พิชัยžดันจีดีพีปีž68 ทะลุ 3.5% รุกแก้หนี้ครัวเรือน-ปลุกลงทุน

หมายเหตุ – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the FutureŽ ในงาน CEO ECONMASS Awards 2024
สุดยอดผู้นำองค์กรประจำปี 2567 ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม

 

ไทยเราตกอยู่ในสภาพที่เศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ มายาวนาน 20 ปี และใน 10 ปีหลังนั้น ค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยรวมการเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ขยายตัว 10% เท่านั้น ถ้านับตั้งแต่โควิด 2563-2566 จีดีพีขยายรวมเพียง 0.4% ส่วนปี 2566 จีดีพีโตแค่ 1.9% ส่วนจีดีพีปี 2567 คาดอยู่ที่ 2.7% บวกลบ ทั้งนี้ เคยคิดว่าจะขยายตัวได้มากกว่านี้ แต่มีเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมเข้ามาแทรก ถ้านับเทียบจากปี 2566 เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด 35%

ส่วนปีต่อไป 2568 นั้น การเติบโตน่าจะมีอยู่ 10% จากปีก่อน เพราะฉะนั้น จีดีพีจะโต 3% ซึ่งตัวเลข 3% นั้น เหมือนอยู่กันไปแบบที่ไม่มองดูว่าประเทศไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง มีโอกาสอะไรบ้าง แต่เราคิดว่าน่าจะขึ้นได้สูงกว่านี้ แม้ว่าจะมองนึกถึงความหลัง หลายคนอยากให้จีดีพีกลับมาโตที่ 5%

Advertisement

แต่ส่วนตัวมองว่า อยากจะเห็น การเติบโตเป็นขั้นเป็นตอน โดยโตที่ 3.5% ต่อปี เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผู้บริโภค ที่ต้องการของถูกกับผู้ผลิตที่อยากเห็นราคาที่เป็นธรรม นั้นก็คือการพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อ อยากจะเห็นในระดับที่เหมาะสม ของไม่ถูกหรือแพงเกินไป สำหรับประเทศแบบไทยนั้น อัตราเงินเฟ้อขั้นต่ำควรขยายตัวอยู่ที่ 2% ต่อปี ส่วนประเทศที่อยากจะเติบโต เงินเฟ้อควรอยู่ 2.5% ต่อปี

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ด้วยค่าเงินเฟ้อที่ต่ำ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่มีอัตราการผลิตต่ำ เคยตกลงไปถึงระดับกว่า 50% จากเครื่องจักรเต็มกำลัง 100% ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้เฉยๆ เพราะผลิตขายออกไม่ได้ ขณะที่ของก็ถูกแต่ก็ยังขายไม่ได้ ส่วนด้านผู้บริโภค ถ้าของถูกควรจะดีใจแต่ไม่มีเงิน ดังนั้น จึงเป็นคำถามว่า ของถูกกับไม่มีเงิน กับของแพงขึ้นมาหน่อยแต่มีเงิน อยากได้แบบไหน

Advertisement

คำตอบ คือ อยากมีเงินก่อน เพราะฉะนั้นทางแก้ไขปัญหา (solution) ที่ถูกต้องคือการทำให้มีเงิน ส่วนราคาสินค้าก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะว่าของแพงยังไงก็มีสกัดได้อยู่ เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก แต่มีคนอื่นที่เข้ามาเคลื่อนไหวกลไกตลาด ดังนั้น ไม่มีทางใดนอกจากสู้ให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตให้ได้ แทนการรัดเข็มขัด

ก่อนอื่นเลย ถ้าจะทำให้เครื่องจักรเดินหน้าได้ ก็ต้องอาศัยคนในประเทศ ปัญหาที่ถูกพูดถึง คือเรื่องของหนี้ครัวเรือน ที่สูงในระดับ 90% โดยล่าสุดอยู่ที่ 89% ของจีดีพี ตัวเลขที่ลดลงมาจากการขยายตัวของจีดีพี คือ หนี้เท่าเดิม แต่จีดีพีโตขึ้นหน่อย เลยทำให้ตัวฐานใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารไม่ค่อยยอมปล่อยสินเชื่อ เพราะฉะนั้นปัญหาแรก คือ คนที่เป็นกำลังของประเทศ โดยเฉพาะครัวเรือน และเอสเอ็มอีมีหนี้ท่วม

