สแกนเคลียร์ปมร้อน ก.ก.-พท.ยื้อ ‘ประธานสภา’

หมายเหตุ – นักวิชาการวิเคราะห์ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในผลการเจรจาของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย เรื่องการต่อรองตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคก้าวไกล ก่อนจะร่วมวงประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลต่อ ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ก ารประชุมวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ คือการแสดงเจตจำนง เพื่อไม่นำไปสู่การเปิดเวทีเจรจาเพิ่มเติมจากเดิมอีกแล้ว ในวันที่ 2 นี้ก็ต้องจบ สังเกตว่าการพบปะระหว่างแกนนำ หรือทีมเจรจาของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมของว่าที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพียงแค่ชั่วโมงเดียว การพูดคุยมันต้องจบ เวลามันบีบ จะไม่นำไปสู่การเจรจาอะไรใดๆ อีกต่อไป ในแง่เฉพาะตำแหน่งประธานรัฐสภา

Advertisement

แล้วเราเห็นเกมแบบนี้ พรรค ก.ก.อาจจะได้เปรียบคือการเปิดตัว นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก มาเป็นแคนดิเดตประธานรัฐสภา ในขณะที่พรรค พท.ยังอึมครึมไม่เปิดตัว เป็นแค่การคาดการณ์ แนวโน้มอาจจะเป็นนายสุชาติ ตันเจริญ พรรค พท.ก็รู้ว่านี่คือการที่ตัวเองต้องตามเล่นเกมที่โดนบีบบังคับ ในเมื่อพรรค ก.ก.จั่วไพ่ใบที่ชื่อปดิพัทธ์มาแล้ว พรรค พท.จะทำอย่างไร จะถอยหรือไม่ และยังมีข่าวลือว่าพรรค พท.ก็ไม่ยอม พร้อมจะหั่นสัดส่วนโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีจาก 14+1 เป็น 13+1

ในทางตรงข้าม สมมุติว่าพรรค ก.ก.ยืนยันเอาเก้าอี้ประธานสภาจริงๆ อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ในการสำรวจหรือการคาดการณ์ตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี วางตัวเลขกลมๆ ไว้เพียง 30 เก้าอี้ เป็นทั้งพรรค พท. พรรค ก.ก. อย่างละเท่าๆ กัน แล้วก็ไปให้พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเสรีรวมไทย อย่างละ 1 เก้าอี้ ก็ยังไม่ครบ 35

ถ้าสมมุติว่าพรรค ก.ก.เล่นเกมใจใหญ่ บอกว่าเพิ่มเก้าอี้รัฐมนตรีให้พรรค พท.อีกสัก 2 เก้าอี้ ดูท่าที ปฏิกิริยาว่าพรรค พท.จะมีท่าทีอย่างไร หากมองแล้วมีสัญญาณออกมาว่าพรรค พท.ไม่ถอย นั่นก็แสดงว่า พรรค พท.เอาตำแหน่งประธานสภาเป็นข้ออ้างมูลเหตุ เพื่อหาทางแยกตัวมากกว่า ตรงนี้เป็นเกมอันตราย นักวิเคราะห์หลายคน หรือสื่อมวลชนทั่วไปก็พยายามคาดการณ์ถึง worst casescenario หรือฉากทัศน์ที่ไปในทิศทางที่เลวร้ายขั้นสูงสุดว่า ถ้าพรรค พท.ไม่ยอมถอย ก็แสดงว่ามันมีทฤษฎีสมคบคิดกับบุคคลสำคัญที่เพิ่งเดินทางกลับจากลอนดอนจริง

Advertisement

พรรค พท.ต้องยอมรับว่าความเคลื่อนไหวของพรรค พท. หากตัดคำว่าแฟนคลับ หรือคนที่สนับสนุน ไม่มีเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากทั่วทุกทิศที่มองว่าเป็นทิศทางบวกกับพรรค พท.เลย มีแต่ก้อนหิน และสหบาทาที่พร้อมจะประชาทัณฑ์ หากไปในอีกวิธีแนวทางที่ไม่เป็นไปตามประชาชนคนส่วนใหญ่คาดหวัง หรือมีแนวโน้มจะฉีกตัวออกไป คิดว่าเขาประเมินความรู้สึกตรงนี้ออก ก็ได้แต่พยายามภาวนา มองทิศทางที่เป็นบวกว่าขอให้ทุกคนที่วิเคราะห์คิดผิด เข้าใจผิดกันไปเอง แล้วทุกอย่างมันหาทางถอย รอมชอมกันได้

ประเด็นถัดมาคือการจับตาเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี คงไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้ ว่า 376 คนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจไม่ได้จบแค่เพียงการโหวตครั้งเดียว เป็นไปได้ว่าการแย่งเก้าอี้ตำแหน่งประธานรัฐสภา เป็นการกำหนด การวางกรอบเวลา กำหนดคุมเกมเวลา อาจจะใช้เวลาในการสรรหาหรือเลือกนายกฯว่าใช้เวลาเท่าไหร่ ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าตัวเองจะบรรลุเป้าหมายตรงนี้

ดังนั้น ขั้นต่อไปคือการจับตามองว่าการรวบรวมเสียง แรงกดดัน เสียงสนับสนุนว่าพรรค ก.ก.จะได้ไปถึง 376 หรือไม่ แล้วไปพร้อมๆ กับการเปิดเผยบุคคลที่จะมารับตำแหน่งเก้าอี้สำคัญๆ อย่างกระทรวงสำคัญต่างๆ การแบ่งโควต้าคณะรัฐมนตรีที่เกิดขึ้น แต่ทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมาภายหลังจากโหวตนายกฯให้ได้เสียก่อน ขอประชาชนอย่าเพิ่งไปคิดอะไรที่คาดการณ์ด้วยความกังวล รอให้เกิดการเจรจา และหลังวันที่ 4 ก.ค.ว่าเป็นตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ถ้าเป็นในทิศทางที่ประชาชนสมหวังร่วมกัน คิดว่าฉากทัศน์ที่คนคิดในขั้นแย่ๆ ว่ามีการไปแอบดีลก็คงจะไม่เกิดขึ้น

ข้อแนะนำคือการเรียนรู้และแบ่งปันข้อมูลกันให้มากกว่าที่จะเป็นการส่งข้อความผ่านสื่อ ตรงนี้นำไปสู่การขยายความ และนำไปสู่กลุ่มที่ไม่หวังดี อาจมีการไปเสี้ยม หรือตีความประสงค์ร้ายก็เป็นได้ อยากให้แกนนำทั้ง 2 พรรคพูดคุยกัน ท้ายที่สุดต้องยอมรับว่านี่คือผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้วางกับดักและสร้างผลกระทบทำลายพลังของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมาก ดูหลังการเลือกตั้งปี 2535 เป็นต้นมาแบบแผน ระเบียบปฏิบัติ คือพรรคอันดับ 1 ได้ครองเก้าอี้ประธานรัฐสภามาตลอด

มีเฉพาะในปี 2562 ที่พรรคการเมืองมีเสียงอันดับ 3ในสภา และเป็นอันดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ได้เป็นประธานรัฐสภา ดังนั้นมันก็เห็นแล้วว่าความผิดปกติแบบนี้ กำลังถูกทำให้เป็นปกติหรือไม่ ดังนั้นทุกพรรคการเมืองจะต้องเข้าไปใช้ชุดสำนึกดั้งเดิมว่าประธานรัฐสภาควรมาจากเก้าอี้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ก็จะสลายความขัดแย้งลงไปได้

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) จะถกโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ ก่อนวันรัฐพิธี เห็นด้วยว่า พรรค ก.ก.และพรรค พท.ต้องมีข้อยุติเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การเปิดประชุมสภาครั้งแรกเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งการเลือกประธานสภา เป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก นายกรัฐมนตรี และประธานสภา เป็นของพรรค ก.ก. ตามผลการเลือกตั้งที่พรรค ก.ก.ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ตามที่พรรค พท.สนับสนุนในตอนแรก

แนวทางที่ 2 นายกรัฐมนตรี เป็นของพรรค ก.ก. ส่วนประธานสภา เป็นของพรรค พท. แต่ใครมาเป็นประธานสภา เพราะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ยังไม่ได้เคาะชื่อใครเป็นประธานสภา แม้มีชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภา เป็นแคนดิเดตประธานสภาคนใหม่ แต่พรรค พท.ไม่ได้ประกาศเป็นทางการ เพียงเป็นการสนับสนุนจาก ส.ส.ภายในพรรคดังกล่าวเท่านั้น

