วิเคราะห์โพล ‘มติชน-เดลินิวส์’ จี้แก้ ‘เศรษฐกิจ’ ก่อน ‘การเมือง’

วิเคราะห์โพล‘มติชน-เดลินิวส์’ จี้แก้ ‘เศรษฐกิจ’ ก่อน ‘การเมือง’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีผลโพลมติชน-เดลินิวส์ สะท้อนเสียงประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 42,848 โหวตชี้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องก่อน ร้อยละ 60.2 มากกว่าการเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูป อยู่ที่ร้อยละ 39.8 นับเป็นโพลที่สะท้อนความต้องการของประชาชนอยากให้รัฐบาลเศรษฐาเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องมากที่สุด

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

จากผลโพลที่สรุปออกมาพบว่าประชาชนอยากให้รัฐบาลเศรษฐาเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ร้อยละ 60.2 มากกว่าการเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูป อยู่ที่ร้อยละ 39.8 ส่วนตัวมองว่าอาจจะตอบไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ความหมายนั้นคือความเห็นของการทำโพล แต่จะให้ความเห็นในด้านเชิงวิชาการในเรื่องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง ด้านการแก้ไขปัญหาค่าน้ำและค่าไฟ หรือการแก้หนี้สินภาคครัวเรือน หนี้สาธารณะ ถึงที่สุดแล้วมันต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด อย่างหนี้สินในเชิงภาคครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้สาธารณูปโภค อีกทั้งการผ่อนบ้าน ผ่อนรถต่างๆ ทุกอย่างมันมีความสัมพันธ์กับการขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งสิ้น ยกตัวอย่างล่าสุดที่มีข่าวดังออกมา ที่มีคนชำระหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนไปหมื่นกว่าบาท แต่ถูกคิดเป็นเงินต้นแค่ 5 บาท ดอกเบี้ยเป็นหมื่น ถึงที่สุดแล้วไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

Advertisement

ทางรัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาโครงสร้างตรงนี้ก่อน อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีการลดราคาลง แต่ดูเหมือนกับว่าบังคับเอากับทางการไฟฟ้า ทั้งทางฝ่ายผลิตและจำหน่ายในการบีบลดค่า เอฟที (FT) ลงไป ซึ่งในสักวันหนึ่งก็ต้องมีการใช้คืนค่าเอฟทีให้แก่การไฟฟ้าอยู่ดี ฉะนั้นมันไม่ใช่การแต่ปัญหาที่เศรษฐกิจอยู่ดี แต่มันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ที่โครงสร้าง กรณีค่าไฟฟ้าหากเราไม่แก้ที่โครงสร้างในการคำนวณค่าเอฟที สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องหาเงินส่วนหนึ่งเพื่อเข้ามาอุ้มตรงนี้อยู่ดี ถึงที่สุดแล้วจะบอกว่าเป็นเรื่องของปากท้องหรือเรื่องเศรษฐกิจเองนั้น มันก็เป็นเรื่องของโครงสร้าง แต่จะเป็นโครงสร้างตรงด้านไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงที่สุดรัฐบาลก็จะต้องหาเงินมากขึ้น เพื่อมาอุดซ่อมเศรษฐกิจเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไร

เมื่อผลโพลในเรื่องปากท้องออกมาแบบนี้ ประชาชนเองก็ลำบากทางด้านการเงิน ทางเศรษฐกิจมากกว่า 7-8 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาที่ต้องแก้เร่งด่วนนั้นคือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ยังไงก็ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน แต่ถามว่าถึงที่สุดแล้ว คำว่าโครงสร้างเอง ผมมองว่าการถามในโพลอาจจะยังไม่ค่อยเคลียร์สักเท่าไหร่ ว่าโครงสร้างที่บอกนั้นเป็นโครงสร้างอะไร เพราะโครงสร้างที่บอกก็ต้องร่วมโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างทางสังคมด้วย

จากผลโพลในการสำรวจอาชีพที่มีการโหวตมากที่สุดคือพนักงานบริษัท เพราะว่าคือกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อีกทั้งยังได้รับผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลน้อยที่สุด ยกตัวอย่าง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก็ได้ออกมา 3 แนวทางในช่วงแรกๆ 1.แจกหมด 2.ไม่ให้สิทธิผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ 3.ไม่ให้สิทธิผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท เมื่อถามว่าใครเสียประโยชน์มากที่สุด ก็คือพนักงานบริษัท เพราะพนักงานบริษัทส่วนใหญ่เงินเดือนเกิน 25,000 บาทอยู่แล้ว ปัญหาตรงนี้ถึงที่สุดแล้วต่อให้เราพูดว่ามันเป็นปัญหาเบื้องหน้าเชิงปากท้องก็ตาม แต่เบื้องหลังที่มันเกิดขึ้นเหมือนภูเขาใต้น้ำแข็ง เพราะมันคือปัญหาโครงสร้าง

