‘เศรษฐา’ หนุนตั้งรัฐบาลให้เร็ว ปลดล็อกวิกฤตศก.-ฟื้นเชื่อมั่น

หมายเหตุนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานสัมมนา “Battle Strategy แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม EPISODE V : วิกฤติมาทุกทิศ โอกาสมีทุกทาง” จัดโดย หนังสือพิมพ์รายวัน ข่าวหุ้น ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเป็นการถาม-ตอบ ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

⦁วิกฤตการเมืองตอนนี้กับวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไหนมีปัญหามากกว่ากัน

เศรษฐา : วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังซื้อหด ก็เป็นเซ็กชั่นที่มีปัญหาในด้านของเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่เหมือนกับ 3 ปี ที่มีปัญหาเรื่องโควิด หรือสมัยตอนเกิดต้มยำกุ้ง ก็มองว่าคงต่อสู้กันไปได้ แต่วิกฤตการเมืองของประเทศไทยตอนนี้ หากมีความยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

⦁ทำไมถึงมีมุมมองเช่นนี้

Advertisement

เศรษฐา : จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ชัดเจนว่าพรรคการเมืองในฝั่งประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ รวมถึงพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล สามารถรวมเสียงรวมกันได้ถึง 292 เสียง เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอน เรื่องของการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ แม้การเลือกตั้งจะจบลงไปแล้ว 2 เดือน แต่ก็คิดว่าถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้ช้า เรื่องของการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ก็จะล่าช้าออกไป
ดังนั้น แนวทางในการทำงานร่วมกับคณะกรรมการของพรรคก้าวไกล ถ้าเกิดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม งบประมาณปี 2567 จะถูกใช้ได้อย่างเร็วที่สุดคือ 15 มีนาคมในปีหน้า ทุกท่านน่าจะทราบว่างบประมาณแผ่นดินเบื้องต้นจะถูกจัดสรรในเดือนตุลาคม ถ้าล่าช้าออกไปก็อาจจะเป็นปัญหาใหญ่

⦁สำหรับคนที่ทำธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤตต้องวางตัว หรือทำตัวอย่างไร

เศรษฐา : วันนี้เราต้องมีตัวช่วย ต้องมีปากมีเสียง เราต้องมีการสนับสนุนให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม นี่คือสิ่งแรกที่เราทุกคนควรหวังว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และสามารถทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่เรื่องธุรกิจทุกคนทราบกันดีอยู่ว่ามีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงมากถึง 90% ต่อจีดีพีแล้ว และเรื่องการส่งออกที่ตกต่ำมาโดยตลอด หลายๆ เรื่องถือว่าเป็นเรื่องที่ไทยก็มีความเสี่ยง

Advertisement

แต่ถ้ามองถึงในวิกฤตก็มีโอกาส เพราะไทยมีอะไรดีๆ หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องความมั่นคงทางอาหารที่เราเองให้ความสนใจ แต่อยู่เฉยๆ จะดีขึ้นไม่ได้ จึงต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง เพราะยังมีปัญหาเรื่องของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้าประเทศไทยที่มีดีมานด์เข้ามามาก แต่ปัจจุบันยังมีเรื่องนโยบายการขอวีซ่าที่ใช้เวลาดำเนินการหลายวัน และหลายๆ เรื่องยังต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นมองไปข้างหน้าช่วงไฮซีซั่น ตอนนี้ก็เดือนกรกฎาคมแล้ว ระยะต่อไปก็อาจจะเป็นปัญหา

⦁ล็อกปัญหาทางการเมืองทำให้เกิดปัญหาติดล็อกทางเศรษฐกิจ

เศรษฐา : แน่นอน เรื่องการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวันนี้มีนักลงทุนในต่างประเทศหลายรายอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ชะลอการลงทุน เพราะว่าต้องการฟังนโยบายที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านอีวี ถือว่าเป็นธุรกิจสำคัญที่จะนำพาประเทศเจริญก้าวหน้าไปได้ ถ้าเราช้าไปเท่าไหร่จะยิ่งเป็นรองอินโดนีเซีย และเวียดนาม
วันนี้ไทยจึงต้องเร่งการทำงาน หลังจากที่ได้ไปคุยกับหอการค้าทางอินโดนีเซียเมื่อวานนี้ เขาก็บอกว่าขณะนี้ประเทศเขาเดินสายคุยกับต่างประเทศเยอะมาก เพราะตอนนี้ถือเป็นช่วงสุญญากาศของประเทศไทย ที่เราไม่มีผู้นำไปคุยกับต่างประเทศ

