รายงานหน้า2 : ไพบูลย์ นลินทรางกูร จับทิศทางตลาดทุนไทย

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
จับทิศทางตลาดทุนไทย

หมายเหตุบทสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จํากัด กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (ไอเอเอ) หนึ่งในวิทยากรเวทีสัมมนา Thailand : Take Off ที่ทางมติชนจัดขึ้น ที่โรงแรม พูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ วันพุธที่ 21 มิถุนายนนี้

⦁ภาพตลาดหุ้นไทยในปี 2566 ปัจจุบันและแนวโน้มครึ่งหลังของปี
ปี 2566 ตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่ค่อยดีมากนัก เนื่องจากดัชนีปรับตัวขึ้นได้ช้ากว่า (อันเดอร์เฟอร์ฟอร์ม) ตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก มองง่ายๆ ตลาดหุ้นโลกบวกประมาณ 10% แต่หุ้นไทยติดลบเฉลี่ย 7-8% แสดงว่าแพ้ไป 18% ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่ดีมากนัก เทียบกับหลายๆ ตลาดที่ปรับตัวขึ้นได้ดี อาทิ เกาหลีใต้ บวก 20% ไต้หวัน บวก 20% ญี่ปุ่น ทำออลไทม์ไฮ บวกกว่า 30% สหรัฐ บวก 12% ทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้น แต่ตลาดหุ้นไทยอันเดอร์เฟอร์ฟอร์มค่อนข้างมาก

สาเหตุเป็นเพราะ 1.ความคาดหวังของนักลงทุนที่มีค่อนข้างสูง ย้อนไปปี 2565 ตลาดหุ้นไทยถือว่าค่อนข้างดี ตลาดหุ้นอื่นปรับตัวลงประมาณ 20% แต่ดัชนีหุ้นไทยเสมอตัว ไม่ได้ขึ้นหรือลงมากนัก ท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อสูง ปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้ตลาดหุ้นไทยเหมือนเป็นหลุมหลบภัย แต่เมื่อผ่านเข้ามาปี 2566 พบว่า จีนโตผิดคาดการณ์ไว้ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้มาตามนัด นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มถอยไป

Advertisement

2.นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวกลับเข้ามาเที่ยวไทย แต่ไม่ได้ฟื้นตัวมากเท่าที่คาดหวังไว้ ติดปัญหาเรื่องคอขวด ความพร้อมของท่าอากาศยาน อาทิ จำนวนพนักงานให้บริการลดจำนวนลงไม่เพียงพอในการบริการ และ 3.การเลือกตั้งครั้งใหม่ มีความคาดหวังจะได้เห็นช่วงก่อนการเลือกตั้งตลาดจะบูมกว่าเดิม เม็ดเงินสะพัดมากกว่าเดิม แต่การเลือกตั้งรอบนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้ เพราะนอกจากหุ้นจะไม่ปรับขึ้นแล้วยังร่วงลงอีก ทั้งที่ความจริงควรจะต้องขึ้นเหมือนภาพในอดีต เนื่องจากมีความกังวลว่าจะเกิดภาพความไม่ลงตัวหลังเลือกตั้งแล้วเสร็จเหมือนตอนนี้ ไม่รู้ว่าอำนาจเก่าหรือใหม่จะเป็นอย่างไร เดิมฉากทัศน์ของนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนอันดับหนึ่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ทุกอย่างจะง่ายและจบ แต่พอภาพพลิกล็อกพรรคก้าวไกลได้คะแนนอันดับหนึ่งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นักลงทุนก็เทขายออกก่อนเพราะมีความไม่แน่นอน ยังไม่เกี่ยวกับนโยบายของพรรคด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะเมื่อนักลงทุนต่างชาติเห็นความไม่แน่นอน เพราะตลาดทุนไม่ชอบมากที่สุดคือ ความไม่แน่นอน ไม่ได้ไม่ชอบพรรคใด หรือชอบพรรคใด ส่วนใหญ่ไม่ได้แคร์มากนัก นอกจากจะมีนโยบายที่สุดโต่งเกินไป

แต่ที่อยากได้คือ ความมีเสถียรภาพ การคาดเดาได้ เพราะตลาดหุ้นเป็นการซื้ออนาคต จึงจำเป็นต้องคาดเดาพอได้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถคาดเดาได้เลย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เมื่อไม่สามารถคาดเดาหรือวิเคราะห์ได้เลย จึงถอยออกผ่านการขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 1 แสนล้านบาท จากปี 2565 ที่เพิ่งกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย 2 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกที่ไหลเข้ามาในรอบ 10 ปีด้วย

