ปลดล็อก 4 นายก อบจ. ปม ‘ทุจริตหรือการเมือง’

หมายเหตุ – ความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2561 เรื่องการเปลี่ยนแปลงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ ประกอบด้วย 1.นายสถิรพร นาคสุข นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยโสธร 2.นางมลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร 3.นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ 4.นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร กลับไปดำรงตำแหน่งหน้าที่ตามเดิม


 

บุญเลิศ บูรณุปกรณ์
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่

ผมขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ที่ให้ความเป็นธรรม และเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่าผมไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ช่วงที่หยุดปฏิบัติหน้าที่มา 1 ปีเศษก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร หลังมีคำสั่งให้กลับมาทำหน้าที่ตามเดิม คงต้องรอหนังสือคืนตำแหน่งจากจังหวัดอย่างเป็นทางการ ก่อนกลับเข้าไปทำงานที่ อบจ.

Advertisement

หากกลับไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว พร้อมทำงานและสานต่องานที่คั่งค้าง เพราะรับปากกับชาวบ้านไว้หลายเรื่อง เนื่องจากบางโครงการชาวบ้านรอมานานแล้ว ช่วง 1 ปีเศษที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ไม่ได้ลงพื้นที่มานาน จึงขอลงพื้นที่พบปะประชาชนทุกพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อรับทราบปัญหาและความทุกข์ร้อนประชาชน ก่อนนำมาวิเคราะห์ และแก้ปัญหาให้ตรงความต้องการมากที่สุด พร้อมขอบคุณประชาชนที่เป็นห่วงและให้กำลังใจมาโดยตลอด พร้อมทำหน้าที่จนกว่ามีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป

หลังรักษาการจนถึงเลือกตั้งท้องถิ่น ผมขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.อีกสมัย คงไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งใหญ่ หรือ ส.ส. เพราะอยู่กับท้องถิ่นมากว่า 20 ปีแล้ว อยากพัฒนาท้องถิ่น ทั้งด้านคุณภาพชีวิต การศึกษา สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ประชาชนให้ดีกว่าเดิม และพัฒนาจังหวัดสู่มาตรฐานสากล พร้อมรองรับความเจริญทุกด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่เป็นหัวใจหลักหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจเชียงใหม่มายาวนาน

ผมไม่ทราบว่ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด และไม่รู้ว่ากระทรวงมหาดไทยให้เลือกตั้ง อบจ.หรือท้องถิ่นอื่นก่อน เพราะกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภา และกฎหมายที่เกี่ยวกับท้องถิ่น 6 ฉบับ ไม่แล้วเสร็จ แต่การปลดล็อกหรือคืนตำแหน่ง ไม่มีการต่อรองทางการเมืองใดๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงกับคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเท่านั้น

Advertisement

 

ชัยมงคล ไชยรบ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนคร
และอดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย

ตอนนี้แน่ชัดแล้วว่าผมจะได้กลับเข้าไปทำหน้าที่นายก อบจ.สกลนคร หลังจากรองนายก อบจ.สกลนครรักษาการมานานเกือบ 1 ปี ที่ผ่านมาผมไม่ได้ไปไหน ยังคงลงไปพบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนเป็นปกติเหมือนที่ยังเป็นนายก อบจ.อยู่ ถามว่าตอนที่ว่างงานมีผลกระทบอะไรไหม ก็ธรรมดาย่อมมีบ้าง แต่ก็คิดว่าสักวันความจริงต้องปรากฏ และก็เป็นจริงเมื่อหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบอยู่พิจารณาแล้วว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้กรณีจัดจ้างซื้อรถซ่อมถนน ก่อนจะปลดล็อกตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2561 ตอนนี้มีคนมาให้กำลังใจอย่างมาก

