จับสัญญาณ ‘บิ๊กตู่’ เฟ้นพรรคเสนอชื่อ ‘นายกฯ’

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่จะยินยอมให้เสนอชื่อเป็นนายกฯ เช่น นโยบายพรรค ตัวบุคคล ความน่าเชื่อถือ


 

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ก่อนอื่นแล้ว ในเบื้องต้นให้มองประวัติศาสตร์การเมืองไทยก่อน ที่ชัดมากคือในยุคของ ปี?35 รสช.ที่มีความพยายามสร้างทายาททางการเมืองโดยตั้งพรรคการเมืองมารองรับการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร แต่การสืบทอดอำนาจแบบนั้นก่อให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่ง คือความชอบธรรมด้านการเมืองว่าด้วยการเข้ามาของผู้มีอำนาจทางการเมือง เพราะจะกลายเป็นว่าคำถามคือจะมีการสืบทอดอำนาจกันหรือเปล่า การที่มีความไม่ชัดเจนและการสืบทอดอำนาจแบบนั้นจะนำมาสู่การที่กลไกพรรคการเมืองจะทำงานได้อย่างไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง จะเป็นการยึดติดกับส่วนบุคคล ระบบอุปถัมภ์แบบเดิมๆ เป็นการสร้างมหาอำมาตย์แบบใหม่ แทนที่จะสร้างพรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่กลายเป็นว่าพรรคการเมืองมารองรับพรรคข้าราชการต่อเนื่องขึ้นมาอีก นอกจากนี้ในแง่ของระบบการตรวจสอบว่าจะวางกลไกอย่างไร

Advertisement

สำหรับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกว่าขอดูนโยบายพรรคที่จะเสนอชื่อเป็นนายกฯก่อนนั้น เราต้องมองยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ 20 ปี ต้องมองว่าทางฝ่ายผู้มีอำนาจจะบอกว่าใช้เพื่อพัฒนาประเทศ แต่ยุทธศาสตร์ 20 ปี ส่วนหนึ่งสามารถใช้เป็นกลไกในการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองได้อีก เช่น ต้องการมาสืบทอดหรือสืบสานงานให้ครบในแผนที่ตั้งไว้ในยุทธศาสตร์ แต่แผนนี้สะท้อนอะไรบางอย่างที่นายกฯกำลังคิดอยู่ส่วนหนึ่ง โดยสะท้อนความต้องการลึกๆ ของนายกฯ มองว่าภารกิจของนายกฯ ด้านการเมืองที่เห็นชัด คือต้องไปดูว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังพัฒนาหรือสืบทอดกันมาตอนนี้

ถ้ามองตามสายตาของนายกฯ เวลาจะลงจากหลังเสือยังไม่ปลอดภัย เขาลงคนเดียวไม่เท่าไหร่ แต่มันเป็นเครือข่าย การขึ้นหลังเสือโดยรัฐประหาร การตอบคำถามของนักการเมืองที่จะลงจากหลังเสืออย่างไรให้ปลอดภัยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนการเข้ามา ส่วนการมาทำงานเพื่อช่วยเหลือประเทศ เป็นเหตุผลโดยทั่วไปมากกว่าเหตุผลทางด้านการเมือง


 

Advertisement

องอาจ คล้ามไพบูลย์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ออกมาขอบคุณพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนเองให้เป็นนายกฯคนนอกนั้น คิดว่า นายกฯคงจะขอบคุณตามธรรมเนียมที่ทราบอยู่แล้วว่าก็คงจะมีพรรคการเมืองใหม่บางพรรคสนับสนุนตัวเอง ซึ่งตามขั้นตอนนั้นนายกฯคนนอก พล.อ.ประยุทธ์สามารถมีสิทธิถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯคนนอกได้ ดังนั้นท่านจึงออกมาขอบคุณพรรคการเมืองที่สนับสนุนตนเองตามมารยาท อีกด้านหนึ่ง หากมองก็จะเห็นได้ชัดว่านี่คือการเปิดไมตรีจากพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯคนนอกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาท่าทีของนายกฯไม่เคยมีการปฏิเสธ หรือมีการปิดประตู ปิดช่องทางว่าตัวเองจะไม่เป็นนายกฯคนนอกแต่อย่างใด แม้แต่ตัวท่านเองก็ยังเคยพูดว่า เรื่องท่านจะเป็นนายกฯคนนอกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของอนาคต จึงชัดเจนว่าตรงนี้ไม่ได้เป็นการปิดประตูในตำแหน่งหน้าที่นายกฯคนนอกของ พล.อ.ประยุทธ์

