หมายเหตุ – นักวิชาการประเมินสถานการณ์การเมือง หลังน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศเลื่อนพิจารณาร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ.ที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาวาระแรกออกไปก่อน
โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ผมประเมินกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ การที่รัฐบาลประกาศถอยและเลื่อนการพิจารณาไปประชุมสภาสมัยหน้า เนื่องจากรัฐบาลเกิดความกังวลใจกับแรงต่อต้านของสังคม ที่รัฐบาลประเมินต่ำ เพราะคิดว่าการชุมนุมประท้วงน่าจะเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่ไม่พอใจรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมองกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่คนกลุ่มเดิม แต่เป็นเครือข่ายกว้างขวาง หลายภาคี หลายองค์กรมาก ที่ไม่พอใจต่อนโยบายและรัฐบาลที่สะสมกันมา จึงมองว่ารัฐบาลเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงได้ถอยออกมา
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่สนใจในท่าทีของพรรคร่วม เพราะมีการประเมินว่าศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่พรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกอบกับมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลสามารถต่อรองในเรื่องผลประโยชน์ได้ในส่วนที่เป็นพรรคใหญ่ ส่วนพรรคขนาดเล็ก นายทักษิณคงมองว่าเป็นพรรคที่ไร้อำนาจการต่อรอง ดังนั้น มองว่าสถานการณ์ในตอนนี้ การก่อตัวของกระบวนการเห็นต่าง และไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลกำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ เพราะคนกำลังสิ้นหวังกับรัฐบาลชุดนี้ การที่หลายภาคีและหลายองค์กรรวมตัวกันออกมาต่อต้าน ในส่วนของ ส.ว.ผมมองว่าเป็นเกมการต่อรองเท่านั้นเอง เพราะการกระทำ
ไม่สามารถเป็นที่คาดหวังของสังคมได้ แต่เป็นเพียงการต่อรองกับรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีการฮั้ว ส.ว. ส่วนพรรคฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว ทำให้มองได้ว่าการเมืองในระบบนี้ ทุกฝ่ายไม่มีพลังคัดง้างในการขับเคลื่อนของรัฐบาลได้
ส่วนทางฝ่ายของนักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคม เห็นว่า กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์
คอมเพล็กซ์นั้นไม่ชอบธรรม มีลักษณะลักไก่และไม่รอบคอบ มีวาระซ่อนเร้น รัฐบาลตอบคำถามหลายอย่างกับสังคมไม่ได้ ทำให้นักวิชาการ กลุ่มภาคีต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมกับเรื่องอื่นๆ ที่สะสมความไม่พอใจตลอดมา อาทิ ชั้น 14 กระบวนการยุติธรรม ปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลแก้ไม่ได้ และไม่มีคำตอบกับประชาชน สะสมมา จึงมาจุดติดที่กาสิโน คิดว่าแนวทางการเมืองจะเป็นการขยายประเด็นต่อไป เหมือนกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
สถานการณ์การเมืองหลังสงกรานต์ คิดว่าตัวรัฐบาลยังอยู่ได้ แต่การเมืองบนท้องถนน อาจจะมีการขยายประเด็นต่อไป เพราะยังมีหลายเรื่องที่ยังสะสมความไม่พอใจของคนเอาไว้ คล้ายๆ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เคยลุกลามไปจนถึงขั้นขับไล่รัฐบาล แต่ข้อได้เปรียบของรัฐบาลชุดนี้ดีกว่ารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ แบ๊กอัพทางการเมืองมีความเข้มแข็งกว่า ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ เครือข่ายชนชั้นนำ และกลุ่มทุน ทำให้รัฐบาลนี้ล้มยาก หากจะต้องเดินหน้ากฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คิดว่ารัฐบาลชุดนี้เอาแน่ แต่จะต้องกลับมาทำการบ้านให้มากขึ้น โดยทำความเข้าใจ ตอบประเด็นสังคมในเรื่องสาระสำคัญให้มากขึ้น เพราะนโยบายนี้เป็นการตอบโจทย์ ตอบสนองกลุ่มทุน และชนชั้นนำมาก กล่าวง่ายๆ คือ เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนชั้นนำ ถึงแม้ว่าจะมีการคัดค้านสูง แต่องคาพยพที่หนุนรัฐบาลมันแข็งแกร่งมาก ทำให้หลายฝ่ายทำลายรัฐบาลนี้ยากมาก ส่วนม็อบนั้นเชื่อว่าเกิดแน่ แต่ทำอะไรไม่ได้ และเชื่อว่าม็อบไม่น่ารุนแรง เพราะว่ารัฐบาลสามารถคุมกองทัพไว้หมดแล้ว
