ชัชชาติ-ขีดแข่งขัน

บิ๊กตู่ž พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ 5 ด้าน สดๆ ร้อนๆ ไม่กี่วันมานี้

ที่เป็นที่ฮือฮา คือชุด 2 คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการค้า การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาพื้นที่พิเศษ ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ มี สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ และปลัดกระทรวงการคลังนั่งเก้าอี้ประธาน

กรรมการ 11 คน ประกอบด้วย นักธุรกิจเอกชน นักวิชาการ นายธนาคาร ภาคส่วนอื่นๆ รวมถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เป็นรองศาสตราจารย์ชัชชาติตำแหน่งทางวิชาการที่ระบุในคำสั่งแต่งตั้ง คนเดียวกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน และอดีต รมว.คมนาคมในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

Advertisement

ผู้ได้รับการขนานนาม รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญผลักดัน ระบบขนส่งทางราง

สร้าง ไฮสปีดเทรนž ในประเทศไทย

Advertisement

ไม่เพียง กรรมการยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะมีองค์ประกอบหลากหลายมากขึ้น

ชุดอื่นๆ อีก 4 ด้าน ก็มีพัฒนาการให้เห็น แม้ยังถูกบดบัง อยู่ใต้ร่มเงาลายพรางก็ตาม แต่ก็มีภาคส่วนอื่นเข้ามาเสริม ขับภาพวนเวียนซ้ำซากอยู่แต่ในกลุ่มเดิมให้เบาบางลง ซึ่งถือเป็นเรื่องดี

ที่จะได้มีมุมมองที่แตกต่างออกไปจากระบบรัฐราชการเดิมๆ ฝ่ายรัฐเองควรเปิดกว้างรับเอาข้อเสนอแนะ ความเห็นที่มี ใช้ประโยชน์จากกลุ่มนี้ มาประกอบการพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์ อย่าให้เสียของ กระทำเพียงเป็นพิธีกรรม

ทั้งนี้ ในส่วนกรรมการ การสร้างความสามารถในการแข่งขันนั้น

การได้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมเป็นกรรมการ

นอกจากความรู้ ความสามารถ ยังเป็นผลดีต่อภาพทางการเมืองของรัฐบาล การแต่งตั้งอดีต รมว.คมนาคมยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เท่ากับการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมิได้ปิดกั้นฝ่ายการเมือง แต่เปิดกว้าง ยินดีให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกับการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ แม้การเลือกหยิบจับบุคคลจะมีนัยยะของการปฏิเสธคนการเมืองพันธุ์แท้อยู่ในทีก็ตาม

รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โหมประโคมข่าวดี

เวิลด์ อีโคโนมิกฟอรั่ม ประกาศผลจัดอันดับ ขีดความสามารถการแข่งขันโลก ปีนี้ไทยขยับจากอันดับ 34 ขึ้นมายืนอยู่ที่ลำดับ 32

อันดับการแข่งขันที่ดีขึ้นของไทยมาจากโครงสร้างพื้นฐาน ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ถนน โครงสร้างระบบราง ท่าเรือ คุณภาพการขนส่งทางอากาศ

จำนวนการมีโทรศัพท์มือถือก็ดีขึ้นผิดหูผิดตา ปีก่อนอยู่ที่ 55 ปีนี้พรวดขึ้นที่ 5 ฯลฯ

อันดับรวม 32 ในปีนี้ (2017-2018) ไม่ใช่อันดับดีที่สุดของไทยในรอบ 5 ปี ไทยเคยขยับมาอยู่ที่อันดับ 31 มาแล้วในปี 2014-2015 โดยไต่มาจากอันดับ 37 ในปี 2013-2014

หากปีนี้ รัฐบาลเคลมเป็นผลงาน

อันดับแย่ๆ 37 อันดับดี 31 ก่อนหน้านี้ก็ย่อมเป็นผลงานรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดก่อน บิ๊กตู่ž แน่นอนเช่นกัน

การที่ไทยได้คะแนนจากโครงสร้างพื้นฐาน กระทั่งหนุนส่งอันดับปีนี้ขยับเพิ่มอีก 2 ขั้น ก็น่าคิดเหมือนกัน หากโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้วยระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ด้วยการสร้างรถไฟความเร็วสูง-ไฮสปีดเทรน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่สะดุด ถูกคว่ำด้วยเหตุผลการเมือง

ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยจะอยู่ลำดับไหน ในเมื่อก็มุ่งเน้น ให้ความสำคัญกับนโยบายทุ่มเงิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งโลจิสติกส์ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในการขนส่งสินค้าและการบริการอย่างเต็มที่อย่างเป็นรูปธรรม

คำตอบนี้ การได้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาเป็นกรรมการ คงไขให้เกิดความกระจ่างได้

แท้ที่จริงแล้ว อะไรเป็นตัวการขัดขวางขีดความสามารถการแข่งขัน ถ่วงรั้งประเทศไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image