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมและการกระทำหลายอย่างของนายกฯที่เห็นได้ชัดว่าอาจจะตัดสินใจเล่นการเมือง หรืออาจเป็นนายกฯคนนอกได้ ถ้าติดตามการให้สัมภาษณ์ของท่านจะเห็นได้ชัดว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ในการตัดสินใจที่จะเป็นนายกฯคนนอก ก็ยังมีอยู่มากไม่น้อยเลยทีเดียว

ทั้งนี้ การตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านก็พูดถูกว่า เรื่องนี้ท่านไม่จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจอะไรในตอนนี้ เพราะการเลือกนายกฯคนนอกนั้น เป็นเรื่องของทิศทางการเมืองในอนาคต จึงไม่มีใครสามารถเดาได้ แต่หากถึงวันเวลานั้นแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากมีพรรคการเมืองมาเสนอให้ท่านเป็นนายกฯคนนอกจะตกลงหรือไม่ตกลง ก็ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองเพียงคนเดียว ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้

สำหรับพรรค ปชป. แนวทางการสนับสนุนผู้ที่จะมาเป็นนายกฯนั้น จุดยืนยังคงเป็นไปตามทิศทางของพรรค ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ เราเป็นพรรคการเมืองก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคให้เป็นนายกฯเท่านั้น ส่วนพรรคอื่นจะมีแนวทางอย่างไร ก็ถือเป็นสิทธิของแต่ละพรรค เพราะอุดมการณ์และแนวทางของแต่ละพรรคการเมืองไม่เหมือนกับพรรค ปชป. ผมยืนยันว่าแนวทางการสนับสนุนนายกฯของพรรคจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น


 

นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

ดูจากการสื่อสารของท่านนายกฯ มีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่า นายกฯจะสืบทอดอำนาจผ่านพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เพราะว่าจากที่ท่านสื่อสารออกมา ท่านไม่ได้ปฏิเสธตำแหน่งนายกฯจากการเสนอชื่อของพรรคการเมือง การที่ไม่ปฏิเสธ อนุมานได้ว่าเป็นการยอมรับข้อเสนอ เพียงแต่ว่านายกฯมีเงื่อนไขว่าจะขอพิจารณาจากพรรคการเมืองซึ่งมีนโยบายอย่างไร และก็ขอพิจารณาคนในพรรค จึงมีความชัดเจนว่าท่านมีความประสงค์ที่จะอยู่ในอำนาจต่อ ก็คือนายกฯอยากที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่า นายกฯพร้อมที่จะสืบทอดอำนาจในกระบวนการการเลือกตั้งโดยที่ว่าให้พรรคการเมืองเสนอชื่อท่าน เป็นสัญญาณว่าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมว่าถ้ามีพรรคใดพรรคหนึ่งเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พรรคอื่นๆ จะเสนอชื่อใคร คงเป็นสัญญาณที่ส่งให้พรรคการเมืองได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของคนที่จะมาเป็นหัวขบวนหรือคนที่จะถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

จากที่ พล.อ.ประยุทธ์สื่อสารมาค่อนข้างชัดเจน คือให้พรรคใดพรรคหนึ่งเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท่านจะลงสมัครหรือเปล่า คิดว่าคงไม่ลงสมัครเลือกตั้ง แต่ในกระบวนการที่อนุญาตให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ท่านก็สามารถมาดำรงตำแหน่งได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านคงไม่ลงไปในกระบวนการเลือกตั้ง แต่ยินยอมให้เสนอชื่อ นั่นก็คือการพร้อมเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่หากหลังการเลือกตั้งจะดูภาวะใกล้ๆ ว่าบริบทในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ภาวะเศรษฐกิจ สังคมโลก มองไทยอย่างไร มีปฏิกิริยายังไง คงต้องประเมินใกล้ๆ การเลือกตั้ง แต่ว่าตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ส่งว่าจะมีการเลือกตั้ง เราจึงประเมินได้ยากว่าหลังการเลือกตั้งภาวการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ในแง่ของการประเมิน ถ้ามีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ยินดีให้พรรคการเมืองเสนอ กระบวนการการเลือกตั้งเป็นอย่างไร พรรคที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์จะมีความได้เปรียบในระดับหนึ่ง เพราะถือเป็นการเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะเอื้อให้กับพรรคนี้ได้เปรียบกว่าพรรคอื่นๆ อยู่บ้าง ยกเว้นแต่ว่าพรรคอื่นมีตัวบุคคลที่โดดเด่นและมีนโยบายที่สามารถจะเสนอแล้วโดนใจประชาชนได้ ตรงนั้นมีโอกาสต่อสู้ในกระบวนการการเลือกตั้งได้


