เมื่อตลาดล้อม ‘บ้านป้า’ คุยกับสถาปนิก-เจ้าของตลาด ถึงเวลาหรือยัง ‘ผังเมืองเฉพาะ’??

ความคืบหน้า เกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างบ้าน “ป้าทุบรถ” กับ “ตลาดรอบบ้าน” ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 10 ปี

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นตรวจสอบตลาดโดยรอบทั้งหมด 5 แห่ง

พบว่า 1.ตลาดสวนหลวง1 ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร แต่ไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการตลาดตามกฎหมาย 2.ตลาดเปิ้ล มาร์เก็ต และ 3.ตลาดยิ่งนรา ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นเชิงพาณิชย์ 4.ตลาดรุ่งวาณิชย์ ไม่มีใบอนุญาต และ 5.ตลาดร่มเหลือง เป็นตลาดนัดที่รื้อแล้ว แต่กลุ่มผู้ค้ากลับมาขายใหม่

ผลสรุปคือ ตลาดที่ 2 และ 3 อยู่ระหว่างฟ้องร้องคดีกับศาล กทม.จะไม่เข้าไปก้าวล่วงจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือตัดสิน

Advertisement

ส่วนตลาด 1, 4 และ 5 ต้องสั่งระงับการขายทันที โดย กทม.จะออกบันทึกแจ้งให้กลุ่มผู้ค้าเตรียมตัวออกจากตลาด เนื่องจากอาคารไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารและจัดตั้งตลาดอย่างถูกกฎหมาย

กรณีตลาดล้อม “บ้านป้า”
ถึงเวลาหรือยัง “ผังเมืองเฉพาะ

“ผังเมืองเฉพาะ หมายถึงแผนผังและโครงการดำเนินการ เพื่อพัฒนาหรือดำรงรักษาบริเวณเฉพาะแห่ง หรือกิจการที่เกี่ยวข้องในเมืองและชนบท เพื่อประโยชน์แก่การผังเมือง”

คือคำจำกัดความอย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่อง “ผังเมืองเฉพาะ” ที่ อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา สถาปนิกและเจ้าของตลาดกวางทอง ใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ชวนถกว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ หลังเกิดเหตุกรณี “ป้าทุบรถ” ซึ่งกำลังเป็นข่าวเกรียวกราว

Advertisement

ในฐานะเป็นทั้งสถาปนิก และเจ้าของตลาดในคนเดียวกัน ความคิดเห็นของเขาจึงน่าฟัง

อภิวัฒน์ กล่าวว่า กรณีความขัดแย้งระหว่าง “บ้านป้า” กับ “ตลาด” น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราควรจะคิดถึงเรื่อง “ผังเมืองเฉพาะ” อย่างจริงจัง คือ อธิบายว่าบ้านเราจะแบ่งเป็นผังเมืองรวม ที่จะเป็นแนวนโยบายแห่งการควบคุม แบ่งเป็นสีต่างๆ เช่น เช่น สีเหลืองคนอาศัยหนาแน่นน้อยสำหรับสร้างบ้าน สีส้มคนอาศัยปานกลางอาจเป็นตึกพาณิชย์ สีน้ำตาลอาศัยหนาแน่นมาก สีแดงเป็นพาณิชยกรรม สีม่วงอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งกรณีของบ้านป้าใกล้กับสวนหลวงตรงนั้น น่าจะเป็นสีเขียว หรือไม่ก็สีเหลือง

“ป้าแกก็คงคิดว่า ซื้อที่จัดสรรรมาสร้างบ้านพักอาศัยตรงนั้น แล้วที่จัดสรรข้างๆเจ้าของก็คงจะสร้างบ้านพักอาศัยเหมือนกัน คงไม่มีใครคิดว่าจะมาเป็นตลาด ซึ่งเท่าที่ดูจากผัง น่าจะเป็นที่จัดสรร แล้วก็มีตลาดเต็มไปหมด ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว

“แต่ถ้าเรามีผังเมืองเฉพาะ หมายถึงมีการจัดการลงไปในพื้นที่ซึ่งเป็นโซนสีเขียว หรือสีเหลืองนี้อีกทีหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้น ว่าบริเวณไหนควรจะเป็นตลาด ตรงไหนควรจะเป็นย่านพาณิชย์ ตรงไหนควรจะเป็นที่พักอาศัย ไม่ใช่อย่างนี้ ที่ไปเอาที่ดินข้างๆ บ้านป้ามาทำเป็นตลาดเลย ” อภิวัฒน์ ชวนคิด

ย้ำชัด “คือจะให้มาขายที่ ย้ายไปอยู่ที่อื่น เหมือนที่ทางเขตให้สัมภาษณ์ หยาบมาก”

การจัดการตลาด
มาตรฐานอยู่ตรงไหน

ในฐานเจ้าของตลาดกวางทอง แห่ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

อภิวัฒน์ ให้ข้อมูลคร่าวๆ ว่า การจะขออนุญาตเป็นคนจัดตลาด ต้องมีใบอนุญาตจากท้องถิ่น ถ้าตามต่างจังหวัดก็คือเทศบาลตำบลต่างๆ ขณะที่ในกรุงเทพฯ ก็คือสำนักงานเขต โดยรูปแบบของตลาดก็ไม่ได้มีเพียงประเภทเดียว แต่ยังแยกย่อยไปอีก อาทิ ตลาดสดเทศบาล เป็นประเภทที่ 1 ซึ่งทั้งหมดนี้ กฎกระทรวงสาธารณสุข ได้วางกรอบไว้ แล้วให้แต่ละท้องถิ่นนำไปใช้ ในการให้อนุญาตหรือไม่ให้อนุญาตจัดตั้งตลาด ซึ่งในรายละเอียดก็จะมีเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ อย่าง ห้องน้ำ ที่จอดรถ อีกหลายอย่าง

