รายงาน : สายธาร ความคิด คำประกาศ 10 สิงหาคม ท่วงท่า โทนี่ วู้ดซัม

เห็น “คำประกาศ 10 สิงหาคม”ไม่ว่าจะมาจาก โทนี่ วู้ดซัม ไม่ว่าจะมาจาก แพทองธาร ชินวัตร บังเกิดนัยประหวัดอย่างไร

นึกถึง จรัล ดิษฐาอภิชัย นึกถึง วิสา คัญทัพ

เพราะ จรัล ดิษฐาอภิชัย ก็เป็น“ผู้ลี้ภัย” เพราะ วิสา คัญทัพ ก็ไปเขียนบทกวีอยู่ที่เยอรมนี

จากรัฐประหาร 2549 จากรัฐประหาร 2557

Advertisement

บ้างอาจนึกถึง บรรดา “นักเคลื่อนไหว” แห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้มาพร้อมกับ “ลูกจีนรักชาติ”

บ้างอาจนึกถึงบรรยากาศแห่ง “มวลมหาประชาชน”

แต่มีคนจำนวนไม่น้อยนึกถึง ปรีดี พนมยงค์ นึกถึง ป.พิบูลสงคราม นึกถึง ถ.กิตติขจร

Advertisement

บนฐานแห่ง “นายกรัฐมนตรี”

ถามว่า ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศจากสถานการณ์ใดในทางการเมือง

ตอบได้เลยว่า “รัฐประหาร”

เป็นรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 เป็นมูลฐาน เพราะเด่นชัดอย่างยิ่งว่าเป้าหมายทำลายล้างเป็นใคร

เป็น “ปรีดี” มิใช่ “หลวงธำรง”จากเมืองไทยไปยังสิงคโปร์ จากสิงคโปร์ไปยังจีน จากจีนไปยังฝรั่งเศส จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้กลับ

เช่นเดียวกับ ป.พิบูลสงคราม

รัฐประหารเดือนกันยายน 2500 ทำให้ ป.พิบูลสงคราม ต้องจรจากทำเนียบรัฐบาลไปยังพนมเปญ แล้วไปโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

อย่างมากก็ได้กลับเพียง “กระดูก”

ถ.กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศเพราะสถานการณ์การขับไล่ของนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคม 2516

จำต้อง “บิน” ไปอยู่ “อเมริกา”

จากนั้น ก็หวนกลับมาอีกครั้งผ่านกระบวนการบรรพชาเป็น “สามเณร” จากสิงคโปร์ มาขอจำวัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ก่อให้เกิดการประท้วงใหญ่ในทางการเมือง

เป็นการประท้วงอันนำไปสู่สถานการณ์อันร้อนแรงและแหลมคมยิ่งในทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2519

เกิดการ “ล้อมปราบ” เกิดการ “สังหารหมู่”

อุบัติแห่ง “คำประกาศ ตุลาคม 2519” จึงนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้

เป็นบทเรียนอันได้มาด้วยเลือดและความสูญเสีย

เส้นทางแห่ง “คำประกาศ10 สิงหาคม” ไม่เหมือนกับเส้นทางของ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เหมือนกับเส้นทางของ ป.พิบูลสงคราม

และไม่เหมือนกับ ถ.กิตติขจร

พลันที่ “คำประกาศ 10 สิงหาคม” บังเกิดขึ้น ประสานกับบทบาทการเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม

ก่อให้เกิด “คำถาม” นำไปสู่ “การเปรียบเทียบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image