‘ทิ้งทวน’ ทีใคร-ทีมัน ไพ่เด็ดสู้เลือกตั้ง!?

รายงานหน้า 2 : ‘ทิ้งทวน’ ทีใคร-ทีมัน ไพ่เด็ดสู้เลือกตั้ง!?

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตําแหน่งกํานัน-ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล สารวัตรกํานัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบและโครงการอื่นๆ ในข่ายประชานิยม เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

Advertisement

โดยยธรรมชาติรัฐบาลมักทิ้งทวนใช้งบประมาณเพื่อสร้างผลงาน ก่อนยุบสภาหรือครบวาระ การเพิ่มค่าตอบแทนให้กลไกเครือข่ายรัฐ ถือเป็นผลงานประเภทหนึ่งและใช้หาเสียงล่วงหน้า เพื่อเรียกความนิยมให้รัฐบาล และมีผลต่อเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ส่วนตัวไม่ให้เครดิตเรื่องดังกล่าว การเพิ่มค่าตอบแทนเป็นการใช้ภาษีประชาชนทั้งประเทศ บางส่วนอาจเป็นเงินกู้ต่างประเทศ แต่รัฐบาลไม่ได้หารายได้มาชดเชยรายจ่ายดังกล่าว ทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น อีกทั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวหารัฐบาลชุดก่อนๆ ว่า ใช้งบประมาณไปกับโครงการประชานิยม และรัฐสวัสดิการ เพื่อหาเสียงจำนวนมาก แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำไม่ต่างกัน และทำมากกว่า เหมือนเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น

ผลจากการเพิ่มค่าตอบแทน เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้รับอานิสงส์มากที่สุด ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับน้อยที่สุด เพราะต่างไม่มีนโยบายและผลักดันเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้น

Advertisement

แต่การอนุมัติดังกล่าว อาจส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าตรวจสอบมากขึ้นก็ได้ว่า รัฐบาลเพิ่มค่าตอบแทนเข้าข่ายหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ ทั้งที่มีการเสนอขอเพิ่มค่าตอบแทนมานานแล้วแต่เพิ่งทำตอนใกล้หมดสมัยรัฐบาล แม้ทำได้ไม่ผิดกฎหมายก็ตามแต่อาจไม่เหมาะสม เพราะเอาเปรียบพรรคอื่น พรรคฝ่ายค้านต้องปรับกลยุทธ์หาเสียง ขยันลงพื้นที่พบประชาชนมากขึ้น อธิบายผลดีผลเสียการเพิ่มค่าตอบแทนเป็นอย่างไร เพื่อประชาชนใช้วิจารณญาณ ซึ่งการสำรวจโพล ส่วนใหญ่กว่า 80% ไม่พอใจรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างงานและรายได้ สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพและค่าพลังงานสูงขึ้น ถือเป็นจุดอ่อนรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลกลับเพิ่มค่าตอบแทน โดยไม่มีนโยบายหรือแนวทางช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและบริการที่ชัดเจน จึงเป็นการวัดใจประชาชนว่า จะเลือกรัฐบาลที่ช่วยเหลือกลไกขับเคลื่อนรัฐบาล หรือช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง

ประชาชนควรใช้วิจารณญาณเลือกพรรคและผู้สมัคร คือ นโยบายพรรคตอบสนองโจทย์ประชาชนได้หรือไม่ ที่สำคัญต้องเป็นนโยบายที่ปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้ ไม่ใช่เพ้อฝัน ดังนั้น พท.มีโอกาสมากที่สุดเพราะเคยมีผลงาน 30 บาทรักษาทุกโรค เรียนฟรี กองทุนหมู่บ้านและโอท็อป ที่ประชาชนยังจดจำอยู่ ขณะที่ พปชร.และ ปชป. มีโอกาสเป็นรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ทำตามนโยบายเสียโอกาสไม่น้อย ต้องไม่ลืมว่า กระแส กระสุน และเครือข่าย มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะขับเคลื่อนไปสู่ชัยชนะมากที่สุด เพียงนโยบายอย่างเดียวเป็นไปได้ยาก เหมือนชกมวย 5 ยก ถ้าไม่น็อก ต้องดูยกสุดท้ายใครออกอาวุธ ได้จะแจ้งมากกว่ากัน