ในฐานะนักวิชาการมองทางออกของปัญหารัฐบาลนายกฯดูไปแล้วหาทางออกยากมาก ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม มีแต่นโยบายลด แลก แจก แถม ซื้อประชาชนเอาไว้เลือกตั้งครั้งหน้า รัฐบาลชุดนี้อยู่เฉยๆ ก็พอแล้ว เนื่องจากเครือข่ายอำนาจในการต่อสู้กับพรรคประชาชน โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องพินอบพิเทากับพรรคเพื่อไทย เพื่อเอาไว้เป็นฐานกำลัง ส่วนปัญหาอดอยากปากแห้งของประชาชน รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร และไม่จำเป็นต้องแก้ด้วย แค่รัฐบาลไม่ล้ม
ส่วนบ้านเมืองจะเดินไปทางไหนนั้น นั่นคือปัญหา โดยผลมาจากโครงสร้างทางการเมือง ทำให้รัฐบาลอยู่ได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ทางออกของประเทศมีแต่ทางตัน ทางออกคือเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนจะต้องชนะเกิน 270 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศใหม่ นี่คือทางออกเดียวเท่านั้น
วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ในสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ ต้องยอมรับโดยข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลแพทองธาร
กำลังเผชิญกับภัยความเสี่ยงรอบทิศทาง เริ่มจาก 3 ระดับ มองระดับที่ดูจะไกลตัวหน่อย คือระหว่างประเทศ รัฐบาลแพทองธารเผชิญกับการขึ้นภาษีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ตั้งกำแพงภาษีอันส่งผลกระทบต่อการค้าขายส่งและรายได้ในการส่งออกของประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขในลักษณะที่สังคมมองว่า อาจจะยังตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจจะดูล่าช้าจนเกินไป ต่อมาด้านระหว่างประเทศ เรื่องภัยคุกคามจากการเมืองนอกสภา อันนี้เรื่องนี้ก็ชัดเจนเป็นผลมาจากร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีหัวใจอยู่ที่การมีกาสิโนในพื้นที่ 10% ของทั้งหมด
โดยแท้จริงแล้วเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์สามารถสร้างได้เลย ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ถ้าไม่มีกาสิโน เพราะฉะนั้นต้องยอมรับ โดยข้อเท็จจริงร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้คำว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แต่แท้จริงแล้วคือการให้เปิดกาสิโนในประเทศไทย การเคลื่อนไหวลักษณะนี้ไปปลุกพลังกลุ่มคนที่เป็นพลังอนุรักษนิยมที่มีความคิดความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม จะไม่เอากาสิโนหรือพนันออนไลน์เอามาไว้บนดินอยู่แล้ว แม้ว่ากลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชุมนุมมาแล้วเป็นเดือน แล้วก็มีมวลชนเข้าร่วมเพียงหลัก 100 เท่านั้น
แต่จากที่เราเห็นในช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา การพยายามผลักดันร่างกฎหมาย
เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้าไปหยั่งดู ร้อนรนเป็นพิเศษ ทำให้กระแสของสังคม ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และมวลชนในฝั่งอนุรักษนิยมที่เคยเงียบไปฟื้นขึ้นมาโดยพร้อมเพรียงกัน ทำให้ความเสี่ยงตรงนี้ รัฐบาลต้องถอย
แต่ตรงนี้สำคัญ ต่อให้รัฐบาลถอย พลังอนุรักษนิยมที่ปลุกขึ้นมาแล้วก็ยังไม่กลับ ยังยกระดับข้อเสนอมากไปกว่านี้อีก เช่น กลุ่ม คปท.ยกระดับว่ารัฐบาลถอยเราก็ไม่กลับ ต่อให้รัฐบาลเอาร่างออกไปก็จะยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาลที่ไม่ซื่อตรง หรือรัฐบาล สีเทา ตามที่ คปท.กล่าวอ้าง นี่คือภัยคุกคามที่รัฐบาลต้องเผชิญ
และสุดท้ายคือภัยคุกคามภายในพรรคเพื่อไทยเอง การทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลมีความไม่เสถียรภาพอยู่ เห็นได้จากข่าวเรื่องการปรับ ครม. ว่าใครไม่เห็นด้วยกับพรรค
เพื่อไทย อย่างเช่น ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ก็จะถูกตัดออกจากรัฐบาล ประเด็นนี้ไม่สำคัญว่าอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จะพูดจริงหรือไม่ สำคัญคือสัญญาณที่ส่งออกมาว่าเป็นการโยนหินถามทาง ต่อให้อดีตนายกฯไม่พูด หมายถึงบรรยากาศที่พรรคเพื่อไทย ยากจะส่งเสียงออกให้พรรคร่วมพรรคอื่นรับทราบ
