นานาทัศนะ ‘แก้รธน.’ ใช้สภาดึงทุกฝ่ายร่วมดีไซน์

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ดึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น และใช้เวทีรัฐสภาหารือแนวทางรูปแบบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

กรณีที่พรรคเพื่อไทยมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญ มีผลมาจากพรรคเพื่อไทยได้ให้สัญญากับประชาชน ช่วงที่ข้ามขั้วมาจับมือกับฝ่ายอนุรักษนิยมในการจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องผลักดันให้มีประชามติในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่การเข้ามาในครั้งนี้มองว่าเป็นการยื้อเวลา ทำให้สะท้อนกลับไปที่พรรคเพื่อไทย เพราะการจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เพราะได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจเก่าอยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี’60 มองว่าท่าทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนกับการที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นก่อนจัดตั้งรัฐบาล

ตอนนั้นเหมือนกับจะเอาจริงเอาจัง แต่พอจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว พยายามยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป เพราะว่าเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่า ที่ได้ผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญปี’60 จึงมีวิธีการเดียวที่นายภูมิธรรมจะต้องทำ คือการยื้อเวลาในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะลงประชามติ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ต้องมีก็ได้

Advertisement

ส่วนการจะต้องเปิดเวทีรัฐสภาสอบถามความคิดเห็นก่อน ผมมองว่าเป็นเกมการเมืองของนายภูมิธรรม เพราะการที่จะต้องทำการศึกษา หรือลงมติในการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถสอบถามประชาชนได้เลยว่าจะแก้ไขจุดไหนอย่างไร เพื่อประโยชน์ เพื่อความมั่นคง เพื่อเสถียรภาพทางการเมือง การที่ไปถามสภาก่อน ทั้งที่รู้ดีว่าเสียงข้างมากในสภาจะไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะคะแนนเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 99.99 ได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญปี’60 หรือพูดง่ายๆ ใช้กระบวนการทางสภาไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา คงไม่เห็นด้วยแน่นอน

ส่งผลให้น้ำหนักในการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญน้อยลงทันที ประชาชนส่วนใหญ่เห็นการพิจารณาในสภาเสียงข้างมากก็อาจจะมีความคิดเห็นคล้อยกันว่าไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่คือวิธีการและชั้นเชิงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย จะประวิงเวลา หรือเปลี่ยนวิธีการที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ใช้วิธีการเหมือนกับว่ามีประชาธิปไตย นี่คือการปรับเปลี่ยนจุดยืนหลังการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

การที่ให้ประชาชนไปลงมติครั้งสุดท้าย หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเอาสภาเป็นเครื่องมือ เพื่อไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ หรือทำให้ช้าที่สุด โดยใช้เสียงข้างมากในสภา รวมทั้ง ส.ว.ก็ให้การสนับสนุนอีกด้วย ทำให้มีเสียงข้างมากในรัฐสภา หรือกล่าวง่ายๆ โน้มน้าวประชาชนผ่านสภา นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี’60 ยังเป็นตัวบังคับให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากมากขึ้น เพราะกำหนดไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้ง ส.ส.และ ส.ว.

Advertisement

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือประมาณ 80 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นการวางกลยุทธ์ทางการเมืองของนายภูมิธรรม โยนปัญหาไปให้สภา เพราะมีโอกาสสูงมากที่สภาจะไม่ให้ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีผลพวงมาจากกลุ่มอำนาจเก่าอยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญปี’60 ที่เป็นกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอำนาจเก่า หรือชนชั้นนำ จึงไม่มีทางที่จะทำลายผลประโยชน์ของตัวเอง

การจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถือว่าไม่มีโอกาสเลย เพราะการกำหนดวิธีการของนายภูมิธรรม เหมือนกับจะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่วิธีการมีการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจก็ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และศึกษาความเป็นไปได้จากประชาชนโดยตรงก็ได้ ถือว่าจบ

แต่วิธีการที่นายภูมิธรรมเสนอมานั้นจะเห็นว่าช้าและยืดเยื้อ สุดท้ายก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเจตนาของรัฐบาลไม่เหมือนเดิมเหมือนที่กล่าวมา และจะใช้วิธีการยื้อในการแก้รัฐธรรมนูญให้นานที่สุด อ้างว่าจะต้องมีความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกรัฐสภา ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ซึ่งโดยหลักการถือว่าแก้ยากมาก โดยใช้วิธีการนำจุดแข็งที่แก้ไขยากไปใช้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้รัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ยิ่งแก้รัฐธรรมนูญยากขึ้นไปใหญ่

นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ให้ยื้อการแก้รัฐธรรมนูญให้นานที่สุด อะไรที่สนับสนุนการยื้อก็ต้องทำทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ ใช้เวลาเป็นปี ซึ่งเป็นปัญหากับประชาชนที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด แม้กระทั่งไอลอว์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนประมาณ 2 แสนคน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นปัญหาเหมือนกัน ระหว่างเจตจำนงความต้องการของประชาชนกับชั้นเชิงทางการเมืองของนักการเมือง

ขณะนี้ทางไอลอร์เสนอรายชื่อ 2 แสนกว่าคนให้ทาง กกต.ตรวจสอบรายชื่อแล้ว หลังจากนั้นจะขอแก้รัฐธรรมนูญจากรายชื่อประชาชนกว่า 2 แสนคน เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ

หากถามว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไหมที่จะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจกล่าวได้ว่ามีโอกาสตามกระบวนการ แต่สุดท้ายก็ต้องนำเข้าสู่สภาพิจารณา ก็ต้องใช้เสียงข้างมากโดยเห็นพ้องต้องกันทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ก็จะไม่ง่ายเช่นเดียวกัน หากดูแล้วรัฐบาลไม่พยายามจะติดกระดุมเม็ดแรก คือไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องกล่าวว่าจะเอามาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมาปรับใช้ เหมือนจะติดกระดุมเม็ดแรก แต่ไม่ติดกระดุม หรือไม่ยอมให้เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ

มุมมองของผมในการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดพลังทางสังคมกดดันรัฐบาล ประกอบกับ ส.ว.หมดอายุในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2567 บวกกับมีจุดอ่อนในการบริหารงานของรัฐบาล หากเกิดพลังทางสังคมกดดัน พรรคการเมืองต้องตัดสินใจเร่งแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อรักษารัฐบาลเอาไว้ และฐานคะแนนนิยมทางการเมือง อาจจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

แต่สถานการณ์ขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญคงเป็นไปได้ยาก หรือหาก ส.ว.หมดวาระ และยังไม่ชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลอาจจะหาทางออกโดยตั้ง ส.ส.ร.เพื่อรักษาสถานะทางการเมืองของตัวเอง ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ผมก็มองว่ายาก เพราะต้องใช้พลังทางสังคมค่อนข้างมากในการกดดันรัฐบาล

ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

ประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นหลักของพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำของรัฐบาลอยู่แล้ว อยู่ในแถลงการณ์ครั้งแรก หลังจากฉีกเอ็มโอยูกับพรรคก้าวไกล บอกว่าจะต้องมีมติตั้งแต่ครั้งแรกในการประชุมคณะรัฐมนตรีแต่แรกเลยที่จะตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้เห็นการแถลงนโยบายของรัฐบาล แทบจะไม่เห็นความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย เพราะไม่มีการระบุเกี่ยวกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือที่มาของ ส.ส.ร. รวมถึงเนื้อหาที่จะแก้ไขก็ยังมีความไม่ชัดเจน เพราะระบุเพียงว่าจะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เท่านั้น อันนี้คือความไม่ชัดเจนในลำดับที่ 1 คือตัวแถลงนโยบาย

ลำดับที่ 2 คือหลังจากมีมติของคณะรัฐมนตรีหลังจากการประชุมในครั้งที่แล้ว จะพบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกขับเคลื่อนต่อ เพราะมติ ครม.ดังกล่าวดำเนินการเพียงการตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวผมมองว่าเป็นกระบวนการที่ช้าเกินไปและไม่จำเป็น ผมเห็นว่าการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะเด็ดน้ำมาหลายครั้งแล้ว เรามีการศึกษาจำนวนมาก เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่าจะไปทิศทางไหน มีปัญหาอะไร แล้วเราจะต้องแก้ไขเรื่องอะไร ข้อมูลเต็มไปหมด

