ไทยเร่งรับมือพิษ ”ทรัมป์ 2.0” มะกันโขกภาษีโหด “36%”

หมายเหตุ – น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ท่าทีประเทศไทย หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศเก็บภาษีต่างตอบแทน(ตอบโต้)กับหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 36% ขณะที่นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ให้ความเห็นถึงแนวทางรับมือผลกระทบต่อการส่งออกไทย

แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลไทยตระหนัก และเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ซึ่งได้ส่ง
ผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐ ในขณะที่กรอบแนวคิด และยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ มีความเป็นพลวัต (dynamic) และแตกต่างไปจากยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง

ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนโยบายในงาน Liberation Day เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 04.00 น. (เวลาไทย) ได้ประกาศขึ้นภาษีกับการนำเข้าจากทุกประเทศขั้นต่ำ ร้อยละ 10 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ และสหรัฐมองว่าเอาเปรียบสหรัฐ ตั้งแต่อัตราภาษีนำเข้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ จะถูกจัดเก็บ โดยแต่ละประเทศจะถูกปรับในอัตราที่แตกต่างกันในอัตราหารครึ่ง จากอัตราที่สหรัฐคำนวณว่าสินค้าของสหรัฐถูกจัดเก็บจากประเทศนั้นๆ

ADVERTISMENT

สำหรับไทย สหรัฐกำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ ร้อยละ 36 จะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกรายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐ ที่อาจไม่สามารถรับกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในระดับสูงได้ ดังนั้น ในระยะยาว ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และได้วางมาตรการรองรับในการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่มีตลาดสหรัฐเป็นตลาดหลัก

รัฐบาลขอเรียนว่า ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐในโอกาสแรก เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการติดตาม และประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิด และรอบด้านตลอด 3 เดือน เพื่อจัดเตรียม ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐมีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทยŽ
ที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ขณะเดียวกันไทยยังอาจใช้โอกาสนี้ ในการปรับโครงสร้างการผลิตลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับบางอุตสาหกรรมได้

ADVERTISMENT

ไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะสร้างเสถียรภาพ และสมดุลทางการค้ากับสหรัฐในระยะยาว มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นหนึ่งในกลุ่มมิตรประเทศเพื่อการลงทุน (Friend Shoring) ที่ทั้ง 2 ประเทศสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เอื้อซึ่งกันและกัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดโลก อาทิ ในภาคเกษตร อาหาร ที่สหรัฐมีสินค้าเกษตรจำนวนมากที่ไทยนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูป
เพื่อส่งออกไปตลาดโลก และในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การที่ไทยเป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive ที่สำคัญของโลก และอุปกรณ์ดังกล่าวก็จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Data Center และ AI ของสหรัฐ

สุดท้ายนี้ รัฐบาลไทยหวังอย่างยิ่งว่า รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ จะมองถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว ไทยยังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นพันธมิตร และมุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันสร้าง และพัฒนาภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อตลาดโลก ให้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อท้ายที่สุดจะช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ และภาคการเกษตรของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านการหารืออย่างสร้างสรรค์โดยเร็ว

ธนากร เกษตรสุวรรณ
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

การแถลงข่าวเดือนเมษายน 2568 สรท.ยังคาดการณ์ส่งออกปี 2568 เติบโตที่ 1-3% ยังไม่รวมผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ ที่ไทยถูกเรียกเก็บภาษีเป็น 36% คาดว่าผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐ จะเริ่มเห็นในเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกแพนิก และต้องติดตามกลุ่มสินค้าส่งออกออเดอร์ไปล่วงหน้า ซึ่งจะเห็นผลกระทบได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2568 ส่วนเรื่องภาษีนั้น ของไทยเป็นกลุ่มที่จะเริ่มในวันที่ 9 เมษายนนี้ คาดว่าน่าจะเจรจาไม่ทัน คงต้องทำ ตามนโยบายไปก่อน เบื้องต้นที่หารือกับรัฐบาล คาดว่าจะเร่งเจรจาภายในเดือนเมษายน

สรท.เชื่อว่าคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปี 2568 จะต้องปรับเปลี่ยนแน่นอน ยังไม่สามารถระบุผลกระทบ ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม การรีบขึ้นภาษีของสหรัฐไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่ภาษีนำเข้านั้น ผู้นำเข้าจะเป็นผู้ที่ต้องชำระ และต้นทุนเหล่านี้อาจถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภค หรือประชาชนในสหรัฐเอง อาจทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายลง โดยเฉพาะสินค้าไม่จำเป็น ทำให้มีผลกระทบต่อซัพพลายเชนของสหรัฐทั้งหมด เป็นผลกระทบแบบโดมิโน

ส่วนประเภทสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐมากที่สุด ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบ สัดส่วน 24.9% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด รองลงมา เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 11% ผลิตภัณฑ์ยาง 10.6% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด 5.8% รถยนต์ และส่วนประกอบ 4.5% เครื่องใช้ไฟฟ้า 4.1% เหล็ก และเหล็กกล้า 2.8% แผงสวิตช์ และตัวควบคุมกระแสไฟฟ้า 2.2% และเครื่องนุ่งห่ม 1.9% ทั้งนี้ ประเมินว่าผลิตยาง จะเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบ และเสียเปรียบประเทศคู่แข่งมากที่สุด

