ไทยแลนด์ เทกออฟ ‘เกรียงไกร’ชูเน็กซ์เจนฯ อุตสาหกรรม‘โกอินเตอร์’

ไทยแลนด์ เทกออฟ ‘เกรียงไกร’ชูเน็กซ์เจนฯ อุตสาหกรรม‘โกอินเตอร์’
เกรียงไกร เธียรนุกุล

หมายเหตุ – นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หนึ่งในวิทยากรงานสัมมนา “Thailand : Take off” ที่ “มติชน” จัดขึ้น ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” นำร่อง หัวข้อ อุตสาหกรรมไทยติดปีก…โกอินเตอร์ ที่จะขึ้นเวทีสัมมนา วันที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 08.30-12.15 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

⦁ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จนถึงปีหน้า
ในปี 2566 เป็นปีที่มีความท้าทายอีกปีหนึ่ง สืบเนื่องมาจากปัญหาเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐและทั่วโลก ที่เกิดขึ้นจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ทางสหรัฐ ใช้เป็นยาแรงก็คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว แรง และมีความถี่ เพราะฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมา ยาจึงเริ่มออกฤทธิ์ตามที่ต้องการ คือต้องการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของตัวเองลง ได้ผลเพราะจะเห็นว่าตั้งแต่ปลายปี 2565 หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 ตัวเลขการส่งออกไปยังสหรัฐ ของทุกประเทศลดลงหมด รวมทั้งไทยที่การส่งออกติดลบรวม 7 เดือน (ตุลาคม 2565-เมษายน 2566)

ปีนี้เครื่องยนต์ของการส่งออกของประเทศไทยเคยเป็นพระเอกมาหลายปีในช่วงที่ผ่านมาคงแผ่วลง ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการคาดการณ์ตั้งแต่ปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ยืนยันว่าตัวเลขการส่งออกของไทยจากเดิมที่เป็นบวก แต่ในปี 2566 จะติดลบ หรือดีที่สุดอยู่ที่ ลบ 1% ถึง 0% อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไตรมาสที่ 3/2566 (กรกฎาคม-กันยายน) กกร.จะมีการประเมินใหม่อีกครั้ง เพราะแนวโน้มในการติดลบค่อนข้างรุนแรง

จากความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันถึงแม้กำลังการผลิตยังผลิตอยู่แต่จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่าใน 19 อุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. มีการผลิตแต่ไม่ได้ส่งออก เป็นการผลิตแล้วเก็บเป็นสต๊อกไว้เพื่อพยุงการจ้างงาน และหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจคลี่คลายจะนำสินค้าที่ทำการสต๊อกไว้มาส่งออกต่อไป ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะไม่อยากให้พนักงานขาดรายได้ ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องกัดฟันผลิตไปก่อน

Advertisement

ส่วนสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะกำลังซื้อโดยภาพรวมยังไม่ค่อยฟื้น แม้ว่าไทยจะมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามา ก็ช่วยได้บ้างในบางส่วนแต่ว่ากำลังซื้อส่วนใหญ่น่าจะเจอปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเครื่องยนต์ที่สำคัญในปีนี้ที่มาแรงที่สุด จึงยังเป็นภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ไทยได้มีการเปิดการท่องเที่ยว ส่งผลให้จากเดิมคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 25 ล้านคน ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนประมาณการเป็น 30 ล้านคน หรือคิดเป็น75% จากเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 40 ล้านคน หวังว่าในช่วงไตรมาสสุดท้าย หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น และแผ่อานิสงส์ไปถึงเมืองรองให้กลับมาคึกคักอีกด้วย จากการคาดการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ ก็ต้องระวังปัจจัยลบที่อาจแทรกเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากการเผชิญกับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้แล้ว ไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยภายใน อย่างเรื่องค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย และค่าต้นทุนต่างๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ที่ทำให้ราคาสินค้าทุกประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งประเด็นนี้จะกดดันกำลังซื้อ บวกกับปัจจุบันไทยมีหนี้ภาคครัวเรือนแตะ 90% ซึ่งถือว่าสูงมาก มองว่าเรื่องนี้เป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่

Advertisement

ปัจจุบันเริ่มเห็น หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย(เอ็นพีแอล) มากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารส่วนใหญ่เริ่มระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ดังนั้น ปัญหานี้จึงเป็นตัวกดดันทำให้กำลังซื้อต่างๆ ไม่คล่องตัว รวมถึงปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2% ยิ่งเป็นการซ้ำเติมกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการเข้าไปอีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

