หักเหลี่ยม-ชิงประธานสภา ดีลล่ม? ตั้งรัฐบาล

หักเหลี่ยม-ชิงประธานสภา ดีลล่ม? ตั้งรัฐบาล

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยเคยแสดงจุดยืนว่า พรรคอันดับ 1 จะได้ประธานสภา ส่วนพรรคอันดับ 2 จะได้รองประธานสภา ทั้ง 2 ตำแหน่ง ก่อนแถลงล่าสุดต้องการตำแหน่งประธานสภา ขณะที่พรรคก้าวไกลเปิดตัวนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เป็นแคนดิเดตประธานสภา ก่อนแจ้งยกเลิกการหารือกัน ก่อให้เกิดข้อกังวลและผลกระทบถึงการตั้งรัฐบาลร่วม

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

Advertisement

ถ้าชวดทั้งคู่ ทั้งตำแหน่งประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่ามี 2 ฉากทัศน์ ฉากแรกคือถึงแม้จะชวด ถามว่าพรรคก้าวไกลยินดีที่จะอยู่จับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อยืนยันความเป็นขั้วประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ ทั้งที่ตัวเองก็ผิดหวังเรื่องเก้าอี้ประธานสภา ฉากนี้มีโอกาสสูงมาก รวมถึงกรณีการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เช่นกัน เพราะต้องฝ่าด่าน ส.ว. หมายความว่า พรรคก้าวไกลจะต้องยอมรับความเจ็บปวด แต่จะรักษาไว้ซึ่งขั้วฝ่ายประชาธิปไตย สกัดกั้นอำนาจเดิมที่จะมาบริหารประเทศชาติ จุดนี้พรรคก้าวไกลเองจะต้องตัดสินใจว่าจะยังอยู่หรือไม่ พูดง่ายๆ คืออาจจะต้องยอมลดศักดิ์ศรีหรือความรู้สึกอะไรบางอย่าง

ฉากทัศน์ที่ 2 คือ ไปดีกว่า พรรคก้าวไกลอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและการไม่มีความจริงใจ แม้ว่าฉากหน้าจะบอกว่า ขอสนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกฯ แล้วก็กลับคำพูดไปมาแบบนี้ ฉะนั้นแล้วเราแยกกันเดินดีกว่า ซึ่งฉากทัศน์ที่ 2 พรรคก้าวไกลอาจจะต้องยอมรับในเรื่องของวิถีที่พรรคเพื่อไทยจะไปรวมกันกับพรรคของลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้วตัวเองก็ยอมไปอยู่ฝ่ายค้าน ฉากนี้จะดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี และการเลือกตั้งในอนาคตข้างหน้าจะมีคะแนนเสียงที่มากเพียงพอโดยไม่ต้องไปพึ่งพรรคเพื่อไทย

ส่วนปมประธานสภา จะทำให้ 2 พรรคร้าวลึก ถึงขั้นไม่โหวตคุณพิธาหรือไม่นั้น ผมว่าแยกกัน กรณีประธานสภา พรรคเพื่อไทยเขาชัดเจนว่าจะต้องชิงความได้เปรียบตรงนี้และก็ต้องเอาให้ได้ เพราะรู้ว่ามีเงื่อนของการโหวตแบบลับ ทำให้เอื้อต่อการที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยจะไปยกมือให้กับแคนดิเดตคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแคนดิเดตของพรรคตัวเอง พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเล็กพรรคน้อยที่ได้มีการเอ่ยชื่อ อย่าง สุชาติ ตันเจริญ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยก็อาจจะได้เปรียบจากช่องทางนี้ในการโหวตลับ การเลือกประธานสภา เดินไปตามความได้เปรียบ แต่พอถึงกรณีโหวตให้พิธา พรรคเพื่อไทยก็จะกลับมาใช้ท่าทีเดิม ก็คือยินดีที่จะโหวตให้เป็นนายกฯ แต่ก็จะมองเกมว่า ถึงแม้จะช่วยโหวต แต่อีก 60 กว่าเสียงจาก ส.ว.ไม่ใช่เรื่องง่าย โอกาสที่จะได้มานั้นยากมาก ดังนั้นเขาก็แสดงฉากละครตรงนี้ว่าเป็นผู้ที่ยังคงสนับสนุนพิธาอยู่ ผมวิเคราะห์แยกกัน กรณีประธานสภาจัดเต็ม อย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ต้องเอาให้ได้ แต่พอถึงกรณีโหวตพิธา การให้สัมภาษณ์ก็จะบอกว่า สนับสนุนพิธา ก็จะเล่น 2 หน้าแบบนี้

