เสียงทัก ‘รบ.รักษาการ’ เบรกโยกย้าย ‘บิ๊กข้าราชการ’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการและอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอรัฐบาลรักษาการรักษามารยาทหยุดแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่จะมีผลต่อการดำเนินนโยบาย ให้รอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร

จารุพล เรืองสุวรรณ
อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ตามมารยาทพื้นฐานแล้ว รัฐบาลรักษาการก็ไม่ควรที่จะมีการแต่งตั้งโยกย้ายอะไร ถ้าดูตามตัวบทกฎหมายรัฐบาลรักษาการจะมีข้อจำกัดต่ออำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ในขณะที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะมีการทำงานเป็นรูทีน

แต่เราเข้าใจ ด้วยเงื่อนไขเรื่องระยะเวลา ช่วงนี้เป็นเดือนสิงหาคม จะกันยายนแล้ว คือ 30 กันยายน ข้าราชการจำนวนมากก็จะต้องมีการเกษียณ แล้วขึ้นปีงบประมาณใหม่ มองว่ามันมีความจำเป็นในบางมุมที่อาจจะต้องเตรียมดำเนินการเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ก็ควรที่จะจัดตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ทันการโยกย้ายต่างๆ

Advertisement

หากพูดเรื่องมารยาททางการเมือง มองว่าด้วยบทบาทของรัฐบาลรักษาการ ตามมารยาทแล้วก็ควรที่จะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่รัฐบาลรักษาการจะมีหน้าที่ในการทำงานที่เป็นรูทีน จึงอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องทำ แต่มองว่าเรื่องนี้การที่พรรคเพื่อไทยติงไป อย่างไรก็ไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องของมารยาทระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ ที่จะมีการเปลี่ยนผ่านที่มีวิถีปฏิบัติกันอยู่แล้ว

วันนี้ทางฝั่งของการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องรีบเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้ามันเลยช่วงระยะเวลานี้ไปอีก ก็แน่นอนว่าทางรัฐบาลรักษาการเขาต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะกำลังจะมีการเกษียณอายุข้าราชการมากมาย ที่จะเกิดความยุ่งยากตามมา ทั้งสองทางก็ต้องช่วยกัน เพราะรัฐบาลรักษาการจะทำงานเป็นรูทีน “รักษาการ” ตามชื่อ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการริเริ่ม หรือทำอะไรใหม่ๆ

ที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบทุกวันนี้ โดยส่วนมากแล้วรัฐบาลรักษาการอยู่กันไม่ได้นาน รักษาการในช่วงที่มีการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ก็จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา หากเราย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ไม่ได้นานอะไรขนาดนี้ มันไม่เคยมีเหตุการณ์ที่มีปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้มากนัก แต่ครั้งนี้เราใช้เวลากันค่อนข้างนานพอสมควร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราต้องเข้าใจว่างานบริหารบ้านเมืองไม่สามารถที่จะหยุดได้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้มีรัฐบาลรักษาการ เพื่อให้ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านจะยังมีคนที่บริหารงานชั่วคราวอยู่ ต้องบอกว่า
ที่ผ่านมา เราไม่ได้มีช่องว่างในการตั้งรัฐบาลนานมากนัก แต่วันนี้ใช้เวลาในการตั้งรัฐบาลนานพอสมควร นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเมืองในปัจจุบันของเรา ตอนนี้ก็ต้องรีบเร่งรัดจัดตั้งรัฐบาล
ตรงนี้ให้เสร็จ

Advertisement

โดยปกติเมื่อการเลือกตั้งเสร็จแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลตามหลักการแล้ว ก็ควรจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเป็นไปตามผลการเลือกตั้ง
เพื่อดำเนินนโยบายใหม่ๆ ของคนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นการดำเนินงานของรัฐในการตัดสินใจ ในการใช้อำนาจ ในเรื่องของงบประมาณต่างๆ ก็จะถูกชะลอไปด้วย ตอนนี้มันเหมือนการหยุดชั่วคราวของบ้านเมือง ถ้ายิ่งจัดตั้งได้เร็วก็จะยิ่งเดินต่อได้เร็ว

หากมองเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในช่วงนี้ มองได้ 2 ทางคือ ในมิติของการเมือง หรือมองในมุมวิชาการ มุมหนึ่งก็มองได้ว่าเป็นงานรูทีน ต้องเซ็นเอกสารที่จำเป็นจะต้องทำ เช่น การเกษียณ จำเป็นต้องมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย แต่เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลรักษาการเป็นคนตัดสินใจ แน่นอนเรื่องนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งคนที่เติบโตในสายงาน ก็คงจะต้องมีคนที่เติบโตด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวตามที่ประเทศไทยเราเป็นกันมา ตามระบบอุปถัมภ์

ฉะนั้นแล้ว มันมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์อะไรต่ออะไรกัน มันเป็นไปได้หมด ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเฉพาะรัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว เป็นเรื่องที่เป็นกันมานานแล้ว แต่เรื่องการดำเนินงานดังกล่าว ตามหลักแล้วก็ควรจะต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาเป็นคนจัดการ

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

กรณีพรรคเพื่อไทยออกมากระตุ้นรัฐบาลรักษาการให้มีมารยาทและห้ามโยกย้ายข้าราชการ เพื่อความต่อเนื่องการทำงานรัฐบาลใหม่ ต้องดูว่าเป็นการโยกย้ายข้าราชการระดับไหน ถ้าเป็นข้าราชการระดับสูง อาทิ ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือระดับ 10 ขึ้นไป รัฐบาลรักษาการไม่ควรแต่งตั้งโยกย้ายใดๆ เพราะมีอำนาจสั่งการและขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล

ดังนั้นควรรอ หรือให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้แต่งตั้งโยกย้ายดีกว่า เพื่อสานต่อและขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล หรือนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้

กรณีข้าราชการระดับสูง เกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายนนี้ รัฐบาลเดิมอาจแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดมารักษาการแทนไปก่อน จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ค่อยตั้งแต่งอย่างเป็นทางการหรือแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมมาทำหน้าที่ เพื่อประสานการทำงาน และตอบสนองนโยบายรัฐมนตรี หรือเจ้ากระทรวงได้ ส่วนการแต่งตั้งโยกย้าย หรือเลื่อนระดับข้าราชการ ตั้งแต่ระดับ 8 ลงมา รัฐบาลเดิมสามารถทำได้ เพราะเป็นไปตามวาระเพื่อความเหมาะกับ
ผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว เนื่องจากมีอำนาจสั่งการ หรือบังคับบัญชาในสายงานระดับผู้อำนวยการ ทั้งระดับต้นและระดับกลางเท่านั้น จึงไม่มีผลต่อนโยบาย หรือการตอบสนองเจ้ากระทรวงมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นระดับปฏิบัติการหรือชำนาญการ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งการโดยตรง จึงไม่ส่งผลต่อรัฐบาลมากนัก

กรณีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน หากมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงต้องคำนึงถึงความอาวุโส ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และยืดหยุ่นทางการเมืองได้ ไม่ใช่เลือกแต่พวกพ้องและเด็กเส้นเท่านั้น ที่สำคัญไม่ควรแต่งตั้งโยกย้ายแบบข้ามห้วย เพราะทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงความโปร่งใสของรัฐบาลได้ ถ้าแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป อาทิ อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจคัดเลือกหรือสรรหาจากต้นสังกัดเดิม ที่มีคุณสมบัติ 3-4 คน โดยให้อำนาจรัฐมนตรี หรือเจ้ากระทรวง พิจารณาเอง เพื่อได้บุคคลที่สามารถตอบสนองความต้องการ หรือตอบโจทย์นโยบายได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน และประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายมากที่สุด

