อ่านเกมร้อนหุ้นไอทีวี-พิธา พลาด-แผนสกัดนายก ?

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการถึงขวากหนามของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีการถือหุ้นของไอทีวีที่ล่าสุดมีการโอนหุ้นไปให้ทายาทนั้นเป็นข้อเท็จจริง หรือทฤษฎีสมคบคิด หรือปักธงเพื่อสกัดไม่ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

สดศรี สัตยธรรม
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ระบุว่า ถ้าบุคคลใดเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในบริษัท หรือถือหุ้นในสื่อ สรุปง่ายๆ คือจะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ รัฐธรรมนูญมาตรานี้เขียนไว้ชัดเจน จะแปลไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้ามาดูข้อเท็จจริง ไอทีวี ไม่ได้ทำกิจการแล้ว ซึ่งต้องไปดูอีกทีว่าไอทีวี ได้จดทะเบียนเลิกเป็นบริษัทห้างหุ้นส่วนกับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ เพราะการตั้งบริษัท ห้างหุ้นส่วนหรือกิจการใด ถ้าเป็นเรื่องการค้าแล้วจะต้องจดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ และเมื่อไปดูในหนังสือบริคณห์สนธิว่ามีรายการไหนที่ทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทห้างหุ้นส่วนมักเอาข้อที่ว่า สามารถประกอบกิจการสื่อได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ส่วนข้อที่จดทะเบียนไว้กับพาณิชย์นั้นผูกมัดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นๆ เลย ถึงแม้ว่าไม่ได้ประกอบกิจการนั้นหรือเลิกไปแล้วก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนเลิกการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนต่อกระทรวงพาณิชย์ และไม่ปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิที่กระทรวงพาณิชย์ออกให้ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกิจการไปแล้วก็ต้องผูกมัดในข้อที่ว่าถือหุ้นสื่อ และหุ้นสื่อไม่จำเป็นต้องมีหลายหุ้น จะเห็นได้ว่า ส.ส. หรือ ส.ว.ก็ดี ในครั้งที่เคยเป็น กกต.อยู่เคยถูกสอยในขณะปฏิบัติหน้าที่ มีการร้องเรียนว่าเขาถือหุ้นในสื่อ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันปรากฏ แม้สื่อที่ว่าจะเลิกกิจการ แต่ตราบใดที่ไม่ได้จดทะเบียนเลิกการประกอบกิจการสื่อ ถือว่าเป็นการผูกมัดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นๆ ทันที

Advertisement

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อยู่ในฐานะผู้รับมรดก และไม่สามารถไปดูข้อเท็จจริงว่านายพิธาได้สละมรดกในส่วนนี้ของบิดา-มารดาจริงหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายังไม่สละสิทธิในหุ้นดังกล่าว ถือว่ายังถือหุ้นไอทีวี ถึงแม้ไอทีวีจะไม่ได้ดำเนินการใดๆ แล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นข้อยกเว้นได้ ข้อยกเว้นในกรณีนี้แทบจะไม่มีเลย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 (3) ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่เข้าสู่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถ้า กกต.ยังเห็นว่าถือหุ้นสื่อจริง ก็จะยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา แต่ถ้า กกต.ยกคำร้องของผู้ร้องเรียน จะจบที่ กกต.หรือไม่ กฎหมายฉบับใหม่บอกไม่จบ ยังต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เชื่อในการพิจารณาของ กกต. เน้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า กรณีดังกล่าว นายพิธาต้องเอาหลักฐานต่างๆ ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าปลอดจากการถือหุ้นไอทีวีแล้วทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง คดีท่าน ส.ส.ท่านหนึ่งถือหุ้นในบริษัท แล้วท่านก็สอย ท่าน ส.ส.คนนี้ก็ฟ้อง กกต.ทันที ว่าใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ คดีนี้เป็นคดีละเมิดทางเเพ่ง กกต.ถูกฟ้องและถูกศาลคดีแพ่งทั้ง 3 ศาลตัดสินเหมือนกันว่า กกต.ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดรวมถึงค่าการจัดเลือกตั้งใหม่ จะเห็นได้ว่า กกต.เองไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดความเสียหายกับพรรคการเมือง กกต.ไม่ได้คิดว่าจะต้องรับผิดในเงินทั้งหมดเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจกับ กกต. ชุดนี้มาก การที่ขอผลประกาศการเลือกตั้งโดยไม่ทยอยประกาศเหมือน กกต.ชุดก่อนๆ เพราะกำลังถูกการเมืองเล่นงานอยู่ ต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้ถูกฟ้องอีก เป็นคดีที่เจ็บปวดสำหรับ กกต.ชุดนี้ ถ้าใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้วยังมีการมองว่าเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง กกต.ไม่พ้นความรับผิดชอบต้องถูกฟ้องเหมือนกรณีที่ผ่านมา