Advertisement

ถ้าวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่เพื่อไทยอยากได้ตำแหน่งประธานสภา ผมว่าประการที่ 1 เพราะความเป็นประธานสภา ถ้าเป็นคนของพรรคตัวเอง สามารถที่จะคุมเกมต่างๆ ในสภาได้ระดับหนึ่ง เหมือนสมัยที่ชวน หลีกภัย ทำหน้าที่แล้วก็ไม่ได้รับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในบางประเด็น เป็นต้น ดังนั้นถ้าประธานสภาเป็นคนของพรรคเพื่อไทย สามารถอุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าบางเรื่องที่มีความสุ่มเสี่ยงละเอียดอ่อน ทางประธานสภาจากพรรคเพื่อไทยสามารถกำหนดตรงจุดนั้นได้ ส่วนหนึ่งเขาอาจจะมองว่า ถ้าตำแหน่งประธานสภาเป็นของพรรคก้าวไกล การรับมือจะไหวหรือไม่ ด้วยความเก๋าเกม ความมีประสบการณ์ อาจจะมีผลต่อเขาในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าพรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นในคนที่จะเสนอว่ามีประสบการณ์ ก็อาจจะยึดหลักประสบการณ์ มากกว่าความสามารถหรือความเป็นคนรุ่นใหม่ อาจจะมองคนละมุมกับพรรคก้าวไกล สำหรับผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก ขอให้มีความตั้งใจและมีความสามารถ ก็น่าที่จะเดินต่อไปได้

ถามว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้านหรือดีลล่มหรือไม่นั้น ผมว่าเป็นฉากทัศน์หลังๆ ฉากทัศน์แรกๆ น่าจะเป็นเหมือนที่กูรูทางการเมืองวิเคราะห์กัน คือค่อยๆ ดำเนินไปตามนี้เล่นบทสองหน้า บทประธานสภาต้องเอาให้ได้ก่อน ส่วนบทยกมือโหวตให้พิธา ก็เดินบทบาทไปว่าหนุนเต็มที่ เห็นแล้วว่าเสียงจาก ส.ว.เป็นไปได้ยาก ฉะนั้น ก็ถึงจังหวะที่จะแสดงตนออกมาว่า เมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถผลักดันให้พิธาเป็นนายกฯได้ ทีนี้ก็จะเสนอคนของพรรคเขา คือเศรษฐา ทวีสิน ถ้าได้ตรงนี้แล้วพรรคก้าวไกลยอม ก็โอเค แต่จะยังอยู่ร่วมกันไหม

ก็อาจจะเกิดคำถาม ถ้าจะจับมือกันจริงๆ แล้วปิดประตูอีกฝ่ายหนึ่ง 2 พรรคนี้ก็เดินหน้าต่อไปโดยรวมกับอีก 6 พรรค เป็น 8 พรรคตามที่คุยมาก่อนหน้านี้ เดินหน้าต่อไป แต่ว่านายกฯจะเป็นคนชื่อเศรษฐา ทวีสิน พรรคก้าวไกลยอมไหม ถ้ายอมจะพลิกเกมทันที หลายฝ่ายที่กระดี๊กระด๊าอยากจะเป็น ก็เรียกว่าต้องแห้วไปตามๆ กัน

ส่วนโอกาสพลิกจับขั้วใหม่ก็มีอยู่ ขั้วที่มาแรงตอนนี้คือ ขั้วลุงป้อม และลุงป้อมก็จะเป็นผู้การันตีเสียง ส.ว.ด้วยว่า ถ้าดึงผมเข้าไปด้วย การยกมือโหวต คุยกันว่าจะเชิญลุงป้อมเป็นนายกฯไหม หรือจะเชิญเศรษฐา ก็อุ่นใจได้ว่า เสียงที่ลุงป้อมจะสามารถสื่อไปยัง ส.ว.ช่วยให้ยกมือสนับสนุนได้ ซึ่งถ้าเป็นฉากทัศน์นี้ พรรคก้าวไกลก็คงต้องพิจารณาว่าตัวเองควรไปเป็นฝ่ายค้านดีกว่าหรือไม่

