ส่องคดีฮั้วเลือก ส.ว.
‘ดีเอสไอ-กกต.’แยกกันสอบ
หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ กรณีคณะกรรมการคดีพิเศษ หรือบอร์ดดีเอสไอ มีมติรับพิจารณาคดีฮั้วเลือก ส.ว. 2567 เป็นคดีพิเศษ เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ขณะที่ กกต.ส่งหนังสือแจ้งดีเอสไอ เป็นไปตามมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.กกต. ว่าเป็นอำนาจในการวินิจฉัยของ กกต. เพื่อสอบกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.
เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
กรณีคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม รับเรื่องฮั้ว ส.ว.เป็นคดีพิเศษ ฐานฟอกเงินมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. 138 ราย ว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ เพราะการสรรหาหรือเลือก ส.ว.เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากร้องฮั้ว ส.ว. ต้องให้ กกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งตามที่ร้องหรือไม่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ เพราะการเลือก ส.ว. ใช้กฎหมายมหาชนที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ กกต. ถือเป็นกฎหมายรองรับเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงาน ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
กรณี กกต.อ้าง ม.49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการ กกต. ต้องดูว่ากฎหมายให้อำนาจหน้าที่และขอบเขตแค่ไหน ถ้าไม่ปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่ ใช้อำนาจเกินขอบเขตอาจถูกฟ้องร้องได้ เชื่อว่าฝ่ายกฎหมายของ กกต.ได้ตรวจสอบแล้ว
หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับเฉพาะอาจส่งผลให้คดีดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่สามารถส่งฟ้องอัยการได้ ศาลไม่รับฟ้องคดีดังกล่าว เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ดีเอสไอโดยตรง ถ้าส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของใคร ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับคำร้องพิจารณา แต่ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความแทน
ดังนั้น กลุ่ม ส.ว.สำรอง ที่ร้องเรียนกับดีเอสไอควรปล่อยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามขั้นตอนกฎหมายดีกว่า และเร่งรัด กกต.ดำเนินการโดยเร็ว โดยมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนซึ่ง กกต.ต้องดำเนินการคดีฮั้ว ส.ว.ให้ได้ข้อเท็จจริงภายใน 1 ปีก่อนหมดอายุความ
สุดท้ายเชื่อว่าเป็นเรื่องการเมือง พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยใช้เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจ และแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ก่อนเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ภายใต้พรรคร่วมรัฐบาล หากสองพรรคหาจุดลงตัวได้ เชื่อเรื่องดังกล่าวคลี่คลายโดยเร็ว และเงียบหายไปในที่สุด
ผศ.นพพร ขุนค้า
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
กรณีมติบอร์ดดีเอสไอ (กคพ.) รับคดีฮั้วการเลือกตั้ง ส.ว.ให้เป็นคดีพิเศษในฐานความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ขณะที่ทาง กกต.ถูกมองว่าทำสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2567 เป็นไปอย่างล่าช้านั้น มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินคาด
ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ เป็นสารตั้งต้นของการได้มา ส.ว.ชุดนี้ ถ้าจะมี ส.ว.ก็ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ตามแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งตามสัดส่วนของประชากร หรือหากจะไม่มี ส.ว. ก็แก้ไขปัญหาด้วยการมีสภาแบบสภาเดี่ยวไปเลย หากจะมี ส.ว.ซึ่งมีอำนาจมากล้นฟ้า แม้จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง ตลอดจนบุคคลในตำแหน่งสำคัญที่ยังต้องให้ ส.ว.เห็นชอบ
