เส้นทางวิบาก ‘เพื่อไทย’ เกมยื้อโหวตนายก-ตั้งรัฐบาล ?

เส้นทางวิบาก ‘เพื่อไทย’ เกมยื้อโหวตนายก-ตั้งรัฐบาล ?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ภายหลังขอจบสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล

ผศ.ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร

การเลื่อนโหวตนายกฯออกไปในครั้งนี้ ทำให้ทางฝ่ายที่จะตั้งรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสที่จะเจรจากันมากขึ้น การได้เปรียบหรือเสียเปรียบมองได้หลายแง่มุม หากมองว่าอาจจะเป็นดีล เราก็จะมองว่าดีลมันยังไม่ลงตัวหรือเปล่า เลยต้องมีการต่อรองเยอะขึ้น สมมุติหากเลื่อนออกไปฝ่ายที่ต้องการข้อเรียกร้องก็จะมีโอกาสและเวลามากขึ้น ยิ่งยืดเยื้อโอกาสยิ่งมากขึ้น ในส่วนเรื่องการฉีกเอ็มโอยู ออกจากฝั่งเดิม 8 พรรคการเมือง ทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสไปดึงเสียงจากพรรคพลังประชารัฐเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักว่ามันคุ้มหรือไม่ที่ต้องทำแบบนี้

Advertisement

ในตอนนี้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะถูกผลักไปอยู่ฝ่ายเดียวกับฝั่งพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติในอนาคต มันก็จะทำให้การเมืองเสียในระยะยาว และจะพบกับกระแสกดดันจากเสียงประชาชน และพรรคก้าวไกลด้วย

ท่าทีที่แสดงออกโดยมาตลอดคือ พรรคเพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น หมายความว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตามจะต้องอยู่ฝ่ายรัฐบาลในครั้งนี้ ในข้อที่ได้เปรียบคือ หากพรรคเพื่อไทยไม่แคร์เรื่องของการจะโดนข้อครหาที่ไปร่วมกับฝ่ายที่ตนเองเคยประณามหรือวิจารณ์เขามาก่อน ก็มีโอกาสที่ทางพรรคเพื่อไทยจะมีรัฐบาลที่ค่อนข้างมั่นคงในแง่ที่ว่ารวมเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมมาอยู่ในฝ่ายตัวเอง

หากพรรคเพื่อไทยถีบพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านได้จริงๆ ก็จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลเดิมรวมถึงพรรคเล็กพรรคน้อยซึ่งแต่เดิมคือพวกที่อยู่รัฐบาลเดิมมาก่อน มีความเป็นเสถียรภาพค่อนข้างสูง นี่คือข้อได้เปรียบ

Advertisement

ส่วนที่เสียเปรียบ คือ ชื่อเสียงพรรคเพื่อไทยที่สะสมมาในฐานะที่ถูกมองว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และถูกกระทำรัฐประหารมาถึง 2 ครั้ง ใช้ไม่ได้ต่อไปอีกในอนาคต เพราะกลายเป็นพรรคที่ไปอยู่ฝั่งเดียวกับพรรคที่เคยเป็นฝ่ายกระทำ ดังนั้น การเมืองในอนาคต พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้อยู่ในสถานะเดิมอีกแล้ว ต้องแลกสิ่งที่ได้เปรียบในปัจจุบันคือการได้เป็นรัฐบาล กับการที่จะเสียรังวัดในอนาคตและโอกาสในการชนะการเลือกตั้งในครั้งถัดไป และหากฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดีไม่ได้ โอกาสที่จะเสียคะแนนในอนาคตก็สูงมากขึ้นเช่นกัน

การลากยาวในการโหวตนายกฯในครั้งนี้ออกไปทำให้ฝั่งรัฐบาลเดิมได้เปรียบและเป็นผู้ชนะที่แท้จริง เพราะด้วยกติกาทางการเมืองในปัจจุบันออกแบบมาเพื่อให้พรรคที่ร่วมรัฐบาลนั้นหลากหลาย มันทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยมีอำนาจในการต่อรองสูง ยิ่งเกมลากยาวมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ทำให้พรรครัฐบาลมีแต้มต่อเยอะขึ้นเท่านั้น

