แพทองธาร VS ณัฐพงษ์ แถลง-วิพากษ์‘นโยบายรัฐบาล’

หมายเหตุ – น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ขณะที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) วิพากษ์ และให้คำเสนอแนะการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในห้วง 3 ปีนับจากนี้ ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 

รัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้ง ความมั่นคง และปลอดภัยในสังคม คือปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ดังนี้

Advertisement

นโยบายแรก จะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้าน และรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัย
ทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงิน และส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

นโยบายที่สอง จะดูแล และส่งเสริม พร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Advertisement

นโยบายที่สาม จะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงาน และสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพฯ เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย

นโยบายที่สี่ จะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้ง อุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นโยบายที่ห้า จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน และชุมชน และการประกอบอาชีพ

นโยบายที่หก จะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึง คว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ รวมทั้ง อาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้ง ยกระดับรายได้ของเกษตรกร

นโยบายที่เจ็ด จะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) รวมถึง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินมหาศาล ที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการ

นโยบายที่แปด จะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด และครบวงจร โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้า และตัดเส้นทางการลำเลียง ปราบปราม และยึดทรัพย์ผู้ค้าเด็ดขาด ค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ฝึกอาชีพ การศึกษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้ง มีระบบติดตามดูแล ช่วยเหลือไม่ให้กลับสู่วงจรยาเสพติดอีก

นโยบายที่เก้า จะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์

นโยบายที่สิบ จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการของรัฐได้สะดวก ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ปชน.

าเหตุที่ต้องอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลครบ 1 ปี จากรัฐบาลชุดที่แล้วพอดี วันนี้เป็นรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร เพราะปัญหาหลักนิติรัฐใช่หรือไม่ ที่ต้องตั้งคำถามนี้ก่อนที่จะพูดถึงธีม “1 ปี สูญเปล่า 3 ปี เจ๊า หรือเจ๊ง” เพราะอยากส่งต่อเป็นข้อสรุปว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เชื่อว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่สามารถส่งต่อนโยบายหลายอย่างใน 1 ปีที่ผ่านมาได้ หลักการนิติรัฐมีใจความที่ราบเรียบ คือประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ได้ปกครองด้วยการทำตามความอำเภอใจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

1 ปีที่สูญเปล่าของการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ และ 3 ปีจากนี้ จะตั้งชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “รัฐบาล 3 นาย” คือ นายใหญ่ นายทุน และนายหน้า ที่มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง หรือพูดง่ายๆ คือไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากอยู่ในระบบการเมืองเช่นนี้ 

หากมองย้อนกลับไป 1 ปีที่ผ่านมา ถามว่าประชาชนได้อะไรจากคำมั่นสัญญาของรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่หาเสียงไว้ว่าหากเป็นรัฐบาลจะแจกทันที แต่กลับเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ตอนแรกบอกเพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลปรับแผนมาเป็นทยอยจ่าย โดยจ่ายเป็นเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้จ่ายเป็นดิจิทัลวอลเล็ตตามที่หวังว่าจะเป็นโครงสร้างทางดิจิทัล ตอนแรกบอกจะใช้ระบบบล็อกเชน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ว่าสุดท้ายแล้วเงินจะหมุนไปเข้ากระเป๋าใคร แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าระบบบล็อกเชนจะยังอยู่ในโครงการหรือไม่ 

เรื่องหนี้เก่ายังไม่ได้แก้ไข เป็นนโยบายที่รัฐบาลเก่าตั้งโต๊ะแถลงไว้ใหญ่โตว่าจะแก้หนี้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า 90.8% ของจีดีพี เป็นหนี้ของครัวเรือน ที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง และเกษตรกรไทยปัจจุบัน 1 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทั้งนี้ รัฐบาลเคยประกาศว่าจะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ ปัญหาหมูเถื่อน ปัญหาปลาหมอคางดำ ที่ทำลายโครงสร้างราคาผลิตผลทางการเกษตร 

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขในระดับมหภาค 3 ไตรมาส การทำหน้าที่ของรัฐบาลที่มี พท.เป็นแกนนำ ตัวเลขจีดีพีภาคการเกษตรลดลง 3 ไตรมาสติด ไหนสัญญาที่บอกว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี 

ส่วนภาคธุรกิจ ขณะที่รัฐบาลประกาศจะปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดราคาพลังงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลยังไม่ได้เจรจาสัมปทานกับนายทุนพลังงาน ทำให้ค่าไฟฟ้ายังแพง จึงแก้ปัญหาด้วยการติดหนี้การไฟฟ้ากว่า 1 แสนล้านบาท ที่อนาคตต้องใช้เงินภาษีประชาชนใช้หนี้