ฉะนั้น ปี 2568 ยังปัจจัยเสี่ยง และความผันผวนเสมือนระเบิดเวลาที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.Trade War Trump 20 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากมาตรการภาษีศุลกากร ส่งผลให้ต้นทุนทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น 2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่มีข้อยุติทั้งสงคราม รัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-กลุ่มฮามาส 3.ค่าเงินบาท ยังคงผันผวน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐ และปัจจัยราคาทองคำ และ 4.ปัจจัยเฝ้าระวังขนส่งสินค้าทางทะเล

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1.เร่งเจรจาสหรัฐ เพื่อ 1.1 ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1.2 เร่งนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการจากสหรัฐเพื่อลดการค้า 1.3 ใช้แนวทาง ASEAN+ ในการเจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ นอกจากนี้ ไทยควรที่จะประกาศจุดยืนของประเทศไทยที่เป็นกลางไม่เลือกข้างไปทางใดทางหนึ่ง

และ 2.เร่งเจรจา และใช้ประโยชน์ FTA กับประเทศค้าสำคัญ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐ โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับเอกชน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน 3.เร่งปฏิรูปการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในไทยเป็นส่วนประกอบหลัก ที่อุตสาหกรรมต้นน้ำ และซัพพลายเออร์
ภายในประเทศ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าจากการหลบเลี่ยงมาตรการ และปฏิรูประบบโลจิสติกส์ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า

วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา

ข้อเท็จจริงว่าทำไมสหรัฐถึงคำนวณอัตราเก็บภาษีศุลกากรใหม่กับสินค้านำเข้ากับไทยพุ่งถึง 36% และจริงๆ ข้อมูลของคำสั่งฝ่ายบริหารสหรัฐระบุว่า อัตราเก็บภาษีศุลกากรใหม่ของไทยอาจจะแตะอยู่ที่ 37% ต้องรอข้อมูลชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งสหรัฐยังไม่ได้แถลงรายละเอียด แต่ไทยได้คาดการณ์ไว้ว่า สหรัฐเคยกล่าวไว้ว่าการคำนวณภาษีคู่ค้านั้น จะไม่ได้คำนวณแค่ภาษีอย่างเดียว แต่คำนวณโดยคำนึงถึงหลักระบบการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นไปได้ว่าสหรัฐอาจจับจ้องมาตรการการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากไทย รวมถึงขั้นตอนกระบวนการนำเข้าที่ไม่อำนวยความสะดวกต่อสหรัฐ

แนวทางการเตรียมการรับมือ คณะทำงานได้หารือร่วมกัน รวมถึงได้หารือภาคเอกชน ทั้งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐ เบื้องต้น อาจเริ่มจาก 1.วางแนวทางการปรับลดภาษีนำเข้าบางรายการให้สหรัฐ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐ 2.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐ และ 3.ลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐ ทางคณะทำงานจะต้องคำนวณ และหารืออย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทยให้มากที่สุด

ถ้าสหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 11% จะทำให้การส่งออกของไทยกระทบ 7,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 1 ปี แต่ครั้งนี้สหรัฐขึ้นภาษีตอบไทยสูงถึง 36% อาจเสียหายใกล้เคียง 3 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) ถ้าไทยไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าคณะเข้าไปเจรจาต่อรองสำเร็จ อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ปี 2568 ที่ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่นั้น ต้องคำนวณอีกครั้ง

ทั้งนี้ การเจรจาต่อรองกับสหรัฐจะต้องเจรจาทุกมิติ ทั้งการค้าบริการที่สหรัฐ ได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน ความมั่นคง การทหาร การเป็นพันธมิตรที่ดี หรือแม้แต่ภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น และหากให้คะแนนความสำเร็จ ถ้าได้เจรจากัน น่าจะได้ถึง 7-9 เต็ม 10

อย่างไรก็ตาม มีข้อดีที่ทางไทยประเมินไว้ คาดว่าผลจากที่สหรัฐขึ้นภาษีประเทศคู่ค้าต่างๆ ครั้งนี้ จะทำให้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยเจรจากับประเทศต่างๆ รวดเร็วเพิ่มมากขึ้น ทั้งกรอบไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-เกาหลีใต้ และอาเซียน-แคนาดา

นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ โดยช่วงบ่ายของวันที่ 3 เมษายน 2568 ทางคณะจะหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในประเด็นต่างๆ เช่น อาจมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และส่งออกไปสหรัฐ

พณ.ได้จำแนกข้อมูลสินค้าไทย 15 ชนิด ที่ได้รับผลกระทบมากๆ และเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่าสูง ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลง
ไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องพรินเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น

ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจมีสินค้าจากหลายประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ หันมาส่งออก
เข้าไทย และอาเซียนแทนนั้น พณ.มีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการ พณ. เป็นประธาน คณะกรรมการได้ทำงานล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ลดลง มีมาตรการที่ใช้กับสินค้านำเข้า ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอซี) รวมถึงขึ้นบัญชีสินค้าเสี่ยงที่จะสวมสิทธิประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐ 49 รายการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image