จับตาตั้งรัฐบาล ปัจจัยร้อน-เอฟเฟ็กต์ ‘เศรษฐกิจ’

จับตาตั้งรัฐบาล ปัจจัยร้อน-เอฟเฟ็กต์ ‘เศรษฐกิจ’ 

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกับการตั้งรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนหรือไม่อย่างไร

นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนหลังผ่านการเลือกตั้งมาแล้วระยะหนึ่ง หากเกิดการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปนั้น คิดว่าคงยังไม่มีผลกระทบมากนัก
ถ้าช่วงเวลาที่จะตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ดีเลย์ไปมากขนาดช้าเป็นไตรมาส หรือ 6 เดือน หรือยาวกว่านั้น คงจะเกิดผลกระทบ
แต่ถ้าตั้งรัฐบาลล่าช้าเป็นระยะสั้น 2-3 เดือนจริง จะมีอยู่ 3 ประเด็นที่กระทบ คือ 1.เรื่องค่าครองชีพ ซึ่งภาครัฐก็มีนโยบายเฉพาะสำหรับช่วงแก้ไขค่าครองชีพ อาทิ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมา การลดค่าใช้ไฟฟ้า หรือโครงการคนละครึ่ง โดยต้องไปดูว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลเคยอนุมัติไว้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แล้วบางนโยบาย ถ้าอยู่ในช่วงระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ก็จะมีนโยบายต่อเนื่องออกมา
เพราะฉะนั้น ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ภาพในระยะสั้น เช่น ค่าครองชีพแพง เป็นต้น ก็จะไม่ได้รับการดูแลเท่าไหร่ ทั้งนี้ อาจจะรวมไปถึงพวกนโยบายประกันรายได้เกษตรกรด้วย ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่า พืชที่อยู่ในโครงการแต่ละตัวนั้น ถึงเวลาฤดูกาลแล้วหรือยัง ดังนั้น ภาพแรกคือ ภาพของนโยบายระยะสั้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจจะหายไป
2.คือภาพระยะยาว เข้าใจว่ารัฐบาลใหม่ หรือแกนนำอย่างพรรคก้าวไกล ถ้าเป็นรัฐบาลก็จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ และเปลี่ยนค่อนข้างมากไปจากเดิม ซึ่งเวลาที่จะมีรัฐบาลใหม่ โดยมากนักธุรกิจก็จะมารอดู (wait and see) ว่านโยบายต่างๆ จะเปลี่ยนไปหรือไม่ อาทิ รัฐบาลเดิมอาจจะเน้นที่เศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (บีซีจี) หรือเน้นที่การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเคยวางแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคใต้ แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่มา ก็คงมีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ หรือมีทิศทางบริหารแบบใหม่ ทำให้บางธุรกิจก็อาจจะรอให้มีความชัดเจนว่าทิศทางการสนับสนุน และทิศทางการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าไปอย่างไร โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่มีมุมมองในเรื่องของการลงทุน จากการขอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งการปรับเปลี่ยนบีโอไอก็จะมีสองส่วน คือ
ส่วนแรก กลุ่มธุรกิจที่คิดว่าอุตสาหกรรมตัวเองเวิร์กแล้วก็จะมาขอบีโอไอมากขึ้น เพื่อในธุรกิจตัวเองผ่านไปได้ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนกฎใหม่ ตามรัฐบาลชุดใหม่
อีกส่วนที่อาจจะมองในระยะยาว ก็อาจจะ wait and see ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ดังนั้นในส่วนของการลงทุนก็อาจจะมีการชะลอตัวไปบ้างเพื่อ wait and see
สุดท้าย 3.เรื่องของสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้งต่างๆ งบประมาณฉุกเฉินในส่วนนี้ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้อนุมัติ ก็ทำให้งบส่วนนี้ดีเลย์ออกไป
แต่อย่างไรก็ดี การที่รอรัฐบาลใหม่ ทำให้ช่วงการบริหารหายไป 1-2 เดือนนั้นไม่ได้มีผลกระทบมาก เพราะภาครัฐเองก็มีกลไกที่เรียกว่า การใช้งบประมาณไปพลางก่อน คือการใช้งบประมาณฐานเดิมที่ใช้ในปีแล้ว หรือที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว ซึ่งมันมีเงินในแต่ละกล่องอยู่แล้ว และมากพอสมควร
โดยที่ระหว่างรองบใหม่อาจจะมีสะดุดกันบ้าง แต่ถามว่าเยอะไหม มันไม่ได้มีผลเยอะมาก ถ้าไม่เกิดการดีเลย์เป็นเวลานาน
สำหรับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 นั้น หลายสำนักก็วิเคราะห์ใกล้ๆ กัน โดยมีมุมมองในปี 2566 นั้นเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดเสียที ซึ่งปีนี้ เป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งกลับมาที่ภูเขาที่สูงเท่าปี 2562 หรือก่อนที่มีโควิด
ดังนั้น ไทยลงไปอยู่ในเหวมาตลอดในช่วงปี 2563-2565 ในตอนนั้นเศรษฐกิจไทยยังไม่ขึ้นมาสูงสู่จุดเดิมเลย เพราะฉะนั้นปี 2566 เป็นปีที่ฟื้นกลับมาแล้ว ดังนั้น คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตที่ 3.6% และน่าจะค่อนข้างนิ่งแล้วโดยมีกรอบ 3.5-3.7%
ในส่วนของการดีเลย์ของการตั้งรัฐบาล คิดว่าถ้าไม่ได้ขยายไปหลายเดือน หรือไม่ได้เกิดความรุนแรงอะไร อย่างมีการชุมนุม ลงถนนประท้วง ถ้ายังคงตั้งรัฐบาลได้ แม้จะดีเลย์หน่อย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก

Advertisement

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนไทยอย่างไรบ้าง ขออธิบายถึงการลงทุนของต่างชาติจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.นักลงทุนต่างชาติที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และ 2.กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว
โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้ากว่าที่ควร มองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะมองในแง่นโยบายที่เกี่ยวข้องก่อนมากกว่าว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป มีแนวนโยบายที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนมากน้อยเท่าใด
ประเมินแนวนโยบายของรัฐบาลตามเสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาคือ รัฐบาลก้าวไกล ซึ่งยังมีความเป็นไปได้อยู่นั้น มีนโยบายในการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา อาทิ ทลายทุนผูกขาด การลดบทบาทของทหาร กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ในแต่ละจังหวัดมากขึ้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีผลกระทบต่อการลงทุนน้อยมาก ยกเว้นเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทุนผูกขาด ทั้งธุรกิจของไทยหรือต่างชาติก็ตาม กลุ่มเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบบ้าง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมาในช่วงหลังจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จ แต่เนื่องจากนโยบายก็ยังไม่ได้ชัดเจนในวิธีการดำเนินการมากนัก อาทิ การลดทุนผูกขาด ยังไม่ได้บอกว่าจะลดที่ส่วนไหนหรือว่าตรงไหนบ้าง ทำให้ผลกระทบในส่วนนี้ที่จะเกี่ยวข้องกับเงินทุนต่างชาติที่จะไหลเข้ามาในประเทศไทยมีน้อยมาก
หากรัฐบาลจัดตั้งได้เสร็จเป็นไปตามที่วางไว้ คือพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ อาจมีการมองว่าสิ่งที่หาเสียงไว้จะทำได้หรือไม่ อาทิ การทำรัฐสวัสดิการอย่างการแจกเงินผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท หากจะทำจริงนั้นจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 3 แสนล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีนักลงทุนมองว่านโยบายส่วนนี้จะสามารถทำได้จริงหรือไม่และหากทำได้จริงนั้น จะส่งผลกระทบต่อจากเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ แต่เพราะตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานเท่านั้น ผลต่อภาพเศรษฐกิจจึงยังไม่มี
จึงประเมินว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปตามคะแนนเสียงสูงสุด ไม่ว่าจะใช้เวลาในช่วง 3 เดือนนี้ หรือล่าช้ากว่า 3 เดือนออกไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือการลงทุน ก็มีน้อยมาก เพราะไม่มีนโยบายที่สำคัญของพรรคก้าวไกลรวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่ส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศ
มีเพียงนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันเท่านั้น ที่อาจส่งผลกระทบบ้าง แต่หากประเมินนโยบายนี้ นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ก็มองว่ามีผลกระทบน้อยมากเช่นกัน เนื่องจากค่าแรงของไทยแม้ยังไม่ถึง 450 บาท แต่ก็แพงกว่าหลายประเทศแล้ว อาทิ เวียดนาม ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว
โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจที่มองเงื่อนไขการพึ่งพาค่าแรงเป็นการแข่งขัน ธุรกิจเหล่านี้จะไม่มาไทยอยู่แล้ว แต่การขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวันนั้น จะกระทบกับนักลงทุนไทยหรือธุรกิจในประเทศ เพราะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและถึงจุดหนึ่งที่ปรับตัวไม่ไหวก็อาจต้องย้ายฐานการผลิต แต่ก็ยังมองว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก เพราะที่ผ่านมามีการเปิดเผยว่าบริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น แต่ก็มีการปฏิเสธออกมาว่ายังไม่ได้ดำเนินการตามที่มีกระแสข่าวออกไป นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศทั้งของคนไทยหรือต่างชาติที่ทำอยู่แล้ว เพราะมีต้นทุนสูงขึ้นบ้าง
หากมีการจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกลได้จริง มีการมองว่าอาจเกิดความวุ่นวายในแง่ของการเมืองนอกสภา
ส่วนนี้มองว่าผลกระทบก็มีน้อยมากอยู่ดี เพราะการประท้วงนอกสภานั้นมีเกิดขึ้นเกือบทุกประเทศทั่วโลก อาทิ ฝรั่งเศส ที่มีการประท้วงค่อนข้างบ่อย ทำให้นักลงทุนไม่ได้มองถึงการเกิดเหตุการณ์ประท้วงต่างๆ มาเป็นปัจจัยในการเข้ามาดำเนินธุรกิจ เพราะหลายประเทศก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เป็นเรื่องของประชาธิปไตย ยกเว้นเป็นประเทศที่กำลังเกิดปัญหาสงครามการเมือง แบบนั้นจะส่งผลกระทบมาก แต่หากเป็นการประท้วงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา เหตุการณ์ลักษณะแบบนั้นมีผลกับนักลงทุนน้อยมาก
การตั้งรัฐบาลล่าช้าหรืออยู่ตามกรอบเวลานั้น ถามว่าหากตั้งได้ตามไทม์ไลน์ที่มีแล้วถามว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าแม้ตั้งรัฐบาลได้เร็ว แต่งบประมาณของปี 2567 ที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่และสามารถใช้ได้ก็เป็นปี 2567 เป็นต้นไป ทำให้แม้รัฐบาลใหม่เข้ามาได้เร็ว
แต่มีข้อจำกัดในแง่งบประมาณต้องใช้งบประมาณเก่าก็อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การจัดตั้งรัฐบาลช้าหรือเร็ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงมีค่อนข้างจำกัด ไม่ได้รุนแรงมากนัก

