ถอดบทเรียน “แผ่นดินไหว” รับมือภัยพิบัติ-ลดสูญเสีย

หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอแนะนักวิชาการในการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

อมร พิมานมาศ
นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและนักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวมีศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบให้อาคารในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอาคารสูงสั่นไหวอย่างรุนแรง ประชาชนรู้สึกได้ชัดเจน อาคารสูงจำนวนมากได้รับความเสียหายกับโครงสร้างส่วนที่รับน้ำหนัก เช่น เสา ผนังปล่องลิฟต์ มีการจำแนกระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นออกเป็น 4 ระดับ จากน้อยไปหามาก

ระดับที่ 1 ไม่พบความเสียหายในโครงสร้างรับน้ำหนัก ระดับที่ 2 พบความเสียหายเป็นรอยร้าวขนาดเล็ก ระดับที่ 3 พบความเสียหายเป็นรอยร้าวที่โตขึ้น และคอนกรีตกะเทาะหลุดออกมาจนเห็นเหล็กเสริม แต่เหล็กเสริมยังเป็นแนวตรง ไม่บิด งอ หรือเสียรูป และระดับที่ 4 พบรอยร้าวที่โตขึ้น คอนกรีตกะเทาะหลุดออกมา จนเห็นเหล็กเสริมคดงอ เสียรูป
เหล็กปลอกง้างออก โดยความเสียหายเป็นระดับที่รุนแรงสูงสุด เพราะส่งผลกระทบต่อกำลังรับน้ำหนักของโครงสร้าง

ADVERTISMENT

จากการลงตรวจพื้นที่อาคารหลายๆ หลังในระยะเวลา 2-3 วัน หลังเกิดแผ่นดินไหว พบความเสียหายในระดับที่ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายระดับ 2 อาจมีระดับ 3 บ้าง และเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในผนังส่วนที่ไม่รับน้ำหนัก สำหรับความเสียหายระดับ 4 มีผลเป็นส่วนน้อย
ยังคาดการณ์เป็นสัดส่วนที่ชัดเจนไม่ได้ แต่คาดไม่เกิน 5% จากการประมวลความเสียหายที่ตรวจพบในเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ บ่งชี้ว่า อาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯยังมีกำลังต้านแผ่นดินไหว แม้แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมจะเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากก็ตาม

ทั้งนี้แม้ว่าอาคารส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯจะผ่านการทดสอบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ แต่การเตรียมความพร้อมให้อาคารแข็งแรงขึ้นเพื่อรับมือต่อแผ่นดินไหวในอนาคตก็เป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่มากกว่านี้และเกิดขึ้นใกล้กรุงเทพฯมากกว่านี้ ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตามมีเพียง 1 อาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดการถล่ม สร้างคำถามให้เกิดขึ้น ทำไมอาคารสูง 33 ชั้นระหว่างการก่อสร้างจึงถล่มราบคาบแบบนั้นได้ เรื่องนี้ยังต้องพิสูจน์และประเด็นสำคัญที่อาจสะท้อนปัญหาหลายอย่างที่ซ่อนตัวใหญ่ นอกจากนี้การถล่มของอาคารหลังนี้ทำให้สะเทือนวงการวิศวกรรมโครงสร้าง ที่อาจต้องมาทบทวนหลายสิ่งหลายอย่าง

สาเหตุที่ทำให้อาคารหลังนี้ถล่มลงมาได้ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุไว้ 5 ประการ 1.ความไม่ปกติในรูปทรงอาคาร เช่น มีเสาชะลูด การวางตำแหน่งปล่องลิฟต์สูงที่เยื้องศูนย์ 2.ระดับแรงแผ่นดินไหวที่กระทำต่ออาคารหลังนี้ 3.วัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต เหล็กเสริมได้คุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ 4.มีการออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวอย่างถูกต้องหรือไม่ 5.มีการควบคุมการก่อสร้างตามมาตรฐานทางวิศวกรรมหรือไม่

ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมตามมา หากมีค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ปัจจัยเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น สามารถตรวจสอบย้อนกลับการออกแบบอาคาร การนำวัสดุทั้งคอนกรีตและเหล็กเส้นไปทำการทดสอบ ดังนั้น ในขั้นตอนนี้ ยังไม่ควรตัดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งออกไป แต่ควรดำเนินการตามหลักนิติวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะต้องจัดหาข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อประกอบการพิจารณาแต่ละปัจจัย

การที่จะไขปริศนาถึงสาเหตุการพังถล่ม จะต้องทราบจุดตั้งต้นที่เป็นสาเหตุของการถล่มนี้เสียก่อน และดูตามลำดับการถล่มที่ตามมา เนื่องจากการถล่มดังกล่าวเป็นการถล่มที่เรียก pancake collapse หรือ progressive collapse หมายความว่าจะมีจุดเริ่มต้นๆ ที่จุดใดจุดหนึ่งภายในอาคาร จากนั้นการถล่มจะลุกลามต่อเป็นทอดๆ สุดท้ายทำให้อาคารถล่มมา

จากการดูภาพบันทึกวิดีโอที่แสดงการถล่มของอาคาร พบจุดที่วิบัติหลายจุดด้วยกันเช่น 1.การระเบิดของเสาต้นบนและต้นล่าง 2.การเฉือนขาดของพื้นทะลุผ่านเสา และ 3.การวิบัติที่ปล่องลิฟต์ เป็นต้น ดังนั้นจะต้องจัดอันดับจุดเริ่มต้นของการถล่มโดยการวิเคราะห์จากภาพวิดีโอวงจรปิดที่หลายๆ มุมในเวลาเดียวกันมาพิจารณา
จากเหตุการณ์นี้เราเรียนรู้และได้เข้าใจอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับระดับการต้านทางแรงแผ่นดินไหวของอาคารส่วนมากในกรุงเทพฯ ได้เห็นว่าจะประมาทแผ่นดินไหวไม่ได้ และแผ่นดินไหวไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป การถล่มของอาคารที่กำลังก่อสร้าง อาจชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของอาคารหลังนี้ในประเด็นต่างๆ เช่นคุณภาพของบุคลากรในการออกแบบอาคารที่มีความซับซ้อน มาตรฐานในการควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ คุณภาพวัสดุได้มาตรฐานหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องรอการพิสูจน์ให้ได้ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือต่อไป

นอกจากนี้เหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ทำให้คนกรุงเทพฯตกใจต่อภัยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีแผ่นดินไหวรุนแรง แต่อีกมุมหนึ่งมันทำให้เราได้ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ ที่ชาวกรุงเทพฯไม่สามารถหนีไปไหนได้ ตราบใดที่รอยเลื่อนสะกายซึ่งเป็นรอยเลื่อนต้นเหตุยังอยู่ที่เดิม มีศักยภาพสร้างแรงแผ่นดินไหวได้ดังเดิม ส่วนพื้นดินของกรุงเทพฯยังคงเป็นดินอ่อนที่มีศักยภาพในการขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่าก็ยังคงเป็นชั้นดินอ่อนที่เราต้องอยู่กับมัน หรือกรุงเทพฯยังคงเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางความเจริญที่มีอาคารสูงจำนวนมาก เป็นความเสี่ยงที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่ปลอดภัยได้โดยต้องมีมาตรการด้านอาคารที่เหมาะสมรองรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

สำหรับอาคารที่ก่อสร้างใหม่ ปัจจุบันมีกฎกระทรวงแผ่นดินไหวมาตั้งแต่ปี 2550 และปรับปรุงแก้ไขในปี 2564 บังคับอาคารใน 43 จังหวัดต้องออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว และมีมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวของประเทศไทยเอง (มผย.1301/1302-61) ประเด็นสำคัญคือ ต้องการผู้ที่มีความรู้ออกแบบอาคารสูงต้านแผ่นดินไหวอย่างแท้จริง ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ยังไม่ได้มีวิชาการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวเป็นวิชาเฉพาะ ทำให้วิศวกรที่จบปริญญาตรี ยังไม่สามารถออกแบบได้ ต้องไปอบรมเพิ่มเติมหรือเรียนในระดับปริญญาโท ซึ่งน้อยคนที่จะทำการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวได้

