ตัดเกรด‘รัฐบาล-ฝ่ายค้าน’
แถลงนโยบาย‘รบ.อิ๊งค์’
หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการต่อกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ขณะที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) วิพากษ์และให้คำเสนอแนะการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 กันยายนที่ผ่านมา
วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
จากนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันทีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำแถลงต่อรัฐสภาไปแล้วนั้น ผมมองว่านโยบายต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการขับเคลื่อนทั้งสิ้น มันไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในเวลาอันสั้น หากดูทิศทางแล้ว มันต้องใช้การศึกษาและพัฒนาโครงการ ทั้งในแบบระยะกลาง หรือระยะยาว
เสียด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับปรุงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และการแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น ระบบหนี้สินของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีการพูดคุยมาหลายรัฐบาล ฉะนั้นต้องการการแก้ไขที่เห็นภาพชัดเจน เร็วกว่านี้ อย่างการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินสด ที่ปรับเปลี่ยนมาจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น มันก็อาจจะเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น แต่การดำเนินโครงการในระยะยาว มันยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดูแล
ส่วนเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ก็ต้องศึกษาให้รอบคอบว่าจะมีกระแสต่อต้านหรือไม่ มีผลกระทบต่อรัฐอย่างไร กระทบต่อศีลธรรมอันดี ต่อคนในประเทศหรือเปล่า รวมถึงการควบคุมอย่างมีระเบียบวินัย จะสามารถทำได้เต็มที่หรือไม่ ทำแล้วจะคุ้มค่า คุ้มทุนหรือเปล่า ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนศึกษาความคุ้มทุนหรือไม่ น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทำอีกยาว
กระนั้นแล้ว ปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนตอนนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) ที่เราเห็นถึงปัญหาผลกระทบทางอุทกภัยใหญ่กันแล้ว ทั้งเชียงราย พะเยา น่าน และอีกหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน
เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี ซ้ำซาก หรือบางพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรมองปัญหาตรงนี้เป็นปัญหารูทีน (Routine) ต้องพึ่งพากลไกราชการอย่างเดียว แต่จะต้องมีการบูรณาการกันอย่างเป็นระบบด้วย
ทั้งนี้ นโยบายที่ได้แถลงไปแล้วนั้น อาจจะถือว่าสามารถพูดได้ในเชิงการวางยุทธศาสตร์ แต่ในแง่การปฏิบัติจริง ล้วนต้องใช้เวลาและศึกษาผล กระทบทั้งสิ้น
ด้านบทบาทความเป็นผู้นำของ น.ส.แพทองธาร ที่ได้นำแถลงนโยบายออกไปแล้ว มองว่ามีความน่าเสียดาย ที่ทีมคณะที่ปรึกษาอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ เพราะถ้าฉวยโอกาสตรงนี้ โชว์ความเป็นผู้นำทางการเมือง ในภาวะที่บ้านเมืองประสบปัญหาวิกฤต เช่น เชียงรายปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ แต่นายกรัฐมนตรีกลับมัวกังวลถึงแต่เรื่องแถลงนโยบายของรัฐบาล
แม้กลุ่มภาคประชาสังคมและอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ทางสังคม ได้ชี้ช่องทางรอดออกมา เช่น นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น ในช่วงที่กำลังเกิดการแถลงนโยบายได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 วรรคสอง
แต่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล อาจจะมีความกังวลต่อการถูกร้อง หรือตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่นั้น ตรงนี้คิดว่าสังคมเกิดกระแสผิดหวัง เพราะถ้านายกรัฐมนตรีเล่นเกมตรงนี้ ฉกฉวยการแก้ปัญหาได้ไว ต่อให้มีนักร้อง(เรียน)ทางการเมืองจ้องจับผิดอยู่ กระแสนั้นจะเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับไปหาคนร้องที่ไม่มีเหตุผล
สถาบันทางสังคมจะเข้าไปกระหน่ำซ้ำเติม กลับไปหาคนที่คอยจะไปจับผิด ร้องเรียนประเด็นทางการเมืองที่มากจนเกินไป ดังนั้น สิ่งที่น่าเสียดายมากสำหรับนายกรัฐมนตรี คือ การเสียโอกาสในการเป็นผู้นำทางการเมืองในช่วงเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ คือ คณะที่ปรึกษาต้องช่วยกันดูแลภาพลักษณ์ หรือบทบาทของนายกรัฐมนตรี ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
ส่วนด้านการอภิปรายของฝ่ายค้าน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ถือว่าสอบผ่าน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาในด้านสร้างการยอมรับ สร้างเสน่ห์ให้ดึงดูดใจ มากกว่านี้
เบื้องต้นความสำเร็จในการยกวาทกรรมเรื่อง “3 นาย” คือ นายใหญ่ นายทุน และนายหน้า ก็สามารถฝังความรู้สึกต่อผู้ที่ติดตามรับฟังการอภิปรายของพรรคประชาชนได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ทั้งหลายทั้งปวงการที่จะมอบบทบาทและความกดดันไปที่นายณัฐพงษ์อย่างเดียวไม่ได้ เสนอว่าอาจต้องขยาย “ยุทธศาสตร์” ของผู้อภิปรายต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะอย่าลืมว่าพรรคประชาชนเจอบททดสอบ หรือข้อกังวลในด้านกฎหมายต่างๆ อยู่
เวลานี้พรรคประชาชนต้องเร่งดันคนที่สามารถเป็นปากเป็นเสียง หรือสร้างคะแนนนิยมให้พรรคได้ กระจายกันออกมาให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากกว่านี้ อันนี้ก็เป็นสนามทดสอบเบื้องต้น ที่ต้องดูกันต่อไปอีกในระยะยาว
สุดท้ายแล้วคิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องแสดงข้อมูลตาม สื่อสารตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายผ่านรัฐสภาว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนติดตามและได้ติดตาม หรือทำให้เห็นการทำงานเพื่อประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รัฐบาลแพทองธารยังไม่สามารถสื่อสารถึงประชาชนได้ลึกและเพียงพอ ซึ่งคณะทำงานต้องทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งเราไม่ควรโฟกัสที่การทำหน้าที่ของตัวนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ยังมีรัฐมนตรีคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ถูกโลกลืม ต้องออกมาในพื้นที่สปอตไลต์มากขึ้น ทำให้เกิดการกระจายผลงานของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่มีแค่การทำงานของพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่างเดียว
