ดีลใหม่ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ประธานสภาแลกสับคิวชิงนายกฯ

ดีลใหม่ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ประธานสภาแลกสับคิวชิงนายกฯ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการถึงการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ปรากฏกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยยอมถอยให้กับพรรคก้าวไกล แต่มีเงื่อนไข หากไม่สามารถผลักดันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ เป็นนายกฯได้ ให้สลับคิวส่งไม้ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลต่อไป

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เราสามารถมองเห็นภาพรวมของเหตุการณ์เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประมาณ 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องที่ 1 คือกระแส ซึ่งเป็นผลจากการเลือกตั้ง ประชาชนได้ตัดสินอย่างชัดเจนแล้วว่าต้องการที่จะให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก จากกลุ่มที่เคยเป็นฝ่ายค้านเดิม

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เมื่อผลเลือกตั้งออกมาเช่นนี้เราได้เห็นภาพของ 8 พรรครวมกันได้ 312 เสียง ซึ่งค่อนข้างเข้มแข็ง

แม้พรรคใหญ่ 2 พรรค ก้าวไกลกับเพื่อไทย ไม่ว่าจะชอบ รักกัน ไม่รักกัน หรือว่าจะอยากจับมือ หรือไม่จับมือกันก็ตาม พรรคไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ฉันทามติของประชาชนในการเลือกตั้งเขาบอกมาแล้วว่า 2 พรรคนี้จะต้องไปคู่กัน

เพราะฉะนั้นเราจะได้เห็นภาพของประธานสภาที่มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรใน 8 พรรคนี้แน่นอน จะไม่เกิดประธานสภาที่มาจากเสียงข้างน้อย

Advertisement

เรื่องที่ 2 ปรากฏการณ์กลุ่มอำนาจเก่าที่ดำรงอำนาจมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 และอาศัยกติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 พยายามเข้ามาทลายเจตจำนงที่เป็นผลจากการเลือกตั้ง เราจะเห็นกระแสเกี่ยวกับการปล่อยข่าวการดีลลับ กระแสเรื่องราวการหักหลังการไปจับมือกับพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลเก่า

กระแสทั้งหมดทั้งมวลเป็นกระแสข่าวเพื่อทดสอบ 8 พรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ว่าจะทำงานด้วยกันได้หรือไม่

ถ้าหากมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เขาก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าใครถอยออกมา พรรคนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าสูญพันธุ์แน่นอน เพราะว่ามันจะกระทบกับกระแสสังคมอย่างมาก

ไม่ว่าก้าวไกล จะออกมาประกาศบอกว่าเป็นฝ่ายค้านก็ไม่ได้ เพราะว่าประชาชนบอกให้เป็นรัฐบาล ก้าวไกลก็ต้องต่อสู้ให้ได้เป็นรัฐบาลให้มากที่สุด ในขณะที่เพื่อไทยก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าเพื่อไทย อาจจะไม่ได้เยอะแบบที่คิด แต่ก็เป็นพรรคลำดับ 2 ที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็จำเป็นจะต้องช่วยก้าวไกลให้ตั้งรัฐบาล รวมไปถึงเรื่องประธานสภา ต้องช่วยไม่ให้เกิดความแตกแยก

เพราะฉะนั้นในขณะที่เกิดกระแสกับกลุ่มต่างๆ ในการมีข่าวลือข่าวลวงพวกนี้ จริงไม่จริงไม่รู้ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ในแต่ละพรรคไม่รู้ แต่เพื่อไทยก็หนีก้าวไกลไม่ได้เช่นเดียวกัน ก็ต้องช่วยก้าวไกลไป

ประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องที่เราคนไทยอาจไม่ค่อยชิน ว่านี่คือลักษณะของการตั้งรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลผสมที่เสียงของพรรคที่ 1 ไม่ชนะเด็ดขาด อย่างพรรคก้าวไกล เอาชนะห่างจากระดับ 2 แค่เพียง 10 เสียง ซึ่งเป็นเรื่องปกติจากในอดีตก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 การจัดตั้งรัฐบาลผสมก็จะมีลักษณะที่มีการปล่อยข่าวว่าใครจะจับมือกับคนนั้นคนนี้ มีการต่อรองอะไรกัน เป็นเหมือนแบบปัจจุบันนี่แหละ