พอการส่งเสียงสัญญาณแบบนี้ออกมา ไม่เป็นผลดีกับการร่วมกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล นักการเมืองหลายกลุ่ม ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ และส่วนหนึ่งของพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงออกให้เห็นว่าไม่พึงพอใจกับกระแสที่พรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณแบบนี้ เป็นการไม่ให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลถึงการทำงานในฝ่ายบริหารว่า ถ้ารัฐบาลหรือนายกฯจะดำเนินการปรับ ครม. ก็จะยิ่งสร้างความไม่มีเสถียรภาพมากขึ้นหรือไม่ หรือรัฐบาลอาจจะรักษาสภาพเดิมเอาไว้ การปรับ ครม.ก็จะปรับได้เพียงขนาดเล็ก เฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีอยู่ในพรรคเพื่อไทยเท่านั้น เมื่อปรับออกมาแล้วจะขัดต่อสายตาของประชาชน ที่มองว่ามีหลายกระทรวงที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ และกระทรวงนั้นไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น พรรคเพื่อไทยไม่สามารถไป
แตะต้องได้ ต่อให้ปรับ ครม.แล้วก็ยังค้านต่อสายตาของประชาชนอยู่ดีว่าฝ่ายบริหารจะทำงานได้ต่อหรือไม่
ทั้ง 3 ความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ภาพของสถานการณ์การเมืองรัฐบาลแพทองธารเปราะบางมากยิ่งขึ้น และภายใต้ความเปราะบางของทักษิณด้วย ทุกครั้งที่รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหา หลายครั้งที่นายกฯแพทองธารไม่ใช่คนจัดการแก้ไขปัญหาเอง แต่จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยและตัวคุณพ่อออกมาแก้ปัญหา
รัฐบาลต้องปกป้องอย่างเต็มที่ไม่ให้เดินก้าวพลาด เพราะอนาคตของรัฐบาลชุดนี้หมายถึงสถานการณ์จะทำให้พรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร ต้องกลับไปสู่สภาวะเดิม อย่างสมัยรัฐประหารปี49 และหลังรัฐประหารปี57 ทุกความเสี่ยงต้องสกัดออกไปให้ได้หมด ถ้าจะมีม็อบก็ต้องถอยกฎหมาย จะปรับ ครม. ถ้ามีพรรคอื่นไม่พอใจก็ต้องถอย เลยทำให้มองอีกด้านหนึ่ง น่าเห็นใจรัฐบาลว่าไม่สามารถทำนโยบายอะไรอย่างจริงจังได้เลย จริงๆ แล้วน่าเสียดาย ถ้ารัฐบาลแพทองธารมั่นใจจริงๆ ว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ รัฐบาลก็ควรทำเลย ส่วนผลจะดีไม่ดีอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่การที่รัฐบาลชักเข้าชักออกแสดงให้เห็นถึงความไม่กล้าที่จะเดินในเส้นทางที่ตัวเองวางไว้อย่างเต็มที่ ความกลัวตรงนี้ตามหลักการเมืองพรรคร่วม รวมถึงประชาชนก็จับได้เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็ทำให้เกิดความไม่มั่นใจทางการเมืองและรัฐบาลชุดนี้อาจจะทำให้เปราะบางมากขึ้นลงไปอีก
สำหรับทิศทางการเมืองโดยสรุป รัฐบาลจะมีปัญหาทั้งภายในและภายนอก ภายในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ภายนอกคือต้องเผชิญกับการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านแม้ว่าจะไม่มาเล่นประเด็นเรื่องกาสิโน เมื่อเทียบกับม็อบ แต่ฝ่ายค้านจะมีประเด็นเฉพาะอยู่ เช่น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน รัฐบาลจะเอาอย่างไร ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมโหวตอีก จะโดนต่อว่าว่าเพราะตอนเลือกตั้งบอกว่าจะนิรโทษกรรมประชาชน จะมาให้เกิดการกลับมาคุยใหม่ ใครที่โดนคดีทางการเมือง ควรจะให้มีการยกเลิก ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยไม่ร่วมสนับสนุนร่างฉบับประชาชน จะถูกกล่าวหาอีกว่าตระบัดสัตย์ หรือในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่มีอะไรแน่นอนจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นว่ารัฐบาลนอกจากไม่มีผลงานที่ชัดเจนแล้ว ผลงานใหม่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่กล้าเสี่ยง อนาคตถ้ายังเป็นแบบนี้อีก รัฐบาลอยู่ได้ครบวาระ 4 ปี ก็จะอยู่ได้อย่างไม่มีผลงานที่ชัดเจน ถ้ายังกลัวแบบนี้