รายงานหน้า2 : ประเมิน‘ขั้วการเมือง’ ใครมีลุ้นศึกเลือกตั้ง

รายงานหน้า2 : ประเมิน‘ขั้วการเมือง’ ใครมีลุ้นศึกเลือกตั้ง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการประเมินการหาเสียงของพรรคการเมืองกับการใช้โอกาสช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ระหว่างพรรคขั้วฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยม

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ณ ตอนนี้ต้องบอกว่ากระแสของพรรคการเมืองในสายประชาธิปไตยค่อนข้างที่จะดี ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็ตาม อาจจะมาจากหลายปัจจัย ทั้งในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดที่แล้ว หรือแม้กระทั่งเรื่องของความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 ตรงนี้คือปัจจัยที่สนับสนุนส่งเสริมให้พรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตยค่อนข้างที่จะได้รับความนิยมสูง

Advertisement

ดังนั้น ผมคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การต่อสู้กับฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว แต่ในวันนี้ปัญหาใหญ่คือเรื่องของการที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีความหลากหลายค่อนข้างมาก ทำให้มีโอกาสสูงที่จะแข่งกันหรือตัดคะแนนกันเอง ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น ยุทธศาสตร์ของเขาคือการรักษาฐานคะแนนของตัวเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตามลำดับ เพราะอย่างไรก็ตาม ฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีแต้มต่อในเรื่องกลไกรัฐธรรมนูญปี 2560 และรวมไปถึง ส.ว. 250 คน ฉะนั้นผมจึงไม่เห็นว่าทางฝ่ายอนุรักษนิยมจะปรับกลยุทธ์อะไรแต่อย่างใด แต่ฝ่ายประชาธิปไตยต่างหากที่พยายามปรับกลยุทธ์ และท้ายสุดเรื่องวาทกรรมออกมาจากฝ่ายประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ เช่น “ถ้ามีลุง ไม่มีเรา” จะเห็นว่าวาทกรรมเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่อาจจะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยตัดคะแนนกันเอง ดังนั้น การเดินหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตยจึงสำคัญ ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมียุทธศาสตร์อยู่แล้ว แม้เราจะเห็นว่ามีการแตกออกมาเป็น 2 พรรค พรรคพี่และพรรคน้อง แต่เดี๋ยวสุดท้ายเขาเคลียร์กันได้

ในช่วงนี้ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ไม่ค่อยมีการลงพื้นที่ ด้วยความที่มีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะถิ่น คือการที่มีฐานอยู่ที่ภาคอีสานใต้ที่เหนียวแน่น ดังนั้น ภท.ไม่จำเป็นที่จะต้องไปอาศัยเสียงในหลายพื้นที่นัก แต่ส่วนการขยายฐานหรือการเปิดพื้นที่อย่างเช่นในภาคใต้ กรุงเทพฯ ภาคกลาง หรือภาคอีสานเหนือ ภาคต่างๆ เหล่านี้ก็จะอาศัยตัวบุคคลเป็นหลักมากกว่าการอาศัยตัวพรรค เราจะเห็นได้ว่า พรรค ภท.จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการมียุทธศาสตร์การเมืองระดับประเทศและไม่ได้กังวลกับกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ออกมาเคลื่อนไหว เพราะตัวฐานของพรรคเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าพรรค ภท.เน้นที่ตัวบุคคลและเจาะฐานบุคคลที่เหนียวแน่น เช่น ในพื้นที่ กทม.ก็ดึงตัวอดีต ส.ส.ที่เติบโตมาจาก ส.ก. ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อน่าจะมีการกอบโกยเอาคะแนนเสียงจากภาคอีสานใต้เป็นหลัก ซึ่งอาจจะได้ประมาณ 5-8 คน ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายของพรรค ภท.

จริงๆ ผมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จุดที่น่าสนใจคือเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง เราก็จะเห็นการต่อสู้ที่เข้มข้นรวมไปถึงการต่อสู้ในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย เพราะการแบ่งขั้วทางการเมืองมีอยู่ 2 ลักษณะ คือการแบ่งขั้วโดยใช้เหตุผล ซึ่งยังพอมีสิ่งที่อธิบายได้ แต่ถ้าการแบ่งขั้วในเชิงอารมณ์ความรู้สึก มันไม่สามารถอธิบายอะไรได้ เป็นความรัก ความชอบ หรือแม้กระทั่งความเกลียดชัง เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์ทุกรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือที่เราจะเรียกกันว่าวิชาเทพ วิชามาร มาใช้กันอย่างเต็มที่ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งครั้งนี้

