วิเคราะห์น้ำเสียง ‘วิษณุ’ ติว ‘เศรษฐา’ – อุปสรรค ‘4 พี’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาเตือนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึงการบริหารประเทศจะเจออุปสรรค 4พี คือ พี1 Power อยากทำ แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ เหตุที่ไม่มีอำนาจเพราะติดข้อกฎหมาย พี2 Public budget อยากทำ มีอำนาจ แต่ติดที่งบประมาณ พี3 Personnel ติดที่บุคลากร อยากทำ แต่ไม่มีคนที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ และ พี4 Public opinion ติดที่ความเห็นประชาชน มีเงิน มีงบประมาณและมีอำนาจตามกฎหมายรวมถึงมีบุคลากร ที่จะทำ แต่ประชาชนยังไม่ยอมรับจึงยังทำไม่ได้

เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร

คำแนะนำนี้เป็นการมองในฐานะของคนที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบัน เพราะนายวิษณุเป็นคนร่างกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้เอง รู้ว่าเรื่องของเงื่อนไข การปรับเปลี่ยนการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่ จะติดปัญหาอย่างไร เพราะเป็นคนวางล็อกเอาไว้เอง หมายความว่า คำแนะนำนี้ หากพูดในเชิงการเมืองก็คือการปรามเอาไว้ก่อนถึงการพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างออกไปจากโครงสร้างเดิมที่ออกแบบไว้ พยายามชี้ให้เห็นว่าจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง รวมถึงชี้ให้เห็นว่าหากรัฐบาลนายเศรษฐาทำแบบนี้แล้วจะมีต้นทุนอะไรต้องจ่ายในเรื่องต่างๆ บ้าง

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงรัฐบาลปัจจุบันต้องมองสิ่งที่ให้เอาไว้ช่วงเลือกตั้งว่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักที่เข้ามาเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยควรทำอะไรบ้าง ก็ต้องยึดเจตนารมณ์ที่ประชาชนให้การรับรองไว้ หมายความว่าโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ แม้ว่าจะเป็นโครงสร้างที่เป็นอุปสรรค รัฐบาลควรปรับแก้ให้ดีขึ้น หากเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ไม่ใช่แค่ของคนที่ออกแบบเอาไว้เพราะเป็นการออกแบบภายใต้บริบทหนึ่ง แต่ตอนนี้บริบทเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ควรเอาการออกแบบในยุครัฐประหารขึ้นมาเป็นข้อผูกมัดต่อไปเรื่อยๆ

Advertisement

ส่วนข้อเสนอแนะประเด็นเรื่องปัญหาสำคัญอย่างกรณีบุคลากร ส่วนตัวมองว่าพรรคเพื่อไทยมีภาษีที่ดี ในแง่ของคนที่มีเครือข่ายความรู้ความสามารถด้วยตนเองและสามารถที่จะพึ่งพาได้จำนวนมาก ด้วยสิ่งที่เคยทำมาในอดีต พรรคเพื่อไทยมีต้นทุนที่จะสามารถหาคนมาช่วยงานได้ ฉะนั้นในแง่ของที่ปรึกษาที่มีความรู้ความสามารถก็สามารถคัดเลือกมาโดยที่ไม่ต้องไปกังวลเรื่องที่นายวิษณุพูดถึงการขาดบุคลากรที่มีความสามารถ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งประเทศ คนที่อยากจะมาเข้าร่วมก็น่าจะมี ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้เลย

สำหรับคำเตือนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงประมาณหนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกข้อครหาแบบยุคพรรคไทยรักไทย คือ เรื่องของการที่จะนำงบประมาณออกจากการตรวจสอบของสภาเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวประชาชนในระยะยาว

ฉะนั้นข้อท้วงติงของนายวิษณุควรรับฟังในแง่ที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างควรอยู่ภายใต้การตรวจสอบได้ แม้ต้องการให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางแผนไว้อย่างรวดเร็วก็จริง กล่าวคือ ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องของความเร่งด่วน รัฐบาลปัจจุบันต้องการขยายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว การที่มีเงินดิจิทัลวอลเล็ตลงไปตามที่วางแผนเอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นได้โดยทั่วประเทศ ให้เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือความเร่งด่วน แต่ภายใต้ความเร่งด่วนต้องมองเรื่องของต้นทุนที่ต้องผูกมัดในระยะยาว หากไม่ได้มีการอภิปรายที่กว้างขวางน่าจะเกิดผลเสียก็จะเป็นจุดด่างพร้อยของรัฐบาล เช่นเดียวกับสมัยที่พรรคเพื่อไทยเคยโดนในข้อหาคดีจำนำข้าว ถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนมาก แต่จะกลายเป็นจุดอ่อนที่อาจถูกใช้โจมตีพรรคในอนาคต หากไม่คิดรอบคอบรัดกุมในแง่กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล

Advertisement

วิธีคิดของนายเศรษฐามองในมุมเดียวกับผู้ประกอบการ คือ วิธีคิดแบบเสรีนิยม หากดูเรื่องของการปรับเปลี่ยนหากสามารถทำได้จริงตามการออกแบบก็น่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนในแง่ของการที่เป็นฉากหน้าของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารน้อย นอกจากประเด็นที่ว่าเอาพรรคร่วมรัฐบาลเดิมของคณะรัฐประหารที่มาในสมัยก่อนมาร่วมด้วย

นอกนั้นเป็นประเด็นที่ได้เปรียบรัฐบาลชุดก่อน จึงสามารถดึงนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งเป็นนักลงทุนใหญ่ที่มีชื่อเสียง ถามว่าจะสำเร็จหรือไม่นอกเหนือจากเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ควรพิจารณาเรื่องของการจัดสรร การกระจายให้เกิดความเท่าเทียมกันในมุมมองประชาชน เพราะประเทศไทยนั้นมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ต่อให้ทำให้เศรษฐกิจใหญ่ขึ้นแต่ถ้าโครงสร้างการจัดสรรเงินที่ได้มาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่กระจายสู่กระเป๋าของประชาชนจริงๆ ก็จะไม่น่ามีประโยชน์อะไรมากมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ประชาชนกินดีอยู่ดี

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ผมมองว่าในกรณีที่ติดด้วยกฎหมาย คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหลัก เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายใหม่ๆ ขึ้นมามาก แต่กระบวนการทั้งหมด สามารถทำได้ตามอำนาจของรัฐบาล แต่โครงสร้างของระบบราชการ จะเป็นอุปสรรคสำคัญบวกกับวิธีการในการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานของรัฐบาล จะใช้วิธีคิดแบบนักธุรกิจ โดยมีแนวทางการทำงานเพื่อประชาชน และมุ่งฐานคะแนนนิยมทางการเมืองให้ไวที่สุด แน่นอนอุปสรรคคือเรื่องกฎหมาย เพราะการทำงานในระบบราชการ จะต้องบริหารภายใต้กฎระเบียบ ข้อบังคับ ถ้าไม่ทำตามผู้ปฏิบัติจะมีความผิด เพราะฉะนั้นแนวทางในการทำงาน นโยบายรัฐบาลที่ต้องการความรวดเร็ว จะมาเจอปัญหาและวิธีการทำงานในระบบราชการ ซึ่งการแก้กฎหมายของรัฐบาล และหน่วยงานราชการ ทำได้ยากกว่ามิติของเอกชน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องเจอแน่นอน

แนวทางในการแก้ปัญหายอมรับว่ายากเหมือนกัน จึงต้องหาช่องว่างของกฎหมาย เพื่อให้การบริหารของรัฐบาล ดำเนินไปไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งดูได้จากการทำงานของรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะทำผิดกฎหมายสูง รัฐบาลก็รู้ดี แต่กระบวนการในการแก้กฎหมายถึงแม้ว่าจะเป็นทางออก แต่ต้องใช้เวลา พอเมื่อต้องใช้เวลาจะส่งผลกระทบต่อการผลักดันขับเคลื่อนนโยบายทันที ทางออกจึงต้องหาทีมงาาน ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายมาทำงานเป็นทีม หาทางออกของช่องว่างกฎหมาย ส่วนจะใช้กฎหมายพิเศษ จะทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจทั้งหมด แต่ยังมีสภา มีฝ่ายค้าน รวมทั้งระบบกลไกของรัฐสภา

ส่วนปัญหาในเรื่องงบประมาณ ยอมรับว่าแก้ไม่ได้ เพราะเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเอง คือรัฐบาลมีการอ้างนโยบายแจกเงิน แต่สังคมได้มีการติติงไปแล้วหลายครั้ง เกี่ยวกับเงินที่จะมาสนองนโยบายหาเสียง แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมแถลง ไม่ยอมบอกที่มาของงบประมาณ อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลไม่มีความตรงไปตรงมา พอมาถึงจุดนี้รัฐบาลต้องการทำงานตามนโยบาย แต่ไม่มีเงิน จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลัง อาจจะต้องไปกู้แหล่งสถาบันเงินหลักของประเทศ อาทิ ธนาคารออมสิน เพราะประเทศไม่มีเงินงบประมาณเหลือที่จะทำนโยบายของรัฐบาลตามที่หาเสียงไว้ ส่วนการออกพันธบัตรทำได้ แต่ประชาชนจะมองว่ารัฐบาลพยายามจะสร้างหนี้ให้กับประชาชน ในความหมายเอาเงินประชาชน มาแจกประชาชนแล้วผลักภาระหนี้ให้ประชาชน แล้วมาอ้างว่าเป็นผลงานของรัฐบาล มองให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ ในการวางแผนค่าใช้จ่ายของประเทศตั้งแต่ต้น โดยหาเสียงหวังคะแนนจากประชาชนเฉพาะหน้าเท่านั้น

