เปิดปฏิบัติการรับมือ ‘เอลนิโญ’ ระดมทุกภาคส่วนสู้ ‘ภัยแล้ง’

เปิดปฏิบัติการรับมือ‘เอลนิโญ’
ระดมทุกภาคส่วนสู้‘ภัยแล้ง’

หมายเหตุหลายภาคส่วนเร่งวางแผนรับมือปรากฏการณ์เอลนิโญ คาดว่าจะทำให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง เกิดภัยแล้งขึ้นหลายพื้นที่ในปีนี้

สุรสีห์ กิตติมณฑล
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

จากการรายงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พบว่าปัจจุบันภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติของฤดูฝน 5% ขณะนี้ปรากฏการณ์เอนโซ (เป็นคำที่ใช้อธิบายความผันแปรของปรากฏการณ์ธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นที่มาของปรากฏการณ์เอลนิโญ และลานิญา) ยังมีสถานะเป็นกลาง คาดว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนิโญเดือนกรกฎาคมนี้ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปี 2566 ไปแล้วประมาณ 6 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 35% ของแผนการเพาะปลูกทั้งหมด ส่วนการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังปี 2565/66 ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะนี้มี 9 ทุ่ง เก็บเกี่ยวแล้ว 100% เหลือทุ่งโพธิ์พระยาเก็บเกี่ยวไปแล้ว 80% จะแล้วเสร็จภายในมิถุนายนนี้ กรมชลประทานจะติดตามอย่างใกล้ชิด พบว่ามีบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ เน้นติดตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่ รายงานผลการแก้ไขปัญหาให้คณะทำงานรับทราบต่อเนื่อง ที่ประชุมได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับคาดการณ์สถานการณ์น้ำระยะยาว เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในสภาวะเอลนิโญให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

Advertisement

กอนช.ประชุมติดตามประเมินสถานการณ์น้ำทุกวันอังคาร ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.จะแถลงข่าวผลการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วถึง เริ่มต้นวันที่ 20 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป และเพื่อให้การรับมือเกิดผลเป็นรูปธรรม กระทบประชาชนน้อยที่สุด ต้องเน้นย้ำการเก็บกักน้ำทุกแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว สทนช.หารือร่วมกับกรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ให้ทุกภาคมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำ ผ่านเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำภาคเกษตรอย่างประณีต วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรรวมถึงการเตรียมแปลง การปรับรอบการส่งน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปริมาณน้ำฝน พิจารณาตามหลักการ 1 รอบการเพาะปลูก หากมีรอบการเพาะปลูกที่ 2-3 ต้องมีมาตรการลดใช้น้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้ถึงฤดูแล้งปี 2567/68 สทนช.จะประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการฤดูแล้งที่ผ่านมาอีกครั้ง ภาพรวมค่อนข้างจะเป็นไปตามแผน เกิดผลกระทบไม่มากนัก

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวัง หามาตรการครอบคลุมเพื่อปิดจุดอ่อนต่างๆ ที่อาจส่งผล กระทบกับประชาชนให้เกิดน้อยที่สุด จะนำปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง ภายใต้ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.น้ำต้นทุน 2.ความต้องการใช้น้ำ และ 3.การบริหารจัดการ ไปใช้ในการปรับปรุงมาตรการ รวมทั้งกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปีถัดไปอีกด้วย ขณะเดียวกันยังต้องดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 อย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยด้วยเช่นกัน ตั้งแต่มิถุนายน-พฤศจิกายนนี้ อาทิ เร่งรัดซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ ระบบระบายนน้ำ สถานีสูบน้ำ หรือเครื่องจักรเครื่องมือ ให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก สำหรับหน่วยงานยังไม่ได้รับงบประมาณ ขอให้จัดทำแผนปฏิบัติการสำรองการบริหารจัดการน้ำหลาก ให้กรมชลประทาน ประชาสัมพันธ์แผนการส่งน้ำ จัดรอบเวรการส่งน้ำ ตามปริมาณน้ำที่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์
ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด

Advertisement

จากสถานการณ์เอลนิโญเป็นปรากฏการณ์อากาศร้อน ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนั้น ทางจังหวัดตราดได้รับทราบปัญหาในเรื่องนี้แล้ว และได้ทำการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งชลประทานจังหวัดตราด และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเตรียมการรับมือปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อสำรวจน้ำใต้ดิน น้ำบนดิน และน้ำผิวดินและสำรวจความต้องการการใช้น้ำในระยะนี้ว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใด ดูว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำให้สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร และเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ เท่าที่จังหวัดตราดเคยประสบปัญหามาในช่วงเดือนกรกฎาคมที่มีฝนทิ้งช่วงเป็นเดือน ทางจังหวัดสามารถบริหารจัดการน้ำได้ รวมทั้งสำรวจน้ำธรรมชาติ น้ำที่มีการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 7 แห่ง ในห้วงที่มีฝนตกลงมาแม้จะตกๆ หยุดๆ แต่ก็ได้สั่งการให้มีการจัดเก็บน้ำเหล่านี้ไว้ เพื่อช่วยในช่วงที่มีการขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลด้วยเพราะหากฝนตกลงมามากจนล้นทางน้ำล้น หรือสปิลเวย์ (spillway) อาจจะส่งผล กระทบน้ำท่วมพื้นที่ด้านล่างได้

ได้สั่งการให้มีการจัดเก็บน้ำไว้ทาง 7 อ่างเก็บน้ำแล้ว เพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้ว แต่ก็ต้องบริหารจัดการให้ดีเช่นกัน อย่าเก็บเกินจนล้นสปิลเวย์ออกมา เพราะหากล้นมากอาจเกิดน้ำท่วมพื้นที่ได้ เก็บมากไปก็ล้น เก็บน้อยไปเมื่อขาดแคลนน้ำก็จะเกิดปัญหาขึ้น ได้หารือกับชลประทานจังหวัดตราด และกลุ่มผู้ใช้น้ำถึงความต้องการเพื่อไม่ให้ปัญหาในอนาคต เป็นแนวทางในการจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ในส่วนงบประมาณในปี 2567 นั้น ทางจังหวัดตราดได้ดำเนินการทำโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง และอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ ในห้วง 5 ปีข้างหน้านี้จะสามารถเก็บน้ำได้ และสามารถเติมน้ำให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันก็จะได้ขุดลอก คูคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อใช้เป็นแก้มลิงในการเก็บกักน้ำ ขอให้ประชาชนได้ช่วยกันดูแลและแก้ปัญหาหากพื้นที่ไหนมีปัญหาสามารถโทรมาแจ้งที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตราดได้

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปรากฏการณ์เอลนิโญที่เกิดขึ้น เริ่มเกิดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยิงยาวไปจนถึงมีนาคม สมัยก่อนเอลนิโญมีอยู่แล้ว เพียงแต่รอบนี้ปัญหาที่หลายคนห่วงกันมาก และมีคำแปลกๆ อย่าง ซุปเปอร์เอลนิโญ ด้วยเหตุผลเพราะมีโลกร้อน ในอดีต
เอลนิโญเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ โลกไม่ได้ร้อนเหมือนปัจจุบัน ตอนนี้จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ 2 เด้ง ยกตัวอย่างเรื่องทะเล ที่ผมทำ ก่อนหน้าจะมีเอลนิโญ น้ำก็ร้อนอยู่แล้ว 2 ปีที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ ลานิญา คือฝนตกชุก น้ำก็ร้อน กำลังฟอกขาว แต่พอมาหนนี้เป็นเอลนิโญ จึงยิ่งแรงไปกันใหญ่ เพราะมีเรื่องโลกร้อน ทำให้น้ำร้อนขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ทั่วโลกกลัวกันตอนนี้ เพราะกลายเป็น 2 เด้ง ทั้งเอลนิโญและโลกร้อน ทำให้ยิ่งร้อนหนักแล้งหนัก จากปกติโลกร้อนก็ทำให้บ้านเราแล้งอยู่แล้ว ผลกระทบจากโลกร้อน ยังส่งให้เอลนิโญแรงขึ้นด้วย