ถ้ารัฐบาลรักษาการต้องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบและรับรองก่อน สังเกตมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แต่งตั้งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คนใหม่ แต่ กกต.ยังไม่เห็นชอบและให้รอรัฐบาลใหม่เป็นผู้เห็นชอบและแต่งตั้งเองดีกว่า เพื่อความเหมาะสม และป้องกันการร้องเรียนภายหลังได้

กรณีรัฐบาลใหม่ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองได้ แต่เชื่อว่ากรณีดังกล่าวมีน้อยมาก เพราะข้าราชการส่วนใหญ่จะรู้เส้นทางชีวิตรับราชการอยู่แล้ว ต้องทำอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย หรือจุดสูงสุดในชีวิต จึงไม่ค่อยมีปัญหาดังกล่าวมากนัก ซึ่งพรรค พท.ขอเวลาตั้งรัฐบาล 1-2 เดือน

ข้าราชการระดับสูงควรจัดทำแผนโครงการรองรับ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลใหม่ดีกว่า เสียเวลาไปวิ่งเต้นโยกย้าย เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร ขณะเดียวกัน ข้าราชการส่วนใหญ่เติบโตมาตามเส้นทางราชการ 80% มาจากฝ่ายการเมือง หรือระบบอุปถัมภ์ 20% อาทิ บางท่านเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดเล็ก รอขึ้นเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดใหญ่ หรือเป็นรองผู้ว่าฯ จังหวัดใหญ่ รอขึ้นเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดเล็ก ต่างต้องมีผลงานและสนองนโยบายรัฐบาลได้ ดังนั้น ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ไม่ต้องห่วงกังวลอะไร รอเวลาแต่งตั้งโยกย้ายเท่านั้น ถ้าตั้งรัฐบาลแล้ว สถานการณ์การเมืองนิ่ง เชื่อว่าฤดูแต่งตั้งโยกย้ายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาเตือนรัฐบาลรักษาการในการใช้อำนาจแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งปลัดกระทรวง รวมทั้งอธิบดี ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ โดยแนะนำว่ารัฐบาลรักษาการต้องมีมารยาท อย่ารีบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงให้รอรัฐบาลชุดใหม่มาดำเนินการ จะมีนัยยะต่อการเมืองหรือไม่นั้น

ปกติรัฐบาลรักษาการไม่สามารถแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการได้ เว้นแต่เพียงว่าจะได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169(2) กำหนดไว้ว่าไม่สามารถแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

รัฐบาลรักษาการต้องดูถึงความจำเป็นว่าสมควรที่จะกระทำหรือไม่ โดยปกติจะมีกระบวนการขั้นตอนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้

ขณะที่ตามกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลรักษาการแต่งตั้งข้าราชการได้ แต่ต้องให้ กกต.เป็นผู้อนุมัติ ในอดีตรัฐบาลรักษาการมีการแต่งตั้งข้าราชการและให้ กกต.อนุมัติบ้างหรือไม่

มีอยู่ตลอด เพราะสมัยที่ผมเป็น กกต. ก็มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยมีการส่งเรื่องมายัง กกต. เพราะมีเหตุจำเป็นต้องดำเนินการ ซึ่งทาง กกต.ก็ต้องพิจารณาตามเหตุและผล

ส่วนตามหลักการและความเหมาะสมนั้น รัฐบาลรักษาการควรมีแนวทางปฏิบัติการแต่งตั้งข้าราชการอย่างไร เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่ามีการแต่งตั้งข้าราชการทิ้งทวนให้กับตัวเองนั้น ปกติแล้วจะมีกรอบของการดำเนินการว่าฝ่ายข้าราชการการเมืองสามารถดำเนินการได้ในระดับใด หากมีตำแหน่งระดับล่างตั้งแต่อธิบดีลงไป จะเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงในการดูแล

จึงอยู่ที่ดุลพินิจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะยึดหลักการและเหตุผลใดมาประกอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในช่วงรัฐบาลรักษาการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image