ขอขีดเส้นใต้ไว้ว่าที่มาของ ส.ว. ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง โดยที่วิธีการสรรหานั้นเป็นการเลี่ยงคำ ที่ใช้คำแบบศรีธนญชัย หากจะมีก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ให้ประชาชนได้ตัดสิน หากจะได้มาดีไม่ดีอย่างไรก็ต้องโทษกันที่ประชาชนด้วยกันเอง และขอเรียกร้องว่าอยากเห็นฝ่ายการเมืองจริงจังกับการแก้รัฐธรรมนูญ อย่ามัวมาเตะถ่วงกัน และมองนักการเมืองหรือสมาชิกรัฐสภาที่เตะถ่วงไม่เร่งแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นความไม่จริงใจต่อระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องไปแก้กันที่สารตั้งต้น คือรัฐธรรมนูญ 2560
ขณะที่พี่น้องประชาชนนั้นอย่าไปมองว่าแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องทางการเมืองไม่ใช่เรื่องปากท้อง แต่ให้มองว่าคือ ปากท้อง เพราะเป็นสารตั้งต้นในเรื่องของสถาบันการเมืองต่างๆ ตั้งต้นทั้งในเรื่องของการออกกฎหมายหรือนิติบัญญัติ ตั้งต้นในการบริหารประเทศ ตั้งต้นในการตัดสินคดีสำคัญของประเทศ คือ ตุลาการ
ขอเป็นกำลังใจให้ดีเอสไอที่ได้รับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ แต่ต้องทำอย่างจริงจังอย่าใช้การรับนี้เพื่อเป็นการต่อรองทางการเมือง เพราะมีกระแสบางอย่างบอกมาว่า เป็นการรับเพื่อต่อรองทางการเมืองของ ส.ว.กลุ่มสี หรือเสื้ออะไรบางอย่างแต่จะไม่ขอเอ่ย ที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอำนาจบางคน ขออย่าให้ออกมาเป็นภาพอย่างนั้น ขอให้เป็นภาพที่ให้เอา
ข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ ดีเอสไอที่ได้รับให้เป็นคดีพิเศษนั้น เพราะถือเป็นอำนาจหน้าที่ของเขาอยู่แล้วหากมีความเสียหายเกินกว่า 300 ล้านบาท
ถ้ามีเส้นทางการเงินก็ขอให้ทำอย่างจริงจัง ให้ประชาชนได้เชื่อมั่นว่ายังมีองค์กรสอบสวนยังไว้ใจได้ แม้ กกต.จะอ้างอิงว่ามีอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งหรืออะไรก็ตาม แต่ส่วนตัวเชื่อว่าพี่น้องประชาชนได้เคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว.แล้ว ต้องพึ่งพาอาศัยหน่วยงานแบบนี้ ก็ขอให้ทำอย่างจริงจังและอย่าฮั้วกันแบบซ้ำสอง
ส่วนที่ กกต.แจ้งว่าการสอบสวนคดีฮั้วนี้เป็นอำนาจในการวินิจฉัยของ กกต.ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.กกต. แต่ถ้าความผิดอย่างอื่นไปเกี่ยวพันกับหน่วยงานอื่น เช่น ดีเอสไอ ก็มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน ก็ไม่ได้ตัดอำนาจเขา แม้บางคนจะมองว่ามูลฐานมาจากกระบวนการสรรหา ส.ว. เพราะในความเป็นจริงแล้วเวลามีการสอบสวนเรื่องฟอกเงิน หากมีเหตุที่ต้องไปสอบสวนในความผิดอย่างอื่น เช่น การซ่องโจรนั้นก็ยังมีอำนาจทำได้ จึงไม่ได้ไปผูกขาดอยู่ที่ กกต.
ในความจริงแล้ว อำนาจเต็มก็อยู่ที่ กกต. เพียงแต่ว่าการทำงานของ กกต.ตอบโจทย์และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าท่านทำงานอย่างสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ อันนี้ขอตั้งเป็นคำถาม รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อ กกต.ในวันนี้ว่าเป็นอย่างไร จึงมองว่าไม่ได้ตัดอำนาจของดีเอสไอในการรับคดีเป็นคดีพิเศษในกรณีฟอกเงิน ส่วน กกต.หากจะเรียกศรัทธาคืนขอให้ท่านไปตรวจสอบให้สุจริตเที่ยงธรรม
หลายอย่างที่ออกมาพูดออกมาแถลงในการกระทำ แม้กระทั่งที่บอกว่าให้ผู้สมัครเอาโพยเข้าคูหาไปได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลไม่มีกฎหมายห้าม ทำให้ประชาชนรู้สึกแคลงใจต่อการทำงานของ กกต. จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเรียกศรัทธากลับมา
เมื่อก่อนเรามองว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นสภาผัวเมีย แต่อันนั้นประชาชนได้เลือกมา แต่อันนี้เป็นสภาที่จูงได้ หนักไปกว่าเดิม และจะเสียหายต่อระบบการเมืองอย่างมาก เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของใคร แต่หากท่านฮั้วมาก็ต้องฟังคนที่เป็นหัวหน้าฮั้วของท่าน แบบนี้ทำให้การเมืองเสียหาย ขอเรียกร้องว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
