บทความหน้า3 : คสช.เพื่อไทย การทหาร นำ การเมือง มิใช่ ชัยชนะจริง

คสช.เพื่อไทย
การทหาร นำ การเมือง
มิใช่ ชัยชนะจริง

ตอนที่ขงเบ้งเปิดศึกปราบพวกหมานในทางตอนใต้ของเสฉวน โดยมี เบ้งเฮกเป็นเป้าหมาย “ม้าเจ๊ก” ซึ่งเป็นนักกลยุทธ์ได้เสนอว่า
ชนเผ่าหมานทางใต้ถือดีว่าอยู่ห่างไกลในภูดอย แข็งข้อต่อเรามาช้านาน

แม้จะตีพ่ายไปในวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะแข็งข้ออีก ท่านยกทัพไปตีพวกเขาก็สยบ ครั้นเมื่อถอนทัพกลับยกไปตีโจผี พวกหมานรู้ว่าเมืองเราอ่อนแอไร้ทหาร

ก็จะยิ่งแข็งข้อขึ้นอีก

Advertisement

จากนั้นม้าเจ๊กจึงสรุป “อันการทำศึกนั้นควรถือการโจมตีทางใจเป็นเอก ถือการโจมตีเมืองเป็นรอง รบทางใจเป็นเอก รบทางทหารเป็นรอง”

นั่นก็คือ กงซินเหวยซ่าง กงเฉินเหวยเซี่ย ซินจ้านเหวยซ่าง ปิงจ้านเหวยเซี่ย

นั่นก็คือ การสยบอย่างสิ้นเชิง การรบทางทหารอาจเป็นกระบวนการ 1 แต่การรบทางใจ เอาชนะทางใจ ถือเป็นชัยชนะในขั้นที่สุด

Advertisement

นั่นก็คือ หลัก “การเมือง” นำ “การทหาร”

เมื่อนำเอาคำว่า “รบทางใจ เอาชนะทางใจ” อาจทำให้หลายคนนึกถึงคำว่า “บวชที่ใจ” ของท่านเหลาจื่อหรือแม้กระทั่งคำว่า “กระบี่อยู่ที่ใจ”

จึงคิดว่าน่าจะเป็นความจัดเจนของจีน

โดยเริ่มจาก “เหลาจื่อ” ส่งมอบมายัง “ซุนวู” กระทั่งม้าเจ๊กศึกษาแล้วสรุปนำเสนอต่อ “ขงเบ้ง” อันเท่ากับเป็นภูมิปัญญาตะวันออก
แต่ใครก็ตามที่ศึกษา เคลา ฟอน เคลาเซวิตซ์

โดยเฉพาะเมื่อนักวิชาการทางทหารอย่าง มิเชล โฮเวิร์ด อ่านว่าด้วยสงครามแล้วสังเคราะห์ออกมาโดย น.อ. ณ ณรงค์ ทวีวัฒน์ แปลเป็นภาษาไทย

ก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เป็นความเข้าใจที่มิได้เน้นแต่เพียงว่า สงครามคือการลดความเข้มแข็งของข้าศึกที่ค่อนข้างมากกว่าของเราเอง แต่ก็เน้นด้วยว่า การทำลายที่สำคัญไม่ใช่ทางกายภาพแต่เป็นทางจิตใจ

นั่นก็คือ “การฆ่าความกล้าหาญของข้าศึก” นั่นก็คือ กระหน่ำเข้าที่ “ใจ”

ความยอดเยี่ยมเป็นอย่างยิ่งของขงเบ้งอยู่ตรงไหน หลี่ปิงเอี้ยน

ซุนจิง สังเคราะห์ออกมาตามสำนวนแปลของ บุญศักดิ์ แสงระวี ออกมาว่า

เป็นกระบวนการแปรกลวิธีรุกของ ซุนวูออกมาเป็นรูปธรรม

อันสงครามนั้น คือ การใช้เล่ห์เพทุบาย ฉะนั้น รบได้ให้แสดงว่ารบไม่ได้ จะรุกให้แสดงว่าไม่รุก ใกล้ให้แสดงว่าไกล ไกลให้แสดงว่าใกล้

ให้ล่อด้วยผลประโยชน์ ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย

ข้าศึกแน่นให้เตรียมรับ ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง ข้าศึกโกรธง่ายให้ก่อกวน ข้าศึกยโสให้เหิมเกริม ข้าศึกสบายให้เหนื่อยล้า ข้าศึกกลมเกลียวให้แยกสลาย

ให้จู่โจมเมื่อไม่ระวัง ให้รุกรบเมื่อไม่คาดคิด

กระนั้น ในบทกลวิธีรุกเป้าหมาย คือ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งยังหาใช่ความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบแต่สยบข้าศึกได้จึงจะเป็นความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม

นั่นก็คือ สยบที่ใจ กำชัยชนะที่ใจ

จากแนวคิดของเคลาเซวิตซ์ แห่งเยอรมนี จากแนวคิดของซุนวูแห่งจีน จากรูปธรรมของม้าเจ๊กประสานเข้ากับการลงมือปฏิบัติของขงเบ้ง

เป้าหมาย คือ ต้องการเอาชนะที่ใจ

การรบโดยรุกเข้ายึดเมือง เป็นการครอบครองในทางกายกาพ อาจทำได้ แต่มิได้หมายความว่ากำชัยได้อย่างแท้จริง เพราะยังไม่สามารถสยบในทางความคิดได้

เหมือนที่ “คสช.” กำลังทำอยู่กับ “เพื่อไทย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image