‘เศรษฐา’ เดินสายรับฟัง โชว์รัฐบาลติดดิน เรียกเชื่อมั่น

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินสายพบปะรับฟังความเห็นกลุ่มต่างๆ เพื่อปรับใช้กับนโยบายของรัฐบาล

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เดินสายลงพื้นที่พบปะประชาชน มองว่าเป็นการพยายามทำให้คนได้เห็นภาพการเป็นตัวหลักของรัฐบาล เพื่อทำให้เห็นว่าเป็นผู้นำของรัฐบาลตัวจริง เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมือนตัวเชิด ซึ่งเป็นการทำให้เห็นภาพว่าเขาคือตัวจริง คือคงจะเห็นตอนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เดินทางลงพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวส่งผลในทางบวกไม่ใช่ในทางลบแน่

เมื่อมองภาพการนั่งโต๊ะอาหารร่วมพูดคุยกับทางกองทัพแล้ว ส่วนตัวมองว่าอย่าเพิ่งไปคิดอะไรมากมาย เป็นการที่ฝ่ายนี้พยายามไปคุมกระทรวงกลาโหม ซึ่งเรื่องการลดงบประมาณของกองทัพมีความเป็นไปได้มาก เพราะพรรคคงรู้ว่านี่คือจุดที่ประชาชนจ้องอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่แน่ใจว่าลักษณะของพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล พวกทหารคงไม่คิดว่าการซื้ออาวุธเป็นเรื่องหลัก เป็นเรื่องง่าย ไม่เหมือนกับรัฐบาลชุดที่แล้วที่เน้นด้านความมั่นคง

Advertisement

การลดการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะลดได้มากน้อยเพียงใดต้องเป็นไปตามการพูดคุย แต่ต้องรอดูด้วยว่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลได้ตั้งใจไว้หรือไม่ ซึ่งการที่มีพลเรือนอย่าง นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นการจัดแบบนี้ขึ้นมา จากที่ปกติอาจจะต้องฟังจากทางกองทัพว่าจะเอาใคร เหมือนอย่างกองทัพเคยบอกว่าต้องเอานายกฯมานั่งเอง อะไรทำนองนี้

แต่วันนี้ก็ออกมาในลักษณะของการไม่ฟังเสียงกองทัพเท่าไหร่ มีการตั้งมาจากพรรคการเมืองมากกว่า ยังไม่ทราบว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาก็มักจะคุมกองทัพไม่สำเร็จ การคุมไม่สำเร็จในที่นี้ไม่ได้แปลว่าไปยอมเข้าเสียทั้งหมด เพราะกองทัพเจอรัฐบาลที่อาจจะไม่ได้ดั่งใจ เหมือนนายกฯที่มาจากทหาร ที่พูดกันรู้เรื่องกว่า แตกต่างจากนายกฯที่มาจากพลเรือน ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่ม อย่าเพิ่งคิดไกล ยังต้องทำงานด้วยกัน ต้องฟังการแถลงนโยบายก่อนถึงจะเริ่ม เริ่มไปแล้วถึงจะต้องมาคอยดูผล อย่าเพิ่งมองโลกในแง่ร้าย หรือคิดว่าการเมืองจะเดินไปทางนั้น

ตอนนี้ต้องรอเข้าไปทำงานก่อน อย่าไปจับว่าจะต้องทะเลาะกันแน่ๆ แย้งกันแน่ๆ ตอนนี้ยังไม่ทันได้เริ่มเลย หากจะมองแนวทางว่าประเทศจะไปทางไหน ตอนนี้ยังมองได้ เพราะยังมีแค่นายกฯเศรษฐา
ขยับแค่คนเดียว คนอื่นยังไม่ขยับ

Advertisement

ด้านบุคลิกที่ถูกวิจารณ์กรณีขว้างปากกา ส่วนตัวเห็นว่าเป็นธรรมดา ผมก็เคยขว้างบ่อย เวลาขูดๆ แล้วไม่ออก อย่างว่าพอเป็นนายกฯขว้างมันก็มีเรื่องไง ถูกเพ่งเล็งอิริยาบถ นายกฯเผลอไม่ได้ จะมานั่งหลับในที่ประชุม ถูกจับตามองแล้ว อันนี้ก็เป็นกิริยาที่ไม่น่าทำขึ้นมา แต่ปกติเราก็เป็นบ่อยเวลาปากกาเขียนไม่ออก เขาก็ออกมาขอโทษและจะระวังมากขึ้น แต่คิดว่าเป็นธรรมชาติของคนที่หงุดหงิด บางทีปากกาใหม่ขูดไม่ออกก็มี ยิ่งปากกาเตรียมให้นายกฯทั้งทีกลับขีดไม่ได้ เป็นไปได้อย่างไร

ธเนศวร์ เจริญเมือง
ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

การเดินสายพบปะกลุ่มต่างๆ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาและข้อเสนอก่อนการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีปลายสัปดาห์นี้ ถือเป็นเรื่องถูกต้องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องรับฟังเสียงจากประชาชน

ฉะนั้น การเดินสายของนายเศรษฐาจึงพารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจากพรรคต่างๆ ลงพื้นที่ด้วย เพื่อรับฟังเสียงความเดือดร้อนจากภาคส่วนต่างๆ ขณะเดียวกันต้องรวบรวมนโยบายของพรรคต่างๆ ที่หาเสียงไว้มาพิจารณาร่วมกันว่ามีนโยบายใดที่ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน และมีนโยบายใดใกล้เคียงกัน สามารถขับเคลื่อนร่วมกันได้ เพราะ ครม.จะต้องแถลงนโยบายต่อสภาก่อนเริ่มทำงาน

