‘เศรษฐา’จัดงบ‘3.48ล้านล.’ พลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

หมายเหตุ – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อสภาผู้แทนราษฎร มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้

คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้

•หลักการ

ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,480,000,000,000 บาท (สามล้านสี่แสนแปดหมื่นล้านบาท) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,361,638,869,500 บาท (สามล้านสามแสนหกหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสามสิบแปดล้านแปดแสนหกหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาท) เพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 118,361,130,500 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นแปดพันสามร้อยหกสิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนสามหมื่นห้าร้อยบาท)

Advertisement

•เหตุผล

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2567

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

Advertisement

•ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

ตามแถลงภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นเป้าล่าสุดในไตรมาสที่ 3 โดยเป็นเป้าหมายที่ถูกปรับมาเรื่อยๆ โดยหลายหน่วยงาน

เป้าหมายการขยายตัวนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อภาคการส่งออกสินค้า และภาคการผลิตอุตสาหกรรม รวมทั้งภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สศช.ได้ประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7-2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ความสัมพันธ์ของงบประมาณรายจ่ายและแผนการพัฒนาประเทศงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2567 มุ่งทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการดำเนินนโยบายที่จะครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยมีการดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและนโยบายระยะกลางและยาว เพื่อเสริมขีดความสามารถในการเจริญเติบโตของประเทศ

เศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องมาจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเริ่มจากการสร้างอุปสงค์ (Demand) ในกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย นำไปสู่การผลิตสินค้า ที่จะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการผลิต ก่อให้เกิดการขยายอุปทาน (Supply) มีการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับการผลิตและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นทั้งประเทศ

การท่องเที่ยวยังคงจะเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทำให้การท่องเที่ยวเข้าถึงเมืองรองมากขึ้น สร้างงานและอาชีพในพื้นที่ดังกล่าว เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่ โดยรัฐบาลจะดึงดูดการท่องเที่ยวด้วยมาตรการต่างๆ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น นำจุดเด่นทางวัฒนธรรมไปนำเสนอให้กับเวทีโลก สนับสนุนการใช้อัตลักษณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา Soft Power ของประเทศในระยะยาวด้วย

ในขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายการลดรายจ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ซึ่งครอบคลุมไปถึงหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ การลดราคาพลังงาน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างพลังงานให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

ประชาชนไทยจะเข้าถึงแหล่งงานที่มีคุณค่ามากขึ้น สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถที่มาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนระดับโลกได้

ในการลงทุน วางแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนเกี่ยวเนื่องให้ครอบคลุมทุกมิติ การคมนาคมในประเทศจะสะดวกสบายมากขึ้น สามารถรองรับความต้องการได้ในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ และทำให้ระบบการคมนาคมและโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพ กลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window) ที่จะทำให้ขั้นตอนการยื่นเอกสารและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐสะดวกและง่ายดายมากขึ้น เป็นต้น

ประเทศไทยจะมีการลงทุนเรื่องน้ำที่ครอบคลุมทั้งระบบ เช่น น้ำในภาคการผลิต ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม

ทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทั้งป่าไม้ ป่าชายเลน ทะเล ชายฝั่ง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางธรรมชาติของประเทศ อากาศจะต้องสะอาด ฝุ่นพิษจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และประเทศไทยจะเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือด้านสังคมและความมั่นคง โดยประชาชนคนไทยจะต้องมีสุขภาวะที่ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เข้าถึงงานบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปต่อคิวอีกต่อไป โดยรัฐจะลงทุนการเชื่อมต่อข้อมูลทั้งระบบ อัพเกรดระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดียิ่งขึ้น

รัฐบาลจะดูแลลูกหลานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย รวมทั้งจะสกัดกั้นยาเสพติดที่ลักลอบข้ามพรมแดนไม่ให้สามารถเข้ามาแพร่กระจายได้

ด้านอัตลักษณ์และความเสมอภาค รัฐบาลจะทำให้คนทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยปราศจากเงื่อนไขทางเพศสภาพ อายุ ความเจ็บป่วยของร่างกาย ทำให้ได้รับสิทธิครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ และเข้าถึงโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางสังคมที่แท้จริง

รัฐบาลจะพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น สอดคล้องไปกับการพัฒนาความมั่นคงในทุกรูปแบบและให้ตรงกับยุคสมัย ระบบการเกณฑ์ทหารจะเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ

ด้านการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาที่เข้าถึงได้ พัฒนาสถาบันการศึกษาให้มีคุณภาพ และพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานและทันต่อยุคสมัย รวมทั้งขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมไปถึงระดับวิชาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับตลาดแรงงาน

และสุดท้าย ในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะแก้ไขจุดด้อยของฉบับที่ผ่านมา ผ่านการทำงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย

ประชาชนจะได้รับการบริการจากภาคราชการที่เร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น
ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษอีกต่อไป และยังทำให้เชื่อมโยงหลากหลายหน่วยงานเข้าเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน มุ่งหน้าไปสู่การเป็น E-government
ที่แท้จริงในอนาคต

ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลมากขึ้นผ่านกลไกในระดับชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ทำให้ประชาชนตื่นตัว และช่วยกันพัฒนาประเทศไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง

ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง

โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2,787,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3,480,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

จากการเพิ่มขึ้นของประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะทำให้รัฐมีรายได้ 2,787,000 ล้านบาท หรือเพิ่มกว่าร้อยละ 11.9 ทำให้รัฐบาลมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา และสามารถตั้งงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้ การชดใช้เงินคงคลัง และการตั้งงบประมาณ
รายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้

•ฐานะการคลัง

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 11,125,428.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่
เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

•สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,480,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 2,532,826.9 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361.1 ล้านบาท

รายจ่ายลงทุน 717,722.2 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320.0 ล้านบาท ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 7,230.2 ล้านบาท

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ

1.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง 606,765.0 ล้านบาท

1.2 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,150,144.0 ล้านบาท

1.3 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 214,601.7 ล้านบาท จำนวน 10 เรื่อง

1.4 งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 785,957.6 ล้านบาท

1.5 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 257,790.5 ล้านบาท

1.6 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 346,380.1 ล้านบาท

1.7 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361.1 ล้านบาท

2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณจำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการสรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง 390,149.3 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 393,517.9 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 561,954.2 ล้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 834,240.6 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 131,292.3 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 604,804.5 ล้านบาท

และ 1 รายการดำเนินการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ 564,041.2 ล้านบาท เพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง

•สรุป

งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2567 นี้มีงบประมาณรายจ่าย 3,480,000 ล้านบาท โดยจะมีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2,787,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท

แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 11.9  ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 4.1 และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาท อีกด้วย ซึ่งจะทำเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาล มีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 อีกด้วย

การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นไปตามกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image