พรรคเพื่อไทยตัดสินใจแล้วว่าต้องเดินเกมชิง และเราก็เห็นแล้วว่าเขาเอาจริงเรื่องประธานสภาแน่นอน สิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย ผมว่าเขาคิดไว้แล้ว ว่าต้องได้แบบบนี้ก่อน ความเสีย คืออาจจะเสียคะแนนนิยมต่างๆ นานา ผมคิดว่าเขาคงไม่แคร์อะไรมาก เพราะเดินหน้ามาถึงขั้นนี้แล้วก็คงจะเดินหน้าต่อ พอถึงตอนโหวตพิธาก็คงจะแสดงหน้าฉากอีกแบบ เตรียมไว้แล้วว่าถ้าพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ได้รับเสียงถึงจำนวนที่คาดหมาย ก็ถึงคราวเขาบ้าง ตอนนี้ตัวแปรสำคัญคือก้าวไกล ถ้าหากว่ายอมกลืนเลือด ยอมเจ็บปวด ยอมลดศักดิ์ศรีบ้างในมุมที่หลายคนอาจจะคิดว่า จะไปยอมเขาทำไม แต่ถ้าหากลองมุมนี้ก็น่าสนใจว่าพรรคก้าวไกลจะปิดอีกทางไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ ด้วยการยินดีสนับสนุนนายกฯของอีกฝ่าย แล้วรอจังหวะ รอเวลา อย่างน้อยตัวเองก็ได้ไปอยู่ฝ่ายบริหาร ผมว่าทางเลือกนี้ เป็นมุมเล็กๆ ที่ผู้บริหารพรรคก้าวไกลก็น่าคิด

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กระแสข่าวพรรคเพื่อไทยกลับลำเพื่อชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คิดว่าในความเป็นจริงไม่เกินความคาดหมายของคนทั่วๆ ไป เพราะว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความจริงใจกับพรรคก้าวไกลมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วและไม่ให้ราคา เนื่องจากมองพรรคก้าวไกลเป็นเด็กอนุบาลทางการเมือง และก็ยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังกอดเขาอยู่ กำลังจะนำไปสู่ปัญหาความบานปลายของ 8 พรรคร่วมเตรียมจัดตั้งรัฐบาล

ผมมองว่าทั้ง 2 พรรคไปด้วยกันไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยคนละอย่าง คนละสปีชีส์ แต่พรรคก้าวไกลยังหลอกตัวเองว่าจะได้เป็นรัฐบาล ภายใต้การสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยที่ต้องเล่นเกมนี้ เพื่อตบตาสังคม

พอถึงเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีจะเปิดประตูหลังบ้านให้ ส.ส.ออกไปอยู่พรรคการเมืองอื่น เนื่องจากหากอยู่ใน 8 พรรคร่วม จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประกอบกับผลกระทบต่อการกลับบ้านของทักษิณ ชินวัตร

การต้องเปิดประตูหลังบ้านเพราะไม่มีทางเลือก หรืออาจจะใช้มติหากมี ส.ส.โหวตนายกรัฐมนตรีที่มาจากอีกฝั่งหนึ่ง ก็จะขับ ส.ส.ออกไป เพื่อเอาไปฝากไว้กับพรรคการเมืองอื่น ส.ส.กลุ่มนี้มีฐานคะแนนเสียงที่ดี เลือกตั้งครั้งหน้ายังมีโอกาสกลับมาได้อีก เพราะหากไปทั้งพรรค จะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยมีรายจ่ายที่สูงเกินไป

หากให้มองความแตกแยกของพรรคเพื่อไทยหรือมีดีลลับ ผมเห็นว่าไปทางนั้นเหมือนกัน พรรคก้าวไกลอาจจะรู้แต่ดูเหมือนไม่รู้ คิดว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็รู้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพิธากับทักษิณแนบแน่นมาก

ส่วนโอกาสที่ 8 พรรคร่วมจะล่มหรือไม่นั้น มีโอกาสสูงตอนนี้ สัญญาณทางการเมืองค่อนข้างชัดว่า พรรคเพื่อไทยไม่ให้ราคาพรรคก้าวไกล หลักการที่คุยร่วมกันไม่ถูกนำมายืนยันกับพรรคเพื่อไทย รวมทั้งความไม่มีเอกภาพของพรรคเพื่อไทย ประกอบกับพิธายังต้องเจอหลายกรณี ที่ ส.ว.อาจไม่ยกมือโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสตอนแรกยัง 50-50 แต่ตอนนี้เหลือ 90-10 คือไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 90 เปอร์เซ็นต์

ส่วนพรรคก้าวไกลจะพลิกเกมได้คือ ต้องประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน และสร้างพลังมวลชน สร้างความศรัทธากับประชาชนด้วยการตรวจสอบรัฐบาลหน้าอย่างเข้มข้น หลังจากนั้นประกาศว่า เจตนารมณ์ของประชาชนถูกบิดเบือน ถูกทำลายโดยพรรคเพื่อไทย ถ้าทำได้ เชื่อว่ารัฐบาลหน้าไม่เกิน 1 ปีครึ่ง