พื้นฐานความเป็นจริงของอำนาจ ส.ว. คืออำนาจในการส่งคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะในห้วงปีนี้ เป็นฤดูกาลแห่งการผลัดใบเปลี่ยนตัวกรรมการในองค์กรอิสระ หากปล่อยห้วงปีนี้ผ่านไปได้ มุมน้ำเงินก็จะคุมเกมการเมืองได้เบ็ดเสร็จ กับดักต่างๆ ในกฎหมายที่วางไว้เพื่อนิติสงครามก็จะตกอยู่ในอำนาจมุมน้ำเงิน แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ เป็นความเสี่ยงเกินกว่าที่จะรับได้ของมุมแดง
การตัดไฟแต่ต้นลมด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจกกล้วย การกดดันวางเงื่อนไขให้ ส.ว.ย้ายค่าย หรือแม้แต่คดีฮั้วเลือกตั้งก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อลดสัดส่วนจำนวน ส.ว.สีน้ำเงิน และอาจมีการวิเคราะห์กันแล้วว่าเหล่า ส.ว.ตัวสำรองน่าจะเป็นผลดีกับมุมแดงมากกว่า
การที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติรับคดีฮั้วเลือกตั้ง ส.ว. เป็นความผิดฐานฟอกเงินจึงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองว่าในห้วงปีนี้ ตัวแทนของสีแดงต้องได้โควต้าในองค์กรอิสระด้วย คล้ายกับการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล และการขยับของคณะกรรมการคดีพิเศษที่รับเพียงคดีฟอกเงินก็เป็นเพียงการเริ่มจากเบาไปหนัก เพราะเมื่อพบคดีฟอกเงินซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ และปลายทางของเงินหากรวมกันไปที่ปลายทางเดียวกัน ก็อาจมองว่าเป็นการทำกันเป็นกลุ่มแบบอั้งยี่ หรือซ่องโจรได้ แปลความได้ว่านี่คือการขยับระยะเวลาในการเจรจาของมุมแดงกับน้ำเงิน และในขณะเดียวกันก็มีเวลาให้กับ ส.ว.ที่ประสงค์จะเปลี่ยนสี
แม้ในทางการเมืองจะต่อรองกันไป แต่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคงหนีไม่พ้น ส.ว. โดยเฉพาะการงัดแง่มุมทางกฎหมายออกมาปกป้องตนเอง
แต่เกมแห่งกฎหมายไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายกฎหมายจะหยิบยกอะไรมาต่อสู้ หากแต่ ณ เวลานี้มีหน่วยงานของรัฐซึ่งกำลังถูกสังคมสงสัยว่าเป็นองค์กรตัวแทนมุมแดง กับองค์กรตัวแทนมุมน้ำเงินหรือไม่ อย่างไร โดย กกต.ถูกสงสัยว่าเป็นตัวแทนของมุมน้ำเงิน ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถูกสงสัยว่าเป็นตัวแทนของมุมแดง แน่นอนว่าบนนิติสงครามครั้งนี้ย่อมมีการยื้อกันไปมาด้วยการอ้างข้อกฎหมายเข้าใส่กัน
โดยฝ่าย กกต.ก็มองว่าเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ กกต.น่าจะใช้อำนาจเสร็จเด็ดขาดของ กกต.ทั้งหมด และอำนาจเหล่านี้ถูกพัฒนาการมาจากการแยกตัวเป็นอิสระจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เป็นอิสระ และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 49 ก็ให้อำนาจแก่ กกต.จัดการในความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองเท่านั้น ไม่น่าจะให้หน่วยงานอื่นแทรกแซงได้
ในขณะที่ฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในครั้งนี้มีมูลค่าตั้งแต่ 300 ล้านบาท ก็อ้างกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินที่รับเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสอบสวน จากนั้นหากพบว่ามีการทำผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ก็จะแจ้งให้ กกต.ทราบ นั่นหมายความว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะมัดมือชก กกต. ด้วยการทำสำนวนการสอบสวนยัดใส่มือปิดปาก กกต. ซึ่งแน่นอนว่าอาจได้เห็นการปฏิเสธจาก กกต. หรือไม่ กกต.ก็อาจรีบลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้คู่ขนานกันไป
แน่นอนว่าเกมซึ่งมีปลายทางอยู่ที่องค์กรอิสระ โดยมี ส.ว.เป็นสะพาน มุมแดงกำลังจะระเบิดสะพานเก่าทิ้งแล้วสร้างสะพานใหม่แทน แต่ก็คัดง้างกันไปมา ซึ่งเกมนี้อาจยาวเป็นซีรีส์มีหลายฉาก หลายตอน หลายตัวละคร ที่ปรับเปลี่ยนไปตามแกนกลางของอำนาจมุมแดงกับมุมน้ำเงินจะต่อรองกันได้ เกิดการลงตัวของผลประโยชน์ รวมถึงความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งต่อไป