เอกชนแนะงบ 1.57 แสนล้าน กระตุ้นศก.อย่างไรให้ตรงเป้า

เอกชนแนะงบ1.57แสนล. กระตุ้นศก.อย่างไรให้ตรงเป้า

หมายเหตุ – ความเห็นภาคธุรกิจกรณีรัฐบาลกำลังจะนำงบที่เหลืออยู่ประมาณ 1.57 แสนล้านบาท เพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใดถึงจะเหมาะสม ในสถานการณ์สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้า
และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

วงเงิน 1.57 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้นถือว่าน้อย เพราะว่ากระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2568 (กรกฎาคม-กันยายน) มองกันว่าการส่งออกอาจจะหดตัว แม้ว่าทางการไทยกับสหรัฐอเมริกา จะเจรจาสรุปที่ลดภาษีนำเข้าอยู่ที่ 10% แต่สถานการณ์ส่งออกก็ไม่เหมือนเดิม เพราะว่าทั้งโลกหดเหมือนกัน ไทยเราจะเก่งคนเดียวก็ไม่ได้

ADVERTISMENT

สำหรับการส่งออกนั้น มีธุรกิจและผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเชนต่อเนื่องที่ยาวมาก ภาพที่เห็นก็คือไม่ใช่แค่ธุรกิจภาคการส่งออก แต่ซัพพลายหมายถึงอุตสาหกรรมนำเข้าเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมภาคบริการ อุตสาหกรรมภาคการเกษตร เพราะฉะนั้นผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐส่งผลไปทุกอณู และอย่าลืมว่าภาคเอกชนเหล่านี้อุ้มแรงงานไว้กว่า 22 ล้านคน ฉะนั้นถ้าได้รับผล
กระทบไปถึงแรงงานกำลังซื้อก็จะฝืด

ดังนั้น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรทำคือแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือการกระตุ้น
ภาคบริโภคในกลุ่มคนรากหญ้า ส่วนที่สองคือการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ส่วนที่สามคือการสร้างงานในชนบท

สิ่งที่ต้องทำคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะแจกเงิน โดยเม็ดเงินของรัฐบาลมีน้อย ก็คงจะแจกไม่ได้เยอะ ฉะนั้นก็อาจจะเป็นรูปแบบ คนละครึ่ง ดังนั้นรัฐบาลควรจะงัดโครงการแบบคนละครึ่งมาใช้ หรือให้เป็นคูปองเงินสดก็ได้ แล้วก็ให้กับกลุ่มที่เจาะจง ไม่ใช่เหวี่ยงแห ซึ่งการจำกัดกลุ่มเป้าหมายทำได้ไม่ยากแล้ว อาจจะให้กับกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เป็นต้น เพราะกลุ่มคนรายได้น้อยเขาไม่มีอำนาจซื้อ ดังนั้นถ้ารัฐบาลช่วยออกให้ส่วนหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็เอาเงินไปใช้จ่ายได้

นอกจากนี้รูปแบบการใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นการบริโภคนั้น ควรมีการขีดเส้นหรือกำหนดเกณฑ์ ถ้าอยากให้เงินกระจายตัวหลายทอด ต้องให้ไปใช้จ่ายกับร้านขนาดเล็ก โชห่วย ร้านรถเข็น แผงลอย จะดีกว่า เพราะถ้าไม่จำกัด แล้วให้ไปใช้จ่ายกับห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อบริษัทใหญ่ เม็ดเงินก็จะไม่หมุนเวียน

จากการแจกเงินหมื่น รอบ 1-2 มองว่าอาจจะใช้คำว่าพลาด เพราะว่าโครงการไม่ได้วางเกณฑ์การใช้จ่าย คนได้เงินก็ไปใช้ในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อหมด ผลคือทำให้เงินที่แจกออกมาไม่มีการหมุน เพราะห้าง ร้านสะดวกซื้อคือผู้ประกอบการรายใหญ่ สั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เงินไม่หมุนออกมาเหมือนกับร้านเล็กที่ซื้อสินค้า วัตถุดิบจากค้าส่ง ยี่ปั๊วซาปั๊ว

สำหรับส่วนที่สอง การเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ เข้าใจว่ารัฐบาลให้ธนาคารออมสินออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 1 แสนล้านบาท เป็นก้อนแยกออกมาจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท การออกซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงโควิด

โครงการซอฟต์โลนนั้นถือว่าโอเคที่จะทำ แต่ต้องถอดบทเรียนจากโครงการซอฟต์โลนในช่วงโควิด
ปัญหาคือคนต้องการเงินเขาไม่ได้เงิน แต่คนได้เงินอยู่กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
(เอสเอ็มอี) เป็นบริษัทย่อย หรือบริษัทลูกของบริษัทใหญ่ หรือที่มีบริษัทแม่ค้ำประกัน ดังนั้นเงินซอฟต์โลนที่กู้ออกไปก็กลับไปอยู่ที่บริษัทใหญ่ ไม่ได้ออกไปถึงเอสเอ็มอีรายย่อย ดังนั้นต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินนี้ออกไปสู่รายย่อยได้จริง

อย่างไรก็ดีการปล่อยเงินกู้ครั้งเมื่อโควิด ตอนนั้นหลังจากโควิดแล้วเศรษฐกิจไม่ฟื้น ทำให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งก่อนจะให้ซอฟต์โลนครั้งนี้ต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน เพราะเอสเอ็มอีรายย่อยส่วนใหญ่พอเป็นหนี้เสียก็ติดเครดิตบูโร ก็ต้องไปช่วยปลดล็อกเรื่องเครดิตการกู้โดยการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้
เอสเอ็มอีเหล่านี้มีเงินก้อนใหม่ได้

ส่วนเรื่องการสร้างงานในชนบทนั้น ด้วยความที่เม็ดเงินการกระตุ้นรอบนี้น้อยมาก คงไม่เพียงพอให้ไปสร้างงานในชนบทจนเกิดอิมแพกต์ทางเศรษฐกิจได้ โดยใช้โครงการสร้างถนน ซ่อมเขื่อน เมื่อเม็ดเงินมีอยู่น้อย ก็คิดว่าควรไปเสริมสภาพคล่องที่เอสเอ็มอี เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ก็อุ้มคน อุ้มแรงงานไว้ เสริมสภาพคล่องเข้าไปให้คนไม่หลุดออกจากระบบ

ส่วนเรื่องเม็ดเงินจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าวิกฤตนั้นอยู่ที่ขนาดไหน แต่คิดว่าวิกฤตไม่ใหญ่เท่าโควิด รัฐบาลต้องกู้เงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท ด้วยสถานการณ์ที่สหรัฐ โดยนาย
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ก็มีท่าทีอ่อนลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เม็ดเงินเพียง 1.57 แสนล้านบาท ก็ลองปล่อยออกมากระตุ้นเศรษฐกิจก่อน แต่คิดว่ารัฐบาลควรเตรียมไว้อีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่องธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อุ้มแรงงานไว้อยู่

นอกจากนี้ถ้ารัฐบาลจะกู้เงิน 5 แสนล้านบาทก็ควรทำ แต่ถ้ามีเงินแล้วอย่าเพิ่งใช้หมดในครั้งเดียว ควรเก็บไว้ใช้ต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 ด้วย เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ๆ คือไม่มีทางเหมือนเดิมแน่นอน

สง่า เรืองวัฒนกุล
นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร

ความคิดเห็นต่อกรณีรัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่ก่อนที่จะพูดถึงการกระตุ้นแบบใช้เม็ดเงิน ควรเริ่มจากการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยก่อน และการแก้ปัญหาภาพลักษณ์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงิน เช่น การเข้มมาตรการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และการควบคุมปัญหาการโกงหรือหลอกลวงด้านราคา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้อย่างมาก หากไม่สามารถแก้ไขได้ ก็จะยิ่งลดความน่าเชื่อถือของไทยในสายตานานาชาติ

ย้ำว่าประเทศไทยมีจุดแข็งด้านแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถือเป็นจุดขายที่สำคัญ แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในด้านความปลอดภัยและความโปร่งใส ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพียงแต่ต้องมีเจตจำนงและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

หากรัฐจำเป็นจะต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณในการกระตุ้น สำหรับตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และอิสราเอล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มองว่ามาตรการฟรีวีซ่าที่รัฐบาลประกาศใช้ ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว แต่หากต้องการให้เกิดผลระยะยาว ควรใช้งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการเติบโต เช่น การพัฒนาสนามบิน เพิ่มเที่ยวบิน และสนับสนุนการทำตลาดร่วมกับสายการบินหลักทั่วโลก เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค หรือฮับ อย่างแท้จริง

