วิพากษ์ข้อเสนอก้าวไกล ประชามติ 3 รอบ-เลือกตั้งสสร.แก้รธน.

วิพากษ์ข้อเสนอก.ก.
ประชามติ3รอบ-เลือกตั้งสสร.แก้รธน.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการมองข้อเสนอของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ให้ทำประชามติ 3 รอบและเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งหมดเพื่อมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

ในการเสนอให้ทำประชามติ 3 ถึงรอบนั้น ผมคิดว่าเพื่อนำไปสู่ความครบถ้วนสมบูรณ์และไม่นำไปสู่ความขัดแย้งกันในภายหลัง ถึงแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะเพียงใด แต่หากจะนำไปสู่การยกระดับปรับสภาพ ทำให้การเมืองนั้นเข้มแข็งมากยิ่งขี้น โดยส่วนตัวก็ถือว่าเห็นด้วยเพราะจะนำไปสู่ความคุ้มค่า

การทำประชามติ 3 ครั้ง แน่นอนว่าต้องรับความคิดเห็นเยอะ ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนหน้านี้ไม่ได้เปิดการแสดงความคิดเห็นอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะคนที่เห็นต่างหรือเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ถูกเอามาถกเถียง และยังถูกดำเนินคดีอีก ในรอบนี้เมื่อนำไปสู่การยื่นเรื่องการทำประชามติ 3 รอบนั้น จะทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม

ส่วนข้อกังวล คือกลัวว่าประชาชนจะให้ความสนใจหรือตื่นตัวหรือไม่ในการที่จะต้องออกมาทำประชามติถึง 3 รอบ ตัวเลขประชาชนที่มาใช้สิทธินั้นจะมากน้อยแค่ไหน จะลดตามลำดับความสนใจการเมืองหรือไม่ เป็นห่วงพรรคก้าวไกลซึ่งมีเจตนาดีที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะตีความประเด็นอะไรบ้าง กลัวว่าจะกลับไปอีหรอบเดิม คือความขัดแย้งทางการเมือง ประเด็นที่ 1 สิ่งที่พรรคก้าวไกลเคยต้องการขับเคลื่อน ประเด็นที่ 2 ที่พรรคก้าวไกลบอกว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยทั้งหมด ตรงนี้ก็จะกลายเป็นช่องโหว่ ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี แต่ก็อย่าลืมว่าคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขก็คือนักการเมืองนั่นเอง ฉะนั้น นักการเมืองก็จะส่งคนที่มีฐานเสียง หรือครอบครัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง โดยกระบวนการเลือกตั้งที่สำนักตรวจราชการ (สตร.) กำหนดขึ้นมา เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แน่นอนว่าต้องมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับนักการเมือง ฉะนั้นยังไม่สามารถทำให้การเมืองไทยโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ปลอดจากอิทธิพลจากนักการเมืองได้

Advertisement

ในเรื่องของสัดส่วนอาชีพ ต้องให้มีความหลากหลายรอบด้าน หากเป็นนักวิชาการก็ต้องครบในหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะนักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ ให้ความคิดเห็น และการเข้ามาเปรียบเทียบความสำเร็จ วิเคราะห์จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาว่าเป็นอย่างไร

การตั้ง ส.ส.ร.นั้นมีความจำเป็น การมีตัวแทนประชาชนอย่างน้อยจะทำให้การเมืองนั้นเดินหน้าได้ การออกแบบรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิด เป็นความปรารถนาที่ประชาชนต้องออกจากความขัดแย้งวังวนในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญอำนาจนิยมหลายทาง ฉะนั้นการเดินหน้าที่นำไปสู่ตัวแทน ส.ส.ร.ที่เห็นปัญหาการเมืองไทยที่ผ่านมา จะเข้ามาช่วยแก้ไขหรือทำให้การเมืองในประเทศไทยนั้นลดระดับของความขัดแย้งลงไปได้บ้าง

ทางพรรคก้าวไกลมี 3 ข้อเสนอหลักในการแก้ไข อาจจะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีงบประมาณหรือจำกัดเพียงใด ในขณะเดียวกัน คำถามนั้นต้องเป็นคำถามที่ประชาชนเข้าใจง่าย ไม่ใช่คำถามที่มีลักษณะวาระซ่อนเร้นหรือการชี้นำในทางการเมือง เหมือนตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ตั้งคำถามว่า ให้วุฒิสมาชิก (ส.ว.) มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ควรมีคำถามลักษณะชี้นำอะไรแบบนั้น แต่ควรเป็นคำถามที่ประชาชนเข้าไปในคูหาแล้วเข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความสลับซับซ้อน เพราะมีบทเรียนให้เห็นแล้ว ส่วนตัวคิดว่าการที่พรรคก้าวไกลตั้งแนวทางคำถามแบบนี้ เพื่อนำไปสู่ข้อตกลง ให้ได้ในข้อเสนอใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการนำไปสู่การเดินหน้าที่จะทำประชามติ วางเงื่อนไขคุณสมบัติที่มาของ ส.ส.ร. ให้เกิดความครบถ้วน รอบด้าน