Advertisement

ขณะนี้ติดเรื่องปัจจัยด้านการเมือง ว่าจะไปในทิศทางใดต่อ ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังอยู่กับที่ แต่ถามว่าราคาหุ้นไทยอันตรายหรือไม่ในระดับนี้ ต้องบอกว่าไม่ได้มีความอันตราย เพราะทุกอย่างมีราคาของตัวเอง บริเวณ 1,500 จุด ถือว่าต่ำมากๆ แล้ว เพราะก่อนการระบาดโควิด-19 ดัชนีหุ้นไทยไปถึงระดับ 1,700 จุด ซึ่งในวันนี้ตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกปรับขึ้นไปทะลุช่วงก่อนโควิดกันแล้ว และไทยควรขึ้นสู่ระดับ 1,800 จุดแล้ว หากภาพเป็นเหมือนทั่วโลก แม้กระทั่งจีนที่ปิดประเทศนานสุด และประเมินเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นมากนัก แต่หุ้นจีนก็สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว แต่ของไทยยังไม่ใช่แบบนั้น ไทยยังเป็นสถานการณ์ของความอึมครึม และความไม่แน่นอน ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างกระทบกับภาคเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงความมั่นใจของผู้บริโภคด้วย

⦁แรงกดดันทางการเมืองในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
หากจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างน้อยเราจะวิเคราะห์ว่านโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพราะแต่ละพรรคก็หาเสียงมาต่างกัน แต่พรรคอันดับหนึ่งอย่างก้าวไกลก็ได้เพียง 150 เสียง ซึ่งอาจไม่สามารถผลักดันนโยบายหาเสียงทุกอย่างที่อยากทำได้ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องมาติดตามต่อว่าใครจะได้ตำแหน่งในกระทรวงใดไป และตอนนี้ยังไม่ชัดเจนก็ทำได้เพียงการคาดเดาเท่านั้น และเมื่อมีการคาดเดาอย่างเดียว ก็จะมีนักลงทุนบางกลุ่มที่ขี้เกียจคาดเดาก็ขายนำเงินออกมาก่อน ส่วนบางกลุ่มที่ยังพอคาดเดาได้ก็เป็นกลุ่มเก็งกำไร โดยหากไม่มีความวุ่นวาย เป็นการเปลี่ยนขั้ว และจัดตั้งรัฐบาลได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือจัดได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ ภาพจะดูดีขึ้น อย่างน้อยเงินลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามา เพราะที่ไหลออกไปตอนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะออกไปตั้งหลักด้วย ซึ่งตลาดหุ้นไทยที่อันเดอร์เฟอร์ฟอร์มตลาดอื่นอยู่ หากมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ดีขึ้น เงินทุนต่างชาติก็พร้อมที่จะไหลเข้ามา เพราะขณะนี้คาดเดาไปก่อนล่วงหน้าแล้วว่า พรรคแกนนำอันดับหนึ่งน่าจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และน่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้น ทำให้นักลงทุนกลัว สะท้อนจากการซื้อขายรายวันเหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาทในบางวันแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 ยังเป็นการซื้อขายระดับแสนล้านบาทอยู่เลย แต่ข้อดีก็คือ นักลงทุนยังไม่อยากขายแล้ว แต่หากเราเห็นตลาดลงแล้วยังมีแรงขายออกอีก อันนี้จะมีความน่ากลัว

สิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นมากที่สุดคือ รัฐบาลที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ เพราะตลาดทุนจะอยู่ได้ ต้องสนับสนุนให้ธุรกิจมีความแข็งแรง มีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประเทศชาติดีขึ้น เพราะมีการจ่ายภาษีมากขึ้น แต่ต้องทำกติกาให้โปร่งใส เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้มองว่าทุกคนคงอยากจะเห็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา มีความเป็นมิตรกับภาคธุรกิจ เพราะไทยยังจำเป็นต้องใช้ภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากหากวันนี้ประเทศไทยโตเต็มที่และยืนอยู่ได้ผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 4-5% แบบนี้จึงจะสามารถหันไปทำเรื่องอื่นแทนได้

