ชำแหละ 10 ปี ‘ชาวนาไทย’ ยิ่งทำยิ่งจน-จี้รัฐปฏิรูป 360 องศา

ชำแหละ 10 ปี ‘ชาวนาไทย’ ยิ่งทำยิ่งจน-จี้รัฐปฏิรูป 360 องศา

หมายเหตุ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวบทวิเคราะห์ “10 ปี ชาวนาไทย จนเพิ่ม หนี้ท่วม” ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม

จากการวิเคราะห์และสำรวจข้อมูลพบว่าการผลิตข้าวของโลก เมื่อปี 2565 ประเทศผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของโลก คือ ประเทศจีน โดยผลิตข้าวสารได้ 145,946 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 28.5% ของการผลิตข้าวสารโลก

อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวสารของจีนลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลง 0.4% อินเดีย ผลิตข้าวสารได้มากเป็นอันดับสองของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 136,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.5% ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งการผลิตข้าวสารของอินเดียเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 หรือคิดเป็น 3.8%

Advertisement

ขณะที่เวียดนาม ผลิตข้าวสารเป็นอันดับ 5 ของโลก ผลิตข้าวสารได้ 27,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของการผลิตข้าวสารโลก เวียดนามผลิตข้าวสารเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลงประมาณ 0.5%

ส่วนไทยผลิตข้าวสารเป็นอันดับหกของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 20,200 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งไทยผลิตข้าวสารเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลง 0.1%

ขณะที่การส่งออกข้าวของโลกพบว่า ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 2565 คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดีย คือ บังกลาเทศ ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทยในปี 2565 คือ อิรัก สหรัฐ แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่เวียดนาม มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน

Advertisement

ส่วนประเทศอาเซียนที่ส่งออกข้าวไปโลกมากที่สุดในปี 2565 ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยส่งออกเป็นมูลค่า 3,548 ล้านเหรียญสหรัฐ 2,186 ล้านเหรียญสหรัฐ 406 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 394 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญทั้งกับไทยและเวียดนาม รวมไปถึงเมียนมาและกัมพูชาด้วย

เปรียบเทียบชาวนาไทยกับอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา ในช่วง 10 ปี (ปี 2555-2565) พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้ และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย

ต้นทุนการผลิตของชาวนาไทย ในปี 2565 มีต้นทุนการผลิต 5,898.5 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาทต่อไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 3,839.7 บาทต่อไร่) ขณะที่รายได้ลดลง 777.7 บาทต่อไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 3,900.3 บาทต่อไร่ น้อยกว่าในปี 2555 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ ในปี 2555 ชาวนามีเงินคงเหลือ 838.3 บาทต่อไร่ แต่ปี 2565 ชาวนามีเงินขาดทุน 1,998.2 บาทต่อไร่

ชาวนาอินเดียมีต้นทุนการผลิต 6,993.7 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2,581.8 บาทต่อไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 4,411.9 บาทต่อไร่) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นทุนเพิ่มแต่ชาวนาอินเดียก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,817.4 บาทต่อไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 11,115.6 บาทต่อไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 9,298.2 บาทต่อไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาอินเดียมีเงินคงเหลือ 4,886.3 บาทต่อไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 4,121.9 บาทต่อไร่

ชาวนาเวียดนามมีต้นทุนการผลิต 5,098.1 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 1,027.3 บาทต่อไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 4,070.8 บาทต่อไร่) ซึ่งชาวนาเวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้น 69.1 บาทต่อไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 8,320.6 บาทต่อไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 8,251.5 บาทต่อไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาเวียดนามมีเงินคงเหลือ 4,180.7 บาทต่อไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 3,222.5 บาทต่อไร่

ชาวนาเมียนมามีต้นทุนการผลิต 4,574.2 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 1,420 บาทต่อไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 3,154.2 บาทต่อไร่) ทั้งนี้ ชาวนาเมียนมามีรายได้เพิ่มขึ้น 1,421.3 บาทต่อไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 5,953.1 บาทต่อไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 4,532 บาทต่อไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาเมียนมามีเงินคงเหลือ 1,377.8 บาทต่อไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 1,379.1 บาทต่อไร่

สำหรับ บทเรียนที่ผ่านมาของข้าวไทยตลอด 10 ปี ได้ข้อสรุปดังนี้ 1.ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ ไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก. ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) 2.ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ เนื่องจากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม” 3.ปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ 4.แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 1-2 ครั้ง

5.เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี 6.นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งขัน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง 7.ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง 8.ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้น 9.เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ และ 10.การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย

ดังนั้น จากบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการแทรกแซงตลาดข้าว ไม่ใช่ทางออกของการพัฒนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกันรายได้ข้าว การประกันราคาข้าว หรือการจำนำข้าว 10 ปีที่ผ่านมา ย้ำชัดเจนว่า นโยบายการแทรกแซงตลาดไม่ได้ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าชาวนา แต่ชาวนากลับมีรายได้ลดลง และติดลบ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าชาวนาไทย จนที่สุดในเอเชีย และกลุ่มประเทศอาเซียน

ขอฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ว่า 1.ภาครัฐต้องเข้าไปแก้ปัญหาชาวนา และปัญหาข้าวของไทยให้ตรงจุด 2.ต้องดูคู่แข่งเป็นกระจกสะท้อนว่าประเทศเหล่านั้น มีการพัฒนาข้าว ที่ส่งผลให้ชาวนามีรายได้เป็นบวกได้อย่างไร เราไม่สามารถที่จะละเลยตลาดโลกไปได้ หรือละเลยศักยภาพการผลิตของไทยกับคู่แข่งได้ หรือใช้วิธีคิดราคาตกไม่เป็นไร เดี๋ยวภาครัฐเข้าไปแทรกแซง ซึ่งเม็ดเงินในการแทรกแซงตลาดข้าว หรือเงินในการแทรกแซงสินค้าเกษตรของไทย ควรนำเงินจำนวนนั้นมาเป็นรางวัลให้เกษตรกรที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิตได้ ยังดีเสียกว่า เพราะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพทางการแข่งขันไปในตัว

นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องคิดถึงเรื่องน้ำให้มากที่สุด เพราะไม่มีน้ำจะไม่สามารถทำนา และสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้เลย รวมถึงมองว่าเรื่องน้ำจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ นับจากนี้เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นเรื่องน้ำ ทางภาครัฐจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) หรือให้เงินอุดหนุนเกษตรกรรายบุคคล หรือรายกลุ่ม เพื่อให้นำเงินไปขุดบ่อกักเก็บน้ำ เตรียมรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องคิดหาแนวทางในการรับมือต่อไป เพราะปัจจุบันเป็นหน้าฝน แต่ปัจจุบันหลายจังหวัดเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้หนี้ในกลุ่มเกษตรกร เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเกษตรกร ต่างแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยการขายที่นา หรือปล่อยเช่าที่นา แต่การที่จะแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้นั้น เราต้องนำตัวเองเข้าไปสู่ปัญหาของข้าวจริงๆ ว่าคืออะไร พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมา นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ได้แก้หนี้ของเกษตรกรอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ไข รัฐควรเข้าไปแก้เรื่องต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีเงินเหลือมากพอที่จะนำไปชำระหนี้

แต่วินัยในการจ่ายหนี้ของชาวนาก็ควรปรับเปลี่ยนตามไปด้วย หลายประเทศไม่นิยมการก่อหนี้ แต่ด้วยพฤติกรรมการก่อหนี้ในยุคที่มีแต่ความทันสมัย ในสังคมความเป็นเมือง จึงทำให้วิถีของชาวนาเปลี่ยนไป เรื่องหนึ่งที่ชาวนาเมียนมา ชาวนาเวียดนาม มีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง เกิดจากยังใช้แรงงานสัตว์ในการทำเกษตร เพื่อลดต้นทุน แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีต้นทุนที่สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่เท่าไทย เนื่องจากหันมาใช้แรงงานเครื่องจักร และปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาของไทย คือ 1.ต้องลดต้นทุนให้ได้ 2.ยกระดับผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันให้ได้ หากประเทศไทย หรือหน่วยงานของรัฐบาลไทย สามารถทำ 2 เรื่องนี้ได้ หนี้ของชาวนาจะปรับตัวลดลงแน่นอน

ส่วนทางออกของอนาคตข้าวไทย คือต้องมีการปฏิรูปข้าวไทยครบวงจร และปฏิรูปข้าวไทยแบบครบทุกมุมแบบ 360 องศา เพราะว่าในจุดอับในเรื่องข้าวของไทย รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดูว่า จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือเกษตรกร ตามที่ให้ความคิดเห็นไปในข้างต้น หากสามารถทำได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าข้าวไทยมีอนาคตแน่นอน

แต่หากไม่ทำตามนี้ อาจจะสายเกินไป และภาคการเกษตรของไทย จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ชาวนาไทย ก็ยังต้องทำนาอยู่ต่อไป เพราะไม่รู้ว่าต้องไปทำอาชีพใดเสริม เพื่อหาเงินใช้หนี้

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชาวนาไม่มีหนี้ แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวนามีหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 1-3 แสนบาทต่อครัวเรือน หรือบางรายมีหนี้มากกว่า 3 แสนบาทต่อครัวเรือน ดังนั้น มองว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรกลับมามีรายได้มากกว่ารายจ่ายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image