กรณีของนายพิธา ขอพูดมุมมองในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง และผู้ที่เคยปฏิบัติหน้าที่เป็น กกต. กรณีที่รับหุ้นมรดกมาจากบิดามารดา ท่านจะต้องสละการถือหุ้นก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทน ก่อนที่จะมาถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต้องผ่านคุณสมบัติของมาตรา 98 (3) ก่อน คือ ไม่ถือหุ้นสื่อ ไม่เป็นเจ้าของหุ้นเหล่านั้น ถ้าถือหุ้นก็จะตีกลับไปที่ท่านไม่ได้เลิกการถือหุ้นนั้นๆ การสละมรดกทำได้ง่าย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งก็สละไปว่าไม่เอา ไม่เกี่ยวข้องด้วย สำหรับ กกต. เองไม่มีหน้าที่ที่จะต้องค้นคว้าหาหลักฐานว่า ว่าที่ ส.ส.ถือหุ้นสื่อหรือไม่เพราะ กกต.จะลงเฉพาะรายละเอียดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติพรรคการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. กกต.ไม่สามารถลงลึกไปได้ถึงการถือหุ้น กรณีของนายพิธา เกิดจากการที่มีคนร้องไปที่ กกต. นำหลักฐานต่างๆ ให้ หน้าที่ของ กกต. คือรับคำร้องและตรวจสอบว่ามีการถือหุ้นเหล่านั้นจริงหรือไม่ และกกต.จะพิจารณาว่าขาดคุณสมบัติกฎหมายพรรคการเมือง หรือกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่เท่านั้น เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย เคยติดคุกมาก่อน

แต่กรณีถือหุ้น กกต.เองไม่สามารถลงรากลึก ได้เป็นหน้าที่ที่ผู้สมัครต้องแสดงตัวเองว่าไม่มีหุ้นในบริษัท ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต.ว่าจะดำเนินการอย่างไร และศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ผมมองว่าการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นเลย หากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายของพรรคก้าวไกลพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ถึงแม้ว่าจะได้มีการยื่น ป.ป.ช.ไปแล้ว ทีมที่ปรึกษาน่าจะเสนอแนะให้ขายไปตั้งแต่ต้น หรือโอนให้ทายาทคนอื่นๆ ในฐานะผู้จัดการมรดก มาถึงจุดนี้เลยกลายเป็นประเด็นหลักของนายพิธา ในฐานะที่จะเป็นว่าที่ ส.ส. รวมทั้งหัวหน้าพรรคก้าวไกล และฐานะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย หากมีการพิจารณาและมีผลคำพิพากษา หรือผล กกต.ไปทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีที่พิจารณาให้นายพิธาหลุดออกจากทุกตำแหน่ง จะส่งผลกระทบทั้งตำแหน่ง ส.ส. รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกล และกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนค่อนข้างมาก

หากพิจารณาตามตัวอักษรของกฎหมาย คิดว่าโอกาสของนายพิธาค่อนข้างรอดยาก เพราะว่าสถานการณ์ในขณะนี้ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ส่งผลกระทบต่อชนชั้นนำหลายฝ่ายที่กังวลใจและรับไม่ได้ บวกกับการใช้นิติสงครามในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ออกจากหน้ากระดานทางการเมืองนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ได้มีเกิดขึ้นเป็นระยะๆ พอมามองจุดนี้นายพิธาเข้าทางตรงๆ จึงเป็นโอกาสในการใช้ดุลพินิจพิจารณาตามตัวอักษรกับนายพิธา ซึ่งจะส่งผลให้คุณสมบัติไม่ครบ