ส่วนการเลื่อนประชุม 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลเป็นการยื้อเวลา พรรคก้าวไกลหลอกตัวเองว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมมือด้วย แต่ความเป็นจริงไม่อยากร่วมมือกับพรรคก้าวไกลตั้งแต่ต้น สัญญาณนี้ออกมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเปิดรับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสุชาติ ตันเจริญ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แม้กระทั่งเอาคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เรื่องนี้คนการเมืองรู้ดี เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ พรรคเพื่อไทยก็จะไปปิดปากคนเหล่านั้นด้วยวิธีการต่างๆ และบอกว่านี่คือประชาธิปไตย

ถ้ามองย้อนอดีต พรรคอันดับ 1 กับอันดับ 2 ต้องอยู่คนละข้างกัน เนื่องจากอำนาจการต่อรองสูง เมื่ออยู่ด้วยกันก็ต้องมีพิจารณาในเรื่องอำนาจการต่อรอง ผมเคยพูดแต่ต้นแล้วว่า พรรคเพื่อไทยไปสร้างหลักการว่าพรรคอันดับ 1 จะต้องได้ทั้งประธานสภา และนายกรัฐมนตรี หากไม่สร้างหลักการนี้ตั้งแต่ต้น ปัญหาคงไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อใช้แกนนำและมติพรรคมาทำลายหลักการนี้ จึงขาดความชอบธรรมขึ้นมา ทั้งที่พรรคเพื่อไทยควรจะได้ตำแหน่งประธานสภาตั้งแต่ต้น หากต่อรองกันดีๆ

หากให้มองกระแสด้อมส้มจะทำอย่างไร หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล คิดว่าหากพรรคก้าวไกลตาสว่างและไม่โลกสวย ต้องยอมรับความจริงว่าพรรคก้าวไกลถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างกระแสมวลชนให้มาสนับสนุนในฐานะฝ่ายค้าน ขณะนี้คนในพรรคก้าวไกลหลายคนมองว่าจะเป็นรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก โดยให้สังคมมองว่าเพราะความเจ้าเล่ห์ของพรรคเพื่อไทย

ส่วนการทอดระยะทางการเมืองออกไปอาจจะถูกทอนกำลังทางการเมือง ผมมองว่าก็อยู่ที่พรรคก้าวไกล เพราะหากเวลาทอดออกไป 4 ปี โอกาสที่จะถูกทำลายสูงก็มีเช่นกัน อาทิ กลไกทางกฎหมายอาจจะนำไปสู่การยุบพรรค หรือกลไกทางด้านการเงิน จะมีงูเห่าในพรรคก้าวไกล การแก้ปัญหาจะต้องปิดเกมการเมืองให้เร็วที่สุด โดยการเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นพันธมิตรกับองค์กรตรวจสอบการคอร์รัปชั่นทุกระดับ รัฐบาลหน้าอาจจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง หรือตรวจสอบในกองทัพ รัฐบาลก็จบแล้ว

การโจมตีในโลกโซเชียลเกี่ยวกับบทบาทของพรรคก้าวไกลในทางลบ ผมมองว่า พรรคก้าวไกลคิดว่าตัวเองยังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในความเป็นจริง การล้มพรรคก้าวไกลยังมีการทำงานกันเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อสกัดพิธาและพรรคก้าวไกลที่จะเป็นรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลยังเชื่อว่าตัวเองจะได้เป็นรัฐบาล ภายใต้การสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้วในขณะนี้ แต่พรรคก้าวไกลยังเชื่อแบบนั้น จึงไม่รู้ว่าพรรคก้าวไกลอนุบาลทางการเมือง หรือมีเจตนาให้เป็นอย่างนั้น เพื่อสร้างกระแสมวลชน

ความรุนแรงจะเกิดขึ้นในประเทศหรือไม่นั้น หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล ผมเชื่อว่าอาจจะไม่มีความรุนแรง แต่อาจจะมีคนลงถนนแน่นอนและต่อต้าน แต่หากอีกฝั่งไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่จะทำอย่างไรก็ได้ให้เสียงของรัฐบาล ที่จะจัดตั้งจะต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 300 เสียง เพราะรู้ว่าหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ชอบธรรม จะมีคนลงถนนแน่นอน แต่ถ้าจัดตั้งรัฐบาลอย่างชอบธรรม มีเสียงสนับสนุนเกินครึ่ง และมีเสียง ส.ว.สนับสนุน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คนที่จะประท้วง คนที่จะกดดัน หรือลงถนน ก็จะเกิดความไม่ชอบธรรมขึ้นมาทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image