⦁ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
สำหรับประเด็นการเมือง มองว่า การเลือกตั้งในรอบนี้ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ปกติหากพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 รวมกับพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 และมีคะแนนเสียงรวมกันประมาณ 290 เสียง ก็ถือว่าเห็นภาพแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ใครจะมานั่งตำแหน่งไหน อยู่ที่ว่าจะประกาศเมื่อไหร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันขนาดรวมกับพรรคอีก 6 พรรค รวมเป็น 8 พรรค มีคะแนนเสียงกว่า 312 เสียงแต่ยังไม่สามารถฟันธงได้เลยว่าใครจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่

จากปัญหาการเมืองที่ไม่นิ่ง จึงสร้างความไม่มั่นใจ สร้างความไม่สบายใจให้กับนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะตอนนี้การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 1 เดือน ภาพก็ยังไม่ชัด ส่งผลให้การลงทุนชะลอตัว แม้ว่านักลงทุนบางรายเคยเข้ามาขอรับการส่งเสริมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปแล้ว ก็ต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อรอให้การเมืองนิ่ง แต่หากเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมที่คาดว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ในเดือนสิงหาคม 2566 ทุกอย่างจะเป็นไปตามเดิม นักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นและกลับเข้ามาเดินหน้าลงทุนในไทยอีกครั้ง

แต่หากสถานการณ์ล่าช้าออกไป 1-2 เดือน หรือเลื่อนออกไปถึงช่วงปลายปี 2566 อาจส่งผลให้สิ่งที่หายไปจากสังคมไทยเป็นเวลานานกลับมาอีกครั้ง คือ ม็อบ เป็นภาพหลอนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจะกระทบกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจ หรือภาคท่องเที่ยวโดยตรง จากเดิมที่คาดหวังว่านักท่องเที่ยวในปี 2566 จะถึง 30 ล้านคน อาจไปไม่ถึง

โดยภาพการเดินขบวนหากถูกเผยแพร่ออกไปจะมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวแน่นอน รวมถึงภาคการส่งออก และการลงทุนจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน ย้ำว่านักลงทุนไม่ชอบการเซอร์ไพรส์ ดังนั้น จึงอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยแย่ไปกว่านี้

นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนิโญ ตอนนี้ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งกว่า 90% จึงกังวลว่าจะกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย ปัจจุบันมีออเดอร์จากต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนอาหาร หรือพืช ในประเทศคู่ค้าของรัสเซียกับยูเครนที่กำลังทำสงครามกันอยู่ ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการเพาะปลูก

คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะยาวนาน กินเวลาไปเป็นปี ที่น่ากังวลมากที่สุดคือการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทาง กกร.จึงได้ส่งหนังสือแสดงความกังวลในเรื่องนี้ พร้อมเสนอแนวทางป้องกันไปยังภาครัฐ เพื่อให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วนต่อไป

⦁จะติดปีกอุตสาหกรรมไทยอย่างไรให้แข่งขันได้ โดยเฉพาะการแข่งขันกับทั่วโลก
จากปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องการถูกดิสรัปชั่นจากดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ฉะนั้น หากเราไม่มีการเพิ่มประชากรอย่างมีนัยสำคัญ เชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรเราจะลดลงเรื่อยๆ จาก 67 ล้านคน เหลือเพียง 50 ล้านคน

ฉะนั้น จะยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานวัยทำงานจะยิ่งลดลง ทำให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องสำหรับอุตสาหกรรม โดยไทยมีคู่แข่งในภูมิภาคคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ต่างมีประชากรมีแรงงานเยอะกว่าไทย ค่าแรงถูกกว่า รวมถึงยังได้แต้มต่อเรื่องการเจรจาสิทธิประโยชน์ทางการค้าเสรีกับหลายประเทศ (เอฟทีเอ) มากกว่าเรา เพราะฉะนั้นไทยต้องขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries)

แบ่งเป็น 3 อุตสาหกรรมสำคัญ คือ 1.อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) หรืออุตสาหกรรมที่ไทยเป็นแชมป์อยู่ แต่กำลังถูกดิสรัปชั่น อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีสัดส่วนการส่งออก 10% มีซัพพลายเชนที่แข่งแกร่ง แต่วันนี้เรากำลังถูกดิสรัปชั่นด้วยพลังงานสะอาด หรือรถไฟฟ้าอีวี เพราะฉะนั้นเราต้องรีบปรับตัวถ้าไม่ปรับตัวเราก็จะตกเทรนด์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องอีวีมากขึ้นแล้ว อีกทั้งยังหันมาให้ความสนใจกับเรื่องอุตสาหกรรมใหม่ๆ อีกด้วย อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นอุตสาหกรรมจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ เพราะทำน้อยแต่ได้มาก