แต่ถ้าการต่อสู้ของนายพิธาโดยคณะทนายความ หรือดุลพินิจของผู้พิจารณาในเรื่องนี้มองในเรื่องนิติรัฐศาสตร์ หรือมิติทางสื่อสาร รวมทั้งดูมิติในเรื่องเจตนารมณ์จริงๆ บทบาทของไอทีวีปัจจุบันว่ามีอิทธิพล หรือมีการผลิตสื่อที่มองแล้วมีผลกระทบต่อทางการเมือง หากมีการพิจารณาในมิติที่กล่าวมานี้ด้วย โอกาสรอดของนายพิธาก็มีเหมือนกัน

ส่วนความผิดพลาดที่เกิดกับนายพิธาในขณะนี้ ผมมองว่าน่าจะมาจากทีมกฎหมาย อาจจะอ่านกฎหมายยังไม่ทะลุปรุโปร่ง ที่สำคัญการเกิดในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และมาเกิดกับนายพิธา หากใช้ทีมกฎหมายเดียวกันเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น

ส่วนจะมาพิจารณาว่าเป็นเจตนาของนายพิธาว่าจะแกล้งทำผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ผมมองว่าคงไม่ใช่ เพราะจะสร้างเงื่อนไขทางการเมืองเยอะมาก และทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายทางการเมืองอย่างมากมาย หากจะมีการวางแผนให้ตัวเองมีความผิดและศาลพิพากษาว่า มีการกระทำความผิดแล้วระดมมวลชนออกมาประท้วง ออกมาเคลื่อนไหวก่อความวุ่นวาย คิดว่าจะเป็นผลเสียมากกว่า เชื่อว่านายพิธาไม่น่าจะทำ เพราะจะไปเข้าทางคณะรัฐประหารอีก คิดว่าหากมีแนวคิดว่าจะทำให้ตนเองมีความผิด และศาลพิพากษาคงได้ไม่คุ้มเสีย หากมีการวางแผนออกมาในลักษณะเช่นนี้

แนวทางการแก้ไขของนายพิธา มองว่าทีมทนายจะต้องแจงเหตุการถือครองหุ้นสื่อในลักษณะถือครองหุ้นโดยรับมรดก และนายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้เป็นคนซื้อเองหรือถือครองในลักษณะปัจเจกบุคคล และจะต้องสู้ให้เห็นเจตนารมณ์แท้จริงว่าไอทีวี ไม่ได้มีการผลิตสื่อ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง รวมทั้งครอบงำสังคม และจะต้องขยายเรื่องนี้ออกมาเพื่อให้เห็นว่า องค์กรไอทีวีเป็นสื่อสมัยเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนการกล่าวกันว่าถือหุ้นสื่อเพียง 1 หุ้นก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ผมมองว่าหากพิจารณาตามตัวอักษร หากองค์คณะศาลพิจารณาไปในทางนี้นายพิธาไม่รอดแน่นอน

การมองว่า กกต.นำเรื่องถือหุ้นสื่อมาพิจารณากรณีของนายพิธา เพื่่อให้หมดบทบาททางการเมือง เรื่องนี้คิดว่า กกต.ทำอะไรต้องรอบคอบไว้ก่อน ไม่ใช่เรื่อง ส.ส.ทั่วไปที่พิจารณาเพียงคุณสมบัติ หรือเรื่องซื้อเสียง แต่เรื่องนี้ยังไปสัมพันธ์กับหัวหน้าพรรคและพรรคการเมือง รวมทั้งตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย กกต.จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะไม่เช่นนี้อาจจะถูกฟ้องร้องกันขึ้นมาได้ จึงส่งผลให้ไม่มีการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งในความเป็นจริง กกต.มีการพิจารณารับรอง ส.ส.ภายใน 60 วัน แต่แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา จะมีการรับรอง ส.ส.ไปเรื่อยๆ ในส่วน ส.ส.ที่ไม่มีการร้องเรียน ส่วนการที่ กกต.ชุดนี้ยังไม่รับรอง ส.ส.เลยจะต้องมีการสื่อสารกับสังคมบ้างว่าขณะนี้มีอะไรคืบหน้าไปบ้างแล้ว