เราพูดกันมานานว่าอยากเป็นฮับของเอเชีย แต่ทุกวันนี้ยังสู้สิงคโปร์ไม่ได้เลย เพราะเขามีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ดังนั้นอยากเสนอว่าควรใช้เม็ดเงินในงบกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของประเทศผ่านการร่วมมือกับสายการบินต่างประเทศ และการเน้นทุ่มเงินบางส่วนทำแคมเปญร่วมกับผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือดาราศิลปินชื่อดัง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หายไปจากตลาดไทย

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เชื่อว่าการใช้งบประมาณจะเป็นประโยชน์ คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น เช่น ถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ขอเสนอว่ารัฐบาลควรอนุมัติขยายพื้นที่ถนนข้าวสารจากเดิมที่มีความยาวประมาณ 400 เมตร ให้ครอบคลุมถนนใกล้เคียง เช่น ถนนตานี ถนนรามบุตรี ถนนพระอาทิตย์ และถนนบางลำพู เพื่อพัฒนาให้เป็นถนนคนเดิน หรือ Walking Street ในช่วงสุดสัปดาห์ โดยการดำเนินการจะต้องเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

เอกชนอยากทำ แต่ไม่สามารถทำได้ลำพัง ต้องอาศัยการอนุมัติและสนับสนุนจากเขตพระนครและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อปิดถนนในบางช่วงเวลา หากรัฐบาลเข้ามาช่วยผลักดัน ใช้อำนาจและเครื่องมือที่มีอยู่ ก็จะสามารถเปลี่ยนพื้นที่รอบข้าวสารให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

สำหรับถนนข้าวสาร สถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ที่ผ่านมา แม้จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่รายได้ของผู้ประกอบการลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน รายได้หายไปประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้โรงแรมจะมีอัตราการเข้าพักสูงในช่วงต้น แต่หลังจากวันที่ 14 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวก็เริ่มลดลง และไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้ามาทดแทน รวมถึงกระแสก็ผ่านมาผ่านไปไวเหมือนจะดีแต่ก็กลับมานิ่ง

เชื่อว่า ปัญหานี้สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลงและความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย แม้จะมีคนมาเที่ยวแต่การใช้จ่ายไม่สูงเหมือนในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีภาระต้นทุนสูง

ดังนั้นรัฐบาลควรหันมาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการลดภาษีที่ไม่จำเป็น เช่น ภาษีป้าย หรือภาษีที่ดิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนมากขึ้นในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแข่งขันได้

วิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยภายในประเทศที่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างเพียงพอ แม้จะมีความพยายามในการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่แหล่งท่องเที่ยวก็ยังพออยู่รอด ส่วนธุรกิจนอกเขตท่องเที่ยวกลับได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการในถนนข้าวสารจะยังประคองตัวอยู่ได้ แต่ก็ต้องปรับตัวอย่างมากในช่วงเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา รวมถึงสถานการณ์จากการประกาศการขึ้นภาษีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช่น เริ่มการลดต้นทุน การลดพนักงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพราะหากรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถอยู่รอดได้

ส่วนตัวมองว่า ผู้นำประเทศควรมีบทบาทเหมือนซีอีโอที่บริหารประเทศอย่างมืออาชีพ เพราะในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหา ต้องการผู้นำที่กล้าตัดสินใจและมีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่แค่บริหารแบบประคองตัวไปวันๆ โดยเปรียบเปรยว่า เหมือนทีมชาติอเมริกาเวลาส่งทีมบาสเกตบอลแข่งโอลิมปิก ก็จะเลือกนักกีฬาที่เก่งที่สุดจากแต่ละเมืองมารวมตัวกันเป็น Dream Team ประเทศไทยควรทำเช่นเดียวกันในการคัดเลือกคนมาบริหารงานในประเทศ

ท้ายที่สุด แม้รัฐบาลจะเน้นตลาดจีนเป็นหลัก แต่ควรเร่งกระจายความเสี่ยงด้วยการเปิดตลาดใหม่ๆ เช่น อินเดีย ถือเป็นตลาดใหญ่รองจากจีนในภูมิภาคเอเชีย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับต้นต่อเนื่อง เพราะในปี 2562 ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคน คิดเป็น 25% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หากจะดึงจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาเทียบเท่าเดิม จำเป็นต้องพึ่งตลาดจีนควบคู่กับตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพด้วยเช่นกัน