Advertisement

ทัศนัย เศรษฐเสรี
อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

การปรับกลยุทธ์พรรคการเมืองเพื่อหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายนั้น ทุกพรรคการเมืองต้องปรับตัวและใช้กลยุทธ์หาเสียงแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์ประชาชนและเรียกคะแนนนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านสื่อและโซเชียลมีเดียให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด พร้อมกับลงพื้นที่ปราศรัย พบปะประชาชน เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายพัฒนาประเทศมากขึ้น เนื่องจากเหลือเวลาไม่ถึง 20 วันแล้ว

นอกจากนี้พรรคการเมืองและผู้สมัครต้องใช้เวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์และนโยบาย เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของประชาชน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ พร้อมต่อยอด และขยายผลนโยบายไปยังสมาชิกพรรค ผู้สนับสนุน และเครือข่ายโดยเร็ว เพื่อสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมายตัดสินใจเลือกพรรค และผู้สมัครดังกล่าว

จากผลโพลมติชน-เดลินิวส์ รอบแรก พบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้รับโหวตเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่มากที่สุด เป็นเพราะนายพิธาได้แสดงจุดยืนเป็นประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการตั้งแต่แรก พร้อมนำเสนอนโยบายปฏิรูปการศึกษา ทหาร ระบบราชการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ขจัดการทุจริต หรือคอร์รัปชั่น ทำให้ตอบโจทย์ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งนายพิธา พรรค ก.ก.ได้แสดงบทบาทดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งที่ไม่ได้นำเสนอนโยบายใหม่อะไรเลย

ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศนโยบายเศรษฐกิจ สังคม ประชานิยมก่อนพรรค ก.ก. ซึ่งตอนแรกมีกระแสตอบรับสูงมาก แต่ตอนหลังนโยบายดังกล่าวเริ่มแผ่ว เนื่องจาก พท.ไม่แสดงจุดยืน ไม่เอา 2 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งแต่ต้น ทำให้ประชาชนสับสน ลังเลเลือก พท. แม้มีการแก้เกม ประกาศไม่ร่วมกับ 2 ป.จัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่กระแสพรรค ก.ก.ไปไกลกว่าที่คิดไว้ จึงมองว่า พท.ก้าวพลาดที่ไม่สามารถรักษากระแสชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ได้

ช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนเลือกตั้ง ยังไม่แน่ใจว่าพรรค ก.ก.จะพลิกแซงพรรค พท.ได้หรือไม่ นอกจากกระแสสังคมแล้ว ยังยึดโยงกับขั้วอำนาจเดิม อาทิ ส.ส.ท้องถิ่นฝ่ายปกครอง และเครือข่ายในชุมชน ที่เป็นตัวตัดสินเรื่องดังกล่าว แม้ ก.ก.มีเยาวชนคนรุ่นใหม่สนับสนุนมากขึ้น แต่ผลโพลดังกล่าวได้เปรียบเทียบช่วงอายุว่า อายุ 50 ปีขึ้นไป ยังสนับสนุนพรรค พท.อยู่มาก จึงต้องรอผลสำรวจ หรือทำโพลครั้งสุดท้ายว่าเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

ส่วนการจับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น มองว่า พท.กับ ก.ก. มีโอกาสจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด แม้มีการกระทบกระทั่งหาเสียงเลือกตั้งกันบ้าง แต่เป็นเรื่องปกติของการแข่งขันทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรเลย หาก 2 พรรค จับมือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ถือเป็นความฝัน ความหวังประชาชน ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นพลังบวก ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น

ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยม หรือสืบทอดเผด็จการ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ถ้าแพ้เลือกตั้ง ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อาจให้ ส.ว. 250 คน สนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาล และเลือก

เป็นผู้นำประเทศคนที่ 30 ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ส.ว.ว่าจะสนับสนุน 2 ป. หรือไม่ ถ้ายังสนับสนุน ถือเป็นปรปักษ์กับประชาชน ดังนั้น ส.ว.ต้องคิดให้ดีอย่าฝืนมติเสียงส่วนใหญ่เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง นำไปสู่ความสามัคคี ปรองดองดีกว่า