แค่ในปัจจุบันการต่อรองดังกล่าวมันออกมาสู่พื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น นักการเมืองหน้าที่คือการต่อรองผลประโยชน์ เพื่อให้ผลประโยชน์สะท้อนภาพเสียงของประชาชน ที่เลือกเขาเข้าไป

เพราะฉะนั้นการที่เพื่อไทยอยากจะต่อรองได้ประธานสภา ก็ไม่ใช่เรื่องผิด และการที่ก้าวไกลต้องการประธานสภาเพื่อไปโหวตนายกฯก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นเดียวกัน มันเป็นกระบวนการต่อรองเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลผสม ที่พรรคลำดับ 1 ชนะไม่ขาด ถ้าเผื่อเป็นแบบในอดีต อย่างพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทย ชนะขาดแบบแลนด์สไลด์ พรรคอื่นมาแค่ 20-30 เสียง คุยกันง่าย เพราะว่าพรรคอันดับ 1 สามารถที่จะจิ้มตำแหน่งจิ้มที่นั่งรัฐมนตรีได้

หรือในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและก็การสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปี 2562 เป็นลักษณะของรัฐบาลที่ใช้ชี้นิ้วสั่งได้ แต่ต่อให้ชี้นิ้วสั่งในปี 2562 เราก็เห็นปรากฏการณ์นี้เช่นเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2562 ก็ต่อรองจนกระทั่งได้ประธานสภามา แล้วต้องสังเวยหัวหน้าพรรคของตัวเอง

พรรคภูมิใจไทยกดดันให้พลังประชารัฐที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องกัญชาเลย ต้องระบุเรื่องกัญชาไว้ในพืชเศรษฐกิจในการแถลงนโยบาย รวมไปถึงเรื่องนโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งเป็นนโยบายของภูมิใจไทยซึ่งพลังประชารัฐไม่เห็นด้วย เขาทะเลาะกันตลอดเป็นเรื่องปกติในการมีรัฐบาลผสม เพราะฉะนั้นพอบริบทมันเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลผสมกลับมาเป็นขั้วของฝั่งประชาธิปไตย ผมก็เลยเห็นว่า นี่คือเรื่องปกติในการต่อรอง เราจะไปโทษไม่ได้ว่าพรรคการเมืองนี้ต่อรองแสดงว่าเห็นประโยชน์ตัวเองมากกว่าประชาชน อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะนักการเมืองเข้าต่อรองเพื่อให้ได้ผลสุดท้าย สามารถเอานโยบายที่หาเสียงหรือเอากฎหมายที่หาเสียงไว้นำมาสู่การปฏิบัติมากที่สุด มันก็คือการต่อสู้เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนที่เลือกเข้าไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในประเด็นที่ 3 ก็ตรงนี้แหละ การต่อรองเป็นเรื่องปกติ

เพราะฉะนั้นภายใต้บริบทภาพใหญ่ตรงนี้ของทั้ง 3 เรื่อง ตัวละครหลักอย่างเพื่อไทยกับก้าวไกล ยังไงก็ต้องไปด้วยกัน แต่การไปด้วยกันดังกล่าว มันมีตัวแปร หลายเรื่องที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดอย่างเช่น นายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่มาจากก้าวไกล เพราะว่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจจะโดนสอยเรื่องหุ้น เรื่องจะยกเลิก ม.112 อะไรก็แล้วแต่ หรือ ส.ว.ไม่โหวตให้ แต่สุดท้ายก็ยังเป็นรัฐบาลที่ถูกจัดตั้งจาก 8 พรรคร่วม

แต่ในระยะยาวรัฐบาล 8 พรรคร่วมนี้ อาจเกิดปรากฏการณ์ พรรคอันดับ 2 กลายมาเป็นอันดับ 1 ก็เป็นได้ ก็จะนำไปสู่การต่อรองกันใหม่ และก็นำมาสู่รอบใหม่ในการปรับ ครม. ก็เป็นเรื่องปกติของระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้นการต่อรองดังกล่าว เราไม่จำเป็นจะต้องโยนให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นตัวร้าย ของระบอบประชาธิปไตย

ตัวหลักของระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ณ วันนี้ กติกาในรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มีจัดตั้งรัฐบาล อันมาจากการเลือกตั้งของประชาชนมันลำบากขนาดนี้ นั่นต่างหาก

เพราะฉะนั้น อาทิตย์หน้าเราอาจจะได้เห็นประธานสภาจาก 8 พรรคร่วมและในอีก 2 อาทิตย์ถัดไปก็น่าจะได้นายกรัฐมนตรี เข้ามาดำเนินนโยบายตาม MOU แล้ว

ตอนนี้เราต้องจับตามองในเรื่องของเงื่อนไขกับพรรคการเมืองต่อไปถึงการจะโหวตพิธาเป็นนายกฯ เพื่อไทยจะให้โอกาสกี่ครั้ง!?!

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เมื่อพรรคเพื่อไทยยอมถอยยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรคก้าวไกลก็ช่วยทลายความอึมครึมของความสัมพันธ์ลงไปได้ทำให้มองเห็นภาพของการโหวตประธานรัฐสภาชัดเจนขึ้นว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะไม่ส่งคนลงไปแข่งกันเอง

แต่การยอมถอยของพรรคเพื่อไทยก็แสดงให้พรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่มีอะไรที่ได้มามือเปล่าเหมือนดั่งญาติพี่น้องหรือเพื่อนรักที่จะให้กันได้ฟรีๆ โดยเงื่อนไขที่พรรคก้าวไกลจะต้องยอมให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้รับการโหวตเป็นนายกฯ

จะเห็นว่าเงื่อนไขการถอยของพรรคเพื่อไทยก็พาให้คิดต่อไปว่าสิทธิของพรรคเพื่อไทยที่จะจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดเมื่อใด หรือเมื่อใดที่จะถือว่านายพิธาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หากจะถือว่าการโหวตเพียงครั้งเดียวและอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ก็ถือว่าพรรคก้าวไกลค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะแน่นอนว่าโอกาสที่ ส.ว.จะสนับสนุนก็ยังไม่แน่นอน และหากจะมองในแง่ร้ายหากพรรคเพื่อไทยต้องการจะให้เป็นไปตามเงื่อนไขก็อาจล็อบบี้ ส.ว. ให้ไม่โหวตแก่พรรคก้าวไกลก็เป็นได้

ช่วงก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้ปล่อยให้หัวหมู่ทะลวงฟันได้ออกมาส่งเสียงดังๆ ว่าต้องการตำแหน่งประธานรัฐสภาเพื่อไปคุมเกมเสนอนายกรัฐมนตรี แต่พรรคก้าวไกลไม่ยอมและบรรดารถทัวร์จากโซเชียลมีเดียต่างก่นด่าจึงไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่การปล่อยให้แตกหักแล้วไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่น่าเชื่อว่าพรรคใหญ่ที่ประสบการณ์สูงจะอ่อนหัดกล้าฝืนประชามติ หากทำเช่นนั้นก็จะยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยมีความเจือจางทางประชาธิปไตย

ในขณะที่สังคมต้องการพรรคที่มีความเข้มข้นทางประชาธิปไตย เท่ากับพรรคเพื่อไทยได้สร้างความไม่พอใจให้กับสังคมตั้งแต่ต้น และสิ่งเหล่านี้จะเป็นหัวเชื้อที่ถูกเพาะขยายไปอีก 4 ปีข้างหน้า การยอมถอยของพรรคเพื่อไทยและวางเงื่อนไขขอจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจึงน่าจะเป็นแนวทางดีที่สุดกว่าการเดินตามแนวทางดีลลับไปจับมือกับผู้ซึ่งแปดเปื้อนจากการปฏิวัติรัฐประหาร และต้องยอมรับให้ได้ว่าเส้นทางถูกขีดมาแล้วให้จมหัวจมท้ายกับพรรคก้าวไกล