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปหลังจากนี้คือ เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาจะตรงกับประเด็นปัญหาที่ภาคส่วนต่างๆ เสนอหรือไม่ และมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร ตามระบอบประชาธิปไตยนอกจากกลไกการตรวจสอบโดย ส.ส.ฝ่ายค้าน ภาคประชาชนก็รอตรวจสอบอยู่เช่นกันว่ารู้สึกอย่างไรกับนโยบายที่รัฐบาลแถลง ตรงประเด็นหรือไม่ และมีข้อเสนอเพิ่มเติมอะไรให้รัฐบาลนำไปพิจารณาเพิ่มเติมก่อนเริ่มทำงาน เมื่อรัฐบาลเริ่มต้นทำงาน ด้านหนึ่งก็ต้องทำตามนโยบาย แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเงี่ยหูฟังเสียงจากประชาชนด้วย

ในฐานะของประชาชนคนหนึ่งต้องติดตามการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา 1 อย่างสนใจและระมัดระวัง เพราะในช่วงการหาเสียง ทั้งนายเศรษฐาและ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เข้าร่วมเวทีดีเบตเลือกตั้งเลยแม้แต่เวทีเดียว เพราะพรรคเน้นหนักการหาเสียงชี้แจงนโยบายให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้งภาคอีสานที่การต่อสู้รุนแรง แต่ถือเป็นข้อดี เพราะหลังการหาเสียงเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็เดินสายรับฟังปัญหาจากประชาชนเพิ่มเติม เพื่อนำมาผนวกกับนโยบายแต่ละข้อของพรรค

ส่วนความคาดหวังต่อนโยบายและผลงานของรัฐบาลเศรษฐา 1 ว่าจะแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติและประชาชนได้หรือไม่นั้นต้องรอฟังการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของรัฐบาลก่อน ยอมรับว่าบรรยากาศในช่วงเริ่มต้นนี้ค่อนข้างเงียบ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้เริ่มทำงานจริงจัง จึงต้องให้เวลารัฐบาลได้ทำงานสักระยะก่อนจึงจะวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ได้ แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนและทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้แน่นอน ทั้งการแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่สะสมมานาน

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การลงจากหอคอยงาช้างของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อลงมารับฟังสภาพปัญหา หรือความต้องการของผู้คนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้การทำงานอยู่บนพื้นฐานของสภาพการณ์ที่เป็นจริงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของนายเศรษฐา เพราะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาความยากจนโดยคนที่ไม่เคยจนอย่างนายเศรษฐาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัญหาใหญ่ของคนที่รวยอยู่แล้วคือไม่รู้ว่าปัญหาของคนจนคืออะไร และนั่นจึงเป็นปัญหาของคนที่มีปัญหา คือไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไร การพาตัวเองลงไปสัมผัสปัญหา และดึงภาคส่วนต่างๆ ในฐานะผู้ถูกพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งโจทย์ หรือร่วมตั้งคำถามในการพัฒนาไปด้วยกันจึงถือว่าเป็นการมาถูกทาง ซึ่งภาพการยึดโยงกับประชาชน หรือภาพนายกรัฐมนตรีติดดิน หรือเข้าถึงง่ายไร้กำแพงกั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่นายกฯต้องเร่งสร้างให้เป็นภาพจำของประชาชน

และหากมองย้อนกลับไปถึงปัญหาใหญ่ที่สุดของพรรคเพื่อไทยคือวิกฤตศรัทธาจากประชาชนในช่วงจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงความเคลือบแคลงต่อมาตรฐานด้านกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวโยงพรรคเพื่อไทยเข้าไว้กับนายทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วโฉมหน้ารัฐมนตรีที่ปรากฏขึ้นมาก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่ประชาชนเบื่อหน่ายจากรัฐบาลเก่า ดังนั้น นายเศรษฐาจึงอยู่ในที่นั่งที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำงานทันที ซึ่งการทำงานหนักและขับเคลื่อนนโยบายที่เข้าถึงตัวประชาชนได้รวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะนโยบายปากท้องจึงน่าจะเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยจะต้องนำมาขับเคลื่อนให้เร็วที่สุดเพื่อแก้วิกฤตศรัทธา ซึ่งภาพการพบปะกลุ่มต่างๆ โดยนายเศรษฐาที่มาพร้อมกับเจ้ากระทรวงจึงถือว่าเป็นการสื่อสารภาพลักษณ์ในเชิงบวกได้เป็นอย่างดี และหากนำไปเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์จะทำให้เห็นความแตกต่าง

อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับฟังเสียงประชาชนผู้สัมผัสปัญหาแม้ต้องการจะสร้างภาพจำใหม่แต่ควรจัดทำเป็นระบบ มีหลักการ โดยอาจมีตัวแทนของกลุ่มปัญหาต่างๆ โดยอาจแบ่งกลุ่ม หรือคลัสเตอร์ ซึ่งการมีนายกรัฐมนตรีของประเทศนั่งรับฟังปัญหาด้วยตนเองในเวทีชาวบ้าน ให้เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยได้อยู่บนเวที แล้วจัดหมวดหมู่ปัญหาและนำไปจัดทำนโยบายรัฐบาล จะทำให้ปัญหานั้นแก้ไขได้ผลที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ผ่านการหาเสียงมาแล้วที่ส่งผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังมีการนำเงินจำนวนมากมาใช้ เช่น เงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท อาจต้องใช้งบประมาณมากถึง 5 แสนล้าน ในขณะที่ประเทศไทยมีงบประมาณเหลือเพียง 9 แสนล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะนี่อาจผลักนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยไปอยู่ในจุดที่เคยถูกกล่าวหาในอดีต คือ รัฐบาลประชานิยม ประกาศนโยบายที่ขาดความรับผิดชอบในนโยบาย และอาจนำพาประเทศไปสู่วังวนแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image