เสียงสะท้อนแก้ ม.13 รื้อ 2 ด่าน กม.ประชามติ

เสียงสะท้อนแก้ ม.13
รื้อ 2 ด่าน กม.ประชามติ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อข้อเสนอของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หวั่น พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 ที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือชั้นที่ 1 จะต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนชั้นที่ 2 ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ จึงเสนอลดเกณฑ์สัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิและลงคะแนนเห็นชอบเกิน 25% หรือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียด แต่เห็นด้วยกับการแก้เกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น จากผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งเป็น 25% ของผู้มีสิทธิทำประชามติทั้งหมด เพื่อให้การลงประชามติง่ายขึ้น สะดวก รวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ที่ผ่านมาสังคมไทยมองประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ไม่มั่นคง ไม่ตอบสนองเสียงประชาชนส่วนใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจเพื่อสร้างอำนาจใหม่ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จนมี ส.ว.จากการแต่งตั้งที่ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอำนาจ เพื่อให้รัฐบาลหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเครือข่าย ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ยิ่งทำให้ ส.ว.มีอำนาจต่อรองและได้รับผลประโยชน์มากขึ้น

Advertisement

การแก้มาตรา 13 พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่คัดค้านเพราะอาจกระทบอำนาจและผลประโยชน์ จึงไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้เหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกไม่นานก็ตาม หากต้องการแก้มาตรา 13 พ.ร.บ.ประชามติ ต้องพูดคุยหารือกับทุกฝ่ายให้เห็นชอบและผลักดันขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ หากทุกฝ่ายเห็นชอบแก้กฎหมายดังกล่าวน่าเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้และถอดบทเรียนการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวยังมีจุดอ่อน ข้อบกพร่องอีกมากที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าเป็นไปได้ หากประชามติแก้รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว อยากให้แก้ทั้งฉบับ โดยยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวตั้ง ถ้ายังทำไม่ได้
อยากให้แก้ไขบางมาตราที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคการพัฒนาประชาธิปไตยและประเทศ ดังเช่นพรรค ก.ก.และคณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญเสนอแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้การทำประชามติง่ายขึ้น และตอบโจทย์ประชาชนตรงจุด

การแก้กฎหมายดังกล่าวเชื่อว่าไม่ส่งผลต่อไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เคยหาเสียงไว้ ไม่ใช่เป็นการซื้อ หรือยื้อเวลาทางการเมืองเพื่อไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ต้องยึดหลักว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนได้รับประโยชน์หรือไม่ ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไรมากกว่า ถ้ารัฐบาลไม่แก้รัฐธรรมนูญตามนโยบายที่หาเสียงอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งสมัยหน้าได้

ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผลความจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ ไม่ใช่แก้พร่ำเพรื่อ หรืออำนาจผลประโยชน์ไปตกที่ใคร หรือฝ่ายไหน โดยอาศัยการทำประชามติและประชาชนเป็นเครื่องมือดังกล่าว

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การที่พรรคก้าวไกลขอแก้ไขมาตรา 13 พ.ร.บ.ประชามติ ผมเข้าใจในเรื่องของประชามติ ค่อนข้างจะเป็นปัญหาในเรื่องที่จะให้ประชาชนมาลงประชามติ เพราะยังมีเรื่องที่จะต้องถกเถียงกันอีกเยอะมาก โดยเฉพาะมาตรา 13 ต้องการให้ประชาชนมาลงประชามติเกินกึ่งหนึ่ง เพราะต้องการความชอบธรรมจากเสียงข้างมากจริงๆ สมมุติประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง 50 ล้านคน เกินกึ่งหนึ่งก็ต้องประมาณ 26 ล้านคน ทำให้มองเห็นว่าเป็นเสียงข้างมากของประชาชนที่มาลงมติ ขณะเดียวกันจะต้องแสดงความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งอีกรอบ อย่างน้อยต้องเกิน 13 ล้านคน คือการลงประชามติต้องการเสียงเห็นชอบข้างมากของประชาชนจริงๆ หลักการนี้ผมเห็นด้วย เพราะไม่ต้องมามีข้ออ้างว่าเป็นเสียงข้างมากจริงหรือเปล่า โดยหลังการมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านขั้นตอนของ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งพรรคก้าวไกลอาจจะกังวลว่าประชาชนจะให้ความสนใจน้อย ซึ่งในประเด็นนี้รัฐบาลรวมทั้งพรรคก้าวไกลอยากให้คนมาลงประชามติเยอะๆ ก็ต้องมาทำความเข้าใจกับประชาชนว่ารัฐธรรมนูญมีความจำเป็นอย่างไร จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทั้งหมด เมื่อไม่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้ ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนที่จะไม่มาลงประชามติ อาจจะมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของพรรคการเมือง เพื่อประโยชน์ของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนเพราะทุกคนมีสิทธิคิด

เพราะฉะนั้นหลักใหญ่ใจความทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล จะต้องทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีความจำเป็นอย่างไรกับชีวิต เศรษฐกิจ การเมืองของประชาชน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 พ.ร.บ.ประชามติ สุดท้ายแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เพื่อให้พรรคของตัวเองรอด

หากมองภาพโดยรวมพรรคก้าวไกลอยากแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่อยากแก้ ทำให้มองว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองยังไม่สามารถดึงสังคมเข้ามาร่วมได้ โดยพรรคเพื่อไทยคิดแบบว่าจะกระทบอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ หรือกลุ่มของตัวเอง ส่วนพรรคก้าวไกลอาจจะมีวาระประเด็นซ่อนเร้นในทางการเมือง ไม่ยอมสื่อสารกันจริงๆ ทุกคนก็จะเกาะกุมผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ประชาชนก็รู้ว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลไม่ได้สื่อสารข้อเท็จจริงกับสังคม ประชาชนก็มีสิทธิที่จะไม่ให้ความสำคัญและไม่สนใจ

จึงทำให้เกิดกระบวนการอยากให้มีการแก้ไขมาตรา 13 เกี่ยวกับการลงประชามติ เพื่อให้เกิดผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาก็คือการร่าง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญผมก็เห็นด้วย แต่ต้องมองว่าคนสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยังไม่ให้ความรู้กับสังคมเลย นี่คือเรื่องใหญ่ เมื่อไม่ให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคม ประกอบกับพยายามปกปิดประเด็นสำคัญๆ ของตัวเองเอาไว้ แล้วไปแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 เพื่อปลดล็อก เอาเสียงข้างมากแล้วกัน สมมุติถ้าคนมาลงประชามติกัน 5 ล้านคน ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมาก และเห็นชอบ 2.6 ล้านคนก็จบ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการเสียงข้างมาก โดยเฉพาะมาตรา 13 ได้วางไว้ถูกต้องแล้ว เพื่อลดการโต้แย้งและถือว่าเป็นเสียงข้างมากจริง

การที่พรรคก้าวไกลขอเสนอให้ลงคะแนน 25 เปอร์เซ็นต์ในการลงประชามติมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีตรรกะรองรับ เพราะเสียงข้างมากจะต้องเกินกึ่งหนึ่ง ถ้าประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง 50 ล้านคน เกินกึ่งหนึ่งก็ต้อง 26 ล้านคน แต่หากไปเอา 20 ล้านคน จาก 50 ล้านคน ทำให้มองได้ว่าไม่มีเหตุผลรองรับ ทำให้ประชาชนมองว่านี่คือวิธีคิดของนักเลือกตั้ง คือคิดเอาแต่ได้ประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงตรรกะของความชอบธรรมเกี่ยวกับเสียงข้างมากจริงๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ได้เดินเข้าสู่ปัญหา โดยทำอะไรก็ได้เพื่อให้ง่ายเข้าไว้ แต่ผมมองว่าเรื่องนี้แก้ยาก ในความเป็นจริงควรจะไปขอความเห็นจากประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขมาตรา 13 ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอมานั้นก็มองว่ายากเหมือนกันที่จะผ่านประชามติ เพราะจะมีคนค้าน และอ้างว่าจะต้องกลับไปทำในหลักการที่ถูกต้อง และประชาชนจะต้องให้ความสำคัญกับการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะต้องออกมาเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากมีการรณรงค์กันอย่างจริงจังเกี่ยวกับการลงประชามติ เมื่อประชาชนเห็นเองก็จะมาลงประชามติเกินกึ่งหนึ่ง ทุกอย่างก็จะเข้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญ มองไปแล้วสุดท้ายอยู่ที่ประชาชน แต่การเมืองในขณะนี้เหมือนกับตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยไปแก้กฎหมายง่ายๆ ต่อการลงประชามติ ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย

ผมไม่เห็นด้วยที่จะแก้มาตรา 13 พ.ร.บ.ประชามติ ส่วนจะทำให้ประชามติผ่านก็จะต้องกลับไปสู่หลักการของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงก็คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด คณะกรรมการชุดนี้ทั้งพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย จะต้องทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี’60 นั้นมีปัญหาอะไรบ้าง และร่างใหม่ประชาชนจะได้อะไรบ้าง รวมทั้งต้องให้ประชาชนมาลงประชามติตามมาตรา 13 ซึ่งต้องทำตรงไปตรงมาและมีวุฒิภาวะ จะทำให้สังคมเกิดการตื่นตัว แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างก็มีวาระซ่อนเร้นกันอยู่ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลมีวาระหมวด 1 หมวด 2 ซ่อนเร้น ซึ่งจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นยาก

อดิศร เนาวนนท์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

หากดูตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 13 ต้องการสะท้อนถึงความเห็นส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ แต่ในทางปฏิบัติจริงตามบริบทของสังคมไทยนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้มีสิทธิจะออกมาใช้สิทธิทุกคน 100% ดังนั้น การจะยึดหลักเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิจึงใช้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย คนมีความเห็นต่างกัน มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ซึ่งการที่นายพริษฐ์เสนอ 2 แนวทางนี้ตนเองเห็นด้วย เพราะจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญหลายมาตราค่อนข้างที่จะมีปัญหา ถ้าจะแก้ไข พ.ร.บ.นี้จะต้องมีการร่วมมือทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะจะต้องผ่านที่ประชุมรัฐสภาด้วย

ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ว่าจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นอำนาจของ ส.ว.ที่มีแนวทางเดียวกันกับพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว แต่ปัญหาในขณะนี้คือฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยเป็นรัฐบาลเดิมคงจะไม่เอาด้วยแน่นอน ยิ่งเป็น ส.ว.คงจะไม่เอาด้วยเช่นกัน ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงตกอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าทำจะส่งผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ถ้าไม่ทำจะถูกข้อครหาว่าไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทยถูกครหาว่าไม่ทำตามที่เคยหาเสียงไว้หลายเรื่องอยู่แล้วด้วย ถ้ามาเจอดอกนี้อีกพรรคเพื่อไทยก็หนักเหมือนกัน ส่วนถ้ามีการแก้ไขกฎหมายประชามติจะส่งผลต่อไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนมองว่าไม่น่าจะยืดเยื้อ ถ้าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมมือกันอย่างดี การจะเสนอ 3 วาระรวดก็คงจะทำได้ไม่ยาก

ส่วนหลังจากแก้ไขข้อกฎหมายแล้ว ช่วงการทำประชามติอยากเสนอว่าให้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิลงประชามติ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีมีพร้อมหมดแล้ว คนที่ไม่สะดวกเดินทางมาลงประชามติที่บ้าน ให้ใช้โทรศัพท์ลงประชามติได้ จะได้ไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาเดินทางมา หรือจะใช้ช่วงที่มีการเลือกตั้งอะไรก็ได้ให้เป็นวันลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยก็ยังได้ จะทำให้มีผู้ใช้สิทธิลงประชามติเพิ่มมากขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image