ส่วนแนวโน้มของนายพิธา คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดตั้งรัฐบาล เพราะปัญหาถือครองหุ้นสื่อไอทีวีถือว่าเป็นด่านหินแล้ว และยังมีด่าน ส.ว.อีก หากดูจุดยืนของ ส.ว.คิดว่ามีโอกาสสูงมากที่ ส.ว.จะไม่ยกมือโหวตให้ เสมือนกับนายพิธา ชนผนังกำแพงเหล็ก เพราะมีถึง 2 ด่านซ้อนๆ กัน

 

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

คดีนายพิธา ถือหุ้นสื่อ ก่อนโอนให้ทายาทนั้นถือว่าไม่ครอบงำกิจการสื่อ เพราะเป็นผู้จัดการมรดกที่ดูแลหุ้นของครอบครัวเพียง 42,000 หุ้น ไม่ถึง 1% ไม่สามารถชี้นำ บังคับสั่งการ หรือครอบงำกิจการสื่อได้ ประเด็นที่มีผู้ร้องเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเกมชิงอำนาจการเมืองเพื่อสกัดนายพิธาไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและนำไปสู่การยุบพรรค ก.ก. ของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ความจริงคดีนายพิธาถือหุ้นสื่อมีประเด็นพิจารณาเพียงประเด็นเดียว คือ ไอทีวี ยังคงสถานะเป็นสื่อ และมีรายได้จากการประกอบกิจการดังกล่าวหรือไม่ เพราะไอทีวีถูกยกเลิกสัมปทาน เมื่อปี 2550 และออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2557 แต่ยังไม่ได้เลิกกิจการ และชำระบัญชีไม่ได้ เพราะยังมีคดีความฟ้องร้องกับสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย และค่าเสียหายจากถูกยกเลิกสัมปทานดังกล่าวกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระบัญชีและคืนให้ผู้ถือหุ้นดังกล่าว

ถ้าพิจารณาตามหลักนิติศาสตร์ หรือตัวบทกฎหมาย กกต.ในฐานะผู้พิจารณาคดีและนายพิธา ผู้ถูกร้องที่เป็นผู้ชี้แจง ต้องนำพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าไอทีวีมีรายได้จากการประกอบกิจการอะไรบ้าง โดยเฉพาะหลักฐานที่เป็นงบการเงิน อาทิ งบดุล งบกำไรขาดทุน และการเสียภาษีนิติบุคคลประจำปี ให้กับกรมสรรพากรว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริง และนำมาหักล้างพยานหลักฐานผู้ร้องได้หรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วพบว่าไอทีวี ยังประกอบกิจการ และมีรายได้จากการทำสื่อ นายพิธาอาจไม่รอดจากคดีดังกล่าว เนื่องจากความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ปี 2550 หากพิสูจน์แล้วว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการและไม่มีรายได้จากทำสื่อจริง นายพิธาอาจรอดจากคดีดังกล่าวได้เช่นกัน

กรณีนายพิธาทราบว่าถือหุ้นสื่อไอทีวีมาตลอด แต่ยังลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 1 พรรค ก.ก. หรือแคนดิเดต
นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่ความประมาทหรือคาดไม่ถึง แต่เป็นความเข้าใจว่าไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อนานแล้ว และเคยแจ้งการถือหุ้นดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว จึงไม่น่ามีผลต่อการสมัครดังกล่าว ถือเป็นความเข้าใจโดยสุจริตและเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้ปกปิดการถือครองหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด

ดังนั้น ไม่ว่าการโอนหุ้นสื่อให้ทายาทหรือการฟื้นคืนกิจการไอทีวี เพื่อสกัดนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรค ก.ก. ไม่ใช่ประเด็นสำคัญการพิจารณาคดีดังกล่าว และไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีอย่างใด เป็นเพียงความคิดเห็นและถกเถียงทางรัฐศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับพยานหลักฐานพิจารณาคดีดังกล่าว ส่วนประเด็นว่าคดีดังกล่าวเป็นทฤษฎีสมคบคิดและ กกต.มีธงคดีดังกล่าวแล้วเป็นเพียงการคาดคะเน เพราะการต่อสู้ทางคดีต้องพิสูจน์ตามพยานหลักฐานที่อยู่ตรงหน้า 2 ฝ่าย หรือคู่กรณี ไม่ใช่การอ้างอิงแบบลอยๆ ดังนั้น กกต.ไม่สามารถใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ต้องเป็นไปตามพยาน หลักฐาน ที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อให้ความเป็นธรรมนายพิธาว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามมติเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image