ในตอนนี้เห็นได้ว่าทางพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ถึงขนาดที่ต้องไปเอาพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติมาร่วม เพราะอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคก้าวไกลที่ไปเป็นฝ่ายค้านสามารถแสดงสปิริตโหวตให้ทางพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าหากว่าในการโหวตนายกฯครั้งนี้เกิดไม่สำเร็จขึ้นมา และทาง ส.ว.ไม่เอาด้วย ก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยจะโดนบีบให้ไปเอาพรรคฝั่งลุงมาจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ และโอกาสที่จะได้รับการโหวตจาก ส.ว.ก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะว่ามันคือฝ่ายรัฐบาลเดิมบวกกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยเพิ่มเข้าไปนั้นเอง

หากเราปล่อยระยะเวลายืดนานไปเรื่อยๆ ผู้ชนะที่แท้จริงก็คือฝ่ายรัฐบาลเดิม ส่วนการต่อรองจากทางฝั่งลุงและพรรคภูมิใจไทยนั่นมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นและเป็นที่สิ่งเดาได้ง่าย

ส่วนตัวคิดว่าการต่อรองในครั้งนี้มันก็น่าจะสูงมากเช่นกัน หากพรรคเพื่อไทยยังดึงดันที่ต้องเป็นรัฐบาลให้ได้ โดยที่ต้องง้อฝ่ายรัฐบาลเดิม หมายความว่าอำนาจต่อรองจะสูญหายไปเยอะมาก พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ต้องพึ่งพาเสียงพรรคอื่นเพิ่มมากขึ้นด้วยกติกาการตั้งรัฐบาลมันมีหลายพรรคมันทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยนั้นมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว อำนาจนั้นมากกว่าจำนวนที่นั่งที่ตนเองได้รับ ทำให้เขาต้องยอมเพื่อที่ให้ตนเองอยู่เป็นรัฐบาลได้ และในอนาคตต้องรอดูโอกาสจะมีจำนวนที่นั่งเพิ่มมากขึ้นมาอีกไหม หรือที่เราเรียกกันว่า การซื้อเสียงงูเห่านั่นเอง

ถ้าหากว่าการที่ขอให้เขามาร่วมมันอาจจะทำให้ต้องแลกกับเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ไป ก็จะไม่เหมือนเดิมในตอนที่ร่วมกับพรรคก้าวไกล ซึ่งในตอนนั้นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักในการเจรจาก็เอาไปกันคนละ 14-15 ตำแหน่ง อันนั้นยังพอแฟร์ๆ แต่ตรงนี้มันต้องง้อกัน เสียงเล็กๆ น้อยๆ นั้นมีความหมาย เพราะว่าพรรคเพื่อไทยเขาได้คะแนนไม่เยอะมากเลยต้องง้อเสียงเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มมากขึ้น ต้องมีการแลกประโยชน์ที่ทำให้คนเหล่านั้นมาอยู่ร่วมกับตนเองให้ได้

ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

ในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทย หลังจากผลักพรรคก้าวไกลออกมาแล้ว ก็เกิดปรากฏการณ์ โดยเป้าหมายแรกของพรรคเพื่อไทยหวังจัดตั้งรัฐบาลแบบจบเร็วปิดเร็ว ยกเลิก MOU กับพรรคร่วม ในวันที่ 2 สิงหาคม เพื่อเตรียมประกาศจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 3 สิงหาคม และเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม นี่เป็นแผนขั้นแรกเพื่อลดแรงสะเทือนจากการข้ามขั้ว แต่ยิ่งปล่อยเวลา พรรคเพื่อไทยยิ่งเสียหาย

กระทั่งเลื่อนการประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ เลื่อนการวินิจฉัยคำร้องปมโหวตนายกฯซ้ำของศาลรัฐธรรมนูญ และการเลื่อนแถลงจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริง คือ การต่อรองไม่ง่ายอย่างที่คิด มีสาเหตุ 3 ประการ คือ 1.การต่อรองกับพรรคที่มาแทนพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า เหล่านี้เรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจทั้งสิ้น สูตรที่พรรคเพื่อไทยอยากจะได้กระทรวงเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด 14 กระทรวง สมัยจับมือพรรคก้าวไกลก็ต้องมาเกลี่ยใหม่ การเกลี่ยใหม่กระทบต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่สัญญาไว้ตอนเลือกตั้ง ไม่สามารถครองกระทรวงตามที่ต้องการเอาไว้ได้ ทำให้เกมต้องยื้อออกไป