วันชัย จึงวิบูลย์สถิตย์
นักวิชาการอิสระ

การที่ ครม.อนุมัติให้ขึ้นค่าตอบแทน อบต.ช่วงใกล้จะยุบสภาถือว่าผิดปกติเหมือนกัน ช่วงนี้รัฐบาลใกล้หมดวาระ ทุกคนก็ต้องมองว่าไม่เหมาะสม หากมองแบบวิญญูชนเป็นเรื่องประหลาดที่มาเกิดขึ้นตอนนี้พอดี ถ้าว่ามาจากการรวมตัวขอขึ้นค่าตอบแทนของ อบต. และ ครม.มาอนุมัติช่วงนี้พอดีก็ถือว่าสมประโยชน์ แต่หากอยู่ดีๆ แล้วรัฐบาลมาขึ้นค่าตอบแทนให้ อบต.เป็นเรื่องไม่ดี

หากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเรียกร้องเงินเดือนขึ้นมาอีก ผมมองว่าเมื่อมีการกระจายอำนาจมาแล้ว บางพื้นที่ไม่ต้องมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สิ้นเปลืองงบประมาณ นอกจากนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งจนกว่าเกษียณไม่เหมาะสมเช่นกัน ต้องมีวาระ ไม่ใช่ปล่อยให้ฝังรากกันแบบนี้ส่งผลให้ท้องที่ไม่เกิดการพัฒนา และขั้นตอนในการปลดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ยากอีกด้วย จึงเห็นว่าพื้นที่ใดควรยุบกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ควรยุบ เพราะทุกวันนี้การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมีมากอยู่แล้ว

หากรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าตอบแทน อบต.ในครั้งนี้ บางพื้นที่ก็ไม่ได้สนใจขอให้ขึ้นค่าตอบแทน เชื่อว่าคงมีผลต่อการเลือกตั้งน้อยมาก ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป ไม่เกี่ยวกับพระคุณที่ต้องตอบแทนกัน เป็นวาระที่ควรจะได้รับการพิจารณามากกว่า เพราะไม่ได้ขึ้นค่าตอบแทนมานานแล้ว เชื่อว่าการเลือกตั้ง ส.ส.คงเป็นไปตามปกติ ไม่เชื่อว่าจะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หากมองวัตรปฏิบัติของนักการเมืองที่ผ่านมายอมรับว่าแย่เหมือนกัน ถือว่าทีใครทีมัน หากฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลก็จะต้องหาวิถีทางแบบนี้เหมือนกัน จึงไม่มีสิทธิที่จะโวย แนวคิดแบบนี้ส่งผลให้การเมืองไม่เดินหน้าไปทางไหน เพราะได้โอกาสก็เอาเปรียบคู่แข่งขัน เอาประชานิยมเป็นหลัก ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ สุดท้ายภาระก็ตกอยู่กับคนไทยทั้งประเทศ

การขึ้นเงินค่าตอบแทน อบต.ก็จะต้องเข้มข้นขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเรียกรับผลประโยชน์ของ อบต.บางแห่ง ต้องปราบปรามให้ได้ เมื่อค่าตอบแทนสูงขึ้น ต้องมีธรรมาภิบาลมากตามไปด้วย หากกล่าวไปแล้วค่าตอบแทนก็มาจากการเรียกร้องของเหล่านายก อบต. คงไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.

การเมืองขณะนี้ไม่เหมือนเก่าแล้ว หากมองการเลือกตั้งนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลายพื้นที่พลิกไปเยอะ บางพื้นที่ใช้เงิน แต่พ่ายแพ้ความดีของคู่แข่งขันก็เกิดขึ้นเยอะแล้ว

ในส่วนของพรรคการเมืองได้ใช้นโยบายประชานิยม ผมมองว่าอาจจะได้คะแนนบ้างบางส่วน ต้องยอมรับว่ายุคนี้ไม่สามารถทำคะแนนจากประชานิยมได้เยอะ เพราะถูกปลูกฝังในเรื่องหากไม่ใช่พรรคพวกกันเมื่อให้มาก็ถือว่าดี คงไม่ได้รับคะแนนถึงกับถล่มทลาย เหมือนเพิ่มเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นครรลองที่จะต้องขึ้น แต่ประจวบเหมาะใกล้การเลือกตั้งพอดี การที่ ครม.อนุมัติโครงการต่างๆ ทิ้งทวนถือว่าพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันทำงานเป็นการสร้างภาพร่วมกัน แต่ไม่แยกให้ชัดเจนว่าเป็นผลงานของใคร อาทิ พรรคภูมิใจไทยรับผิดชอบคมนาคม สาธารณสุข แต่ก็ไม่บอกความชัดเจนว่าทำตรงนั้นทำตรงนี้ พรรคประชาธิปัตย์ดูแลกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ไม่โปรโมตในเรื่องของผลงาน ทำให้ไม่เกิดความชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่ค่อยสนใจที่จะลงคะแนนเลือกตั้งให้