หลักเกณฑ์การใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 ชั้นนั้น จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิยังคงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ คือ 26 ล้านเสียง การที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่าลืมว่าประชาชนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องปากท้อง หรือการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อมาแก้ไขปัญหาหรือขับเคลื่อนนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง ส่วนเรื่องที่จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องมาพูดถึงตัวเลขของจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่ต้องมากขนาดนี้ อยู่ที่การสร้างการรณรงค์ การมีส่วนร่วมในการสร้างกิจกรรมให้มีเวทีภาคประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์ ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ทำให้รัฐธรรมนูญคือเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ ผมมองว่าในการทำประชามติทั้ง 3 ครั้ง ใช้งบประมาณประมาณ 6,000 ล้านบาท ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่พอเหมาะพอควรถ้าจะนำไปสู่การเมืองที่ดีขึ้น ประชาชนลดความขัดแย้ง เดินหน้าได้ เป็นการยกระดับ ในขณะเดียวกันการใช้งบประมาณที่นำไปสู่การลดความขัดแย้ง หรือข้อเสนอของประชาชนที่เกิดประโยชน์ เป็นคุณ และนำไปสู่การเมืองไทยที่มีพลวัต มีอนาคตที่เป็นบวกได้ อย่างไรก็คุ้มกับค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ผมมองว่าไม่ควรที่จะใช้ระยะเวลาในการศึกษานานจนเกินไป กลางปี พ.ศ.2567 ก็ควรที่จะได้เห็นภาพ หรือรูปธรรมความคืบหน้าว่ามีแนวทางของการศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง จากการรับฟังรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การชี้แจงต่อสาธารณชน ท้ายที่สุดหลีกหนีไม่พ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหน ก็มองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาในหลายๆ ประเด็น

รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ข้อเสนอเรื่องการทำประชามติ 3 ครั้ง ส่วนตัวผมเห็นด้วยว่าเรื่องนี้ต้องมีความชอบธรรม ทั้งด้านการเมืองและทางกฎหมาย ซึ่งความเห็นจากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เขาไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ และจะทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย สำหรับการลงประชามติหลายรอบ

สำหรับผม ถ้าเราเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า เราจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องอย่าลืมว่ากระบวนการและกลไกในการแก้ไขนั้น ต้องผ่านทั้งรัฐบาล, ฝ่ายค้าน, ส.ว. และรวมไปถึงนักร้องทางกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งถ้าเกิดว่าเราทำอย่างไม่รอบคอบ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ฉะนั้น เรื่องนี้ผมคิดว่าเราต้องแยกออกจากกัน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่เราจำเป็นจะต้องจ่าย อย่าว่าแต่ 3 ครั้ง ถ้าทำประชามติ 4 ครั้งเราก็จะต้องจ่าย ถ้าสามารถช่วยการป้องกันความผิดพลาดจากปัญหาเทคนิคทางกฎหมาย และเราจะสามารถรักษาความชอบธรรมไว้ได้มากที่สุดด้วย จะมีมองแค่มิติงบประมาณอย่างเดียวไม่ได้

ทำประชามติ 3 ครั้ง สำหรับผมมองว่าคุ้มค่า เพราะเรื่องนี้เราไม่สามารถเอามิติทางการเงินมาตัดสินใจอย่างเดียวได้ เนื่องจากปัญหาตอนนี้ เรากำลังยกเอาวิธีการด้านงบประมาณมาพูดกันว่า จะเอาเงินมาจ่าย เกิดค่าใช้จ่ายเยอะ มาเป็นตัวตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่สำหรับผมรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ง่าย ต้องผ่านกระบวนการ ขั้นตอนเยอะ ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและรอบคอบ

ส่วนรูปแบบคำถามการทำประชามติ ข้อแรกต้องถามเลยว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะเป็นคำถามหลัก เพื่อที่จะได้ไม่ให้เกิดข้ออ้างทางกฎหมาย ที่ศาลเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้วว่าต้องผ่านประชามติก่อน แต่คำถามพ่วงเป็นเรื่องใหญ่ เช่น เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการแก้หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเรื่องนี้ต้องถกเถียงกันอีกมาก อย่างจุดยืนของก้าวไกลเขาไม่เห็นด้วยกับการที่จะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ของคณะกรรมการในการร่างที่มาจากการเลือกตั้งบนกรอบ ซึ่งจะส่งผลให้คำถามพ่วง อาจจะสร้างปัญหาเกิดขึ้นได้ง่ายต่อการขับเคลื่อนเรื่องลงประชามติ ผมเสนอให้คำถามประชามติต้องผ่านการตกผลึกก่อน ต้องมีความกระชับ ไม่ยาก เข้าใจง่าย เช่น คำถามแรก “ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่คำถามพ่วงเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 ต้องคุยกันในขั้นกรรมการ เพื่อให้ได้แสดงความคิดเห็นและตกผลึกร่วมกันก่อน เพราะถ้าไม่ผ่าน มันอาจจะกลายเป็นปมปัญหาที่ไม่ได้ร่างใหม่

