หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอของนักวิชาการและหอการค้าจังหวัดถึงแนวทางการเปิดเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐ ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแบบตอบโต้จากไทยในอัตราสูงถึง 36% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายนนี้
หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ
ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา
สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของโลก การขึ้นภาษีครั้งนี้เป็นผลจากนโยบาย Make America Great Again ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการดึงฐานการผลิตกลับสหรัฐ และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผล
กระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการประเมินว่าอัตราภาษีที่จะปรับขึ้นจะอยู่ที่ราว 10-15% แต่การเพิ่มขึ้นจริงกลับสูงถึง 36% ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างจีนที่แม้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ รวมกว่า 54% หรือเวียดนามที่เริ่มเจรจาเชิงรุกกับสหรัฐไปก่อนหน้าแล้ว ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าผลกระทบจากภาษีใหม่นี้อาจฉุดให้การส่งออกไทยในปีนี้หดตัวลงอย่างน้อย 1% ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาภายในประเทศ เช่น เหตุการณ์ แผ่นดินไหว และการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่
ฟื้นตัวเต็มที่
ด้านรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเร่งเจรจากับสหรัฐ พร้อมเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบใน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพื่อส่งสัญญาณเชิงบวก การลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐ เช่น ข้าวโพดและไวน์ แม้จะไม่ใช่สินค้าจำเป็นในตลาดไทย แต่จะช่วยปรับภาพรวมตัวเลขทางภาษีให้สมดุลมากขึ้น และการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากสหรัฐ เช่น ข้อจำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลจากภาคประชาชนและผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับการลดมาตรฐานบางอย่าง เช่น การนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งอาจกระทบต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค และสร้างผลกระทบระยะยาวกับระบบอาหารในประเทศ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้ของสหรัฐ เป็นกลยุทธ์กดดันให้ไทยเข้าสู่โต๊ะเจรจามากกว่าจะเป็นการปิดกั้นทางการค้าอย่างถาวร เพราะในที่สุดแล้ว ผู้บริโภคชาวอเมริกันเองก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของนักการเมืองในสหรัฐ
ดังนั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ควรเจรจาเพียงฝ่ายเดียว โดยต้องเปิดรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง พร้อมศึกษากลยุทธ์ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาการค้า เช่น เวียดนาม ที่สามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วและได้เปรียบในระยะยาว
นี่คือบททดสอบสำคัญของรัฐบาลไทยในการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจภายใต้แรงกดดันจากนโยบายต่างประเทศ การตัดสินใจที่รอบคอบ การเจรจาที่ชาญฉลาด และการมีมาตรการรองรับอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นปัจจัยชี้วัดว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไว้ได้หรือไม่ในภาวะที่โลกกำลังผันผวนอย่างรุนแรงเช่นนี้
อัทธ์ พิศาลวานิช
ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน
น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรีไทย ควรนำคณะชุดใหญ่ที่มีรัฐมนตรีจากทุกกระทรวง ตัวแทนหน่วยงานรัฐที่สำคัญ และผู้บริหารภาคเอกชนที่มีศักยภาพการลงทุน เดินทางการเจรจากับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สหรัฐเองเลย เพื่อให้เกิดเอฟเฟ็กต์และเชื่อว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุป จบในครั้งเดียว เหมือนที่หลายประเทศผู้นำก็นัดหมายตรงและเดินทางไปพบปะและเจรจาเองเลย การเยือนครั้งนี้ต้องให้เห็นภาพว่าเป็นคณะใหญ่สุดที่ตั้งใจไปเยือนสหรัฐ ผู้ร่วมทีมต้องสามารถตอบข้อซักถาม มีอำนาจในการตัดสินใจทันที เช่น กระทรวงการคลังดูแลเรื่องอัตราภาษี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือกระทรวงพาณิชย์ดูเรื่องส่งออก ทำอย่างนี้แล้วเชื่อว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าประเทศไทยล่าช้าเตรียมแผนรับมือและการเข้าหารือกับสหรัฐ แม้ไทยจะช้าแต่ไม่สายเกินไปหากนายกรัฐมนตรีนำทีมไปเอง