ส่วนที่หลายพรรคการเมืองเร่งเสนอประชานิยมเพื่อต้องการคะแนนเสียง คิดว่าระยะยาวจะเกิดผลเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นจัดบำนาญคนชรา 3,000 บาท หรือการเพิ่มค่าแรงคงเป็นไปได้ยาก ไม่รู้ว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหนที่เห็นว่าคนไทยฝากความหวังไว้กับรัฐบาล โดยเฉพาะคนระดับรากหญ้า เห็นว่ารัฐบาลจะให้อะไรก็ตาลุกตาโต

ประชานิยมเป็นเรื่องที่ดีในช่วงแรกเท่านั้น ส่วนให้เงินโดยตรงและหวังผลการเลือกตั้งถือว่าผิดกฎหมายแต่มีผล ที่สำคัญต้องยอมรับว่ามีการตรวจสอบกันเยอะ อัตราเสี่ยงสูงที่จะถูกดำเนินคดี สมัยก่อนอาจจะทำได้เพราะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการจับผิด ประกอบกับคนไม่ค่อยสนใจ แต่ปัจจุบันทำได้ยากคนเริ่มสนใจการเมือง ข้อสำคัญคือจ้องเอาผิดซึ่งกันและกัน

หากมองนโยบายของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เน้นดูแลประชาชน รวมทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐาน หากจะประสบชัยชนะคงจะอีกนาน เพราะยังขายนโยบายไม่ได้ เป็นนโยบายที่ไกลเกินไปที่ประชาชนจะรับรู้ ในอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งบางเขต และมี ส.ส.ในสภามากกว่าที่คาดไว้ ก็เพราะประชาชนเห็นว่าเป็นของใหม่ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานาน นิสัยของคนไทยก็ต้องการสิ่งใหม่ๆ จึงเกิดกระแสเด็กและคนรุ่นใหม่ให้การสนับสนุน แม้กระทั่งการยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่กระทบกับพวกวัยรุ่นก็จะได้คะแนนเสียงในส่วนนี้เข้ามามากเหมือนกัน

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่เกิดขึ้นใหม่ ออกนโยบายประชานิยมอาจจะมีผลบ้างแต่คงไม่ถล่มทลาย ต้องยอมรับว่าการเมือง 4 ปี จะต้องเปลี่ยนครั้งหนึ่ง ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้กาบัตร 2 ใบ การลงคะแนนเสียงคงไม่ไปแบบคู่ขนาน การเลือกตั้งครั้งนี้จะมองไปที่ตัวบุคคลมากกว่า เพราะหากเลือกพรรคก็จะมีเพียง 100 ที่นั่ง ที่สำคัญระบบพรรคการเมือง ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ พรรคการเมืองที่ถือว่าเป็นสถาบันก็มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ลงคะแนนเสียงเน้นไปที่ตัวบุคคล ไม่เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้ว จะดูพรรคการเมืองเป็นเกณฑ์ไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผมคิดว่าการทิ้งทวนขึ้นเงิน อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนในการสร้างความได้เปรียบในการหาเสียง เนื่องจากต่างเป็นเครือข่ายในท้องถิ่นและท้องที่ที่สำคัญของนักการเมืองระดับชาติในพื้นที่ชนบท เขาเหล่านั้นอยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้านในพื้นที่ชนบท ต่างกันแค่ อบต.อยู่ในส่วนการปกครองท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนกำนันและผู้ใหญ่บ้านสังกัดการปกครองท้องที่มาจากการเลือกของประชาชนเช่นเดียวกันแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของอำเภอ เป็นการปกครองในระดับภูมิภาค สิ่งที่เราต้องพิจารณาต่อมี 2 เรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง กลไกในท้องถิ่นไม่ได้มีแค่ อบต. แต่มีเทศบาลและ อบจ.ด้วย บางพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย หรือก้าวไกล มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่นภายหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมีนายก อบจ. 9 จาก 25 จังหวัดที่พรรคส่งลงเลือกตั้ง หรือกลุ่มก้าวหน้าซึ่งสนับสนุนพรรคก้าวไกลแม้ไม่ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.และเทศบาล แต่ก็ได้นายก อบต. 38 แห่ง ตรงนี้มีความสำคัญคือ อบจ.และนักการเมืองระดับชาติของพรรคมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการกระจายอำนาจยังล่าช้า ท้องถิ่นยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ กำลังคน และอำนาจ โดยเฉพาะ อบต.ซึ่งดูแลในพื้นที่ชนบท คำถามคือ นายก อบต.จะทำงานอย่างไรในการดูแลประชาชนและรักษาฐานเสียงที่เลือกพวกเขามาภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว สิ่งที่ทำได้คือขอความช่วยเหลือทางด้านการเงิน หรือกำลังคนกับทาง อบจ.ที่ดูแลท้องถิ่นในระดับภาพรวมทั้งจังหวัด หรือขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองระดับชาติในการนำงบประมาณลงมาในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้การขึ้นเงินเดือน อบต.จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของนายก อบต.ดีขึ้นเพราะมีเงินมากขึ้นในการทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะไปงานบุญ งานแต่ง งานศพ เป็นต้น แต่ต้องดูคือเครือข่ายท้องถิ่นของแต่ละพรรค แต่ละจังหวัด เขามีความสำคัญกับนายก อบต. หรือแม้แต่กำนันและผู้ใหญ่บ้านว่าอย่างไร พรรคไหน