ดังนั้น รัฐบาลต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นผลการทำงาน 3 ปีหลังจากนี้ว่า จะมีอะไรบ้างให้ประชาชนได้ติดตาม และสร้างการยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นรัฐบาลสืบสันดานตามที่คนกล่าวหากันมา
ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นโยบายของรัฐบาลในชุดนี้แทบไม่แตกต่างจากการแถลงการณ์ของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ผู้นำรัฐบาลยังคงเป็นพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ยังคงเดิม ยกเว้นแต่จะมีการเปลี่ยนสลับระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลที่แล้วมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของนายกฯแพทองธาร ส่วนพรรคพลังประชารัฐกลับไม่ได้ร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในพรรคที่เกิดขึ้น
ดังนั้นแล้วนโยบายของรัฐบาลนายกฯแพทองธาร จึงยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของราคาแพง ปัญหาราคาพืชผลที่ยังไม่ค่อยได้ราคา ปัญหาราคาค่าไฟที่แพงขึ้น ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคอากาศ น้ำท่วม ที่สำคัญคือ ปัญหายาเสพติดที่กำลังระบาดและเป็นปัญหาที่ ส.ส.เขตของพรรคกำลังเผชิญกับการร้องเรียนจากประชาชนซึ่งคล้ายกับคำแถลงการณ์ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
จากคำแถลงนโยบายของ น.ส.แพทองธาร เห็นได้ว่ารัฐบาลยอมรับว่ามีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ได้ปฏิเสธปัญหา หลังจากนั้นคำแถลงการณ์ที่ตามมาคือ การนำเสนอนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะนโยบายเรือธง ดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ นโยบายการยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร นโยบายการยกระดับ SME นโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น
ในทางกลับกัน การอภิปรายของพรรคประชาชนหรือฝ่ายค้านในอนาคต ให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างทางการเมืองที่รวมศูนย์ผูกขาดอยู่ที่นายทุน ปัญหาระบบนิติรัฐและนิติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่นำมาสู่การยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธินักการเมืองจำนวนมาก และทำลายระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ พรรคประชาชนที่นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยจากกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน ถูกตัดสิทธิโดยศาลรัฐธรรมนูญ และการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร นั้นมาจากระบบการเมืองที่บิดเบี้ยว พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ที่เป็นพรรคต้นกำเนิดของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันเคยถูกเล่นงานจากระบบการเมืองที่ขาดนิติรัฐ นิติธรรม เหมือนดังที่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคต้นกำเนิดของพรรคประชาชนเคยโดนมา
มากกว่านั้น การอภิปรายของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และ ส.ส.ของพรรคประชาชนแต่ละท่านทำการบ้านกันมาดีในเรื่องของประเด็นและข้อมูลในการอภิปราย มีการตั้งคำถามถึงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำว่า ทำไมถึงยังทำไม่สำเร็จ มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาโดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
มีการอภิปรายถึงการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนเป็นหลักมากกว่าจะแก้ไขปัญหาให้เศรษฐกิจให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้ทำให้คนฟังรู้สึกว่าการทำงานของรัฐบาล 1 ปีที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อมั่น มากกว่านั้น รัฐบาลชุดใหม่ของ น.ส.แพทองธาร ส่วนใหญ่ยังคงมีพรรคร่วมรัฐบาลเกือบจะชุดเดิมเหมือนกับรัฐบาลนายเศรษฐา ผลที่ตามมาการที่รัฐบาลแถลงนโยบายใน 2 วันนี้ยากที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะทำให้สำเร็จได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า เหมือนดั่งคำแถลงการณ์ของ น.ส.แพทองธารที่ว่า “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี”
สุดท้าย คิดว่าการแถลงการณ์ของรัฐบาลในรอบนี้และการอภิปรายของพรรคประชาชนจะทำให้เราเห็นแนวโน้มของประเทศไทยในอีกสามปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในรอบนี้มีเดิมพันที่สูงอีกเช่นเคยที่ต้องดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตและนโยบายอื่นๆ ที่พูดไว้ให้ออกมาให้ได้ มากกว่านั้นนโยบายที่ออกมาแล้วต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาทางสังคม ทั้งยาเสพติด ภัยพิบัติ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้ได้จริง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ถ้าทำไม่ได้การเลือกตั้งรอบต่อไปมีโอกาสที่จะได้ ส.ส.น้อยลง หรือไม่ต้องรอให้ถึงการเลือกตั้งรอบหน้า อาจจะถูกพรรคฝ่ายค้าน
น็อกด้วยข้อมูลในศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้
ในทางกลับกัน การมีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งเป็นผลดีมากต่อระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่านายกฯแพทองธารจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.จากพรรคการเมืองในสภา มากถึง 319 เสียง ในการรับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เข้มข้น การชี้ประเด็นให้สังคมเห็นถึงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล การทำตามนโยบายที่วางไว้ไม่สำเร็จ การไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้เหมือนอย่างที่แถลงการณ์ไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งรอบหน้า พรรคประชาชนมีโอกาสได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งและสามารถกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไปได้