บทนำ : ทบทวนภาษีที่ดิน

บทนำวันพฤหัสบดีที่19กันยายน2566 : ทบทวนภาษีที่ดิน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยได้มีการประสานงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการจัดเก็บภาษีที่ดิน รวมถึงติดตามปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย ทั้งนี้ การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย กำหนดให้ต้องประเมินอย่างน้อยทุก 5 ปี นับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นประกอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือความคิดเห็นจากผู้ซึ่งมีสิทธิหรือหน้าที่หรือได้รับผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย นำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

ผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีผลบังคับใช้ โดยเริ่มจัดเก็บปี 2563 แต่กำหนดให้มีส่วนลดหย่อนใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษี คือ ตั้งแต่ปี 2563-2565 เพื่อบรรเทาภาระภาษี ช่วงเปลี่ยนผ่านจากการยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดิน และใช้ พ.ร.บ..ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน กำหนดหลักเกณฑ์จัดเก็บ บนราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์ อัตราภาษี จะเก็บเป็นอัตราขั้นบันใด ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแยกประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3 ประเภท คือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยยกเว้นภาษี ให้กับที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ยกเว้นหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท 3.ที่ดินอื่นๆ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งจะเก็บเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมต้องไม่เกิน 3%

การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ หากรัฐดำเนินการตรงไปตรงมา ไม่เสมอเป็นเพียงพิธีกรรม รวมถึงได้เปิดพื้นที่ รับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้รับ จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการนำไปใช้วิเคราะห์ ประกอบการ ทบทวน ปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง รัฐตรา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมา มีเจตนารมณ์ใช้เป็นเครื่องมือกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ลดการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร กระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีให้เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มแลนด์ลอร์ด นักพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหาอยู่มาก มีการใช้เทคนิคหลบเลี่ยง เช่น ปลูกกล้วยในพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่า แบ่งซอยที่ดิน แปรสภาพอีกแปลงเป็นพื้นที่ตาบอด กดมูลค่าประเมินต่ำ เป็นต้น รัฐจึงน่าจะใช้โอกาสนี้ ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การตราออกมาใช้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image