ดังนั้นต้องเร่งสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวไว้ให้มากขึ้น

ส่วนอาคารเก่า แม้ผ่านการทดสอบแผ่นดินไหววันที่ 28 มีนาคม แต่ไม่ควรประมาท ควรเร่งหาแนวทางประเมินความแข็งแรงอาคาร ดูว่าอาคารเก่าสามารถรับการต้านแผ่นดินไหวได้ระดับใด จำเป็นต้องเสริมความแข็งแรงเพิ่มหรือไม่ ต่อไปอาจต้องพิจารณาระบบติดตามแผ่นดินไหวสำหรับอาคารสำคัญ โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ตามตำแหน่งต่างๆ ของอาคาร เพื่อตรวจจับแผ่นดินไหวและสามารถประเมินความเสียหายของอาคารได้ทันที
ไม่ต้องรอให้คนเดินขึ้นไปตรวจดูรอยร้าว ปัจจุบันราคาเซ็นเซอร์ตรวจวัดแผ่นดินไหวมีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก เจ้าของอาคารสำคัญหรืออาคารสูงควรพิจารณาติดตั้งระบบตรวจวัดดังกล่าว

ท้ายสุดนี้ เรื่องนี้เป็นบทเรียนให้เราได้ตระหนักว่า ภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยร้ายแรงที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ แต่ก็เป็นภัยที่เราบริหารจัดการให้ประชาชนปลอดภัยได้ การรับมือแผ่นดินไหวต้องใช้องค์ความรู้จากการวิจัย ซึ่งประเทศไทยมีนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปัจจุบันมีองค์ความรู้มากพอในการรับมือแผ่นดินไหว ความยากจึงไม่ใช่อยู่ที่การสร้างองค์ความรู้ แต่เป็นปัญหาว่าจะนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ให้ทันท่วงทีได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่น่าคิด หากแก้ปัญหานี้ไม่ออก บางทีอาจจะสายเกินไปหากแผ่นดินไหวตัวใหญ่จริงเกิดขึ้นมาเสียก่อน

สันติ ภัยหลบลี้
อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จ ากแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่าน มาเวลา 13.20 น. ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา
สะเทือน 24 จังหวัดประเทศไทย จากรอยเลื่อนสะกายขยับ ซึ่งรอยเลื่อนมีขนาดยาวมาก ในอดีต 500-600 ปี
ที่ผ่านมา มีบันทึกจากเครื่องมือตรวจวัด บันทึกจากประวัติศาสตร์ บันทึกทางธรณีวิทยา ปรากฏได้ว่า จากในอดีตมีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมากกว่าขนาด 7 ขึ้นไป เกิดขึ้นถึง 16 เหตุการณ์ ดังนั้นแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

การถอดบทเรียนแผ่นดินไหวในครั้งนี้ หลายคนบอกไม่เคยเห็นเกิดขึ้นมาก่อน เราไม่เคยรู้จักรอยเลื่อนสะกาย เพราะเวลารอยเลื่อนสะกายจะเกิด เขาจะเกิดขนาดใหญ่ๆ ทั้งนั้น มีนิสัยที่ไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ไม่เหมือนแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศไทยซึ่งนับแล้วเกิดขึ้นมากกว่ารอยเลื่อนสะกาย

เวลาเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่รอยเลื่อนสะกายเท่านั้น ส่วนมากจะเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนไปในระยะทางที่มากของแรงที่เกิด ส่งผลให้พื้นที่ข้างเคียงโดยรอบที่รอยเลื่อนเกิดปริแตก มีการบดขยี้ บีบอัดกันอย่างทันทีทันใด หลังจากนั้นก็จะมีแผ่นดินไหวตามมา หรือเรียกว่า อาฟเตอร์ช็อก

จำนวนแผ่นดินไหวตามจะล้อกับขนาดแผ่นดินไหวหลักที่เกิดขึ้น ยิ่งแผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่เท่าใด แผ่นดินไหวตามก็จะมีจำนวนเกิดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น และเกิดเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน โดยรอยเลื่อนสะกายที่ผ่านมา อาจมีแผ่นดินไหวตาม 7-8 เดือนจนถึง 1 ปี

