‘กอบศักดิ์’ชี้5ทางรอดไทย มหากาพย์ทรัมป์ขึ้นภาษี36%

‘กอบศักดิ์’ชี้5ทางรอดไทย
มหากาพย์ทรัมป์ขึ้นภาษี36%

หมายเหตุนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยในรายการ ทันเศรษฐกิจ ของธนาคารกรุงเทพ Episode 4 : The Aftershocks ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Bnomics เมื่อวันที่ 8 เมษายน โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้

อาฟเตอร์ช็อกจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐต่อไทย ในช่วงหลายวันมานี้ ถือว่ารุนแรงมากกว่าตอนประกาศในวันแรกๆ อีก เพราะในช่วงแรกตลาดหุ้นปรับตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ขณะนี้มีความผันผวนรุนแรง ทำให้ทุกคนกังวลใจ และมีคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงต่อไป เนื่องจากการคำนวณภาษีที่ประกาศขึ้นมากว่า 36% จากเดิมที่มีการคิดไว้เป็นจำนวนกว่า 72% การประกาศเพียง 36% จึงเป็นการลดให้ถึงครึ่งหนึ่ง แต่หากปรับขึ้น 72% ถามว่าจะกระทบกับสินค้าตัวใดบ้าง

จุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลกในศตวรรษที่ 21 จากที่เคยมีมหาสงครามการค้าโลกในช่วงปี 1929 ถึง 1934 ที่เกิดความวุ่นวาย ปั่นป่วนไปทั่วโลก คนตกงาน 25% จากทั้งหมด หรือ 100 คน จะตกงาน 25 คน มีปัญหาเศรษฐกิจทรุด การส่งออกทรุด มีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ครั้งนี้จึงมีความกังวลว่าจะมีปัญหาลักษณะเดียวกันตามมาหรือไม่ แต่อย่างน้อยมั่นใจว่า ศตวรรษที่ 21 มี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีความบ้าดีเดือดเพียงพอในการนำเรื่องมหาสงครามการค้าโลกกลับมาอีกครั้ง เพราะความจริงสงครามการค้าเริ่มต้นมาสักพักหนึ่งแล้ว โดยวันที่คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นสงครามยิ่งใหญ่มาจากการลงนามชื่อในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เห็นภาพเหตุการณ์ ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปรับลงกว่า 1,500 จุด ซึ่งความจริงแล้วการปรับตัวลงของหุ้นดาวโจนส์ถือว่าเป็นเรื่องปกติจะปรับลดประมาณ 200-300 จุด แต่การปรับลดลงถึง 1,500 จุดนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาแล้ว นานๆ ครั้งถึงจะเห็นเหมือนที่ได้เห็นในช่วงตอนเกิดโควิดระบาดที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

จากนั้นพอปรับตัวลงกว่า 1,500 จุด ตลาดอาจรับข่าวแล้วแต่ปรากฏว่าในวันถัดมาก็มีการปรับตัวลงกว่า 1,000 จุดเช่นกัน รวมสองวันแต่จะมีปรับลดลงกว่า 3,000 จุด เนื่องจากวันนั้นจีนมีการประกาศตอบโต้สหรัฐออกมาผ่านการปรับภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 34% เช่นกัน โดยภาพเช่นนี้เป็นเหมือนช่วงโควิด-19 ที่หุ้นสหรัฐเคยปรับลดลงแบบนี้เช่นกัน รวมถึงหุ้นในหลายตลาดที่แดงทั่วกระดานด้วย