สำหรับการมองไปที่ปลายทางของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล อาจเห็นจุดหมายที่แตกต่างกัน พรรคก้าวไกลด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงอาจต้องการทำงานตามอุดมการณ์

แต่พรรคเพื่อไทยนอกจากจะมุ่งทำงานตอบสนองประชาชนที่ให้การสนับสนุนแล้ว ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าต้องการปูทางให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านด้วยหรือไม่ ซึ่งเหตุผลอันเป็นแรงจูงใจข้อนี้อาจทำให้ปฏิกิริยาของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาแกว่งไปมาไม่อยู่กับร่องรอยของฝ่ายประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น เพราะหากต้องการปูทางกลับบ้านของนายทักษิณจะโรยด้วยดอกกุหลาบก็ต้องมีคนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่นหมายความว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังต้องการได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือถ้าไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องต่อรองเอาตำแหน่งสำคัญหรือรัฐมนตรีกระทรวงที่ใหญ่พอที่จะพาคนคนหนึ่งกลับบ้านให้ได้

แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลก็ต้องไม่ประมาทตลอดเส้นทางกว่าจะถึงวันที่นายพิธาเดินไปสุดสายป่านไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะด้วยเหตุไม่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเพียงพอ หรือการถูกสอยโดยองค์กรอิสระ โดยต้องยอมรับว่าเงื่อนไขการยอมให้เสียบ ที่ได้มาใช่ว่าจะดีนัก หากมองแง่ร้ายพรรคเพื่อไทยเองที่ก็อยู่ในจุดมีแรงจูงใจมากพอที่จะไม่ให้นายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือหากตั้งรัฐบาลได้การต่อรองตำแหน่งก็อาจมีการทวงบุญคุณว่าเคยให้ตำแหน่งประธานสภา ซึ่งก็ควรเป็นเรื่องที่ทั้งสองพรรคต้องพูดคุยหารือ และย้ำกับตัวเองอยู่เสมอว่าประชาชนต้องการอะไร

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

เพื่อไทยคงเล็งส้มหล่น ถ้าเกิดจะหล่น ก็ต้องหล่นมาที่เพื่อไทย ตอนนี้คงเด่นชัดมากขึ้น การสลับถ้อยคำไปมาในหลายสัปดาห์มีเป้าหมายอย่างเด่นชัดก็คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนโดยทั่วไปยังเชื่อว่าเพื่อไทยมีดีลลับกับ ส.ว. หลายกลุ่มหลายพวกตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ก็เป็นไปได้ว่าเป้าหมายแรกสุดก็จะผลักดันตัวเองให้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโดยเจตจำนงใดก็ตาม

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อไทยต้องการแสดงออกมาว่าอยากได้ตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ แต่จะเห็นว่าพลังประชาชนเป็นพลังที่หยุดยั้งการกระทำของพรรคเพื่อไทยอย่างถึงที่สุด มันเป็นพลังที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนว่าประชาชนในโลกออนไลน์สามารถที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยกลับเข้าสู่ร่องรอยที่ดีงาม แต่ในข้อเสนอวานนี้ (29 มิถุนายน) ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า เพื่อไทยคิดว่าการโหวตคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคงมีปัญหาจากฝ่าย ส.ว.