เกวลิน หวังพิชญสุข
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

Advertisement

กรณีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นไปตามกำหนดการที่จะจัดตั้งได้ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยรัฐบาลใหม่ยังต้องใช้เวลาจัดตั้งล่าช้าออกไปอีกก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ด้านการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรไว้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านการผลักดันในกระทรวงต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนในบางอุตสาหกรรม โดยปัจจัยการเมืองอาจเป็นส่วนหนึ่งที่นักลงทุนจะพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ในประเทศ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ต้นทุนการลงทุนด้านต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น ปัจจัยการเมืองในประเทศอาจไม่ใช่ทั้งหมดที่นักลงทุนนำมาพิจารณาในการลงทุนสำหรับธุรกิจที่จะทำในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในบางอุตสาหกรรมนักลงทุนจะพิจารณาปัจจัยทางการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนที่เอกชนทำร่วมกับรัฐบาล หรือการประมูลงานผ่านรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะชะลอการทำงานลง เนื่องจากบางอุตสาหกรรมเป็นการทำงานในโปรเจ็กต์ต่อเนื่องกัน เมื่อรัฐบาลใหม่ยังไม่เข้ามาจัดการ หรือสานต่อโครงการ การดำเนินงานในโครงการต่างๆ จะสำเร็จได้ช้าลง เพราะไม่มีการเจรจากันอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน แม้การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากปัญหาเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ยังมีท่าทีว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะได้รับเสียงโหวตปริ่มน้ำ อีกทั้งปัญหาการฟ้องร้องเรื่องคุณสมบัติของว่าที่นายกรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังคงมีต่อเนื่อง มองว่าเป็นอุปสรรคต่อเนื่อง ซึ่งประเด็น หรืออุปสรรคต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เสถียรภาพทางการเมืองไม่นิ่ง เรื่องนี้จะส่งผลกระทบทันทีต่อตลาดเงินและตลาดทุน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดหรือนักลงทุนจะประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตล่วงหน้า ส่งผลให้ตลาดการเงินและตลาดทุนผันผวน สะท้อนจากตลาดหุ้นไทยยังขึ้นและลงไม่หยุดนิ่ง เนื่องจากนักลงทุนยังไม่เห็นความชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะดำเนินการ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลผสมการดำเนินนโยบายยังต้องมีการพิจารณาร่วมกันและหาข้อสรุปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลถูกเลื่อนออกไป ต้องมีกลไกหรือขั้นตอน พร้อมด้วยเหตุและผลถึงการขยายเวลาการจัดตั้งรัฐบาลว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต้องอธิบายเหตุผลต่อสาธารณชนให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจในระดับที่ทำให้เศรษฐกิจไทยพังทลาย เบื้องต้น ยังคงมองว่าสถานการณ์จะไม่เกิดขึ้นถึงขั้นนั้น และประเมินว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ แม้เกิดกรณีที่ปัญหาการเมืองยืดเยื้อไม่จบสิ้น เนื่องจากภาคเอกชนจะยังคงทำธุรกิจและไม่มีการหยุดการดำเนินงาน ดังนั้น ปัญหาการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศและยังเป็นเรื่องแยกส่วนกันกับการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่แล้วเสร็จตามกำหนดและอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง โดยที่ประชาชนไม่เห็นด้วยและเกิดการลงถนน หรือเกิดการประท้วงเกิดขึ้น เรื่องนี้จะเป็นผลกระทบที่ส่งผลโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยอาจมองว่าความขัดแย้งภายในประเทศจะทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการท่องเที่ยว จึงมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย
เพราะฉะนั้นปัญหาทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม อย่างไรก็ตาม ยังคงเชื่อมั่นว่าปัญหาการเมืองจะคลี่คลายลงได้
ทั้งนี้หากภาคท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจะทำให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคบริการ ภาคการโรงแรม และผู้ประกอบการร้านอาหาร เป็นต้น จะได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น ภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังขยายตัวได้จากภาคท่องเที่ยว หากดับลงผลกระทบจะหนักต่อเศรษฐกิจในประเทศหลายด้าน ทั้งกำลังซื้อจะลดลง การใช้จ่ายในประเทศหดตัว ท่ามกลางปัญหาการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง
โดยที่มีปัญหาทางการเมืองเป็นตัวแปรหนึ่งที่อาจเป็นสารตั้งต้นให้เกิดปัญหาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image