หลังจากวันศุกร์ที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เข้าสู่วันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้มีความหวังว่าทุกอย่างจะมีข่าวดี ทรัมป์เปลี่ยนใจ เพื่อให้เปิดวันจันทร์ทำการมาทุกอย่างจะค่อยๆ นิ่งขึ้น แต่กลับเห็นภาพของวันจันทร์ทมิฬ หรือแบล๊กมันเดย์ ทำให้หุ้นหลายตลาดปรับลดลงอย่างรุนแรง อาทิ หุ้นนิเคอิ ที่ปรับตัวลงรุนแรงจนต้องหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว หุ้นไต้หวัน ก็มีการติดลบกว่า 9.7% เช่นกัน สะท้อนอาฟเตอร์ช็อกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะสิ่งที่มาเร็วที่สุด แม้ภาษีสหรัฐยังไม่ได้มาเต็มตัว แต่ความเชื่อมั่นและความกลัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนทยอยออกจากตลาดก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้

ADVERTISMENT

ผลกระทบตลาดทองคำที่ถูกมองว่าเป็นเซฟเฮฟเว่น หรือหลุมหลบภัยทางการเงิน แต่ขณะนี้เห็นราคาทองคำปรับลดลงมาพอสมควร เพราะหากอะไรที่มีกำไรแล้วก็จะถูกขายทำกำไรออกมา หรือหากมีความเสียหายก็ต้องนำส่วนนี้ไปชดเชย ทำให้มีแรงขายบางส่วนขึ้นมา แต่ยังไม่อยากให้ถอดใจ เพราะมองว่าในระยะยาว หากยังมีการทะเลาะกันอยู่แบบนี้ ทองคำจะต้องเป็นเซฟเฮฟเว่นที่ดีตัวหนึ่งแน่นอน เพราะกระทั่งดอกเบี้ยของสหรัฐในตอนนี้ก็มีการผันผวนเช่นกัน จากเดิมที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ แต่ตอนนี้มองว่ามีโอกาสปรับลดลงมากกว่านั้นอีก สะท้อนถึงมุมมองของตลาดที่มีความปั่นป่วนผันผวน และทั้งหมดขึ้นอยู่กับคนคนเดียวคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะเพิ่มเติมอะไรออกมาอีก

อีกตัวเป็นค่าเงินที่มองว่ามีความสำคัญ เพราะในช่วงของการต่อสู้สงครามทางการค้า ค่าเงินเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางการค้า หากเพื่อนจะขึ้นภาษีเรา 20% เราก็ลดค่าเงินลง บวกลบกันแล้วมูลค่ากลับไปอยู่ที่เดิม ไม่ได้มีความตื่นเต้นอะไร ทำให้ทุกคนจับตามองว่า จีนจะทำอย่างไรกับค่าเงินหยวน หลังจากเงินหยวนนิ่งมาสักพักใหญ่ แต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เริ่มเห็นเงินหยวนอ่อนค่ามากขึ้น เพราะถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่จีนสามารถเลือกมาใช้ได้ ซึ่งนัยยะต่อประเทศไทยคือ เมื่อเงินหยวนอ่อนค่ามากขึ้น การนำสินค้าจีนเข้ามาขายในไทย จะมีราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ทำให้สินค้าไทยอาจถูกสินค้าจีนโจมตีได้ เพราะเงินบาทอ่อนแม้มีการอ่อนค่าลง แต่ก็นิ่งในระดับ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไม่ได้ผันผวนมากนัก มีการบริหารจัดการได้ดีอยู่

อีกเรื่องที่เกิดขึ้นคือ เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในสหรัฐจำนวนคนกว่า 6 แสน-1 ล้านคน ที่ไม่พอใจโดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ ซึ่งจำนวนที่ออกมามากขนาดนี้ถือว่าไม่ปกติ เพราะนอกจากประท้วงในสหรัฐแล้วยังมีการประท้วงในหลายประเทศร่วมด้วย