ด้วยเหตุเช่นนี้ ตามมติ ครม.แค่ให้เริ่มมีการศึกษา ผมมองว่าช้าเกินไปและไม่ตรงจุด ผมเห็นว่าในเชิงรายละเอียดก็คุยกันได้ว่าจะแก้ไขประเด็นไหนได้ แต่อันดับแรกที่รัฐบาลจะต้องทำ คือต้องเสนอให้ทำประชามติแก้ไขมาตราแก้รัฐธรรมนูญแค่มาตรานี้มาตราเดียวก่อน เพื่อเปิดประตูให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แม้ว่าจะไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ก็ตาม แต่ในรายละเอียดเราต้องแก้ในหลายส่วน จะมาแก้ในรายมาตราไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องตัดสินใจก่อนเลย ต้องทำมติแก้มาตราเดียว คือมาตราแก้ไขรัฐธรรมนูญตรงนี้เพื่อให้ปลดล็อก

เพราะปัจจุบันมาตราแก้ไขรัฐธรรมนูญมันยากเหลือเกิน ต้องได้เสียงสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ต้องได้เสียงของหลายกลุ่มหลายฝ่ายจนแทบเหมือนจะแก้ไขไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอันดับแรกต้องทำตรงนี้เลย ไม่ต้องไปศึกษา ไม่ต้องไปหารือประเด็นการแก้ไขให้เรื่องพวกนี้มีการศึกษามาพอสมควรแล้ว และประเด็นดังกล่าวไปคุยกันต่อได้ ตอนมี ส.ส.ร. ปัญหาของเรา ณ ตอนนี้คือ ยังไม่มีประชามติเพื่อที่จะแก้ไขมาตราแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวเลย เพราะกระบวนการถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติอีก 2 ครั้ง แล้วถ้า ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งอีก ต้องเลือกอีก 1 ครั้ง สิริรวมทั้งหมดถ้าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไปลงคะแนนเสียงถึง 4 รอบ

เพราะฉะนั้นจะต้องเริ่มทำวันนี้ จะให้มาทิ้งเวลาในการตั้งกรรมการศึกษาไม่ได้แล้ว เวลา 4 รอบที่จะต้องดำเนินการคือรอบแรกจะต้องมีการแก้ไขตัวมาตรารัฐธรรมนูญหรือเปล่า รอบ 2 ก็คือทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รอบ 3 คือเลือก ส.ส.ร. แล้วรอบ 4 คือเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาก ส.ส.ร.

คิดง่ายๆ คือการลงคะแนน 4 รอบ เหมือนการเลือกตั้ง 4 รอบ กระบวนการต้องทิ้งระยะห่าง อย่างน้อย 6 เดือนถึง 10 เดือนอยู่แล้ว อาจจะต้องใช้เวลาทั้งสมัยของรัฐบาล แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่อยู่เต็มสมัย 4 ปีด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถ้านั่นคือเป้าหมายจริงๆ ของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ข้อกังวลของนักวิชาการหลายคนก็คือ สุดท้ายจะเหมือนเรากลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แก้ไขเฉพาะบางมาตรา คือแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง แก้เรื่องการยกเลิกไพรมารี ในการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักการเมืองในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ไม่ได้แก้ที่หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย การกระจาย อำนาจ หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็มีความกังวลว่าผลสุดท้ายแล้ว ถ้าขั้นตอนที่นานเกินไปจริงๆ นักการเมืองจะตัดตอนจะแก้ไขเพียงรายมาตราเท่านั้น ที่ส่งผลกระทบหรือส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่คือข้อกังวล

ถ้าต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้พรุ่งนี้ รัฐบาลในมติ ครม.ต้องพร้อมเปิดให้ทำประชามติ รับฟังเสียงของประชาชนที่ให้ลงคะแนนประชามติพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ต้องตั้งกรรมการศึกษาแล้ว แต่เท่าที่เราเห็น ณ เวลานี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่า ที่มา ส.ส.ร.มาจากไหน จะต้องแก้ไขประเด็นไหนบ้าง ส่วนตัวผมขอย้ำเลยว่าไม่ต้องศึกษาแล้ว คนศึกษาไปเยอะแล้ว ตอนนี้เราต้องการรัฐบาลที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อรับฟังเสียงของประชาชนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีอำนาจในการตัดสินใจให้มีเสียงประชามตินั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image