโยบายที่ต่อยอดจากโครงการเดิม สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงฐานะการเงินการคลังประเทศเป็นอันดับแรก ที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินจากต่างประเทศ และขายพันธบัตรให้นักลงทุนในประเทศ เพื่อใช้ในโครงการประชานิยม รัฐสวัสดิการ แต่ไม่ได้นำเงินสำรองประเทศมาใช้ ทำให้ฐานะการเงินการคลังประเทศค่อนข้างมั่นคง เพราะอยู่ในอันดับ 12 จาก 200 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น ไม่น่าส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพประเทศมากนัก เนื่องจากยังมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากการใช้จ่ายประชาชนตามปกติ พร้อมให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีที่ดิน โรงเรือนแบบ 100% เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตประชาชนมากขึ้น

แนวทางเพิ่มรายได้ให้ประเทศ เพื่อชดเชยรายจ่ายประชานิยม และรัฐสวัสดิการนั้น รัฐบาลต้องเน้นการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมส่งเสริมท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลักโดยมีเป้าหมายพึ่งตนเอง เป็นอันดับแรก

ที่สำคัญพรรคการเมือง ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ ต้องมีวิสัยทัศน์และนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออก และท่องเที่ยวใหม่ไปยังตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้มากขึ้น แต่ยังรักษาตลาดหลัก อเมริกา ยุโรป เอเชียไว้เหมือนเดิม เพื่อรักษาความสมดุลการค้า ลงทุนท่องเที่ยวในทุกมิติ พร้อมเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระดับโลก เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image