ขนม 3 ชั้นในการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ แบ่งเป็นระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม และระดับบริษัท ที่มีการกำหนดทั้งภาพรวมประเทศ บางอุตสาหกรรม หรือบางบริษัท ที่แม้ยังไม่ได้เห็นในข้อสุดท้ายมากนัก แต่คาดว่าในอนาคตอาจได้เห็น หากพบว่ามีการผลิตและส่งออกในประเทศที่ต้องการเก็บภาษีในระดับสูง โดยทรัมป์มองว่าสหรัฐกำลังถูกเอาเปรียบ ในการจัดเก็บภาษีสินค้าสหรัฐที่สูงมากกว่า กระบวนการนำเข้าสินค้าที่ล่าช้า และนโยบายในประเทศที่เป็นอุปสรรค ซึ่งทรัมป์มีแนวคิดต้องการให้เปลี่ยนแปลงไปคือ ใครคิดเราเท่าไหร่ เราคิดเขาคืนเท่านั้น เพราะต้องการให้เกิดความยุติธรรมในการค้าระหว่างประเทศ

ความหวังที่นักลงทุนต้องการเห็นคือ ทรัมป์จะยอมถอย หลังจากเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง แต่ทรัมป์ประกาศแล้วว่าจะไม่ถอย ระบุว่าตอนนี้ได้ผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว สามารถเริ่มต้นการค้าใหม่ได้ ต้องใส่อัตราใหม่เข้าไปโดยเฉพาะใน 57 ประเทศที่อยู่ข้างบน สมดุลต่างๆ ที่เคยมีในอดีตจะเสียไปและทำให้เกิดสมดุลใหม่ขึ้น การปรับลดลงของดัชนีหุ้นเป็นเพราะความอ่อนแอเท่านั้น สะท้อนจุดยืนของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะไม่ยอมถอยจากเดิมแน่นอน

หลังจากสหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษี สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ขอเจรจา กลุ่มที่รับสภาพ และกลุ่มที่ตอบโต้ เพราะไม่ยอมรับในการกระทำของทรัมป์ ยกตัวอย่างกลุ่มที่ขอเจรจา อาทิ เวียดนาม ที่พร้อมลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเหลือ 0% แตกต่างจากจีนที่ประกาศมาตรการตอบโต้การปรับขึ้นภาษีสวนสหรัฐกลับเช่นกัน โดยมองว่าความจริงสหรัฐต้องการให้ทุกประเทศเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ เพื่อแลกกับอัตราภาษีที่ไม่ได้เสียตามที่กำหนดไว้เดิม เพราะตัวเลขทั้งหมดที่สหรัฐคำนวณมานั้นไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องผูกกับความเป็นจริง แต่ก็เป็นตัวเลขที่ใหญ่พอจะทำให้แต่ละประเทศนั่งไม่ติดได้ อาทิ กำหนดเก็บภาษีจากเวียดนาม 46% โดยเป้าหมายของสหรัฐคือ ต้องการทลายกำแพงการค้าของประเทศต่างๆ ลดการขาดดุลการค้า สร้างระบบนิเวศของการค้าโลกใหม่ เพื่อไม่ให้สหรัฐถูกเอาเปรียบอีกต่อไป รวมถึงสร้างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้น และหาเงินมาใช้ในการชำระหนี้ของสหรัฐ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การค้าขายโลกจะเป็นภาพของสหรัฐและจีน จะไม่ค้าขายกันเอง แต่สหรัฐและจีนจะไปค้าขายกับเพื่อนตัวเอง ซึ่งเพื่อนของสหรัฐและจีนก็สามารถค้าขายกันได้ ภาพจึงแตกต่างจากเดิม การแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปและเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่จะชัดขึ้นเรื่อยๆ มีหลายมิติมากขึ้น อาทิ เอไอ ทำให้การเผชิญหน้าในมิติอื่นๆ จะเกิดขึ้นเช่นกัน รวมถึงเรื่องอำนาจและการทหาร สุดท้าย จะนำไปสู่การแข่งกันจับขั้วเพื่อนำไปสู่การแข่งขันที่ใครจะมีพวกมากกว่ากัน ซึ่งก็หวังว่าจะไม่เห็นการตีกันในช่วงสุดท้าย