แต่ขณะนี้เราโตแค่ 2-3% เท่านั้น แทบจะต่ำที่สุดในอาเซียนแล้ว ทำให้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง หากไม่ทำอะไรและปล่อยให้เศรษฐกิจระดับ 2-3% ต่อไป ปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำและปากท้องจะยิ่งมากขึ้นอีก อาทิ หนี้ต่างๆ

โจทย์ใหญ่ที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยบูมขึ้นมาอีกครั้ง คือ จะต้องสร้างความหวังให้ได้ ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตที่ 4-5% อีกครั้ง วาดฝันไว้ก่อน ส่วนจะไปอย่างไรค่อยไปว่ากันอีกครั้ง แต่ต้องเป็นฝันที่ทำได้จริงด้วย

รวมถึงหากมาดูประชากรก็เห็นอัตราการเกิดน้อยลง เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น เทียบกับที่อื่น อาทิ อินโดนีเซีย มีประชากร 260 ล้านคน อายุเฉลี่ย 30 ปี กำลังซื้อเยอะกว่า แรงงานไม่ต้องกลัวขาดแคลน ทำให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างไทยมีเยอะมาก ถามว่าตลาดหุ้นไทยจะไปได้ไกลหรือไม่ หากไม่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ หรือพยายามสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจ ให้โต 4-5% ให้ได้ ตลาดหุ้นไทยก็จะอยู่แบบนี้ ไม่ไปไหนไกล

⦁คำแนะนำถึงนักลงทุน
ข้อดีคือ นักลงทุนมองในภาพเล็กลงได้ โดยจะต้องเน้นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย และเป็นจุดแข็งของไทย ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจเชิงสุขภาพ รวมถึงโรงพยาบาลด้วย เพราะปัจจุบันคนไม่ได้ต้องการเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวเมื่อป่วยอย่างเดียว แต่เป็นการเข้ามารับการดูแลรักษาตั้งแต่ยังไม่ป่วย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นตลาดใหญ่ในโลก สามารถใช้จ่ายได้มากกว่าด้วย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและค้าปลีก หากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยประชากรไทยมีประมาณ 60 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 30 ล้านคน จะมีคนมาช่วยใช้จ่ายเพิ่มเกือบ 100 ล้านคน เหมือนปี 2562 ที่มีต่างชาติเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นการใช้จ่ายในประเทศเป็น 100 ล้านคน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคและบริโภค จะได้อานิสงส์เชิงบวก โดยเฉพาะพรรคการเมืองทุกพรรคอยากทำให้คนมีเงินมากขึ้นในกระเป๋า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม อาทิ พักหนี้ ลดหนี้ หรือแจกเงิน แต่ในระยะสั้นคนจะมีเงินมากขึ้น แม้จะดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้ รวมถึงในระยะยาวต้องมาประเมินนโยบายของรัฐบาลใหม่อีกครั้งด้วย

⦁เครื่องยนต์ใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ขึ้นอยู่กับแรงงานและประสิทธิภาพในการทำงาน โดยหากมีแรงงานเท่าเดิม แต่ประสิทธิภาพในการทำงานมีมากขึ้น 5% เศรษฐกิจก็จะโตขึ้นประมาณ 5% ด้วย แต่ทุกคนทำงานเท่าเดิมได้ ซึ่งประเทศไทยไม่มีแรงงานใหม่เข้ามา แรงงานเก่าก็ลดลง เพราะคนอายุมากขึ้น จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่หากเพิ่มไม่ได้การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะลดลงหรืออาจติดลบได้ หรือประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่าแรงงานที่ลดลงก็อันตรายด้วย ทำให้ต้องพึงพาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น โดยหากจะมองหาเครื่องยนต์ใหม่ ยกตัวอย่างพรรคก้าวไกล นโยบายที่ดีก็มี อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อยากเห็นประเทศไทยผลิตไมโครชิปเป็นของตัวเอง ไม่ใช่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมๆ หรือการนำเข้ามาประกอบเท่านั้น แต่ต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ต้องปรับกระบวนความคิดใหม่ทั้งหมด ซึ่งหากจะทำแบบนี้ก็ไม่สามารถทำเองได้ เพราะต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ด้วย ซึ่งไทยมีโครงการอีอีซี ที่จะดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามา แต่ต้องมาดูอีกว่าประสบความสำเร็จมากเท่าใด ซึ่งหากยังไม่สำเร็จมากนักก็ต้องทำให้ดีขึ้นอีก