2.การต่อรองผ่านการเพิ่มน้ำหนักเสียงของ ส.ว.ให้ช่วยสนับสนุนแคนดิเดต นายกฯของพรรคเพื่อไทย แต่ ส.ว.ไม่โหวตให้ เกิดการต่อรองของ ส.ว.พยายามให้พรรค 2 ลุง เข้าร่วมรัฐบาลด้วย หลังก่อนหน้าพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะไม่มีพรรค 2 ลุง และ ส.ว.ยังไม่ไว้ใจจะไปเอาจะเอาพรรคก้าวไกลกลับมาภายหลังหรือไม่

เมื่อยังไม่มีความไว้ใจ ส.ว.ก็เริ่มจุดประเด็นเรื่องแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น ที่เคยหาเสียงจะแก้ไข ม.112 และปมภาษีการโอนที่ดินของนายเศรษฐา ทวีสิน จากที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เปิดเผยออกมา หวังบีบให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลต้องมีพรรคลุงร่วมด้วย

ส่วนข้อ 3 เป็นปัญหาหลัก มีการยืดเวลาการจัดตั้งรัฐบาลออกไปอีก 2-3 อาทิตย์ ขัดแย้งโดยตรงกับข่าวที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะอ้างว่า ต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง สร้างความชอบธรรมว่าถ้าจะต้องข้ามขั้วเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด แต่ทำให้ช้ากว่าเดิม ทุกอย่างไม่จบภายในวันที่ 4 สิงหาคม อาจจะไปจบปลายเดือนสิงหาคมแทน ทำให้ประชาชนมองความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยถูกวิจารณ์มากขึ้นไปอีก เมื่อยังจัดตั้งไม่เสร็จ ก็แสดงว่ายังเคลียร์ไม่ลงตัว เมื่อทิ้งเวลาไปนาน คนที่เดือดร้อนมากที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทย

เพราะฉะนั้นปัญหาทั้ง 3 ข้อ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตที่จะเกิด พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องสละกระทรวงสำคัญให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าคิดจะจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ แล้วจะส่งผลให้นโยบายที่อยากจะทำตอนไปสัญญากับประชาชนช่วงหาเสียงเลือกตั้งอาจไม่ได้ทำ แทนที่จะสลัดพรรคก้าวไกลออกไปแล้ว ได้สร้างปัญหาให้กับตัวเอง การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วและเป็นรองก็จะได้รัฐบาลที่ไม่แตกต่างจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นรัฐมนตรีคนเดิมและเปลี่ยนแค่หัว เปลี่ยนนายเศรษฐาขึ้นเป็นนายกฯ เกิดการทำงานของรัฐบาลไม่ประสานทำงานแบบไร้รอยต่อ ทุกพรรคที่มาร่วมกันข้ามขั้วล้วนแตกต่างทั้งในแง่การทำงานและอุดมการณ์ ที่เหมือนกันก็คือ ความอยากเป็นรัฐบาล และการเข้ามาอยู่ในแต่ละกระทรวง สถานการณ์อาจจะทำให้มีพรรคอันดับ 3 และ 4 ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น

จึงเป็นเกมอันตรายของพรรคเพื่อไทย พรรคอื่นจะต่อรองมากขึ้น เพื่อไทยจะยิ่งเสียภาพลักษณ์ความชอบธรรมมากขึ้น เลยผิดแผนทั้งหมด การจัดตั้งรัฐบาลอาจนำไปสู่สูตรส่งไม้ต่อให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ขณะนี้เรายังไม่มีรัฐบาล การต่อรองไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่มบางก้อนมาจับมือกับพรรคเพื่อไทย อย่างบางกลุ่มของพรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องมากันทั้งพรรค ตรงนั้นพรรคเพื่อไทยจะต่อรองอย่างไร เมื่อมากันทั้งพรรค ก็ต้องตัดกระทรวงใหญ่ๆ ให้ สุดท้ายจะไม่เหลืออะไร เป็นเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถควบคุมรัฐมนตรีของพรรคอื่นได้

นี่คือเกมอันตรายมากๆ ของพรรคเพื่อไทย คิดว่าการต่อรองแบบข้ามขั้วจะง่ายๆ มากกว่า การต่อรองกับพรรคก้าวไกลถือว่าง่ายที่สุดแล้ว เพียงแค่จะยากตรงที่จะได้เสียงจาก ส.ว. เพราะฉะนั้นถ้าไปข้ามขั้วคราวนี้ อาจจะยากทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและยากทั้ง ส.ว. เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากจริงๆ

ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธ์ุ
คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ตั้งแต่การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใหญ่จะเห็นว่าประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ไม่เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น แม้กลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ตาม จึงเป็นแรงกดดันสำคัญทำให้เกิดความผันผวนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความคิดและความรู้สึกของประชาชนมาก เนื่องจากทุกเจเนอเรชั่นสามารถเข้าถึงและเลือกเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อโซเชียลได้หลายช่องทาง

ในแง่ของพรรคการเมืองและกลไกรัฐสภา มีการตั้งคำถามเยอะมากว่ากลไกของระบบรัฐสภาตามครรลองที่ควรจะเป็นควรเป็นอย่างไร เพราะเราเองก็ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองตอนนี้มีลักษณะการต่อรองกันมาก ประเด็นที่ถกเถียงกันเกิดขึ้นมากมาย การรวมขั้วและการสลายขั้ว ความผันผวนทั้งหมดเกิดขึ้นจากการต่อรองของอำนาจทางการเมืองในระบบรัฐสภา

ปัจจัยสำคัญที่จะสามารถสร้างข้อสรุปได้ คือผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มหรือผลประโยชน์ของพรรคการเมือง แต่การยอมรับของประชาชนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย ทำให้การต่อรองครั้งนี้เกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศ ความเชื่อมั่นทางการเมืองและเศรษฐกิจ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยกลุ่มคนในสภา ภาวะของการยื้อยุดระหว่าง ส.ว.และ ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง อาจนำไปสู่ความ ขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

คำถามต่อเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ใครรอได้บ้าง หากมองในแง่ ส.ส.และ ส.ว.ที่ยังต่อรองอำนาจ ประเทศชาติและประชาชนจะรอได้หรือไม่ เพราะมีหลายประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และตัวบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับมา ก็เป็นตัวแปรสำคัญ เกิดความไม่แน่นอน ดังนั้นการเกิดขึ้นของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง

สูตรการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุด การข้ามขั้วและการฉีกเอ็มโอยูของพรรคเพื่อไทย ทำให้เห็นภาพว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องไปจับมือกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่สุดแล้วเมื่อดูจากจำนวนของ ส.ส.ที่จะยกมือสนับสนุน ก็ยังต้องอิงกับ ส.ว. สื่อต่างๆ ก็แสดงให้เห็นภาพอยู่แล้ว และมองออกว่าอำนาจต่อรองไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่อยู่ที่ ส.ว.และพรรคการเมืองอื่นๆ นอกเหนือจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แม้จะได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล

ประเด็นที่เกิดขึ้นเวลานี้ พรรคเพื่อไทยจะสามารถประสานผลประโยชน์ได้ลงตัวหรือไม่ เพื่อทำให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้ กลายเป็นว่าเป้าหมายของรัฐสภาเวลานี้ คือใครจะได้เป็นรัฐบาล มากกว่าเป้าหมายว่านายกฯจะเป็นใคร แล้วใครคือผู้ที่จะประสานผลประโยชน์ทั้งหมดได้

หากศึกษาระบบการเลือกตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจะเห็นว่า พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหากไม่ใช่พรรคอันดับ 1 ก็เป็นพรรคอันดับ 3 ในอดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่ได้เปรียบและได้โอกาสร่วมรัฐบาล หรือมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี คือพรรคอันดับ 1 หรืออันดับ 2 แต่จริงๆ พรรคที่ได้เปรียบคือพรรคอันดับ 3 หรือพรรคขนาดกลาง ณ วันนี้เป็นปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เขย่าการเมืองค่อนข้างมาก หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. เพราะภาพของพรรคอันดับ 1 และ 2 อาจจะไม่สำคัญเท่าพรรคอันดับ 3 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าชนะเลือกตั้งได้คะแนนมาก แต่เป็นพรรคที่สามารถประสานผลประโยชน์กับพรรคอื่นๆ ได้ เพราะครั้งนี้เสียงของ ส.ว.กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พรรคอันดับ 3 มีโอกาสต่อรองได้มาก ว่าไปก็อาจเป็นตาอยู่ที่ได้เปรียบจากการฉีกเอ็มโอยูระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

การวิเคราะห์ว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะประสานผลประโยชน์ได้ในการจัดตั้งรัฐบาล อาจไม่ถูกใจและเป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวังก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความลักลั่นในการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ราบรื่นและไม่สงบ กติกาการเลือกตั้งพลิก พรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล จะเกิดการคำถามขึ้นว่ารับได้หรือไม่ หากพรรคที่ไม่ชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล โดยกลไกของ ส.ว. เป็นโจทย์ที่แปลกในกระบวนการประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมเพิ่มมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image