แนวทางที่ 3 ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. จากอุบัติเหตุทางการเมือง แต่ประธานสภาเป็นของพรรค พท. อาจเกิดความยุ่งยาก และหวาดระแวงใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลได้ ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายพิธา ทำให้มีการพลิกหรือเปลี่ยนขั้วการเมือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก่อนนำไปสู่การฉีก MOU ของ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน ถึงเวลานั้น อาจถึงขั้นตัวใครตัวมัน

ดังนั้น การเลือกประธานสภา เป็นไปได้ตามแนวทางที่ 1 และแนวทางที่ 2 เท่านั้น ถ้าเป็นในแนวทางที่ 1 พรรค ก.ก.ยึดเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และประธานสภาต้องจัดสรรแบ่งปันอำนาจ ผลประโยชน์ให้พรรค พท.ใหม่ อาจเพิ่มโควต้ารัฐมนตรี หรือคุมกระทรวงที่สำคัญแทนเพื่อต่อรอง แลกผลประโยชน์ทางการเมือง และยุติความขัดแย้งดังกล่าว

ถ้าเป็นไปตามแนวทางที่ 2 นายกรัฐมนตรีเป็นของพรรค ก.ก. ประธานสภาเป็นของพรรค พท. ต้องดูว่าพรรค พท.ส่งใครมาเป็นประธานสภาคนใหม่ เป็นที่ยอมรับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ที่สำคัญต้องเป็นบุคคลที่สามารถประสานได้ทุกฝ่าย มีความเป็นกลางมากที่สุดเพื่อให้สภาขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้โดยไม่ขัดแย้ง หรือแตกแยกภายหลัง

ส่วนตัวมอง ส.ส.พรรค พท.ต้องการประธานสภาเป็นของพรรคว่า ต้องการเป็นรางวัลปลอบใจ หลังพ่ายแพ้พรรค ก.ก.ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา จากความหวังชนะแบบถล่มทลายหรือแลนด์สไลด์ มาเป็นบ่มิไก๊แทน เพราะไม่เคยแพ้เลือกตั้งในรอบ 20 ปี จึงต้องเรียกศรัทธา ความเชื่อมั่นประชาชนกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างผลงานในสภาใหม่ เป็นการปูทางสู่ชัยชนะเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถวิเคราะห์ได้ 3 เรื่อง เรื่องแรก พรรค พท.แพ้เลือกตั้งในรอบ 20 ปี พรรค ก.ก.ชนะเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เรื่องที่ 2กระแสประชาชนตอบรับให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และประธานสภาเป็นของพรรค ก.ก.สูงมาก สังเกตจากแฟนคลับ หรือด้อมส้ม ให้การสนับสนุนนายพิธาและพรรค ก.ก.ในทุกพื้นที่ที่แห่ไปให้กำลังใจอย่างล้นหลาม

ประการสุดท้าย ความเห็นของนักวิชาการตัวเล็กๆ ที่สนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีและประธานสภาเป็นของพรรค ก.ก.ได้เสียงตอบรับจากประชาชน ที่ผ่านการแสดงความคิดเห็น และกดไลค์นับแสนคน ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในแวดวงทางวิชาการ ที่แสดงความคิดเห็นและวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

ผศ.ดร.ธเนศพล อินทร์จันทร์
รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ม.พิษณุโลก

กรณีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) มีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานสภา ดูคะแนนโดยภาพรวมแล้ว พรรค พท.ไม่ได้เป็นรอง เพราะคะแนนห่างกันนิดเดียว ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ คะแนนเสียงที่พรรค พท.ได้มาเป็นรองนิดหน่อย แต่คุณภาพ ส.ส.ของพรรค พท.มีคุณภาพมากกว่า เป็นผู้มีประสบการณ์

หากมองในยุคของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯมีบารมีแต่ขาดประสบการณ์ทางการเมือง ทำให้เดินยาก มองกันว่า หากเกิดการเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา การเมืองก็จะไปตกกับอีกขั้วหนึ่ง ประธานสภาจะต้องมีประสบการณ์สูงเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสภา ควรจะเป็นคนของพรรค พท.มากกว่า