 

ทรงศักดิ์ ทองศรี
รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

คงตอบแทน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วท่านคิดอย่างไร เพราะเป็นเพียงคนนอกที่มองท่านทำงาน คิดว่านายกฯก็ต้องพูดแบบนี้ เพราะถ้าเป็นผม ผมก็พูดอย่างนี้ พูดอย่างอื่นไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ชัดเจน พูดแบบไม่ชัดไว้ดีกว่า เพราะถ้าพูดแบบชัดๆ จะผูกมัดตัวเองในวันข้างหน้า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่าขอดูนโยบายของแต่ละพรรคก่อน คงมีเหตุผลของตัวเอง เรียกว่าตอบแบบการเมืองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่คิดว่าเวลาที่เหลืออยู่จะเป็นตัวพิสูจน์ ยิ่งเวลาเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ความชัดเจนก็จะยิ่งเกิด วันนี้ยังตอบโจทย์อะไรแทบไม่ได้ เพราะวันเวลาที่จะจัดเลือกตั้งยังไม่ชัด พอไม่ชัด บุคคลจะตัดสินใจในสิ่งที่ยังไม่ชัดก็ตัดสินใจลำบากทุกคน การตอบคำถามสมมุตินั้นตอบยาก วันนี้กฎหมายลูกทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ยังไม่ประกาศเป็นกฎหมาย แม้จะประกาศเป็นกฎหมายก็มีเรื่องต่ออีกว่า วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต้องต่อไปอีก 90 วันหรือเท่าไหร่ ต้องชัดเจนก่อน ดังนั้น คนที่จะตอบโจทย์ว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่อยู่ในเส้นทางการเมืองจริงๆ อย่างบางท่านก็ยังตอบไม่ได้หรอก

ส่วนที่มีกลุ่มการเมืองประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ต้องบอกว่าหลายกลุ่มที่ไปจดแจ้งชื่อพรรคก็ยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง เวลาทำพรรคจริงๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ชื่อพรรคที่ขอจะเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ผมเห็นข่าวมาว่าเป็นพรรคนั้นพรรคนี้ จริงๆ ยังไม่ได้เป็นพรรคหรอก เป็นแค่กลุ่มการเมืองเสนอจดแจ้งชื่อพรรค ต่อไปก็ยังมีขั้นตอนอีกเยอะ แต่วันนี้คนที่เสนอแนวคิดว่าจะสนับสนุนใครก็เป็นทิศทางที่ดีในระบอบประชาธิปไตย

ที่ผ่านมา ด้วยตำแหน่งนายกฯ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่โดยตำแหน่งของท่านเป็นตำแหน่งทางการเมือง จะไม่เป็นนักการเมืองก็ไม่ได้ แต่ในอนาคตท่านจะเล่นการเมืองต่อหรือไม่เป็นเรื่องของท่านที่ต้องพิจารณา

โดยส่วนตัวมองว่าถ้าใครคิดว่าสามารถทำงานเพื่อบ้านเมืองเพื่อประชาชน ผมก็เห็นด้วยในการเข้ามาสู่เส้นทางการเมือง แต่สุดท้ายคนที่จะได้ตัดสินใจว่าใครจะได้ไปต่อก็ต้องอยู่ที่ประชาชน ดังนั้น ถ้าใครในประเทศไทยที่มีความประสงค์ และคิดว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถจะพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ผมเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนให้เข้าสู่เส้นทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image