เส้นทาง ‘พิธา ’นายกฯ ฝ่ากับดัก-ดงระเบิดการเมือง

เส้นทาง‘พิธา’นายกฯ ฝ่ากับดัก-ดงระเบิดการเมือง

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เสร็จสิ้นลง บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือ การประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ จำนวนรวม 500 คน

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 กำหนดให้ กกต.ต้องตรวจสอบเบื้องต้นก่อน เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงจะประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 127 กำหนดให้ต้องรับฟังรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง และข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากแหล่งต่างๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย

Advertisement

ฉะนั้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง กรณีความปรากฏและข้อมูลเบาะแสว่ามีกรณีใดที่มีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดและตามหลักปฏิบัติที่จะต้องดำเนินการก่อนจะนำไปสู่การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รับชัยชนะการเลือกตั้ง กวาดเก้าอี้ ส.ส.มากที่สุด 151 ที่นั่ง
และเป็นแกนนำรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองในขั้วฝ่ายค้านเดิมเป็นหลัก ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

บรรดานักร้องการเมือง ต่างตบเท้าใช้สิทธิยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบหลายต่อหลายเรื่อง

Advertisement

โดยเฉพาะการเรียกร้องและยื่นสอบให้ยุบพรรค จากนโยบายแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงการเข้าชี้นำและครอบงำพรรคจากแกนนำคณะก้าวหน้า แม้กระทั่งการลงเอ็มโอยูฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคฝั่งประชาธิปไตย ยังถูกนำมาเป็นประเด็นร้องยุบพรรคเช่นกัน

ทว่าคำร้องที่ถูกจับตามองมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเคสที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หยิบยกเอาเรื่องที่นายพิธาถือครองหุ้น จำนวน 42,000 หุ้น ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มาตรวจสอบ ว่ามีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่

โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคท้าย ระบุไว้ว่า หาก กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.มีเหตุให้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้

ดังนั้น ช่องทางที่ กกต.จะดำเนินการเรื่องนี้หากมีมติว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.ได้ จะต้องเกิดขึ้นภายหลัง กกต.ประกาศรับรองนายพิธาเป็น ส.ส.แล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชี้แจงกลางวงประชุม ครม.ว่า วันที่ 13 กรกฎาคม จะเป็นวันสุดท้ายที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

ขั้นตอนต่อจากนั้น ครม.จะพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภา และในวันที่ 20 กรกฎาคม จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ ส.ส.มารายงานตัว จากนั้นวันที่ 24 กรกฎาคม จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม เปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และวันที่ 26 กรกฎาคม โปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภา

ขณะที่ 3 สิงหาคม จะเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จากนั้นวันที่ 10 สิงหาคม จะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และวันที่ 11 สิงหาคม จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของ ครม.ชุดรักษาการปัจจุบัน

เมื่อไล่เรียงตามไทม์ไลน์แล้ว หากกระบวนการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยไม่มีพลิกขั้ว และมีมติเสนอชื่อนายพิธา เข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี มีความเป็นไปได้ว่าภายหลังการประกาศรับรองผล ส.ส. อาจจะมีการวินิจฉัยเรื่องการถือหุ้นเกิดขึ้นตามมาโดยเร็ว เนื่องจากชื่อของนายพิธาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องถูกส่งเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ฉะนั้น โจทย์ใหญ่สำหรับพรรค ก.ก.ในการผลักดันให้นายพิธาก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากจะต้องฝ่าด่านจากกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อให้ได้เสียงโหวตสนับสนุนเพื่อนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแล้ว ประเด็นการถือครองหุ้นสื่อ เป็นอีกชนวนสำคัญว่าท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลทำให้นายพิธาสะดุดตกม้าตายซ้ำรอยเหมือนกับที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. จากการถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด หรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อห่วงกังวลที่สุดหากนายพิธาต้องสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ผลพวงดังกล่าวจะพ่วงมากระทบกับบรรดา ส.ส.พรรค ก.ก. ที่นายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคเซ็นรับรองลงสมัครรับเลือกตั้งจะเป็นเหตุให้พรรค ก.ก.ล้มทั้งกระดานหรือไม่

รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย มองว่า อุปสรรคจะมีมาเรื่อยๆ ฉะนั้น ต้องปล่อยให้เส้นเวลาเดินไปตามไทม์ไลน์ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดไป สมมุติศาลรัฐธรรมนูญ จะลงมติกรณีนายพิธาถือครองหุ้นสื่อ คงว่าไปตามขั้นตอนและตามกระบวนการ ขณะที่ขั้นตอนของทางสภาผู้แทนราษฎรว่ากันไปตามไทม์ไลน์ หากนายพิธาไม่ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งก็เท่ากับผ่านไป แต่ถ้าขาดคุณสมบัติ สิ่งที่ทำไปแล้วต้องเปลี่ยนเอาคนใหม่เข้ามาแทน

รศ.เจษฎ์ระบุว่า เช่นเดียวกับพรรคการเมือง สมมุติหากพรรค ก.ก. พรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดนสั่งยุบพรรค กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ถูกตัดสิทธิ บรรดาส.ส.ต้องไปหาพรรคการเมืองใหม่เข้าสังกัดเป็นสมาชิก หากจำนวน ส.ส.ครบ 95% สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ครบต้องไปจัดเลือกตั้งเพื่อให้ ส.ส.ครบ 95% ตามกติกา แต่ถ้าเปิดสภาไปแล้ว พรรคถูกยุบ ส.ส.มีจำนวนเท่าใดก็ว่ากันไป ถ้าเกิดลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้วจะเกิดการพลิกผันอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น

“หากถามว่าอุปสรรคมีหรือไม่ ต้องบอกว่ามี แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะกระทบเส้นเวลาเหล่านั้นจนไม่สามารถเดินได้ เมื่อวาดเส้นเวลานี้มาแล้วต้องเดินตามนี้ไปก่อน ถ้าไม่มีอะไรมันก็ไม่มีอะไร แต่ถ้ามีอะไรก็ค่อยว่ากันภายหลัง” รศ.เจษฎ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image