นักวิชาการวิพากษ์ พิมพ์เขียว ‘ส.ส.ร.’

นักวิชาการวิพากษ์
พิมพ์เขียว‘ส.ส.ร.’

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการถึงรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งข้อเสนอที่มาของส.ส.ร.เคยมีการเสนอออกมาคร่าวๆ อาทิ เลือกตั้งแบบมีจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เลือกตั้งแบบมีประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เลือกตั้งผสมกับการแต่งตั้ง และแต่งตั้งทั้งหมด เพื่อมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะมีความยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้ได้เสียงสะท้อนจากประชาชนจริงๆ ว่าเขาอยากจะได้รัฐธรรมนูญแบบไหน โดยหลักการปกติควรที่จะเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่าจะทำ เพราะสามารถอ้างอิงความยึดโยงกับประชาชนได้ดีกว่า เหมือนกับการที่เราได้ตัวแทนของประชาชนเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เมื่อมองโมเดลคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ที่ได้รับข้อเสนอให้พิจารณาว่า “เลือกตั้ง” ส.ส.ร.บางส่วน หรือ “การคัดสรร” คนจากกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมนั้น หากดำเนินการโดยการเลือกตั้งบางส่วนและมีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนในการร่าง ก็จะได้ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่อาจจะไม่ได้มีเนื้อหาตามที่ประชาชนต้องการ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญก็จะมีวาระที่ตนเองผลักดันอยู่ ซึ่งมันมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน แต่ถ้าพูดถึงตัวแทนของประชาชนโดยทั่วไป คนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็น่าจะดีกว่า

หากเราจะดำเนินการ โดยการคัดเลือกคนจากกลุ่มต่างๆ เพื่อให้มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศ ผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ ก็ควรที่จะมีการกำหนดโควต้าสัดส่วน เราควรจะให้โอกาสคนที่เสียงเบากว่าคนอื่น หมายความว่า ประชาชนควรที่จะมีตัวแทนของเขาไปนั่ง เพราะถ้าเกิดเราเอาเฉพาะคนที่มีปากมีเสียงอยู่แล้วเข้าไป มันก็จะทำให้ตัวรัฐธรรมนูญที่ออกมามีปัญหาว่าไม่สามารถตอบโจทย์คนธรรมดาทั่วไปที่เขาไม่ได้มีอำนาจมากนักในสังคม

ฉะนั้น ผมมองว่าหากต้องใช้เกณฑ์ในการคัดสรรเลือกคนเข้าไป ก็ต้องร่างตัวแบบมาก่อนว่า ควรกำหนดโควต้าให้คนกลุ่มใด เข้ามามีที่นั่งตรงนี้บ้าง แล้วมีเหตุผลอะไรบ้างสำหรับการมานั่งตรงนี้ อย่างน้อยเพื่อทำให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาพิจารณาก่อนว่า โมเดลที่เขาสร้างขึ้นมานั้นครอบคลุมคนทุกฝ่ายจริงหรือไม่ แล้วมีสัดส่วนที่สามารถเป็นปากเป็นเสียง มีน้ำหนักพอหรือไม่ เป็นสิ่งที่เขาควรจะทำให้ชัดเจนเสียก่อน หากจะใช้วิธีการคัดสรร

Advertisement

เหมือนอย่างที่เราเคยทำมา ตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 เราเคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา หากเราใช้โมเดลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากตัวแทนพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อที่จะให้ ส.ส.ร.เข้าไปในสภา คนเหล่านี้จะรวบรวมประเด็นในพื้นที่ตัวเองเข้ามาถกเถียงในตัวสภาร่าง ซึ่งก็จะทำให้เห็นถึงรูปธรรมที่เราเคยทำมา คิดว่าน่าจะใช้งานได้ ควรที่จะเอามาดูต่อว่า เราควรจะเอามาใช้งานต่อ หรือปรับเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งอย่างน้อยเราควรรักษามาตรฐาน ไม่ให้ต่ำไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540