2.โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ยืนยันว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว ผมเองได้คุยกับหลายๆ คนว่า ไม่ว่าพรรคใดจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ต่อ เพราะเป็นเทรนด์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เรื่องของพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว เป็นเทรนด์ของโลก

3.เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เรื่องนี้เป็นภัยคุกคามไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีผลต่อทั้งโลก ผู้นำของทั่วโลกจึงเร่งหาแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เรื่องนี้ประเทศไทยอยู่ในพันธสัญญา ไทยเป็นผู้ส่งออกที่พึ่งพาการส่งออกกว่า 60% ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกได้ออกกติกา เช่น ยุโรป เตรียมเก็บภาษีซีแบม จากอุตสาหกรรมหรือสินค้าทุกประเภท ยิ่งผลิตด้วยกระบวนการที่ไม่ประหยัดพลังงานหรือปล่อยก๊าซมีเทนมากเหล่านี้ต้องเสียภาษีเยอะมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังได้เปรียบเรื่องพลังงานสะอาดจากหลายประเทศอยู่ ฉะนั้นเราต้องรีบทำให้พลังงานสะอาดมีสัดส่วนมากขึ้น เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนใหม่ๆ ของทั่วโลก และอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ใช่แข่งขันกันแต่เรื่องค่าแรง ซึ่งไทยสู้หลายประเทศไม่ได้

ปัจจุบันไทยมีโอกาส ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่เรื่องที่เราเก่งเราต้องเก่งที่สุดในภูมิภาคนี้ เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อทุกอุตสาหกรรม อาทิ อีวีเพราะฉะนั้นเราต้องเร่งเดินหน้าในสิ่งที่เรามีจุดแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งโครงสร้างของแต่ละประเทศแตกต่างกัน

โดยไทยต้องมุ่งอุตสาหกรรมใหม่มีมูลค่าเพิ่ม มีเทคโนโลยีมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือมีประสิทธิภาพดีขึ้น ตรงนี้เป็นโอกาสของไทย เพียงแต่ว่าวันนี้ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเราต้องทำภายในให้แข็งแรง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่และเอกชน จะสามารถทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงเข้ามาช่วยแก้กิโยตินกฎหมาย แก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศต่อไป

⦁ความร่วมมือหลัง ส.อ.ท.หารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
การหารือระหว่าง ส.อ.ท.กับนายพิธา เกิดขึ้นเมื่อวันที่23 พฤษภาคม มีการพูดคุย 5 หัวข้อ ได้แก่ 1.ต้นทุนพลังงาน 2.ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อคน ซึ่งพรรคตั้งเป้าหมายทำภายใน 100 วัน เรื่องนี้ ส.อ.ท.ได้สะท้อนไปแล้วว่าเป็นยาแรงเกินไปอาจทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ 3.เรื่องกิโยตินกฎหมาย เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อขจัดกฎหมายที่ล้าสมัย 4.การสนับสนุนและหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ 5.เศรษฐกิจบีซีจี อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เดินหน้านโยบายนี้ต่อไป เพื่อให้ทันต่อเทรนด์ของโลก

ส.อ.ท.ได้เสนอให้ภาครัฐกับภาคเอกชนทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน เดิมเกี่ยวข้อง 20 หน่วยงาน แต่ไม่มีเจ้าภาพตัวจริง แย่งกันใช้งบประมาณทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้า โดยนายพิธารับข้อเสนอและพร้อมตั้งคณะทำงานร่วมกันแยกเป็นรายอุตสาหกรรม เบื้องต้น 5 อุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอีวี อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และยารักษาโรคพวกสมุนไพรพวกเวชศาสตร์ และเห็นตรงกันในการผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ การสร้างแบรนด์ของประเทศไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ กรณีลิซ่าแบล็กพิงก์หยิบจับอะไรก็เป็นการสร้างมูลค่าไปเสียหมด หรือบัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยชื่อดัง สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ศิลปะมวยไทย ต่างชาติให้การยอมรับ

ท้ายที่สุดไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ถึงเวลาแล้วที่ต้องจับมือกัน ประเทศไทยยังมีของดีมากมาย มีความได้เปรียบกว่าหลายประเทศ เพราะฉะนั้น อย่าทิ้งโอกาส อย่าปล่อยให้ประเทศอื่นแซงเราต้องฉกฉวยโอกาสให้ได้ ต้องเพิ่มการอัพสกิลคน ทำอย่างไรให้ 1 คน ทำได้หลายอย่าง จ่ายค่าแรงตามสกิล จะทำให้ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ใช่ปัญหาโลกแตกของผู้ประกอบการอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image