ตรีเนตร สาระพงษ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ภาพใหญ่ที่เห็นรางๆ ผ่านโพลสำนักต่างๆ พอจะชี้ให้เห็นว่าการเมืองฟากฝั่งประชาธิปไตยน่าจะครองเสียงได้มากถึง 65 เปอร์เซ็นต์บวกลบของที่นั่งในสภา ส่วนที่เหลือจะเป็นของพรรคฝั่งอนุรักษนิยมที่แบ่งกันไป ภาพใหญ่น่าจะไม่มีการขยับมากนักเพราะมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกฟากฝั่งใด การเมืองหลังจากนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องของการจำแนกของประชาชนว่าหากจะเลือกฝั่งประชาธิปไตยจะเลือกพรรคใด ระหว่างพรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรือหากชื่นชอบในฟากฝั่งอนุรักษนิยมก็ต้องตัดสินใจว่าดีที่สุดแล้วจะเลือกใครระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) หรือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ณ วันนี้ ความนิยมรายภาคโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร แน่นอนว่าจะเป็นพื้นที่การต่อสู้ของพรรค พท.กับพรรค ก.ก. ที่น่าจะแบ่งจำนวน ส.ส. ที่ใกล้เคียงกัน โดยมีพรรค ปชป.และพรรค ทสท.หลุดรอดเข้ามาได้บ้างแต่สัดส่วนน้อย ส่วนพื้นที่ภาคเหนือแน่นอนว่าจะเป็นพื้นที่ของพรรค พท.เสียส่วนใหญ่ อาจมีพรรค พปชร. หรือพรรค ก.ก. หรือพรรค รทสช. เบียดเข้ามาได้เล็กน้อย ขณะที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายแบ่งคะแนน แต่ก็เชื่อว่าพรรค พท.ก็น่าจะได้รับความนิยมสูงอยู่ ขณะที่ภาคใต้ พรรค ปชป.น่าจะได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีพรรค รทสช.กับพรรค ภท.เป็นตัวเปลี่ยนเกม

เชื่อว่าหลังจากนี้จนถึงวันเลือกตั้งจะเป็นสงครามภายในฝั่งเดียวกัน เช่น กรณีพรรค พท. แต่เดิมอ้ำๆอึ้งๆ กับคำถามว่าจะร่วมตั้งรัฐบาลกับลุงป้อมหรือไม่ และความไม่ชัดเจนนี้ทำให้พรรค ก.ก.มีคะแนนในผลโพลตามมา สูสีหรือแซงพรรค พท. ในบางสำนัก กระทั่งพรรค พท.ต้องออกมาประกาศชัดว่าไม่ร่วมกับลุงป้อม

ขณะที่พรรค ก.ก.ตั้งคำถามว่าจะเลือกตั้งเพราะกลัวลุงตู่ หรือเลือกเพราะมีความหวัง เป็นการจี้เหล่าโหวตเตอร์คนรุ่นใหม่ หรือคนเขตเมืองให้ต้องเลือกและตัดสินใจ หรือกรณีภาคใต้ พื้นที่ทำสงครามแย่งคะแนนเสียงของกลุ่มพรรคอนุรักษนิยมต่างก็งัดกลยุทธ์มาแข่งขันกันมีการโจมตีทำลายกันเองในฝั่งอนุรักษนิยม โดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่อย่างพรรค ปชป.พยายามรักษาพื้นที่และจำนวน ส.ส.เอาไว้ ขณะที่มีพรรค รทสช.เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ลงมาแข่งขันเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ความนิยม แบ่งเป็นนิยมในตัวบุคคลกับในตัวพรรค เชื่อว่าทั่วประเทศให้ความนิยมในตัวบุคคล โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทน่าจะนิ่งพอสมควรว่าจะเลือกคนที่ลงพื้นที่ หรือคนที่เห็นในงานบวชงานแต่ง แต่ความนิยมของพรรคเชื่อว่ายังมีโอกาสปรับเปลี่ยนกันได้ เช่น พรรค พท.อาจชู น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะสะใภ้ปักษ์ใต้ ก็อาจได้คะแนนเพิ่มเฉพาะในส่วนพรรค แต่คะแนนเขตน่าจะเปลี่ยนแปลงยาก

หันมาที่สนามเลือกตั้ง จ.อุบลราชธานี มีความหลากหลายทางด้านนิเวศการเมือง เพราะหลายพรรคการเมืองในจังหวัดเดียวไม่ผูกขาด จ.อุบลราชธานี มี ส.ส.ได้ 11 คน ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์สามารถจำแนกพื้นที่ออกเป็นเขตเมืองที่ประชาชนคล้ายกับเขตเมืองอื่นๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนความนิยมทางการเมืองได้ตามนโยบายและความนิยมตามยุคสมัย

 

 

อ่านข่าวน่าสนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image