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นมาแล้วคือ สงครามการค้าเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การเจรจาการค้าเสรีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็หวังว่า ทรัมป์จะไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนครั้งที่ผ่านมา คือ เลือกตั้งกลางเทอมอีก 2 ปีจากนี้แล้วแพ้จากพลังแค้นของประชาชน ซึ่งการทำงานจะยากขึ้น เพราะมีอำนาจเพียง 2 ปีเท่านั้น

ทางออกของประเทศไทย ต้องเตรียมการในหลายเรื่อง ทั้งผลกระทบจากภาษีที่ขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร รวมถึงหากจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปสหรัฐได้ สินค้าจีนที่จะเข้ามาในตลาดอื่นแทน ซึ่งอาเซียนจะมีสินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามา จึงอยากเตือนผู้ประกอบการรายย่อยให้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ เราจะเห็นการแข่งขันในด้านเทคโนโลยีที่จะพัฒนารวดเร็วมากขึ้น การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นจากผู้เล่นใหม่ในภูมิภาคเดียวกัน และการเผชิญหน้าระหว่างประเทศมหาอำนาจที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยผล กระทบกับไทยมี 5 ช่องทาง ได้แก่ การค้า การท่องเที่ยว เงินลงทุน ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ และความเชื่อมั่น ที่ตอนนี้เริ่มเห็นการยกเลิกคำสั่งซื้อเพราะไม่มั่นใจว่ากำแพงภาษีที่ต้องเสียจะจบลงที่อัตราใด จะสามารถเจรจาได้หรือไม่ หากรออีก 3 เดือนอาจได้ราคาที่ดีกว่านี้ และช่วงก่อนหน้าก็มีการนำเข้าสินค้าไปตุนไว้บางส่วนแล้ว สิ่งที่น่าเสียใจคือ ความจริงภาคการท่องเที่ยวที่ตอนแรกคิดว่าน่าจะดี แต่มาเจอกรณีนักแสดงจีน แผ่นดินไหว จึงมีปัญหาเยอะมาก ทำให้รัฐบาลต้องใส่เครื่องมือเสริมเข้าไปให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้ไทยรอดได้

5 ทางออกที่ประเทศไทยจะเอาตัวรอด ได้แก่ 1.เริ่มเจรจาแบบจริงจังกับสหรัฐ และประเทศเป้าหมายการส่งออก เพราะวันนี้มี 70 ประเทศที่จะไปเจรจากับสหรัฐ หากช้า หรือไม่จริงใจ ไทยจะเสียเปรียบด้านความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าโลก 2.รักษาโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารกรุงเทพมองว่าจีดีพีไทยปีนี้น่าจะโตต่ำกว่า 2.5% จากเดิมที่คิดว่าจะโต 2.5-3% การที่จะรักษาให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับนี้ ต้องพึ่งพาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รัฐจะต้องสนับสนุนทรัพยากรให้กับการท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะหลังจากเจอแผ่นดินไหว และถูกขึ้นภาษีการค้า ทั้ง 2 ปัจจัยจะส่งกระทบต่อการท่องเที่ยวทางอ้อม เพราะคนกลัวไม่ปลอดภัย และภาษีทำให้รายได้ของประเทศต่างๆ ลดลง ประชาชนก็จะลดการท่องเที่ยวลงไปด้วย 3.เตรียมรับมือสินค้าจีนที่จะเข้ามาในไทยมากขึ้น หลังจากส่งออกไปยังสหรัฐไม่ได้ 4.ลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐและจีน รวมถึงมองหาตลาดส่งออกใหม่ และ 5.การวางตำแหน่งของไทยในด้านภูมิรัฐศาสตร์การเมือง รักษาความเป็นมิตรกับทั้ง 2 ประเทศนี้ต่อไป อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือในการถูกนำเข้าไปเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อรวมกลุ่มโจมตีกันและกัน