ส่วนจะขัดกับหลักของ กกต.ในเรื่องนโยบายหาเสียงจะต้องแจ้งที่มาของแหล่งเงิน ในเรื่องนี้ กกต.สามารถที่จะดำเนินการกับพรรคการเมืองที่หาเสียงได้ คล้ายลักษณะหลอกลวงกับประชาชนได้ แต่ที่ผ่านมามีบรรทัดฐานมาแล้ว หากทำกับรัฐบาลเพื่อไทย แต่ทำไมไม่ทำกับรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้ ปัญหานี้จึงตกอยู่ที่ กกต. พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่ามีบรรทัดฐานของการไม่ต้องทำ ประกอบกับ กกต.ไม่มีความสามารถที่จะจัดการรัฐบาลเพื่อไทยได้ เนื่องมาจากการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีอำนาจพิเศษของเครือข่ายชนชั้นนำ หรือกล่าวง่ายๆ ว่า เส้นดี ทำให้ กกต.ไม่กล้าแตะ

กรณีที่อ้างว่าการบริหารของพรรคเพื่อไทยจะมีปัญหาทางด้านบุคลากร โดยเฉพาะเกี่ยวกับเงินดิจิทัล มองได้ว่าปัญหามาจากเงิน สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นปัญหาเรื่องคน การที่รัฐบาลไม่ยอมสื่อสารอะไร โดยเฉพาะแหล่งที่มาของงบประมาณ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องการจัดเตรียมบุคลากรที่จะทำงาน โดยเฉพาะเรื่องเงินดิจิทัล จะต้องมีความรู้ความสามารถพิเศษ จะไปเอาข้าราชการที่มีภารกิจอยู่แล้ว มารับผิดชอบในเรื่องเงินดิจิทัลอีก จะกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ต้องให้บริการประชาชนอยู่แล้ว เช่น ข้าราชการ 1 คน ทำหน้าที่อยู่แล้วในการดูแลประชาชน แล้วต้องมาดูแลเงินดิจิทัลซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับข้าราชการคนนั้นอีก เชื่อว่ารัฐบาลอาจจะต้องพึ่งพาภาคเอกชน และต้องมีค่าใช้จ่าย หลายคนกังวลว่าอาจจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มทุนธุรกิจ ที่ทำเรื่องเงินดิจิทัลและรับผลประโยชน์จากรัฐบาล

สำหรับคำกล่าวที่ว่าประชาชนไม่ยอมรับรัฐบาลเศรษฐา ผมไม่ค่อยเชื่อว่าประชาชนจะรับไม่ได้ แต่หากประชาชนได้รับประโยชน์ส่วนมากรับได้ทั้งหมด ต้องยอมรับว่าหากสถานการณ์แบบนี้ประชาชนได้เงิน อาทิ เรื่องพักชำระหนี้ เพิ่มค่าแรง 600 บาท เงินเดือน 2.5 หมื่นบาท ส่วนผู้ที่รับไม่ได้คือผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อต้องเพิ่มค่าแรงงาน เงินเดือน อยู่ได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ประกอบการ หรือย้ายฐานการผลิตก็ตัดสินใจเอาเอง ส่วนรัฐบาลต้องการเพียงคะแนนทางการเมืองเท่านั้น
ทางออกของประเทศที่จะเดินหน้าต่อไป ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลเด็กเส้น มีภารกิจสู้กับพรรคก้าวไกล และภารกิจหลักบรรลุแล้วคือเอา นายทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย ถือว่าภารกิจบรรลุหมดแล้ว หลังจากนี้เพียงทำให้กระแสนิยมของพรรคเพื่อไทยกลับมาเท่านั้น เพื่อหวังการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ได้คิดหวังว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติระยะยาว แต่ต้องการอยู่ให้นานถึง 3-4 ปี ที่จะยื้อเวลาให้กลุ่มทุนได้ถอนทุนคืนเท่านั้นเอง