ประเทศไทยมีความยากตรงที่การทำให้เกิดขึ้นจริง หากเป็นนโยบายของอีกคนคิด แต่มีคนทำสำเร็จ ผลงานจะไปอยู่ที่คนออกแนวคิด ไม่ใช่คนลงมือทำ ซึ่งหากยังคิดกันแบบนี้อยู่นั้น ประเทศชาติจะเหนื่อย จึงต้องตัดความคิดเหล่านี้ออกไป ไม่ว่าใครจะคิดก็ช่าง แต่หากทำสำเร็จ ประเทศก็ได้ประโยชน์อยู่ดี

ไทยยังต้องเน้นการส่งออกอยู่ เพราะคนไทยมีประมาณ 60 กว่าล้านคนเท่านั้น แต่การส่งออกไปต่างประเทศ อาทิ ส่งออกไปจีน มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ก็ควรส่งออกไปให้ใช้กันมากขึ้น เพราะหากกินกันเองหรือใช้กันเอง ก็ไม่มีทางขยายขนาดมากขึ้นได้ อย่างไรก็ต้องส่งออกไปให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น

หากเราจะเดินหน้าไปถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ไทยจะต้องพัฒนาให้มีธุรกิจขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง อาทิ ซัมซุงของไทย กูเกิล แอปเปิล ซึ่งต้องกลับมาประเมินนโยบายอีกครั้ง โดยนโยบายต้องไม่ปิดกั้นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ คุมกำเนิด เพราะเอาเปรียบประชาชน อาทิ แอปเปิลมีขนาดใหญ่มาก แต่ทำไมคนในสหรัฐถึงไม่ประท้วงว่ามีขนาดใหญ่เกินไป โดยการลดความเหลื่อมล้ำไม่ใช่การลดขนาดธุรกิจให้เล็กลง แต่ต้องสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้ใหญ่ขึ้น ส่วนธุรกิจใหญ่ก็ต้องใหญ่ขึ้นไปอีก เพื่อสร้างการเติบโตในด้านเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันเราจำเป็นต้องมีธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อแข่งขันกับชาวบ้านด้วย อาทิ ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ขณะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์จากสิงคโปร์เข้ามาแข่งในประเทศ ที่เหมือนสัญชาติไทยแล้ว แต่ความจริงเป็นสัญชาติสิงคโปร์ 100% ถามกลับว่าบริษัทหลักทรัพย์ไทยกล้าเข้าไปเล่นในประเทศอื่นๆ แบบนี้หรือไม่ ก็ไม่มี สาเหตุเพราะไทยไม่มีการสนับสนุนมากเท่าที่ควร

ปัจจุบันภาครัฐใช้ประโยชน์จากตลาดทุนน้อยมาก เทียบกับศักยภาพที่ใช้ได้ อาทิ การระดมทุนของภาครัฐ อย่างโครงสร้างพื้นฐาน ที่พยายามทำให้เกิดขึ้นมาได้ แต่มีการใช้ไม่กี่ครั้งเท่านั้น เพราะมีความยาก ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ซึ่งมันดีแน่นอนเพราะถือเป็นความโปร่งใส โดยภาครัฐหากไม่ใช้ตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปใช้ตอนไหนแล้ว เพราะหนี้มีเกือบเต็มเพดานหนี้แล้ว โดยหากรัฐบาลใช้เครื่องมือนี้ในการลดหนี้ ศักยภาพของภาครัฐก็ไปใช้ทำอย่างอื่นได้ อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำ การศึกษาที่ต้องพัฒนาอีกเยอะด้วย