สถานการณ์ตอนนี้ คนคงเห็นด้วยแล้วว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่งานหินก็ยังต้องมีการถกเถียงว่าจะมีการลงประชามติกี่รอบ โดยเฉพาะการแก้หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญ ผมคิดว่าถ้าเราถามความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการก็ไม่ต้องหนักใจ ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับการไม่แก้หมวด 1 และ 2 ข้อเสนอก้าวไกล (ก.ก.) ก็จะแพ้ไปตามเสียงข้างมากของประชาชน ผมคิดว่ามันก็ถูกต้องอยู่แล้วตามหลักประชาธิปไตย

แม้ก้าวไกลพยายามทำตัวเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมด ผมก็คิดว่ากรรมการชุดนี้จะต้องยืนยันด้วยการถามตรงๆ ถ้าประชาชนไม่แก้ ก็คือไม่แก้ ซึ่งตอนนี้ถ้ารัฐบาลชัดเจนแล้วว่าจะไม่แก้ ผมกลัวว่ามันอาจจะไม่มีอยู่ในคำถามพ่วง ซึ่งถ้าไม่มีอยู่ก็อาจจะทำให้ก้าวไกลเอามาเป็นประเด็น หรือข้ออ้างในการไม่ยอมรับ เรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคิดว่ารัฐบาลก็ไม่ต้องกลัว ควรยืนยันด้วยคำถามไปตามตรง ให้ประชาชนตัดสินนั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเสนอให้ประชาชนเป็นคนตัดสินไปเลย เห็นด้วยก็เห็นด้วย ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยก็จบตรงนั้น จะไม่เป็นภาระกับรัฐบาล ถ้าตอนนี้รัฐบาลแบกเอาไว้ ก้าวไกลก็จะอ้างถึงการคัดค้านต่อการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปตลอด

ส่วนการที่ก้าวไกลเสนอให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องมีการคัดเลือกคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะถ้ามาจากการเลือกตั้งทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ทำได้ แต่ต้องมีกรรมการทรงคุณวุฒิ ผู้ที่มีประสบการณ์การเมือง การบริหารแผ่นดิน และด้านกฎหมายอยู่ด้วย โดยปรับเอาแนวทางการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ปี 2540 เป็น
ตัวตั้ง อีกส่วนหนึ่งมาจากตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิที่สังคมมีความเชื่อถือ จากทั้งด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการบริหารราชการ ประกอบคู่กันไป อย่างน้อยก็ควรมีกลุ่มคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญ มาเป็นหนึ่งใน ส.ส.ร. จะเป็นต้นธารทางความคิดสำหรับหลายประเด็น รวมถึงเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็จะสามารถอธิบายความคิดให้ตัวแทนที่มาจากประชาชนได้พินิจ พิจารณากัน

แต่หากมาจากประชาชนทั้งหมด ข้อดีคือ สัมพันธ์กับประชาชน แต่ถ้าคิดแบบไม่อยู่บนพื้นฐานหลักการของอะไรเลย ก็จะเป็นปัญหาทางการเมืองและการปกครองได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผมอยากจะเห็น คือ รัฐธรรมนูญที่มีกติการ่วมกันของประชาชนทั้งสังคม โดยมีหลักการใหญ่ ประการแรกคือ กระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ ที่ประชาชนเห็นพ้องต้องกัน ประการที่สอง การใช้อำนาจรัฐ ที่มีการยึดโยงกับกระบวนการของการได้มาซึ่งอำนาจ ประการที่สามคือ การตรวจสอบอำนาจรัฐ และประการสุดท้าย หลักประกันการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม เช่น ความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่อยากจะเห็น

ตามจริงแล้วมีต้นแบบที่ดีอยู่แล้ว คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ร่างปี 2550 และร่างปี 2558 เรามีต้นแบบที่ดี เช่น ในเรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ การใช้อำนาจรัฐ การตรวจสอบ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มันมีหลักที่ดีของมันอยู่แล้ว ไม่อยากให้เรานับหนึ่งใหม่ทั้งหมด เราควรศึกษาจุดแข็งของรัฐธรรมนูญต่างๆ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์

อย่าให้น้ำหนักอยู่ที่การเข้าถึงอำนาจรัฐเหมือนที่ผ่านมา ประชาชนไม่ได้อะไรจากรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรใบเดียว ส.ว.จะเลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้ง ประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ชนชั้นนำทางการเมือง ประชาชนไม่ได้อะไร แต่เมื่อเป็นกติกาวางร่วมกัน ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image