ขณะที่การก่อสร้างอาคารในตลาด ก็ต้องขออนุญาติท้องถิ่นอีกเช่นกัน อีกหนึ่งข้อบังคับ

โดยสรุปคือจะต้องขออนุญาติใน 2 ส่วน

แต่ตลาดโดยส่วนใหญ่เท่าที่เห็น ถ้าเอาระเบียบทั้ง 2 มาจับ ก็แทบจะผิดกันทั้งหมด

อภิวัฒน์ บอกว่า ตลาดที่อยู่ตามชุมชนทั่วๆ ไป ไม่ได้มีการเตรียมเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะเป็นในลักษณะเพิง อยู่ริมฟุตบาตร ริมถนน อาจไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างอะไร มีผู้จัดซึ่งเห็นที่ดินว่างๆ เช่าเจ้าของที่ มีแม่ค้ามาขาย เพราะฉะนั้น เรื่องที่จอดรถแทบจะไม่ค่อยได้สนใจ แล้วทางเทศบาลหรือทางเขตก็ไม่ได้เคร่งครัดในระเบียบอะไรนัก กรณีสวนหลวง ทำให้เห็นเลยว่ามั่วมาก ไม่ได้อนุญาตให้ทำ แต่ก็ยังทำ เอาแม่ค้ามาลงแล้ว แล้วปล่อยให้ชาวบ้านซวย

“มองว่า ตลาดใหม่ๆ ที่จะเกิด ควรมีเรื่องรองรับพวกนี้ อย่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม”

อภิวัฒน์ บอกว่า ต้องมีความชัดเจนว่า จะทำอย่างไรไม่ให้มีปัญหากับการอยู่อาศัยของประชาชน จะมีตลาดจุดหนึ่งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมไหม ไม่ใช่อยู่ดีๆ โผล่มา 5 ตลาดข้างบ้าง ตลาดเดียวไม่พอรองรับหรืออย่างไร แล้วจะปล่อยให้มีงอกขึ้นมาอีกเรื่อยๆ เหรอ เรื่องดีมาน์-ซับพลาย ควรต้องเอามาคิดมั้ยกับการให้อนุญาตจัดตลาด

“เรื่องนี้ต้องฝากไปที่ผู้ดูแลกฎหมายว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน ที่จะทำให้ประชาชนไม่มีปัญหา อย่างกรณี ตลาดสด หรือตลาดนัดที่โผล่ตรงไหนก็ได้ เกิดจากผังเมืองที่วางแผงไม่ดี เกิดการที่สินค้าเร่เข้าหาชุมชนเอง เช่น เกิดตลาดนัดในวัด เกิดตลาดริมถนน ความจริงควรเกิดตลาดก่อน แล้วประชาชนเข้ามาซื้อของ นี่เป็นปัญหาเรื่องการควบคุม เพื่อที่จะไม่ให้ตลาดลาม การจราจรติดขัด เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนคนบาดเจ็บ ตาย เกิดฉกชิงวิ่งราว ฯลฯ เรื่องพวกนี้ไม่ควรเกิด” อภิวัฒน์ กล่าว

ข้อเสนอแนะน่าคิด
สถาปนิก-เจ้าของตลาด

ถามอภิวัฒน์ อยากฝากอะไรเป็นข้อคิดหรือข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

คำตอบที่ได้รับคือ บ้านเราไม่ชอบวางแผนให้เรียบร้อยแล้วทำ แต่จะชอบไปจัดระเบียบจากการไม่ได้วางแผน คนก็เสียผลประโยชน์ทะเลาะกันตอนหลัง จากการหย่อนยานการบังคับใช้กฎหมาย

“อยากชวนให้คิดว่า ถ้าปัญหามันมีแล้ว สิ่งที่เห็นคือ จะสั่งปิดตามระเบียบ ตรงนี้เลยน่าเห็นใจทุกๆฝ่าย เพราะก็เข้าใจในมุมของพ่อค้า แม่ค้ารายย่อยที่ไม่รู้เรื่อง เขาจะทำอย่างไร? ถ้าต้องเลี้ยงครอบครัวอย่างต่อเนื่อง มันก็ควรมีการทำงานให้ละเอียดมากกว่าสั่งปิดด้วย

“น่าจะทำทั้งระดับผังที่ต้องคุยให้ละเอียดขึ้น เน้นปัญหาไม่ให้เกิดในอนาคตระยะยาว ดึงคนมาคุยกันเยอะๆ หาทางออกแต่ละพื้นที่ เพราะคาแรคเตอร์ความเป็นย่านแต่ละจุดมันก็มีความสำคัญแต่ตอนนี้ เรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญ นี่คือ 1 หลักการ

” กับ 2 แผนการเยียวยา รองรับพวกที่มีปัญหา คุณจะจัดการอย่างไร? เพราะมันเกิดขึ้นไปแล้ว มันพูดง่ายคือ ปิดสิ แต่ปิดอย่างไรจะเดือดร้อนคนน้อยที่สุด เพราะในตลาดๆหนึ่ง มีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาก เลี้ยงคนกี่ครอบครัว แต่ละครอบครัวต้องพึ่งพาพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ขนาดไหน อันนี้ต้องคิดดีๆด้วย จะจัดการอย่างไรให้ไม่สูญเสียเกินไป” อภิวัฒน์ ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image