แม้กระทั่งประชาชนก็ใช้ศักยภาพของตลาดทุนน้อย ไม่ได้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูก มีคนเข้าถึงประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น เป็นมนุษย์เงินเดือนที่เจียดเงินมาลงทุน ไม่ได้รวย แต่ถูกเหมาเข่งว่าเป็นคนรวย ทำให้หลายๆ อย่างต้องคิดใหม่ คิดว่าตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในประเทศ ทำอย่างไรให้มีคนมาระดมทุนเยอะ สร้างสภาพคล่องเยอะๆ เพราะย้อนกลับไปก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นไทยเล็กมาก ทุกคนต้องกู้ธนาคารอย่างเดียว เมื่อธนาคารล้มก็เจ๊งทั้งประเทศ ใช้เวลา 5 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมา แต่ปัจจุบันตลาดทุนไทยใหญ่พอแล้ว มีสภาพคล่องให้ธุรกิจระดมทุนได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องกู้เงินจากธนาคารเท่านั้น ซึ่งหากมองในด้านนักลงทุน ต้องยอมรับว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยง ไม่ใช่ว่าลงทุนแล้วจะได้กำไรทันที และไม่ใช่กำไรทุกคนด้วย จึงไม่สามารถเก็บภาษีได้ ไม่เหมือนการฝากเงินกับธนาคารที่ได้ดอกเบี้ยตามกำหนดแน่นอน ทำให้ไม่ควรมีแนวคิดการเก็บภาษีซื้อขายหุ้น ไม่ใช่มาตรการที่เป็นสากลด้วย หากมีการเก็บจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหนีไปลงทุนในประเทศอื่นด้วย ยิ่งคนไทยในปัจจุบันคุ้นชินกับการลงทุนต่างประเทศได้ ก็จะหันไปลงทุนต่างประเทศแทน

⦁การปรับขึ้นผ่านระดับ 1,600 จุด
ระยะสั้นมีโอกาสขึ้นได้อยู่แล้ว เพราะเคยไปถึง 1,700 จุด แต่โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ขึ้นไปแล้วยืนได้ ปรับฐานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะยาว หากตั้งสมมุติว่าครึ่งปีหลังนี้ จัดตั้งรัฐบาลได้มีนายกรัฐมนตรี ไม่มีความวุ่นวาย นโยบายดูดี นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา 3-4 ล้านคนต่อเดือนได้ การถดถอยของเศรษฐกิจในต่างประเทศไม่เกิดขึ้น ดอกเบี้ยไม่ขึ้นต่อแล้วรวมถึงอาจมีการลดดอกเบี้ยด้วย แบบนี้หุ้นไทยมีโอกาสไปได้ต่อแบบพุ่งกระฉูด จึงไม่ได้กลัวในระยะสั้น แต่ห่วงระยะยาว และการเกิดความวุ่นวายขึ้น จะกระทบกับการท่องเที่ยวหลุดออกจากสมการ การบริโภคชะลอตัวลง แบบนี้ก็อาจเป็นภาพที่ต่างออกไป

⦁ปี 2566 มีโอกาสเห็นตลาดเข้าสู่ภาวะลูกกระทิงเกิดขึ้นหรือไม่
ขณะนี้ยังยาก เพราะเท่าที่ประเมินนโยบายของพรรคแกนนำรัฐบาล ยังไม่ได้เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจมากนัก แม้ถือเป็นสิ่งที่ดีในระยะยาว แต่อยากให้ใช้ตลาดทุนเป็นตัวช่วยและขับเคลื่อนภาคธุรกิจและธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่านี้

⦁ครึ่งปีหลัง 2566 ปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อันดับแรกเป็นเงิน เพราะสิ่งแรกที่หลายพรรคจะทำคือ แจกเงิน อาทิ พักหนี้ ลดหนี้ ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น แต่อาจช้ากว่าปกติ เพราะติดเรื่องงบประมาณที่อาจต้องรอถึงปี 2567 โดยเฉพาะหากจะทำงบประมาณฐานศูนย์ด้วย ยิ่งเหนื่อย และใช้เวลานานกว่าเดิม ซึ่งระยะสั้นเชื่อว่าจะได้แรงกระตุ้นจากนโยบายค่อนข้างมาก แต่ต้องหาเงินตามให้ทันด้วย เพราะกุญแจสำคัญคือ ความยั่งยืนด้วย อาทิ นโยบายให้เงินผู้สูงอายุ 3 พันบาทต่อเดือน จะหาเงินมาทำและทำได้นานมากน้อยเท่าใด

ตลาดทุนไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้นทันที แต่อย่างน้อยต้องให้มีความมั่นใจ ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 4-5% ในอนาคต ไม่ใช่ติดกับดักโตแค่ 2-3% เท่านั้น หากเปลี่ยนภาพตรงนี้ได้ก็จะเดินหน้าต่อได้ แต่เท่าที่ฟังมาจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็น นอกจากจะปะติดปะต่อให้เกิดเป็นเรื่องราวได้ ซึ่งภาพจะเป็นบิ๊กแบงเรื่องราวใหม่ของประเทศไทย ที่ใช้เศรษฐกิจนำและทำให้โตได้ 5% ต่อปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image