อดีต’จคม.’กลับใจ น้อมนำโครงการ ร.9 ร่วมพัฒนาชาติไทย

เมื่อค้นฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ระบุไว้ว่า เป็นชื่อเรียกกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. (The Communist Party of Malaya-CPM) หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จีน

ด้วยการปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลมาเลเซียที่เกิดขึ้นในช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉิน พ.ศ.2491-2503 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จนถอยร่นหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ตามหลักฐานบางส่วนปรากฏตัวครั้งแรกในเขตพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อ พ.ศ.2492

 

ต่อมาการปฏิบัติการของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นคงของชาติ กระทั่งสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ หรือนโยบายการเมืองนำการทหาร ที่รู้จักกันในนาม นโยบาย 66/23Ž พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท.43) ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์ ก่อนที่ต่อมามีการใช้นโยบายใต้ร่มเย็น เข้ายึดกองกำลังของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาได้หลายพื้นที่ และเจรจาลงนามยุติปัญหาให้เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในที่สุด

Advertisement

นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่มอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2530 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2530 เสนอทางเลือก 2 แนวทาง คือ 1.ส่งกลับมาเลเซีย 2.เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ และให้สัญชาติไทยเมื่ออยู่ครบ 5 ปี ต่อมาทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย รัฐได้ตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นภายใต้การดูแลของกองทัพภาคที่ 4 เรียกว่า บ้านปิยะมิตร มีทั้งหมด 5 แห่ง ในพื้นที่ อ.เบตง อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา

 

Advertisement

นายโตหอง แซ่หลี หรืออาจิ้น อดีตระดับแกนนำโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ปัจจุบันเป็นประธานชมรมปิยะมิตรไทย และเป็นประธานโครงการไม้ดอกเมืองหนาว ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ อ.เบตง จ.ยะลา เล่าเรื่องอดีตให้ฟังว่า เคยอยู่ในป่าสู้รบเพื่อประชาธิปไตยของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ถือเป็นทหารปลดปล่อยประชาชนมาเลเซีย ที่พวกเราเรียกกันว่าสหาย

“ผมอาศัยอยู่ในป่านาน 13 ปี ทุกอย่างแสนลำบากเหน็ดเหนื่อยมาก ไม่สบายอย่างที่คิด ต้องคอยอยู่อย่างหลบซ่อนตลอดเวลา ระวังการเข้ามาของทหารไทย แต่การได้อยู่ในป่าอย่างนั้นก็สอนให้เรียนรู้การใช้ชีวิตได้อย่างมากมาย จนสามารถนำความรู้ความอดทนมาช่วยบริหารการเป็นอยู่หลังได้รับเสรีภาพ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2550 ครั้งนั้นเราทั้งหมด 542 คน พร้อมใจกันเดินออกจากป่ามามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ ก่อนต่อมาได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านปิยะมิตรทั้ง 5 แห่งŽ”

อาจิ้นอธิบายต่อว่า ภายใต้นโยบาย 66/23 เราไม่เคยคิดว่าฝ่ายใดแพ้หรือชนะ รู้กันเพียงว่าเราจะยุติการสู้รบแล้วเปลี่ยนมาเป็นการร่วมพัฒนาสังคมที่เรียกว่าโครงการพัฒนาชาติไทย ผ่านมาก็กว่า 30 ปีแล้ว รัฐบาลไทยยังคอยดูแลช่วยเหลือทุกด้านตั้งแต่การมอบที่ทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ ยังช่วยสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้ได้อยู่อย่างเป็นสุข เราทุกคนต่างก็อดทนใช้ความพยายามต่อสู้ชีวิต ต่อสู้กับงานเพื่อให้อนาคตของครอบครัวได้มีฐานะมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคง รวมถึงการช่วยเหลือผลักดันทำให้หมู่บ้านพัฒนาด้านเอกลักษณ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน คือ อุโมงค์ปิยะมิตรใต้ภูเขาที่เคยใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนหลบภัยจากการโจมตี

“ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยสภาพพื้นที่เขาสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 800 เมตร มีความหนาวมากจนพื้นที่ไม่เหมาะกับการปลูกยางพารา จึงได้เกิดเป็นโครงการพระราชดำริไม้ดอกเมืองหนาว แต่จะแค่ปลูกดอกไม้เพียงอย่างเดียวก็คงไม่พอ และจากการช่วยเหลือของพระองค์ท่านจนพัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้กับหมู่บ้านปิยะมิตร อ.เบตง จ.ยะลา แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับŽ”