ดังนั้น นโยบายรัฐบาล ต้องเข้าไปช่วยเหลือ คือหนี้ของรัฐ หนี้สาธารณะ ล่าสุดอยู่ที่ 65-66% ของจีดีพี ซึ่งจากเพดานไม่เกิน 70% ของจีดีพี โดยรัฐบาลก็ต้องมีวินัยในการใช้เงิน ง่ายๆ คือ ขณะนี้ไทยมีจีดีพีกว่า 19 ล้านล้านบาท ปีหน้าก็น่าจะขยับไปที่ 20 ล้านล้านบาท ดังนั้น 70% ของ 19-20 ล้านล้านบาท
ดังนั้น ก็ควรมีหนี้ไม่เกิน 14 ล้านล้านบาท แต่วันนี้ไทยเรามีหนี้กว่า 12 ล้านล้านบาทแล้ว เหลือช่องอีกแค่กว่า 1 ล้านล้านบาทเอง ถึงมีคำพูดว่า ช่องว่างทางการคลังเหลือไม่มากแล้วที่จะดูแลประเทศ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน อย่างน้อยหนี้ไม่ลด แต่ก็ภาระลด โดยหนี้เท่าเดิม หรือลดลงนิดหน่อย แต่ภาระการจ่ายลดลง มีโอกาสที่จะจ่ายยาวขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง เช่นเดียวกับที่ธนาคารออมสินดำเนินการมา ใช้จังหวะที่แบงก์แข็งแรง
ก็เข้ามาช่วยลูกหนี้

สำหรับที่ผ่านมา ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะรถกระบะ และอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็วๆ นี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ ขณะที่สถาบันการเงินก็จะมีโอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าไปในระบบมากขึ้น

ขณะที่นโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน แต่ก็มีคนเรียกร้องให้ต่ำอีก ซึ่งคนที่มีหนี้เยอะก็อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยต่ำ คนให้เงินให้สินเชื่อก็อยากจะได้ดอกเบี้ยสูง ดังนั้น สภาพคล่องจึงหายไปจากตลาด ปัญหาที่สอง คือ คนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

โดยการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ไม่ได้เป็นเพราะไม่มีสภาพคล่อง เราเป็นประเทศที่ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เราขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยมีสภาพคล่องเกิน มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงมาตลอด ขณะที่การลงทุนของไทยก็มีการลงทุนน้อย เราจึงตกอยู่ในฐานะที่เรียกว่า เป็นเศรษฐีที่ไม่มีอนาคต เนื่องจากไทยมีการลงทุนต่ำ

ซึ่งแตกต่างจากหลาย 10 ปีก่อน ที่มีการลงทุน อย่างเกิดขึ้นเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น มูลค่าการลงทุนกว่า 10 ล้านล้านบาท และสะท้อนกลับมาเป็นตลาดทุนไทยที่ขยายแตะระดับ 20 ล้านล้านบาท แต่การลงทุนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยจะต้องมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมสีเขียว พลังงานสะอาด นอกจากนี้ สกิลของแรงงานก็ต้องเปลี่ยนด้วย จำเป็นต้องมีการรี-สกิล อัพสกิล

การลงทุนปัจจุบันในไทยนั้น มีทั้งการลงทุนจากใน และต่างประเทศ โดยวันนี้ การลงทุนจากต่างประเทศที่ผ่าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมปี 2565-2567 มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาทแล้ว ถ้านับเฉพาะปี 2567 ถือว่าเป็นยอดการลงทุนที่ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีมูลค่า 7.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยังคงมีชาวต่างชาติสนใจมาลงทุนอีก แต่สิ่งที่เขาถาม คือ นโยบายรัฐบาลเรื่องอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอย่างไร สนับสนุนดาต้าเซ็นเตอร์กับคลาวด์ไหม อีกส่วนคือ มีพลังงานสีเขียว พลังงานทดแทนไหม ซึ่งจำเป็นต่อธุรกิจส่งออก อาจมีปัญหากำแพงภาษีคาร์บอน และไทยมีสิทธิประโยชน์ระหว่างประเทศไหม ซึ่งปัจจุบันไทยก็กำลังเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) รวมถึงรัฐบาลกำลังมีแนวคิดในการดำเนินนโยบาย การตั้งไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ (Financial Center) เพื่อให้นักลงทุน บริษัทต่างชาติ มาตั้งออฟฟิศในไทย ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ ที่มีศูนย์การเงินภายใน และใช้ระบบภาษี หรือกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นโอกาสให้คนไทยได้มีงานทำ มีการอัพสกิลและรี-สกิล ในด้านการเงินระดับนานาชาติ เป็นต้น