⦁อยากฟังนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ กับเสถียรภาพกับรัฐบาลชุดใหม่ นักลงทุนกังวลเรื่องใดมากกว่ากัน

เศรษฐา : ผมว่านักลงทุนก็อยากให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ให้ถูกต้อง ส่วนเรื่องเสถียรภาพหากดูจากการรวมเสียงแล้ว เบื้องต้นยังไม่มีเรื่องน่ากังวลมาก วันนี้ขั้วที่จับมือก็ 312 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง ก็มีความชัดเจนและเป็นเสถียรภาพอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกันก็สามารถทำงานร่วมกันได้ และหลังจากได้พูดคุยกันก็สามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้ดี ทั้ง 2 พรรคเองก็มุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาต่อไปได้

⦁มุมมองนักธุรกิจจากทิศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง ในแง่นักลงทุนควรจะต้องรับมืออย่างไร เพราะเสถียรภาพยังมีความไม่แน่นอน

เศรษฐา : นักลงทุนยังคงให้ความสนใจ แต่ยังอยู่ในช่วง wait and see ที่ต้องกอดเงินสดไว้ เป็นแนวทางสิ่งที่หลายๆ บริษัททำอยู่ที่ต้องรักษากระแสเงินสดไว้ให้ดี เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ขณะนี้กำลังซื้อเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อวานกลับไปเยี่ยมบริษัทเก่าก็มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ซึ่งทางบริษัทก็แก้ปัญหาได้ดี แม้กำไรจะไม่ได้ดีมากแต่ก็ทำได้ดีอยู่ แต่มองไปข้างหน้าปัญหาก็มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงมาก การปล่อยสินเชื่อยังคงทำได้ยาก ซึ่งก็มองว่าเป็นปัญหา

⦁โอกาสที่จะเห็นนอกเหนือจากที่ต้องพึ่งเรื่องการเมือง แล้วโอกาสจะมาจากไหน

เศรษฐา : ยอมรับตรงๆ ว่าเป็นอะไรที่ตอบได้ยาก ตอนนี้สำคัญที่สุดคือต้องมีรัฐบาลใหม่ จริงๆ ก็ไม่ได้อยากหยุด ทุกอย่างเป็นเรื่องของการเมือง แต่ว่าอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ต้องพึ่งพาจากการดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้าไทย ทางนักลงทุนเองก็ยังคอยและยังอยากที่จะลงทุนในประเทศไทยอยู่ ขณะเดียวกัน เรื่องหนี้ครัวเรือนก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม เรื่องหนี้ครัวเรือน เรื่องของการเข้าถึงสินเชื่อได้จากแหล่งเงินกู้ที่มีคุณภาพ เพราะถึงแม้หนี้ครัวเรือนสูง 90% แต่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังกู้เงินนอกระบบ

⦁ช่วง wait and see แต่ช่วงระหว่าง wait เราควรจะมีประเด็นอะไรบ้าง ที่จะทำให้รู้ได้ว่าต่อไปจะตัดสินใจอย่างไร

เศรษฐา : ก็ต้องกลับไปเรื่องการเมือง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องรักษากระแสเงินสด การบริหารจัดการธุรกิจให้ดี เรื่องการบริหารต้นทุนธุรกิจ เรื่องความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะตอนนี้เราเป็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ดังนั้น เรื่องการเปิดตลาดการค้าใหม่จะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ก็เป็นอะไรที่เชื่อว่านักธุรกิจหลายคนกำลังติดตามอยู่เช่นเดียวกัน

⦁ที่สุดแล้วความสามารถในการปรับตัวเองของธุรกิจจะต้องเป็นอย่างไร

เศรษฐา : มองย้อนไปตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจสามารถปรับตัวได้และพ้นวิกฤต กับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั้งหลายเหมือนกับว่าภาคเอกชนก็มีวัคซีนและมีภูมิคุ้มกัน ภาคเอกชนสามารถผ่านมาได้ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะฉะนั้นในเรื่องของ wait and see อีกไม่นาน และมองว่าไม่เกิน 1-2 เดือน ให้จบปัญหาเรื่องการเมืองและมีรัฐบาลใหม่สำเร็จ ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในแง่ของก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย เพราะยังติดล็อกเรื่องการเมืองอยู่

⦁โอกาสจากนี้ไปสำหรับคนไทยทั้งประเทศจะเป็นอย่างไร และในสายตาเวทีโลกจะหันกลับมามองประเทศไทยได้ดีขึ้นกว่าเดิมจากหลายทศวรรษที่ผ่านมาอย่างไร

เศรษฐา : ตรงนี้ก็บอกเต็มปากว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่น่าลงทุน หลายเรื่องที่เราไม่ได้มองถึง เช่น เรื่องโรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลดีๆ ที่ไทยมีอยู่ เราจะดึงนักลงทุนเข้ามาจากความสามารถและศักยภาพของไทย ทรัพยากรของไทยอย่างโครงสร้างพื้นฐานในหลายด้านของไทยเป็นต่อมากกว่าอีก 2 ประเทศที่ได้กล่าวขึ้นมาช่วงต้น อีกทั้งเรื่องสกิลของคนไทย เป็นเรื่องที่ไทยยังมีความสามารถแข่งขันได้ เชื่อว่าเราเป็นต่อ ดังนั้น เรื่องการบริหารจัดการระยะถัดไปต้องเป็นระบบมากขึ้น

⦁ระยะเวลาในการรอของนักลงทุนช่วงไม่กี่เดือนก็รอไหว แต่ถ้าเกิน 1-2 ปีคงไม่ไหว

เศรษฐา : ผมคิดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น มองว่าระยะเวลาช่วงรอการจัดตั้งรัฐบาลคงใช้เวลาสัก 2-3 เดือน ถ้าได้รัฐบาลใหม่แล้ว คาดว่าช่วงเดือนธันวาคมนี้ คงจะสามารถจัดสรรงบประมาณปี 2567 ได้ มีการกำหนดการลงทุนของรัฐบาลอย่างชัดเจน อย่าลืมว่าตลาดหุ้นเป็นอะไรที่รับรู้ไวมาก ถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลได้ดี ทุกอย่างราบรื่น เรื่องการลงทุนก็ไม่เกิดผลกระทบเช่นกันเพราะเป็นการส่งสัญญาณจากนักลงทุนที่ไวที่สุด จึงอยากให้จัดตั้งรัฐบาลตามกรอบเวลา

ขณะเดียวกัน ก็อยากจะเพิ่มปัญหาเข้าไปอีก เพราะจากการลงพื้นที่ในเรื่องของภัยแล้ง เป็นเรื่องสำคัญ แม้ภาคเกษตรคิดเป็น 10% ของจีดีพี แต่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม เพราะเริ่มตั้งแต่กลุ่มฐานราก ดังนั้น ภัยแล้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งในช่วง 3-4 เดือนนี้ก็ต้องมีการประชุมเพื่อจะเก็บกักน้ำกันอย่างไร ซึ่งก็น่าเป็นห่วง

⦁แสงสว่างอะไรที่จะได้เห็นในความมืดนี้

เศรษฐา : จากการลงพื้นที่ก็มีความกังวลจากการเห็นปัญหาต่างๆ แต่ก็เชื่อว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพและโอกาสอีกเยอะ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องการรัฐบาลที่แข็งแกร่ง เราต้องการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เพราะหลายๆ เรื่องจะสามารถทำได้จะต้องมีรัฐบาล

⦁หากนั่งไทม์แมชชีนไปสู่อนาคต ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นช่วง 3 วัน

เศรษฐา : ต้องการให้เลือกนายกรัฐมนตรีให้เสร็จตั้งแต่วันแรก แต่ถ้าไม่จบสิ้นและต้องเลือกถึงวันที่ 2 ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน และถ้าจะต้องยืดไปวันที่ 3 ก็ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์จะขึ้นได้อย่างไร แต่ก็เอาใจช่วย ในฐานะที่เป็นพรรคเพื่อไทย และที่ทำงานใกล้ชิดกับพรรคร่วมรัฐบาล จะสนับสนุนให้คุณพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image