Advertisement

เงินดิจิทัล 10,000 บาท จากผลสำรวจไม่มีความฮิต ประชาชนไม่ได้คาดหวัง หรือว่ามันอาจจะเป็นไปไม่ได้ หรือใช้ยาก ขอมองถึงสาเหตุที่ไม่ได้เป็นที่นิยมในโพลว่า ถึงที่สุดแล้วถ้ารัฐบาลบอกว่าได้ทุกคนในตอนนั้น รัฐบาลก็ออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ต้องลงทะเบียนอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าอาจจะมีข้อจำกัดในการใช้ในระยะ 4 กิโลเมตร จุดตรงนี้เลยคิดว่าประชาชนอาจจะไม่ได้กังวลสักเท่าไหร่

หัวเมืองหลัก 3 จังหวัด กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 29.3 จังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 4.8 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 3.5 โหวตมากที่สุด แสดงความต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มาก จากผลโพลในการสำรวจโพลพบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานครและนนทบุรีมากที่สุดในการสำรวจนั้น เนื่องจากพบประชาชนในกรุงเทพมหานครมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 10 ล้านคน เป็นประชากรแฝงจากต่างหวัดที่เข้ามาทำงานโดยที่ไม่ได้มีบัตรประชาชนอยู่ในกรุงเทพมหานครอยู่ครึ่งหนึ่ง พอในกรุงเทพฯมีประชาชนเยอะสุด ซึ่งมีประชาชนที่ไม่ได้อยู่ดีกินดีอยู่แล้ว เขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง

ส่วนทางด้านผลโพลการเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้าง ประชาชนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญก่อนการปฏิรูปยุติธรรม-กองทัพ เพราะว่า ทางด้านกองทัพก็เป็นปัญหาระดับหนึ่ง ส่วนตัวมองว่าในปัจจุบันมีเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ ต้องต้องแก้ก่อน ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก่อนปฏิรูปยุติธรรม กองทัพ อาจจะตามมาทีหลัง หลังจากการจัดการเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องได้ก่อน ปัญหาเฉพาะหน้าต้องมาก่อน

ข้อเสนอแนะ ในการทำโพลในอนาคตอาจจะต้องมีการแพร่หลายมากกว่านี้ หมายถึงว่าทั้งในระดับภูมิภาคที่มันกว้างมากกว่านี้ จุดที่ต้องเพิ่มเติมในโพลตอนนี้อาจจะยังไม่มี แต่ต้องอธิบายว่าปัญหาเชิงโครงสร้างสิ่งนั้นคืออะไรด้วย

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

จากผลโพลมติชน-เดลินิวส์ 60% อยากให้รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาดูแลเรื่องปัญหาปากท้องมากที่สุดนั้น ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น แต่ว่ายังอยู่ในอัตราที่ไม่แข็งแรงนัก โดยเฉพาะในปี 2566 นี้ ตัวเลขการเติบโตอยู่ที่ 3.1% ส่วนปี 2567 ก็ยังอาจจะฟื้นตัวในระดับเท่ากัน หรือสูงกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอน เรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หรือราคาพลังงาน เพราะฉะนั้น หากมองผลงานที่รัฐบาลทำ ก็อาจจะมาถูกทาง ในการแก้ปัญหาปากท้อง ไม่ว่าจะลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลยังเป็นลักษณะการแก้ไขปัญหาชั่วคราว บรรเทาความเดือดร้อน แต่ยังไม่ได้ไปแก้ที่ตัวต้นเหตุของปัญหาจริงๆ คือการที่ทำให้ประชาชนมีความสามารถที่จะอยู่รอด ซึ่งในส่วนนี้มาตรการที่รัฐบาลทำมา ส่วนใหญ่ยังเป็นแค่การบรรเทา ซึ่งก็มาถูกทาง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาปากท้องเท่านั้น หากรัฐบาลอยากทำให้ถูกทางมากกว่านั้น ก็คือการช่วยเหลือให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งยังไม่ค่อยเด่นชัดในมาตรการของรัฐบาล

ขณะที่เรื่องของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ในมุมมองของนักวิชาการก็ยังไม่เห็นด้วย และมองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องทำหรือมีน้อยมาก เพราะเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ โดยเฉพาะด้านกำลังซื้อได้มีการฟื้นตัวแล้ว จึงไม่ได้มีความจำเป็นต้องกระตุ้น และอีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง ที่น่ากังวล ดังนั้นหากรัฐบาลมีทางอื่นในการกระตุ้นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ก็น่าจะทำได้

อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของฝั่งรัฐบาล ก็ต้องเห็นใจรัฐบาลด้วย เพราะโครงการนี้เป็นหนึ่งในส่วนที่ได้หาเสียงไว้ เหมือนเป็นอาหารจานเด็ดของรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่เดินหน้าต่อก็จะถูกประชาชนมองว่ารัฐบาลชุดนี้พูดอย่างทำอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้ามองจากมุมรัฐบาล โครงการเงินดิจิทัลก็คงจำเป็นต้องทำ ในขณะเดียวกันการที่รัฐบาลยืนยันจะทำ ก็ต้องคำนึงถึงผลเสียต่อประชาชนที่ประชาชนเองก็ไม่รู้ เพราะรู้แค่ว่าตนเองจะได้เงิน 10,000 บาท แต่สิ่งที่ตามมาและเป็นหน้าที่ของรัฐบาล คือ ต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องเสถียรภาพทางการคลัง หรือทำให้มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลรับข้อเสนอจากทุกฝ่ายก็ถือว่าดี และได้ออกมาปรับลดขนาดมาตรการลง แต่ยังไม่มีข้อสรุปคือ 1.แจกเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ก็ใช้เงินเพียง 1.5 แสนล้านบาท 2.กลุ่มรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ใช้เงินประมาณ 4.5 แสนล้านบาท และ 3.กลุ่มรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ใช้เงินประมาณ 4.9 แสนล้านบาท ในความเห็นส่วนตัว ก็เห็นใจรัฐบาลที่ให้สัญญาไว้ และต้องกระตุ้นเศรษฐกิจก็จริง แต่เรื่องของการคลังก็น่าเป็นห่วง เพราะหนี้สาธารณะได้ปรับตัวสูงเกิน 60% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)

เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุด คือการประนีประนอมระหว่างสัญญาต่อประชาชน กับเสถียรภาพทางทางการคลังในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูง ถ้าเป็นไปได้ ทางเลือกที่จะแจกเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย น่าจะเป็นทางเลือกที่มีผลกระทบต่อด้านการคลังน้อยกว่าทางเลือกอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาล ถ้าจะใช้ทางเลือกอื่นก็ต้องดูเรื่องการเงินการคลังต้องไม่ได้รับผลกระทบ

สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิด เพราะอย่างที่กล่าวว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวช้าและความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังถูกกระทบ และจากที่ผ่านๆ มาจะเห็นว่าการขึ้นค่าแรงเป็นอีกปัจจัยสำคัญมากๆ โดยปกติถ้าจะปรับขึ้นค่าแรงก็มีหลักสองประการ คือ การปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% และจากนโยบายที่ค่าแรงจะปรับไปถึง 600 บาทนั้น ก็อาจจะเป็นการปรับสูงเกินไป อีกแบบคือการขึ้นค่าแรงตามทักษะและความชำนาญ ซึ่งแต่ละงานแต่ละคนก็จะถูกปรับขึ้นค่าแรงไม่เท่ากัน

การขึ้นค่าแรงแบบรวดเดียวนั้น อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เช่น งานก่อสร้าง หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หากมีการปรับขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการ
เหล่านี้ก็ลำบาก เพราะฉะนั้น นโยบายนี้ไม่ควรทำอย่างเข้มข้น รวดเร็ว การขึ้นค่าแรงนั้นก็เห็นด้วย แต่ต้องทำให้สอดคล้องกับเรื่องแรงงานและเงินเฟ้อ รวมถึงอีกเรื่องคือเงินเดือนเด็กจบใหม่ ป.ตรี 25,000 บาท ก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน จากอดีตที่เคยมีการปรับเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทนั้น ในตอนนั้นก็มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีลดคนงาน และอย่าลืมว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคไอที ยุคดิจิทัล ก็จะเห็นว่าหลายบริษัทเลิกจ้างและหันไปใช้เทคโนโลยีแทน เช่น สถาบันการเงิน เป็นต้น ดังนั้นจึงยังไม่เห็นด้วยที่ไปเร่งนโยบายนี้เพราะมันจะทำให้คนตกงาน

ส่วนสุดท้ายคือ มาตรการพักหนี้นั้นไม่ได้ช่วยให้คนเอาตัวรอดได้ เพราะแม้จะพักไปแต่หนี้ก็ยังอยู่ เมื่อถึงเวลาเลิกมาตรการ คนที่มีหนี้ก็ตายอยู่ดี ดังนั้นการพักหนี้จึงต้องทำคู่กับการหาเงินเพิ่มด้วย เพื่อให้เมื่อถึงกำหนดก็มีรายได้เพียงพอกลับมาจ่ายหนี้ได้ นอกจากนี้นโยบายสำคัญของรัฐบาลอีกตัว คือ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ก็เสนอให้นำเรื่องของดิจิทัลเข้ามา ช่วยให้เข้าถึงกลไกดิจิทัล จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอีได้ ซึ่งจะช่วยได้ตรงประเด็นมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image