ส่วนกระแสที่พรรค ก.ก.เป็นพรรคอันดับ 1 ต้องการตำแหน่งประธานสภา เพราะการโหวตเลือกนายกฯ หากพรรค ก.ก.ได้ก็ไม่ต้องกังวล เพราะรายชื่ออยู่ในมือ หากเสนอรายชื่อครั้ง 1 ไม่ได้ ครั้งที่ 2 ก็มีสิทธิเสนอได้อีกแต่หากประธานสภาไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง จะทำให้ขาดอำนาจในการต่อรองและเสียเปรียบ

หากฝ่ายตรงข้ามเสนอชื่อประธานสภาแข่งขัน คิดว่าไม่มีผลกระทบกับ 2 พรรคร่วม เพราะมีเสียง ส.ส.ข้างมาก การประชุมที่จะเกิดขึ้นพรรค ก.ก.อาจจะยอมก็ได้เพื่ออนาคต เพราะพรรค ก.ก.ปูฐานมานานแล้วตั้งแต่เยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จนเข้ามหาวิทยาลัยและวัยทำงาน ทำให้รอได้

ส่วนกระแสของนายสุชาติ ตันเจริญ จะมานั่งตำแหน่งประธานสภา มีสิทธิได้เหมือนกัน การดีลระหว่าง 2 พรรค เชื่อว่าจะต้องมี หากฝืนกระแสของภาคประชาชนตอนนี้ อนาคตการเมืองก็จะดับ

ต้องยอมรับว่าพรรค ก.ก.มีความตั้งใจสูง ถ้าดูกระแสการคุยกันเป็นสเต็ป 1-2 ระหว่างพรรค ก.ก.กับพรรค พท. เหมือนโยนหินถามทาง กรณีที่มีข่าวออกมาเพื่อให้มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากหัวหน้าพรรคทั้ง 2 พรรคให้สัมภาษณ์ในทางเดียวกัน แต่ได้โยนคำถามมาที่ภาคประชาชนบ้าง เชื่อว่าเป็นการโยนหินถามทางว่าพรรคไหนจะเหมาะเป็นประธานสภา

สำหรับตัวนายกฯถ้าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มองว่าเหมาะที่จะนั่งตำแหน่งนายกฯ แต่เกมการเมืองลึกๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้จากมือที่มองไม่เห็น ส่วนการร้องเรียนนายพิธาไม่ให้นั่งตำแหน่งนายกฯ จะมีหลายองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ซึ่งไม่เหมือนเดิมที่จะต้องเอาคดีขึ้นสู่ศาล แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว จะมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง รวมทั้ง พ.ร.บ.ใหม่ๆ เกี่ยวกับนักการเมืองเกิดขึ้นมาอีก ต้องพิจารณาตัวบทกฎหมายหลายฉบับ

กรณีนายพิธาไม่สามารถเป็นนายกฯได้ เพราะติดส.ว.เรื่องนี้มีคนคุมอยู่เพราะมาจากสายผู้มีอำนาจ แม้ว่าจะพ้นวาระ ส.ว.แล้ว ยังมีตำแหน่งอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกันได้ จะขอเสียง ส.ส.สนับสนุนเพิ่มก็ยากขึ้นอีก คำกล่าวที่ว่า มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง

หากนายพิธา รอบแรกไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะมีรอบ 2 ตามมารยาท แต่ว่าจะเอาคะแนนที่ไหนมาช่วย อาจจะมี ส.ว.บางคนให้ โดยมองว่าพรรค ก.ก.ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ ต้องล็อบบี้กันอย่างหนักให้ได้มากกว่า 375 เสียง หลายคนอาจจะคิดว่าจะได้รับบำเหน็จหากให้การสนับสนุน และได้รับเลือกให้นั่งตำแหน่ง ส.ว.ต่อไปอีกสมัยก็ได้

ส่วนการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค พท. พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย มีโอกาสจับมือจัดตั้งรัฐบาล หากดำเนินการตามครรลองแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ก็จะต้องหาผู้นำมาจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ หาก 2 พรรคคุยกันไม่ลงตัว ส.ส.ต้องพยายามทำให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เชื่อว่า 2 พรรคจะต้องจับมือกันในช่วงนี้ ส่วนพรรค พท.จะไปจับมือกับพรรคอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องที่เกมพาไป ในที่สุดพรรค พท.ก็จะมีคำตอบก็คือคำสุดท้าย ทำเพื่อชาติ โดยลุงป้อมอาจจะมาช่วย ส่วนลุงตู่มาจากรัฐประหารก็ถอยออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image