ความท้าทายด้านชีวิตรายวัน ที่คนไทยต้องเจอปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท และเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่เคยอยู่ในคำแถลงของรัฐบาลชุดที่แล้ว และเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่กลับไม่ปรากฏในการแถลงนโยบายรัฐบาลนี้ 

ด้านสิ่งแวดล้อม ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ด้วยการจัดทำแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระจายแหล่งน้ำในภาคชนบท ทั้งน้ำประปาที่มีคุณภาพ และน้ำเพื่อการเกษตร ไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้ 

สิ่งที่อยากเห็นมากกว่าคำแถลงนโยบาย คือรายละเอียด ที่อยากให้ ครม.ลุกขึ้นตอบ เพราะยิ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ยิ่งต้องมีรายละเอียด ต้องรู้ลึก รู้จริง พร้อมนำไปปฏิบัติได้ทันที

นอกจากนี้ นโยบายแลนด์บริดจ์ ที่ตั้งข้อสงสัยถึงใช้งบประมาณของรัฐ การเวนคืนที่ดิน และเป็นนโยบายที่เอื้อนายหน้าค้าที่ดินใช่หรือไม่ สรุปนโยบายเรือธงของรัฐบาลมีประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการ
วันนี้อยากได้ยินคำตอบจากทุกท่าน

สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างนิติรัฐ และหยุดยั้งกระบวนการนิติสงคราม ที่นักการเมืองผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชน ผู้ที่ทรงอำนาจสูงสุดกำลังถูกถอดถอน
ถูกทุบทำลาย ด้วยกลไกทางจริยธรรม 

สิ่งที่ผมอยากเห็นอยู่ในหัวข้อแรกๆ ที่ไม่ได้มีอยู่ในนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ และควรจะเป็นนโยบายเรือธงเช่นเดียวกัน เพื่อให้เจ้านายของท่านที่ไม่ใช่ 3 นาย แต่เป็นประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่นโยบายนี้เคยเร่งด่วน ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 กลายเป็นไม่ด่วน หลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดที่แล้ว 

มาวันนี้ ผมคิดว่าทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันควรจะกลายเป็นนโยบายเร่งด่วนได้แล้ว และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กำลังรอฟังคำตอบว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลตัวแทนในวันนี้ที่ผมตั้งคำถามว่าอาจไม่ใช่รัฐบาลตัวจริง จะช่วยทำให้ 3 ปีต่อจากนี้ เป็น 3 ปีที่เจ๊ากับเจ๊ง ใช่หรือไม่ ถ้าเราไม่กลับไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทุกคำพูดของท่านมีผลผูกมัดต่อการดำเนินนโยบายต่อจากนี้อีก 3 ปี 

ผมอยากให้นายกฯพูดนอกสคริปต์ที่เจ้าหน้าที่เตรียมมา ผมเข้าใจว่าต้องทำ เพราะข้อบังคับตามกฎหมาย แต่ท่านลุกขึ้นตอบนอกสคริปต์ได้ อยากให้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีนอกจากการฟังสมาชิก หรือรับฟังความเห็นแล้ว ต้องชี้นำความคิดที่ถูกที่ควรให้กับสมาชิก และสังคมด้วย อยากให้นายกฯชี้นำรัฐบาลด้วยการลุกขึ้นตอบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศนี้

เราสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดำเนินการไปตามคณะกรรมการที่จัดตั้งมา และอีกส่วนหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ควรบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน 4 เรื่องคือ 1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหามาตรฐานทางจริยธรรม จัดวางตำแหน่งหน้าที่องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ให้เหมาะสมเป็นไปตามหลักสากล 

และอีก 3 เรื่อง พรรค ปชน.ได้เสนอเข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, การลบล้างผลพวงรัฐประหารโดยการยกเลิกคำสั่ง คสช.และการยุติวงจรอุบาทว์ โดยการเสริมสร้างกลไกในการป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารในอนาคต 

นอกเหนือจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังมีหลายวาระที่สามารถผลักดันร่วมกันได้ภายใน 3 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ อาทิ การกระจายอำนาจ ที่ท่านได้แถลงนโยบายไปแล้ว และการปฏิรูประบบงบประมาณ รวมถึง โครงสร้างภาษี หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มสวัสดิการประชาชนที่วันนี้ทุกคนยังได้รับไม่ทั่วถึง และไม่ถ้วนหน้าเป็นต้น ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมรอฟังคำตอบจากนายกฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image