ที่เห็นและเป็นไป : ต้องสิ้นหวังกันอีกกี่ชาติ

ที่เห็นและเป็นไป : ต้องสิ้นหวังกันอีกกี่ชาติ

เป็นอีกครั้งที่มีการพูดถึง “การปฏิรูปตำรวจ” กันมาก ที่น่าสนใจคือเป็นครั้งที่ผสมความรู้สึกสิ้นหวังมากกว่าครั้งไหนๆ

ทำไมประชาชนถึงสิ้นหวังกับสถาบันผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถึงขนาดนั้น คำตอบคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ที่น่าคิดคืออาจจะเป็นความรู้สึกสะสมจากการได้รับรู้ได้สัมผัสในทางที่แทบไม่มีความรู้สึกด้านบวกเอาสียเลย

ในยุคสมัยที่ “อำนาจนิยม” เข้มข้นตลอดการสืบทอดอำนาจจากรัฐประหารมายาวนาน การหาหน้าที่ของตำรวจที่ถูกกระแส “ยุติธรรมสองมาตรฐาน” ชี้นำความคิดของประชาชน มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นที่คนส่วนหนึ่ง หรือจะว่าไปเป็นส่วนใหญ่เห็นว่า ตำรวจมุ่งรับใช้ผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะดูแลความถูกต้องให้ประชาชน

Advertisement

นั่นเป็นแกนหลักของความรู้สึกว่า “เพี้ยนไปจากการพิทักษ์สันติราษฎร์อย่างที่ควรจะเป็น”

นั่นเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ตำรวจไม่เป็นตำรวจอย่างที่ควรจะเป็น”

เมื่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับการสรุปคดีหลายๆ ครั้ง ที่ค้านความรู้สึกของคนทั่วไป กลายเป็นการทำหน้าที่เพื่อปกป้อง “อภิสิทธิชน”

Advertisement

หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีอำนาจ หรือมีอิทธิพล มักจะได้รับการโอนอ่อนผ่อนปรน จนหลายคดีพ้นจากข้อกล่าวหาไปแบบหากพิจารณาให้เข้าใจด้วยสามัญสำนึกไม่ได้

เรื่องราวประเภทนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ขณะเดียวกัน การจัดการกับความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของคนทั่วไป ถูกทำให้กลายเป็นกระแสที่เกิดเป็นข้อสงสัยว่าเป็นการทำมาหากินของ “ตำรวจ” อย่างเช่น การส่งหน่วยล่าผู้ทำผิดกฎจราจรที่ปฏิบัติการกันเคร่งครัดอย่างเป็นล่ำเป็นสันกับเครื่องหมายจราจร การตั้งด่านตรวจจับการขับขี่ผิดกฎหมาย

ขณะที่ชะตากรรมของประชาชนที่เกิดจากมิจฉาชีพแบบหวังพึ่งอะไรไม่ได้จากการบรรเทาความเสียหาย ที่ชัดเจนที่สุดคือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่หลอกลวงสารพัดในโลกออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนมากมายกับประชาชน

ขณะที่ข่าวคราวของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สถานบันเทิง แหล่งอบายมุข และบ่อนการพนันทั้งออฟไลน์ และออนไลน์มีให้ได้ยิน ให้เห็นได้รับรู้กันในวงกว้าง

เรื่องราวของสิ่งที่ควรทำไม่ได้ทำ แต่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำกันอย่างครึกโครม สะสมความน่าเบื่อหน่ายสิ้นหวังต่อวงการตำรวจมายาวนาน โดยไม่มีใคร หรือองค์กรใดคิดและวางมือให้เป็นความตั้งใจที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง

และเมื่อล่าสุด เกิดสิ่งที่กระฉ่อนถึง “การเมืองในวงการตำรวจ”

เกิดความขัดแย้งกันรุนแรงใน “ชนชั้นผู้บังคับบัญชาระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

นายตำรวจระดับสูงแบ่งพวกทำลายล้างกันเอง แบบไม่มีใครคิดถึงว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับพฤติกรรมที่ตำรวจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้มีอิทธิพล

ยิ่งการมีสงครามระหว่างผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากเครือข่ายอบายมุขมากมาย

ย่อมเป็นความตกต่ำระดับปลุกกระแสเรียกหาการปฏิรูปขึ้นมาอย่างคาดหวังว่าผู้มีอำนาจจะให้ความสนใจบ้าง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนวันนี้ ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ยังเหมือนเดิม ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีความจำเป็นต้องทำอะไร

ทั้งๆ ที่ตำรวจมีหน้าที่ที่ใกล้ชิดความสุขสงบของประชาชนเป็นอย่างมาก

หากผู้มีอำนาจคิดถึงประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น

ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นคือ การเอาจริงเอาจังกับการใส่ใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ให้เกิดความหวังกับประชาชนในทางพึ่งได้ขึ้นมาบ้าง

ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่กันอย่างสิ้นหวังตลอดไป

ตำรวจดีๆ นั้นมีอยู่มาก ทำอย่างไรจะสนับสนุนให้มีบทบาท เพื่อเป็นความหวังให้ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image