เรื่องที่สองที่ชวนให้พิจารณาคือ การขึ้นเงินเดือนของ อบต.หรือเครือข่ายกำนันและผู้ใหญ่บ้านนั้น อาจจะทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลได้ใจเครือข่ายท้องถิ่นและผู้ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายการเมืองดังกล่าวนั้นก็ดูทิศทางและกระแสของคนในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่ว่าได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจะกลายเป็นหัวคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีตำแหน่ง รัฐมนตรีอยู่ในกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียว เขาต้องดูว่ากระแสของชาวบ้านว่ามีทิศทางไปทางไหน จะเลือกพรรคการเมืองใด หรือผู้สมัคร ส.ส.พรรคไหน เนื่องจากถ้าอ่านเกมตรงนี้ไม่ดี เลือกตั้งครั้งหน้าเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองระดับชาติและชาวบ้านที่เลือกฝ่ายตรงข้ามเขาไม่ได้สนับสนุนก็เป็นไปได้

ส่วนฝ่ายค้านจะแก้เกมต่อมติ ครม.อย่างไร สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านทำได้คือการมุ่งนำเสนอนโยบายของพรรค ให้ผู้สมัคร ส.ส.ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านให้มากที่สุด สุดท้ายการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ถึงแม้เครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นและท้องที่เป็นกลไกสำคัญในการเมืองชนบทในอดีตที่เราอาจจะรู้จักในชื่อ หัวคะแนนของนักการเมืองระดับชาติ แต่อย่าลืมว่า ภาพการเมืองไทยนับตั้งแต่เกิดรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าประชาธิปไตยกินได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา คนเหล่านี้คิดคำนวณการเลือกตั้งอยู่บนฐานของความเป็นเหตุเป็นผลที่เขาจะได้รับ

บางคนพิจารณาจากนโยบายของพรรคการเมืองที่เขาเคยสัมผัสได้จริงและเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้ บางคนดูว่านักการเมืองคนไหนช่วยเขาได้ บางคนแบ่งให้สมาชิกในบ้านเลือกนักการเมืองคนละพรรคเพื่อรักษาน้ำใจกันและรักษาผลประโยชน์ของบ้านตัวเองที่จะได้รับการช่วยเหลือจากนักการเมืองไม่ว่าพรรคใดจะได้เป็น ส.ส. ดังนั้นผมจึงคิดว่าพรรคฝ่ายค้านต้องลงพื้นที่ให้มากไม่ใช่แค่ช่วงจะเลือกตั้งแต่ต้องก่อนหน้านั้น

สุดท้าย ถ้าถามว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลผิดไหม ผมคิดว่าไม่ผิดเพราะใช้ความได้เปรียบในการเป็นรัฐบาลและยังไม่ยุบสภา จึงมีอำนาจเต็มทำได้ แต่ถ้าถามว่าเหมาะสมไหม ผมคิดว่าไม่เหมาะสม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่มา 8 ปี ทำไมทำเอาตอนนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่าเจตนาของนโยบายไม่ได้แค่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่เล็งเห็นผลถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นผ่านการจัดระเบียบเครือข่ายท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image