และอีกเรื่อง คือ ประเทศไทยมีผืนดินกว่า 300 ล้านไร่ 5.4 แสนตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 67 ล้านคน ถือว่าเรามีพื้นที่เหลือเฟือ ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้น ปัจจุบันแม้จะมีความสนใจเข้ามาจำนวนมาก แต่ต่างชาติที่ต้องการลงทุน ต้องการความยาวนาน การปักหลักฐานเขาจะมาอยู่กับไทยที่มีสัญญาเช่าที่นาน เช่น 99 ปี หากไม่มีสัญญาให้เช่าขนาดนี้ โอกาสที่จะทำให้การลงทุนนั้นยากขึ้น

ฉะนั้น นโยบายส่งเสริมการลงทุนหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้จึงจะผลักดัน คือ การสนับสนุนการใช้กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ และการขยายการเช่าที่ดินให้ยาวนานถึง 99 ปี แทนที่จะเป็น 30 ปี แบบในปัจจุบัน เพื่อให้นักลงทุนที่ดิน ตามกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ ที่ทำให้ต่างชาติสามารถขายสิทธิ หรือนำสิทธินั้นไปเป็นหลักประกันการกู้จากสถาบันการเงินได้

ทั้งนี้ เมื่อสัญญาครบ 99 ปี สินทรัพย์จะตกมาเป็นของของรัฐ หรือคนรายได้น้อย เพราะจะนำที่ดังกล่าวมาจัดสรรต่อ ขณะเดียวกัน จะนำที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เป็นของรัฐ ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์มานาน จะนำมาใช้ในหลักการทรัพย์อิงสิทธิด้วย โดยจะนำมาจัดสรรให้เป็นที่พักอาศัยสำหรับคนรายได้น้อย 99 ปี ในราคาประมาณ 70% ของที่ควรเป็น ก็เป็นโอกาสที่ดีของคนรายได้น้อยที่จะมีที่อยู่บนทรัพย์สิน บนสัญญา 99 ปี

คนรายได้น้อยต้องการอาศัยในตัวเมือง เช่น สีลม สุขุมวิท พระราม 4 เพราะคนรายได้น้อยต้องการเดินทางถึงที่ทำงานเร็วที่สุด เพื่อใช้แรงงาน ไม่สามารถอยู่ข้างนอก และเสียค่ารถวันละ 300 บาทได้ ฉะนั้น จึงเป็นความจำเป็นของทุกประเทศที่คนรายได้น้อยต้องอยู่ในเมืองได้

ขณะที่รัฐบาล ได้ผลักดันการลงทุนจำเป็นต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ซึ่งปัจจุบันต้นทุน
โลจิสติกส์ ของไทยสูงถึง 18% ของจีดีพี ซึ่งโครงการโลจิสติกส์ที่สำคัญคือ โครงการแลนด์บริดจ์ทำให้ไทยเป็นฮับด้านการขนส่งของสองฝั่งมหาสมุทร โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าจากจีนที่ผ่านช่องทางนี้จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้

รวมทั้ง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า จะมีการนำเสนอการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จริงๆ แล้ว ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมากที่จะทำให้เรื่องต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้ โดยทั้งหมดที่กล่าวมา มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะว่าเรามีความเห็นต่าง ไม่สามัคคี จนกระทั่งไม่สามารถนำสิ่งที่จะได้มาสู่ประเทศไทย

สุดท้ายแล้ว ความท้าทายต่างๆ นี้ อยากให้ประเทศไทยมีความสมัครสมานสามัคคี นำมาซึ่งการช่วยการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ให้ประเทศไทยเรามีความสุข การขับเคลื่อนนี้ต้องอาศัยการทำความเข้าใจ และสนับสนุนกันและกัน เพื่อให้ประเทศไทยเรากลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image