โจทย์ร้อนรบ.เศรษฐา ฝ่าด่าน ‘40 ส.ว.’ การเมืองอำนาจเก่า

ประเด็นร้อนทางการเมืองเกิดขึ้นกับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน พุ่งตรงมาที่ตัว “เศรษฐา” นายกรัฐมนตรี โดยตรง เมื่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 40 คน

ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

จากกรณีนายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่ง จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต

และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

Advertisement

เนื่องจากศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7(4) และให้นายกรัฐมนตรียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

ขณะที่คำร้องในส่วนของนายพิชิต ภายหลัง ยื่นลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติ 8 ต่อ 1 เสียง สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

Advertisement

ส่วนคำร้อง กรณีขอให้นายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองแล้ว

เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่

นัยต่อทางการเมืองผ่านการเดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ของกลุ่ม 40 ส.ว. จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้ง 40 ส.ว. มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้จะอยู่ในสถานะ รักษาการ ส.ว. ขาดเพียงอำนาจโหวตเลือกนายกฯ แต่อำนาจอื่นๆ ในมือของวุฒิสมาชิก ชุดรักษาการยังเต็มเปี่ยม

การเดินหน้ารุกของ 40 ส.ว. จึงเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนของกลุ่มอำนาจเก่า ที่มีต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน ที่ควรมีอำนาจเต็มในการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร

ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่หากย้อนดูที่มาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ตั้งขึ้นมาแบบข้ามขั้ว

แม้จะได้กุมอำนาจฝ่ายบริหาร แต่เป็นรัฐบาลผสม ที่มีพรรคร่วมรัฐบาล จากขั้วอำนาจเก่าทั้ง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” นั่งหัวหน้าพรรค รวมทั้งมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้า คสช. เป็นผู้นำจิตวิญญาณ

นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่ขั้วอำนาจเก่าวางไว้ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2660 องค์กรอิสระ อย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเครื่องมือตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งนโยบายเรือธง อย่าง โครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตลอดจนการเดินหน้าทางการเมืองของรัฐบาลที่ยังทำไม่ได้เต็มที่

ทั้งที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การที่รักษาการ 40 ส.ว. ออกหน้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเศรษฐาที่เดินหน้าบริหารประเทศเข้าสู่เดือนที่ 10 จึงเป็นส่งสัญญาณเตือน

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้พึงระวังไว้ว่า แม้จะเดินหน้าทำงานได้ แต่ต้องเป็นไปแบบการประนอมอำนาจกับขั้วอำนาจเก่า เพื่อลดความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นนับจากนี้

ภารกิจของรัฐบาลเศรษฐา ประเด็นเฉพาะหน้า ภายใน 15 วันนับจากนี้ คือ การส่งคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ต่างคำร้องกรณีการตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงชี้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การกระทำของนายกฯ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5)

รวมทั้งไม่ได้ละเลย และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามข้อกล่าวหาในคำร้องของ 40 ส.ว.

แม้ไทม์ไลน์การพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ หากครบ 15 วัน ที่นายกฯ ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากมีเหตุให้ต้องพิจารณาหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

รวมทั้งอาจต้องมีการไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติม หากนายกฯ ร้องขอ ย่อมอยู่ที่ดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณาขยายเวลาการไต่สวนคำร้องดังกล่าวให้หรือไม่

โดยผลแห่งคดีย่อม ออกได้เพียง 2 ทาง คือ 1.ศาลชี้ว่าการกระทำของนายกฯ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5)

กับ 2.ศาลชี้ว่าการกระทำของนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 160(4) และ(5) ส่งผลให้ต้องสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี และต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอันร้ายแรง นั่นยอมจะส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลเพื่อไทยที่จะตกอยู่ในสถานะตั้งรับทางการเมือง

เนื่องจากจะต้องเข้าสู่กระบวนการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ แม้จะเหลือบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ให้เลือกอีก 2 คน คือ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ “ชัยเกษม นิติสิริ” แคนดิเดตนายกฯ

รวมทั้งมี ส.ส. 141 เสียง เป็นแรงหนุนสำคัญ แต่ผู้มีอำนาจในพรรค พท. ย่อมต้องประเมินความเสี่ยงทางการเมืองให้ดี

หากจะส่งแคนดิเดตนายกฯ คนใด คนหนึ่ง เข้ามารับไม้ นั่งนายกฯ คนที่ 31

โจทย์ร้อนทางการเมืองของรัฐบาลเศรษฐานับจากนี้ คือ ต้องระดมสรรพกำลังทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ให้เดินหน้าผ่านการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องของ 40 ส.ว. ที่จะชี้ชะตารัฐบาลว่าจะได้ “เดินหน้าต่อ” หรือ “จอดป้าย”

การเดินหน้าบริหารประเทศและทางการเมืองห้วงเวลาที่เหลืออยู่ นับจากนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลเศรษฐา ต้องก้าวย่างด้วยความรัดกุมและรอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยง ปิดจุดอ่อน

ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามนำมาเช็กบิลรัฐบาล จนต้องปิดฉากก่อนครบวาระ 4 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image