ในเมื่อสภาพการเมืองเป็นแบบนี้ควรมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลให้การเมืองปัจจุบันเป็นแบบนี้ ทำให้พรรคการเมืองที่ประชาชน เขาไว้ใจให้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ประชาชนมองว่าพรรคก้าวไกลเป็นทางออกของประเทศ สร้างนโยบายได้ดีกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จึงเลือกเข้ามาและหวังบริหารประเทศ แต่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 สร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ก็เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ คือ รัฐบาลประยุทธ์ สาขา 3 จึงทำให้ประเทศไปไหนไม่ได้ ทางออกคือต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อประชาชน แล้วให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง ตามกติกาที่ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ขณะนี้เข้าใจว่าชนชั้นนำกลัวพรรคก้าวไกล เพราะนโยบายของพรรคก้าวไกลไปกระทบผลประโยชน์โดยตรงของกลุ่มชนชั้นนำ จึงจำเป็นจะต้องใช้มติสงครามเดินหน้าชนกับพรรคก้าวไกล ทำให้บ้านเมืองกลืนไม่เข้าคายไม่ออก รัฐบาลก็ไปได้แค่นี้ ประชาชนก็ไปได้แค่นี้ ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

เรื่อง 4พี ของนายวิษณุเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้ เพราะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ ไม่ใช่เรื่องลึกลับสลับซับซ้อนอย่างใดสามารถแก้ไขได้โดยอาศัยกลไกรัฐ และความร่วมมือทุกภาคส่วน เริ่มจาก พี1 Power ถ้าไม่มีอำนาจหรือติดขัดข้อกฎหมาย เช่น คำสั่ง คสช. ม.44 ให้นำเข้าสู่สภาเพื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ถ้าเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ให้ ครม. แก้คำสั่งระเบียบกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องๆ ไป เพื่อลดอุปสรรคและข้อจำกัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ นโยบาย และการพัฒนาประเทศ ไปข้างหน้า ส่วน พี2 Public budjet ไม่มีหรือขาดแคลนงบประมาณ รัฐบาลต้องลงทุนและพัฒนาโครงการที่เป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่เงินลงทุนสูงอาจดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือร่วมลงทุนกับรัฐบาล โดยมีระยะเวลาสัมปทานมีผลตอบแทนอย่างเหมาะสม และเป็นธรรมทุกฝ่าย เหมือนที่นายเศรษฐา ไปพูดคุยนักลงทุนต่างชาติที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเชิญชวนมาลงทุนที่ไทย ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติด้วย รัฐบาลต้องตัดทำงบประมาณสมดุล เพราะปี’67 เหลืองบลงทุน และพัฒนาประเทศน้อยมาก เป็นผลมาจากรัฐบาลชุดก่อน กู้เงินต่างประเทศไว้มาก ต้องนำงบประมาณชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินการคลังประเทศในระยะยาว ประกอบกับนายเศรษฐาได้เดินสายไปรับฟังปัญหาและข้อเสนอประชาชนทุกภูมิภาค ส่วนใหญ่เสนอและเรียกร้องโครงการลงทุนพัฒนาภูมิภาค หรือจังหวัดหลายโครงการ ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระงบประมาณจำนวนมาก อาจทำให้โครงการดังกล่าวไม่ไดัรับการตอบสนอง เนื่องจากไม่มีงบเพียงพอ ถ้าย้อนไปในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถใช้งบประมาณ แก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนได้เพียง 30% เท่านั้น เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด

ปัญหา พี3 Personnel ไม่มีบุคลากร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือดิจิทัล ต้องย้อนถามนายวิษณุว่าช่วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และบริหารประเทศมา 9 ปี ทำไมไม่ลงทุนพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ต่อเนื่อง งบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปกับงานความมั่นคงและการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าคนไทยที่เป็นอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ มีองค์ความรู้ ที่สามารถพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ได้ เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศ คุณภาพชีวิตประชาชนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

ส่วนปัญหา พี4 Public opinion ประชาชนไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมรับนโยบายรัฐบาลถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้น รัฐบาลต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมประชาชนมากที่สุด เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น มุมมองและข้อเสนอต่างๆ ภายใต้ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ แจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท กว่า 40 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 400,000 ล้านบาท รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย 3 ปี รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง นำไปสู่ความสามัคคี ปรองดอง ไม่แบ่งฝ่ายอีก

ข้อแนะนำนายวิษณุถือเป็นความหวังดีแต่สามารถแก้ไขได้ หากทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่เป็นฝ่ายค้านในสภา อาจสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและงบลงทุนพัฒนาประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เชื่อว่าเป็นฝ่ายค้านที่มีความคิดก้าวหน้าเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image