เรายึดตามโมเดลทำนายของทั้งโลก ตามโมเดลฝรั่ง เพราะเอลนิโญไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะบ้านเรา แต่ที่เป็นทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก ต้องใช้ข้อมูลเยอะ เราจึงดูจากฝรั่งทำนายกันด้วย เอลนิโญส่งผลกระทบกับอเมริกาเขาถึงให้ความสำคัญ หน่วยงานยักษ์ๆ ของอเมริกา อย่าง นาซ่า โนวา ต่างทำนายกันอุตลุดด้วยเหตุผลว่าส่งผลกระทบ ทำนายว่าจะส่งผลยาวถึงเดือนมีนาคม ปี 2567

สำหรับประชาชนทั่วไป ถ้าคุณปลูกทุเรียนอยู่ที่ จ.นนทบุรี ภัยแล้งก็ยังไม่น่ากลัวมาก เพราะมีน้ำคลอง แต่ปัญหาสำคัญคือน้ำไม่พอ หรือเจอน้ำเค็มแล้วทุเรียนตาย น้ำจืดตามแม่น้ำมีจำกัด จึงไม่ใช่เรื่องแล้งอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องน้ำใช้ได้หรือไม่ได้ด้วย ถ้าคนทั่วไปในเมืองที่ไม่ได้ทำสวน ทำเกษตรกรรม สิ่งที่คุณจะเจอคือฝุ่น PM2.5 จะมีมากขึ้น เพราะเมื่อแล้งไฟป่าโดยเฉพาะภาคเหนือก็จะยิ่งมากขึ้น ป่าแห้งมีโอกาสเกิดไฟไหม้มากขึ้น อย่างตอนนี้เห็นชัดๆ ไหม้ไปครึ่งแคนาดาแล้ว ออสเตรเลียสิ้นปีนี้อาจไฟไหม้กระจาย เพราะปรากฏการณ์เอลนิโญด้วยเช่นกัน

สรุปแล้ว คุณโดนอะไรคุณจะโดนหนักขึ้น ยกตัวอย่างเกี่ยวกับความแล้ง เช่น คุณโดนฝุ่นอยู่แล้ว สิ้นปีนี้ฤดูฝุ่นจนถึงต้นปีหน้า คุณอาจจะโดนผลกระทบจากฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถ้าเกิดบ้านคุณอยู่แถวแนวไฟป่า ก็ควรขุดร่องกันไฟหรือย้ายบ้านเสีย เพราะไฟป่า ฮอตสปอตจะมีมากขึ้นจากความแล้ง ถ้าเกิดคุณทำสวน ก็ต้องรู้สึกว่าน้ำเป็นของจำกัด ถ้าคุณทำโรงงานหรือกิจกรรมใดๆ ไม่ว่าจะร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว คุณจะรู้ว่าน้ำคือปัจจัยจำกัด อาจต้องซื้อน้ำมากขึ้น แพงขึ้น เพราะขาดแคลน มีไม่พอ ถ้าเกิดคุณจ่ายค่าไฟก็เตรียมจ่ายค่าไฟมากขึ้น เพราะจะร้อนกว่าเดิมแล้วคุณก็เปิดแอร์หนักกว่าเดิม