การไปเจรจาต้องมีแผนและการลงรายละเอียดเป็นรูปแบบชัดเจนในทุกมิติ และมีเป้าหมายหรือเห็นผลได้ทันที หลักๆ ประการแรก อัตราการลดภาษีระหว่างกัน เช่น ไทยจะลดภาษีอะไรและเท่าไหร่ให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ อย่างกลุ่มสินค้าพวกข้าวและปศุสัตว์ ไทยควรเปิดให้สหรัฐนำเข้าเพิ่ม อย่างถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไทยเองก็มีนำเข้าจากหลายประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้ไทย อาจลดสัดส่วนลงและเพิ่มปริมาณนำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งหลายสินค้าสหรัฐก็ส่งไปจีนได้ยากขึ้น เขาก็ต้องหาตลาดส่งออกเพิ่มเหมือนกับไทย ขณะเดียวกันไทยต้องปกป้องสินค้าเกษตร หรือปศุสัตว์ที่เรายังไม่พร้อมเปิดให้นำเข้าเพิ่มเข้ามาแข่งขัน ขณะเดียวกันเราต้องศึกษาประเทศคู่แข่งที่มีสินค้าเหมือนไทยที่มีการทยอยลดภาษีนำเข้าให้สหรัฐแล้ว ไทยอาจปรับลดแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์ เพียงให้เหลืออัตรา 10-15%
ประการต่อมา มาตรการที่ไม่ใช้ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ไทยต้องเตรียมการชี้แจงเรื่องที่สหรัฐหยิบมาพิจารณาอย่างข้อกังขาไทยแทรกแซงค่าบาท รวมถึงการแก้ปัญหาแรงงาน สินค้าด้านสุขอนามัย สิ่งเหล่านี้ไทยดำเนินการอย่างไรแล้ว หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ชี้ให้เขาเห็นรายกระทรวงทำอะไรไปแล้ว อย่างที่สหรัฐเคยอยากให้ไทยแก้ไข
อีกประการ บอกให้เขารู้ว่ามีธุรกิจไทยรายใดจะไปลงทุนในสหรัฐเพิ่ม หรือมีรายใหม่รายใดที่กำลังเข้าไปลงทุนในสหรัฐ ซึ่งทรัมป์เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับประเทศไทย เมื่อครั้งนั่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐครั้งแรกที่มีการเจรจาเรื่องการซื้อขายถ่านหิน หรือเสนอให้ไทยนำเข้าหมูเนื้อแดงที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา บางเรื่องเราก็หายไปเฉยๆ เชื่อได้ว่าทรัมป์คงมีการจดจำในหลายเรื่องที่จะหยิบมาเจรจาได้อีกในครั้งนี้ ขณะเดียวกันต้องชวนสหรัฐเข้ามาลงทุนเพิ่มด้วย
จากนั้นก็ทำเป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ยื่นให้สหรัฐ เพื่อให้เกิดความชัดเจน มีการคำนวณให้ชัดเจน ที่ไทยนำมาเจรจานั้นจะลดดุลการค้าสหรัฐที่เดิมขาดดุลการค้ากับไทยประมาณ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะเหลือเท่าไหร่ จัดทำเป็นคู่มือให้ชัดเจน เช่น กำหนดรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงเป้าหมายรวมว่าอาจเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ภายในผลการหารือและแนวทางปฏิบัติออกมาแล้ว 6 เดือน เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ทรัมป์รับข้อเสนอไทยได้เร็วขึ้น เพราะหากช้ากว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่มีสินค้าส่งออกใกล้เคียงไทยอย่างเวียดนาม ถ้าเขาเจรจาและปฏิบัติได้ก่อนไทย ความสูญเสียของไทยจะยิ่งเพิ่มขึ้น
เรื่องดุลการค้าของไทยลงในรายละเอียด 90% มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกรถยนต์-ชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีมูลค่าสูง ภาคเกษตรเพียง 10%
ใน 90% รวมทั้งการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานในไทย รวมถึงนักลงทุนจากสหรัฐด้วย และนักลงทุนชาวไทย ซึ่งสัดส่วนการลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 70% คนไทย 100% น่าจะแค่ 30% เรื่องนี้ต้องติดตามว่าทรัมป์จะคิดเก็บภาษีล็อตต่อไปกับสินค้าของประเทศที่ย้ายฐานผลิต เช่น จีน ตั้งโรงงานในประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วส่งออกไปสหรัฐ จะเพิ่มภาษีนำเข้าส่วนนี้หรือไม่
ผลการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ทำให้การส่งออกไทยปี 2568 เจอ 2 เรื่องคือ ภาษีทรัมป์ 36% และเศรษฐกิจโลกลดลงไปอีก 1% ส่งผลกระทบการส่งออกไทยลดลงไป 7 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของการส่งออกไทย หากมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงไปอีกอย่าง เช่น เก็บทั้งภาษีพื้นฐานและภาษีตอบโต้สูงเกิน 36% ยิ่งกดดันส่งออกไทย มูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท ภาษีนำเข้าสูง ราคาในประเทศก็แพงขึ้น กำลังซื้อไม่ดี ผสมกันในสหรัฐ หลังขึ้นภาษีนำเข้า ย้อนมากระทบส่งออกไทยหดตัวหนักขึ้น อาจติดลบแตะ 5-6% รุนแรงพอๆ กับช่วงโควิดระบาด และจีดีพีไทยโตได้ 1.0-1.5% ปี 2568 ถือเป็นภัยพิบัติฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ
อีกประเด็น รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรที่มีการปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่วาทกรรม เหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา โดยต้องเร่งออกมาตรการช่วยลดภาระและชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นผ่านมาตรการลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ทันที 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เจอวิกฤต พร้อมกับรื้อข้อมูลเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ อย่างข้อมูลจากทูตพาณิชย์ถึงชื่อบริษัทนำเข้า หรือหน่วยงานเกี่ยวกับการค้าในสหรัฐ เป็นต้น