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ทำให้ประชาชนความดันขึ้นทุกวัน คนระแวงพรรคเพื่อไทยถึงขนาดที่ว่า เป็นไปได้ไหมว่าเพื่อไทยจะอยู่เบื้องหลังของการที่ ส.ว. จะไม่สนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกฯ

ถามว่า หากทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ไม่ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลทั้งคู่ สำหรับผม ถ้ามองจากเสียงของประชาชนผ่านบัตรเลือกตั้ง เจตจำนงของประชาชนชัดเจนว่าต้องการให้ก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเคียงข้าง หากสลับสูตรไปเป็นรัฐบาลชุดเก่ายุค คสช. สถานการณ์ทางการเมืองจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเกิดความรู้สึกที่ว่า 8 พรรค 28 ล้านเสียงถูกโจรปล้นชัยชนะไปต่อหน้าต่อตา ส่วนตัวคิดว่าสังคมไทยจะเกิดภาวะที่ไม่ประนีประนอมอีกต่อไป ประชาชนรอคอยเวลามี 8-9 ปีแล้ว คิดว่าตรงนี้จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการที่จะไม่ยอมระบอบเผด็จการทหารอีกต่อไป

ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ออกตัวแรงหลังการเลือกตั้งว่าจะไม่ร่วมกับพรรคที่จะแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 การออกตัวเช่นนี้เหมือนจัดวางภูมิใจไทยไว้ในปีกพรรคฝ่ายขวาที่เปิดช่องให้เกิดการปรับสูตรคณิตศาสตร์ พรรคฝ่ายประชาชนที่เลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตยคงไม่อยากได้ภูมิใจไทยมาร่วมด้วย เพราะเป็นพรรคสไตล์การเมืองไทยแบบโบราณสุดๆ ที่เราไม่รู้จะเรียกว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน แต่เป็นพรรคที่จะแสวงหาชัยชนะเท่านั้น

สำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์และสูตรต่างๆ รวมถึงความเคลื่อนไหว เช่นการที่มีผู้ออกมาบอกว่าคุณสุชาติ ตันเจริญ จะได้ตำแหน่งประธานสภา แน่นอน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแน่ ส่วนตัวมองว่า การเมืองไทยตอนนี้ เหมือนเวทีลิเก ที่จะมีคนมาป้องปากกระซิบให้ประชาชนรู้ว่าบทต่อไปจะเป็นอะไร ซึ่งคนที่มีบทตัวนี้ก็ป้องปากให้ประชาชนคิดล่วงหน้าได้ทุกสูตร ซึ่งมันอาจจะมีความเคลี่อนไหวจริงๆ จะเห็นได้ว่านักการเมืองที่ผ่านมาเป็นนักการเมืองรุ่นโบราณ ที่ยืนอยู่กับคำพูดที่ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ทุกอย่างกลับตาลปัตรกันได้ เรื่องทุกอย่างเป็นไปได้หมดเลย

แต่การเมืองไทยหลัง 14 พฤษภาคม คิดว่าสิ่งหนึ่งซึ่งมีหลักหมายสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ พรรคก้าวไกลมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางความคิด ส่วนฝ่ายเพื่อไทย พยายามที่นำเสนอประเด็นของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ถูกกำราบไว้ในกระแสของประชาชน

ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่สภาพการเมืองใหม่ที่ประชาชนเบื่อการเมืองแบบเดิมๆ แล้ว แต่ตัวแสดงที่เป็นลิเก และคนที่บอกบทข้างเวทีก็ยังทำงานได้ เพราะในสังคมเรายังมีคน 20% ที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ซึ่งกลุ่มคนตรงนี้เชียร์เรื่องกระซิบ เรื่องที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์ได้

แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าสถานการณ์ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ระยะเวลาหลังเลือกตั้งจนถึงวันนี้ มันมาถึงจุดที่เราเห็นชัดเจนแล้วว่า ตำแหน่งประธานสภามีแนวโน้วที่จะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน คือเป็นของพรรคก้าวไกล ผมคิดว่ามันชัดเจนทางการเมืองหลังจากเกมการเมืองเลือกประธานสภาวันที่ 4 กรกฎาคม ต่อมาจะเป็นเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาทำให้คนต้องดูลิเกสักประมาณ 10 กว่าวัน เป็นโอกาสทองให้พวกนักเล่านิทานซุบซิบมีพื้นที่ของตัวเองในการแสดงออกบนเวที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image