อย่างภาคตะวันออกคนห่วงกันว่าน้ำเขื่อนจะวิกฤตหรือไม่นั้น การจัดการน้ำตามความเป็นจริง ต้องมีอ่างเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำนอกป่า ณ ตอนนี้ไม่มีเหลืออยู่แล้ว คุณจะไปสร้างอ่างเก็บน้ำที่ไหนถ้าเกิดไม่มีน้ำเข้ามาในอ่าง น้ำในอ่างนั้นก็อยู่ในป่า ปัญหาคือว่าเราต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ปัญหาต่อไปก็คือตอนนี้ช้างกว่า 40% ในภาคตะวันออก ก็ออกมาเดินเล่นอยู่ข้างนอก เพราะเขาไม่มีที่ ยิ่งไปทำเป็นอ่างเก็บน้ำ ช้างจะยิ่งยกกันออกมาทั้งป่า ช่วงนี้ชาวเกษตรกรได้เจอช้างตลอดตามถนน ก็จะยิ่งมีช้างมากขึ้น ช้างจะเป็นภัยคุกคามต่อการจราจรอย่างใหญ่หลวง

คำถามคือแล้วน้ำจะมาจากไหน สำหรับภาคตะวันออกใช้น้ำทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคชุมชน ขณะที่ต้นทุนของน้ำนั้นมีอยู่แค่นี้ แถมเจอเอลนิโญ เมื่อฝนไม่ตก เขื่อนแล้ง เกิดวิกฤต น้ำก็ยิ่งน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ ต้นทุนน้ำจะมีจำกัด มีน้ำเหลือน้อยสำหรับคน 4 กลุ่มหลักที่กล่าวไปข้างต้น มีความต้องการใช้น้ำอย่างมาก แค่นี้ก็แย่อยู่แล้ว อย่างทางโรงงานฝั่งตะวันออก (EEC) ก็ซื้อน้ำใช้ในอุตสาหกรรมกันอยู่ แต่ปัญหาคือราคาแพงขึ้น ยิ่งดึงน้ำจากที่อื่นไป น้ำไม่พอหนัก แล้วเกษตรกรทั่วไปก็อาจจะได้รับผลกระทบ

สำหรับภาครัฐ สิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วน คือเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด นั่นคือวิธีการเดียว เขาก็พยายามทำกันอยู่ แต่ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน ย้อนกลับไปที่หลักการบริหารจัดการน้ำเบื้องต้น น้ำคือต้นทุน ถ้าเราอยากใช้น้ำก็ต้องเก็บน้ำ ถ้าหวังใช้น้ำจากแหล่งสาธารณะอย่างเดียวไม่พอหรอก เพราะทุกคนต้องการใช้น้ำกันหมด คำถามคือภาครัฐจะไปเก็บน้ำที่ไหน อาจจะกลับเข้าไปในป่าเหมือนเดิม วนเป็นวงกลม ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ คน ลงทุนขุดอ่างอย่างดี มีการปูผ้าใบไม่ให้น้ำรั่ว

จากเอลนิโญ ชัดเจนที่สุดแล้วว่า น้ำคือต้นทุน คุณต้องพยายามหาที่ ไม่ว่าจะโคก หนอง บึง นา ใช้วิธีการต่างๆ ที่มีแนวทางอยู่ แต่คนไม่ค่อยทำ เพราะรอหวังใช้น้ำจากแหล่งสาธารณะอย่างเดียวไม่ไหว พอน้ำไม่พอ น้ำหมดไป ผู้คนก็กรีดร้อง แต่การกรีดร้องก็ไม่ได้ช่วยอะไร ภาครัฐไม่รู้จะไปเอาน้ำจากตรงไหน ถ้าไม่ช่วยกันเราก็ต้องแห้งตาย เหมือนต้นไม้ในสวนตัวเองแห้งตายขอให้คนอื่นช่วย แล้วเขาจะเอาน้ำจากไหนมาช่วย ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า อีก 7-8 เดือนเราจะไม่มีน้ำ ฉะนั้นตอนนี้ต้องรีบกักน้ำไว้ ถ้าอยากลงทุนตอนนี้แนะนำให้ลงทุนเรื่องน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image