ส่วนตัวมองปัญหาของการคัดสรร ส.ส.ร.เข้ามา คือประชาชนมักจะไม่รู้ว่าคนเหล่านี้เป็นใคร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ากติกาการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นกติกาที่เรายอมรับได้ ซึ่งเราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย อยู่ดีๆ ก็มีคนร่างขึ้นมา ถ้าหากว่าเปรียบเทียบกันแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็น่าจะเป็นโมเดลที่เราควรปรับไปใช้ แล้วทำให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้นอีกทั้ง การคัดเลือกตัวคนที่มีความแตกต่างของวิชาชีพ จะมีการมองว่ามีคนกลุ่มไหนมากน้อยเพียงใด แล้วทำให้คนเหล่านี้มีตัวแทนของเขาเข้าไป ส่วนหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ ทางการเมืองและกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดวิถีพื้นฐานการอยู่ร่วมกันของผู้คน การที่จะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ จึงต้องครอบคลุมไปทุกมิติของสังคมว่า กติกาอะไรบ้างที่เราต้องเข้ามาเขียนร่วม เพื่อทำให้คนมาอยู่ร่วมกันโดยที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้งบานปลาย และเกิดข้อพิพาทที่รุนแรง

เราต้องมาดูกันอีกทีว่ากลุ่มวิชาชีพที่เราคิดว่าควรจะไปอยู่นั้น เป็นตัวแทนกลุ่มอะไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่าตัวรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีโมเดลเหล่านี้ค่อนข้างเยอะ ที่เปิดช่องให้คนกลุ่มต่างๆ ไปคัดเลือกกันเอง แต่ว่ามันไม่ค่อยเวิร์ก อย่างที่เราเห็นมาคือคนที่เขาเสนอกันไป จะเป็นคนที่มีอิทธิพล เนื่องจากมักมีการเสนอชื่อคนที่เป็นที่รู้จัก กลายเป็นคนหน้าเดิม ซึ่งรัฐธรรมนูญเหล่านั้นก็มีปัญหามาตลอด มันจะทำให้โมเดลแบบนี้วนอยู่กับที่ เราคงไม่เสนอชื่อคนที่เราไม่รู้จัก แต่จะเสนอคนที่เรามีข้อมูล ทำให้คนขอบเขตคนที่เราเสนอชื่อเข้าไปนั้นแคบลงเรื่อยๆ

เขาควรจะทำประชามติไปเลยว่า ควรร่างทั้งฉบับหรือไม่ ควรคัด ส.ส.ร.หรือเลือกตั้ง สามารถที่จะทำคำถามเบื้องต้นก่อนได้ เพื่อให้ชัดเจนตั้งแต่แรก ไม่ใช่เราทำไปเรื่อย สอบถามความเห็นคนแล้วไม่ได้ตั้ง ส.ส.ร.สักที

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

การสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ควรมาจากเลือกตั้งหรือแต่งตั้งนั้น ส่วนตัวมองว่าทั้ง 2 ทางมีทั้งข้อดีและข้อเสียคนละแบบ สมัยก่อนหน้านี้มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นการแต่งตั้ง ส.ส.ร.ทั้งหมด ไม่มีการเลือกตั้งเลย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ข้อดีคือ มีการกำหนดสัดส่วนเลือกตั้ง ส.ส.ร.ประจำจังหวัดขึ้นมา แต่ก็ยังผสมสัดส่วนของการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เข้ามาด้วยในช่วงนั้น ที่จำได้เป็นการแต่งตั้งอรหันต์ ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ

พอมาในยุคปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าสามารถออกไปได้ 2 แนวทาง ขึ้นอยู่กับว่าที่กำหนดให้ออกไปแนวทางไหน ซึ่งจะต้องมีการสอบถามประชามติด้วยว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ รวมทั้งต้องมีการถามด้วยว่าการตั้ง ส.ส.ร.จะเป็นในแบบสัดส่วนผสม หรือแบบเลือกตั้งทั้งหมด หากเป็นการผสมสัดส่วน ข้อดีคือจะได้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย หรือนักวิชาการนั่นเอง

เมื่อมองในมุมข้อเสีย หากมีใบสั่งหรือการชี้นำ จากเบื้องหลังการได้มาของ ส.ส.ร.แบบแต่งตั้ง ทำให้มีโพยตั้งไว้ล่วงหน้าที่ต้องการจะให้ร่างเนื้อหาออกมาแบบไหน ซึ่งมีลักษณะแบบนี้ในอดีต และในครั้งนี้จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด อยากให้ลองดูจะได้ไม่ต้องมีสัดส่วนของการแต่งตั้ง ส่วนทิศทางหรือเนื้อหา ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร ในแง่ของผมหากเป็นการเลือกตั้ง ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร เพราะเราเคยผ่านในสิ่งที่เป็นปัญหามาแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันไม่ได้เป็นธรรมาภิบาล 100 เปอร์เซ็นต์