สำหรับการลงทุนหุ้นไทยในตอนนี้ ถือว่าตลาดทุนไทยกำลังมีมรสุมเข้ามา เหมือนเป็นการเล่นเจ็ตสกีในวันที่คลื่นแรงเสี่ยงตาย ต้องเลือกไปเล่นวินด์เซิร์ฟ แทน จึงต้องประเมินความเชี่ยวชาญของตัวเองก่อน และถามตัวเองว่ามีความพร้อมที่จะรับมือกับมรสุมมากแค่ไหน อย่างไร เพราะจะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สภาวะตลาดสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความกลัว มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน เพราะไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ความไม่แน่นอนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างชัดเจน และทำให้การตัดสินใจลงทุนยากขึ้น มีการขายหุ้นออกมาทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยในสถานการณ์เช่นนี้ หลักการสำคัญสำหรับการลงทุนคือ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง แนะนำนักลงทุนที่ยังคงอยู่ในตลาด ให้ใช้เงินสดในการเทรดหุ้นแทนมาร์จิ้น และต้องเป็นเงินเย็นด้วย โดยกระจายลงทุนในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ แต่ต้องเตรียมใจสำหรับการสูญเสียหากเงินทุนหายไป

มหากาพย์เรื่องนี้มองว่าจะไม่จบในปีเดียว ซึ่งความจริงประเทศไทยพึ่งพาสหรัฐในการส่งออกเพียง 18% เท่านั้น ทำไมประเทศไทยจึงไม่มองหาตลาดแถวนี้ที่กำลังโต อาทิ อินเดีย ตะวันออกกลาง อาเซียน หรือประเทศอื่นที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแอฟริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ ทำไมถึงไม่ใช้เวลาที่จะต้องต่อสู้เรื่องนี้ย้ายสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ลดสัดส่วนการส่งไปสหรัฐเหลือเพียง 10% เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการพึ่งพาเยอะเกินไป จากนั้นหากมีการปรับภาษีเพิ่มสูงแบบนี้เราก็จะได้ไม่ตื่นเต้นเหมือนปัจจุบัน โดยหากสามารถทำแบบนี้ได้จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทยเพิ่มได้ จากนั้นต้องคิดว่าเราจะวางตำแหน่งตัวเองในการอยู่ท่ามกลางสองยักษ์ชนกันอย่างไร เพราะสุดท้ายจะต้องมีการบังคับให้เราเลือกข้างหรือเลือกขั้วอำนาจอย่างแน่นอน

มั่นใจว่าพี่ใหญ่ทั้งสหรัฐและจีนจะมีการทะเลาะกันอย่างแน่นอน ส่วนประเทศน้องเล็กๆ จะไม่ได้ทะเลาะกับพี่ใหญ่เหล่านั้น เนื่องจากแคนาดาและเม็กซิโกที่สุดท้ายต้องยอมนั้น เพราะมีการส่งออกประมาณ 70% ของจีดีพี สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ไปสหรัฐหมด ทำให้ต้องยอมสหรัฐ แต่จีนมีการส่งออกเพียง 19% ของเศรษฐกิจทั้งหมด แต่ส่งออกมากกว่าแคนาดาและเม็กซิโกถึง 4 เท่า แบ่งเป็นการส่งออกสินค้าไปจีนเพียง 7-8% เท่านั้น เมื่อสหรัฐปรับภาษีขึ้นก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ส่วนการส่งออกสินค้าของสหรัฐมีประมาณ 10% จากขนาดเศรษฐกิจรวมเท่านั้น เมื่อจีนขึ้นภาษีตอบโต้กลับมาก็ไม่ตื่นเต้นเช่นกัน เนื่องจากนำเข้าสินค้าจากจีนไม่เยอะ และหากเทียบกับขนาดเศรษฐกิจการส่งออกมีเพียง 10% ของเศรษฐกิจรวมของสหรัฐเท่านั้น ทำให้สหรัฐและจีนจึงเลือกที่จะทะเลาะกันเพราะสถานการณ์ของทั้งสองฝ่ายเอื้ออำนวยให้ไม่สนใจซึ่งกันและกันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image