อาจิ้นบอกว่า สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ทุกอย่างนั้น สำคัญคือต้องร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าสันติภาพให้เกิดขึ้นก่อน มีการร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้าทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทันที เมื่อเกิดการกระตุ้นทันทีแล้วชาวบ้านในชุมชนหรือท้องถิ่นมีงาน มีรายได้ตามมา

“ทั้งหมดทุกคนที่ออกมาเข้าร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย ถึงวันนี้ต่างมีความสุขกับชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นใจ การที่พวกเราได้อยู่อย่างสุขสบายได้ในวันนี้ สิ่งสำคัญคือความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์รัชกาลที่ 9 พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งเรา ทุกวันนี้ทั้งรัฐบาล ฝ่ายทหาร จังหวัด และอำเภอ ยังคงเข้ามาค่อยแนะนำส่งเสริมช่วยเหลือด้านต่างๆ อยู่ต่อเนื่อง

ยังมีความทรงจำอันน่าภาคภูมิใจอีกอย่างคือป้ายหมู่บ้านปิยะมิตร คำว่า ปิยะมิตร นั้นแสนยิ่งใหญ่ เพราะใช่ว่าตั้งกันขึ้นมาเอง แต่เป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานเป็นชื่อหมู่บ้านแล้วให้พวกเราทุกคนได้มาอยู่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย รวมถึงเรื่องการให้สัญชาติไทยŽ”

“ทุกคนได้สัญชาติไทย มีหัวใจเป็นคนไทย ลูกหลานเราทุกคนได้รับโอกาสเล่าเรียนหนังสือ ทุกคนเรียนเก่งและมีงานทำทุกคน พวกเราต่างก็มีความรู้สึกสุขสบายใจŽ”

อาจิ้นกล่าวด้วยว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และรัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมให้กลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสได้ร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย ดีใจที่หมู่บ้านปิยะมิตรของเรามีส่วนช่วยเหลือเป็นแหล่งอบรมเรียนรู้ สร้างความเข้าใจว่า ทำไมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเลือกที่จะเดินออกมาเข้าร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย สังคมโลกทุกวันนี้ต่างต้องการเห็นสันติภาพ เมื่อรู้ว่าสู้รบกับเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำให้สังคมเกิดความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป้าหมายหรืออุดมการณ์ของกลุ่ม อยากฝากถึงทุกกลุ่มที่ยังมีแนวคิดการสู้รบอยู่ได้มองเห็นและออกมาร่วมพัฒนาชาติไทยเหมือนที่อดีตกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นอยู่

อาจิ้นระบุด้วยว่า “ผมสู้รบอยู่ในป่ามา 13 ปี แต่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาสู้รบมาก่อนแล้วกว่า 50 ปี สุดท้ายแล้วไม่ได้อะไร ปัจจุบันสังคมมีความสงบและเราก็มีความสุขอยู่แล้ว อยากให้หันหน้าคุยกัน อยากให้ยุติการสู้รบŽ”

นายบากรี สานิ ประชาชนจาก จ.ยะลา เป็นหนึ่งที่มีโอกาสมาดูบรรยากาศที่หมู่บ้านปิยะมิตร 1 อ.เบตง จ.ยะลา กล่าวว่า ได้มาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับแนวความคิดของอดีตกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่หมู่บ้านปิยะมิตร 1 เป็นบทเรียนราคาแพงมาก ได้รับรู้ถึงเรื่องราวการต่อสู้ และการออกมาร่วมพัฒนาชาติไทยแล้ว อยากฝากไปถึงกลุ่มพี่น้องที่ยังมีแนวคิดต่างให้มีจิตสำนึกและควรคิดด้วยการตอบแทนผืนแผ่นดินไทย และกองทัพภาคที่ 4

“พูดได้เพียงว่า 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น การที่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเองทำให้รู้ว่ารัฐบาลไม่ได้หลอกพวกเรา แต่รัฐบาลพูดจริงทำจริง พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเขาเข้าร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย 30 ปี ทำให้เห็นพัฒนาการ ความเจริญก้าวหน้าของพวกเขานั้นสูงมากๆŽ”นายบากรีกล่าว

นับเป็นบรรยากาศหนึ่งของหมู่บ้านปิยะมิตร ที่วันนี้ไม่เหลือคราบเงาใดๆ ของอดีตคอมมิวนิสต์มลายา ทิ้งไว้แต่พื้นที่แห่งความทรงจำ จึงหวังว่าสักวันหนึ่งจะเป็นสะพานทอดยาวไปถึงกลุ่มเห็นต่างในปัจจุบันที่ทำให้เห็นว่าการลอบฆ่า ลอบวางระเบิด ทั้งชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน ไม่ใช่หนทางสู่สันติสุขใดๆ ทั้งสิ้น

โดย เขมินท์ เกื้อกูล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image