สูตรการสรรหา ส.ส.ร.ที่ออกมาว่า แต่งตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ เลือกตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะควรจะเป็นสัดส่วนที่มีการเลือกตั้งมากกว่า หากเป็นแต่งตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ เลือกตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ จะมีปัญหาเหมือนในอดีต เหมือนเป็นการชี้นำหรือมีโพยมาก่อนในเบื้องหลัง นอกจากนี้ เมื่อสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้ค้านยาก เพราะสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ถ้าสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้งมีมากกว่า ก็พอจะค้านในสัดส่วนตรงนี้ได้ จำนวน ส.ส.ร.หากมีการเลือกตั้ง 77 จังหวัด ก็ควรมี 77 คน หากมาจากการแต่งตั้งอีก 20-30 คน ให้ครบ 100 คน ให้เน้นเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็น คือสิ่งสำคัญที่สุด

สเปก ส.ส.ร.ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับผม อันดับแรกต้องมีความคิดความอ่านในลักษณะเชิงปฏิรูปประเทศในทิศทางบวกและสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง กำหนดรัฐธรรมนูญไปในเชิงสร้างสรรค์ พร้อมทั้งลดความขัดแย้งส่วนใหญ่ในสังคม เมื่อมีสเปกแบบนี้ ผู้ที่เสนอตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ประจำจังหวัด ไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ก็ได้ เพียงแต่ว่าต้องมีประสบการณ์ในด้านการเมืองมากพอสมควร และเห็นถึงวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยว่าเรามีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านอะไรบ้าง บวกกับการมีใจที่จะมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ตอบโจทย์ประเทศไทยมากที่สุด

สำหรับผลดีและผลเสียสำหรับภาคประชาชน ถ้า ส.ส.ร.มาจากการแต่งตั้ง ก็อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกมา จะตระหนักและตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่รับโพย หรือผู้ชี้นำที่อยู่เบื้องหลังเด็ดขาด ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะมีภูมิหลังที่โน้มเอียงส่อไปทางที่ชี้นำกันได้ เขาก็ต้องปฏิเสธสิ่งนั้น เขาต้องตั้งต้นตนเองให้มีความเป็นธรรมาภิบาลที่สมบูรณ์ และพยายามทำงานประสานไปกับ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยให้เต็มที่ ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

ส่วนประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในกลุ่มเพศสภาพ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีโอกาสเข้ามาร่วมแก้ไขด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่ากลุ่มพี่น้องเหล่านี้ สามารถเสนอตัวลงเลือกตั้งได้ในต่างจังหวัด ก็ไม่เห็นว่าจะมีข้อจำกัดอะไร ในการที่พี่น้องชาติพันธุ์และกลุ่มอื่นๆ จะเข้ามามีสิทธิมีเสียง ในการเป็น ส.ส.ร. ซึ่งหากไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในระดับจังหวัด หรือระดับภูมิภาค ระดับประเทศก็มีเวทีความคิดเห็นที่กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์สามารถมาแสดงความคิดเห็นร่วมได้ และ ส.ส.ร.ต้องรับฟังอย่างเต็มที่ นำข้อมูลต่างๆ มาประมวลผล เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด ตอบโจทย์ความต้องการต่อกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ และกลุ่มอื่นๆ ด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะการกำหนด ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นในแบบไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดทั้งผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ดี หรือแต่งตั้งก็ดี ทั้ง 2 กรณีต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา ทำหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาล และไม่รับการชี้นำจากใครเพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ประเทศของเราต้องเดินหน้าต่อ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงสำเร็จ

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ส.ส.ร.จำเป็นจะต้องมีความยึดโยงกับประชาชนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งความยึดโยงดังกล่าว อาจจะได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม ถ้าเราเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ช่วงการมี ส.ส.ร.มีการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้เป็นการเลือก ส.ส.ร.โดยตรง แต่เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในลักษณะตัวแทนประชาชนภาคประชาคม ตัวแทนองค์กรธุรกิจการทำประชาพิจารณ์ประจำจังหวัดและการเลือกตัวแทนแต่ละจังหวัด 76 คนเข้ามาการเลือกตั้งทางอ้อมด้วย เพราะฉะนั้นเวลาคนบอกว่าการเลือก ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งโดยตรงรัฐธรรมนูญปี 2540 จริงๆ แล้วไม่ถูก ปี 2540 ก็เป็นการเลือกโดยอ้อม เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะไปให้ไกลกว่า ส.ส.ร.ปี 2540 จำเป็นจะต้องมี ส.ส.ร.ที่มาจากหลายทิศทางในการเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะแต่ละที่มาก็มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมดก็จะถูกตั้งคำถามว่า การที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จำเป็นจะต้องมีหัวคะแนน ต้องมีการทำแคมเปญ นักเลือกตั้ง นักการเมือง ก็จะได้เปรียบ ก็เป็นจุดอ่อน เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องอุดช่องว่างดังกล่าวด้วยการมีตัวแทนภาคประชาสังคมระดับจังหวัดในลักษณะที่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมก็ได้แบบ 2540 เป็นวิธีที่ 2 หรือการคัดสรรจากกลุ่มอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเป็นทางที่ 3 ก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องมีแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่เป็นกระบวนการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ นี่คือหลักการพื้นฐานจาก 3 ช่องทางนี้ถึงจะเป็น ส.ส.ร.ที่ได้รับการยอมรับ