เมื่อพื้นที่ยังช้ำเลือดช้ำหนองอยู่ แผ่นดินก็ต้องใช้เวลาในการสมานแผล แต่บางครั้งก็ไม่เสมอไป เราก็ต้องติดตามอยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม อาฟเตอร์ช็อกจะมีขนาดที่เบากว่าแผ่นดินไหวหลัก โดยครั้งนี้แผ่นดินไหวหลักเกิดขนาด 7.7 อาฟเตอร์ช็อกใหญ่สุดอาจจะขนาด 6.7 ซึ่งที่ผ่านในวันที่เกิดเหตุมีขนาดถึง 6.4 และลดลงมาเรื่อยๆ ตามลำดับ และเมื่อขนาด 7.7 แล้วอาคารยังไม่เป็นอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอาฟเตอร์ช็อก

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งคิดว่าตึกสูงในประเทศไทยน่าจะช้ำพอสมควร วันนี้ (31 มีนาคม) เกิดเหตุการณ์เมื่อเวลา 11.00 น. เกิดจากอาคารทรุด ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เรื่องของแผ่นดินไหว

หลังจากเหตุการณ์รอยเลื่อนสะกายเกิดขึ้น มองลึกมาที่รอยเลื่อนที่เคยเกิดขึ้น ต้องบอกว่ารอยเลื่อนสะกายไม่ได้เหนี่ยวนำให้รอยเลื่อยอื่นๆ ดุดันขึ้น เมื่อรอยเลื่อนสะกายทำงาน รอยเลื่อนทุกตัวก็ยังทำงานปกติ รอยเลื่อนที่ประเทศไทยควรระวังคือ รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย มีภูมิประเทศที่ชัด เขาเลื่อนมาไม่นาน ในทางธรณีแปรสัณฐาน มี 3 พี่น้อง
ซึ่งอีก 2 พี่น้องอยู่ในลาว และทางตอนใต้ของจีน อยู่เป็นแนวเดียว เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 ใน ค.ศ.2011 ที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย แต่รอยเลื่อนแม่จันเล็กสุดใน 3 พี่น้อง แต่ถ้าเทียบในประเทศไทย รอยเลื่อนแม่จันดุที่สุด

ในแง่ของสิ่งปลูกสร้างต้องตระหนักทั้งหมด ในอนาคตสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทยต้องหันมามองและตระหนักถึงรอยเลื่อนมากขึ้น แต่สิ่งปลูกสร้างในประเทศไทยปฏิบัติตามกฎระเบียบอยู่แล้ว ไม่สามารถสร้างอาคารตามยถากรรมได้ รวมถึงเขื่อนก็ไม่สามารถสร้างตามยถากรรมได้ ทุกเขื่อนในโลกต้องถูกกำกับดูแลโดย International Commission on Large Dams หรือ ICOLD ต้องมีมาตรฐานเพราะเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำหน้าที่กำกับดูแลการสร้างเขื่อนในระดับโลก

ส่วนการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวเมื่อเกิดขึ้น ในแง่ระดับโลก ต้องใช้งบประมาณระดับหมื่นล้านบาท เราสามารถแจ้งให้ทราบได้อาจจะหลังจากแผ่นดินไหว 30 วินาที ถึง 1 นาที สามารถทำได้ ญี่ปุ่นทำได้ สหรัฐทำได้ พื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเขาทำกัน

ประเทศไทยไม่สามารถทุ่มเงินงบประมาณขนาดนั้นได้ และเราก็ไม่ได้มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จึงอาจไม่คุ้มทุน เราจึงไม่มีระบบแจ้งเตือนก่อนภัยมา แต่สิ่งที่ทำได้คือ คือการส่งข่าวให้ประชาชนรับรู้ เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ผ่านบริการ SMS หากการสื่อสารเพอร์เฟ็กต์ 100% การส่งสารภัยพิบัติ จะถือว่าเป็นการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์มาก แต่ครั้งนี้ SMS เฟล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image