ส่วนเรื่องการแต่งตั้งจริงๆ กระบวนการจากการคัดสรรจาก 3 ช่องทางดังกล่าว ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมีกระบวนจากการแต่งตั้งจากรัฐบาลอีก เพราะจะถูกตั้งคำถามแบบเดียวกับการตั้งคณะกรรมการศึกษารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้ง 3 ช่องทางเห็นว่าน่าจะเพียงพอที่จะมาเป็น ส.ส.ร. และในช่องทางดังกล่าวก็จะมีการเลือกกันเองให้เป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเอาผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเข้ามา คำถามก็จะมีว่าอย่างนั้นนักกฎหมายจะมีนักวิชาการอยู่นั้นด้วยหรือเปล่า คือนักกฎหมายหรือนักวิชาการไม่จำเป็นจะต้องเป็น ส.ส.ร.ก็ได้ในการตั้งคณะกรรมการยกร่าง สามารถมีกรรมการรับฟังความคิดเห็น พวกนักวิชาการ พวกนักกฎหมายและรัฐศาสตร์สามารถไปอยู่ในนั้นได้ นักเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะมีบางมาตราที่จะต้องพูดถึงในเรื่องระบบเศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการต่างๆ ในนั้นเข้าไปเป็นในลักษณะเป็นที่ปรึกษาให้ข้อมูล ไม่จำเป็นจะต้องมีการแต่งตั้งเป็น ส.ส.ร. ให้การแต่งตั้งมีความยึดโยงกับประชาชนจะเหมาะสมกว่า

เรื่องเงื่อนเวลาควรใช้เวลาเท่าไหร่ อย่างที่เคยบอกไป เราไม่ต้องศึกษาแล้วว่ารัฐธรรมนูญจะใช้อย่างไรสามารถทำได้เลยสามารถทำได้ตั้งนานแล้วการศึกษาเต็มไปหมดประเทศเรามีการปฏิรูปมาเป็น 10 ครั้ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่มีความขัดแย้งกัน มีร่างรายงานการปฏิรูปเต็มไปหมดเพราะฉะนั้นแค่ข้อมูลดังกล่าว สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลย เปิดให้ทำประชามติแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะฉะนั้นในการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติกันถึง 3-4 ครั้งคือทำประชามติให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำประชามติแก้ไขมาตรา 256 เลือกตั้ง ส.ส.ร.และทำประชามติรับร่างที่ ส.ส.ร.ยกร่างขึ้นมา เพราะฉะนั้นในการที่จะลงคะแนนเสียงกันถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งต้องกินเวลามากกว่า 6 เดือนอยู่แล้ว ต้องใช้เวลาตลอดสมัยรัฐบาลนี้

การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่งานของนักกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายทั่วไป รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ทุกสาขาวิชาทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์และประชาชนทั่วไป สามารถที่จะเข้ามาร่วมถกเถียงกติกากันอยู่ร่วมกันได้ รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายที่จะเขียนวางกับดัก เขียนเทคนิคทางกฎหมายเอาไว้ในนั้น แต่ควรเป็นการเขียนเนื้อหาที่เข้าใจได้ง่าย เป็นกติกาที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน นั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เพราะถ้าเราพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญก็จะไปมองเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย แล้วสุดท้ายก็จะมีเพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้น ที่เราเห็นมาร่างรัฐธรรมนูญตลอดเวลาอาจจะเป็นพวกที่เป็นนักวิชาการทางด้านกฎหมาย ผู้หลัก ผู้ใหญ่ดังกล่าว เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะต้องมีการปรับใหม่ เมื่อแบบเก่าไม่ได้ผลก็ควรจะลองเวอร์ชั่นที่ง่ายขึ้น ให้ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้มากขึ้น มาตราน้อยลง ผมคิดว่าแบบนั้นน่าจะเหมาะสมมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image