ผมไม่อยากไปโทษใครว่าเรื่องที่ถูกร้องเรียนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกมการเมืองท้องถิ่นหรือไม่ แต่หากเราเข้ามาเล่นการเมืองก็ย่อมถูกตรวจสอบและสามารถพิสูจน์ได้ ธรรมดาคนรักก็มี คนชังก็มี ก็ย่อมหาช่องทางเพื่อเคลียร์ทางให้ตนเองเข้ามาสู่สนามการเมืองท้องถิ่นให้ได้ แต่ตอนนี้ชัดเจนว่าโปร่งใสและหลุดพ้นจากมลทินหลังตกเป็นจำเลยสังคมมาหลายเดือน อีกทั้งผมไม่เคยโต้แย้งหรือขัดขืนคำสั่ง เพียงแต่รอกระบวนการให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ยอมรับว่าตอนนี้การเมืองค่อยๆ ผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัด และบ่งบอกถึงสัญญาณการเลือกตั้งไม่ว่าจะท้องถิ่นหรือระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แสดงว่ารัฐบาลมีเจตนาดีและจริงใจเตรียมคืนอำนาจให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคลที่เหลือคาดว่าไม่นานจะมีการพิจารณาปลดล็อกเพิ่มอีกหากพิสูจน์ได้ว่าโปร่งใส

มีกระแสข่าวมาว่า ผมนั้นเป็นกลุ่มก้อนกันระหว่างนายก อบจ. 3 จังหวัดที่เพิ่งปลดล็อกไป ก่อนหน้านี้ได้ไปพูดคุยหรือรับปากอะไรไว้กับใครเกี่ยวการเลือกตั้งในภายหน้าหรือไม่ ยืนยันว่าไม่จริง เพราะผมบอกเสมอว่าเป็นนายก อบจ. เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ตอนนี้ยังคงอยู่ท้องถิ่น ยังไม่ได้ตัดสินใจหรือบอกว่าจะพักตรงนี้เพื่อมุ่งสู่เก้าอี้ ส.ส. ตอนนี้ขอทำงานเพื่อประชาชนชาวสกลนครก่อน ทุกคนรอผมกลับมาทำงาน เพราะโครงการหลายโครงการสะดุดไป จะกลับเข้าไปเร่งสานงานต่อที่ค้างคาอยู่หลายเรื่อง เพื่อผลประโยชน์ของชาวบ้าน แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีนัยยะใดๆ เพราะเพิ่งรู้คำสั่งเช่นกัน ดังนั้นขอให้เป็นเรื่องของอนาคตและวิเคราะห์ก่อนว่าควรอยู่ตรงไหนทำอะไรที่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด จะขออยู่ตรงนั้นมากกว่า หรืออาจจะลงสมัครชิงเก้าอี้นายก อบจ.อีกก็ได้

หลังจากนี้ไปในเรื่องการทำงานของรัฐบาลก็คงเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ ส่วนการเคลื่อนไหวของนักการเมืองท้องถิ่นในขณะนี้หลังจากผมจะได้กลับเข้ามาทำหน้าที่เดิม ก็ยังปกติไม่มีเคลื่อนไหวใดๆ เพราะมีกฎหมายเกี่ยวกับชุมนุมทางการเมืองอยู่ แต่มีบ้างที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามไปปั่นกระแสว่าผมนั้นทุจริตในเรื่องต่างๆ จนเป็นที่มาของการโดนคำสั่ง ม.44 พักการทำงาน เพื่อหวังลงเลือกตั้งนายก อบจ.ในครั้งหน้า แต่ประชาชนส่วนมากยังคงเชื่อมั่นว่าผมนั้นไม่ได้ผิดจริง และยืนยันจะสนับสนุนในการทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเมืองต่อไป

ขอยืนยันว่าไม่มีการต่อรองทางการเมือง ไม่มีสัญญาใจ ไม่มีคอนเน็กชั่นกับกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มใด หลังจากนี้จะกลับไปทำงานการเมืองท้องถิ่นปกติ สำหรับการทำงานการเมืองในสนามใหญ่ระดับชาติ ขณะนี้ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ไม่มั่นใจว่าจะมีพรรคการเมืองเหลือกี่พรรค จะมีเลือกตั้งจริงหรือไม่ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่ความชัดเจน ทั้งการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม หรือมีการประกาศวันเลือกตั้ง ดังนั้นในช่วงนี้จะขอทำงานด้านท้องถิ่นไปก่อน หากบรรยากาศทางการเมืองในระดับชาติมีความผ่อนคลายไปในทางที่ดีก็อาจจะตัดสินใจอีกครั้ง


 

ธเนศวร์ เจริญเมือง
สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

จากข่าวที่ปรากฏว่าได้มีการคืนตำแหน่งให้กับนายก อบจ.ทั้ง 4 คนนั้น มองว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในอันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่าที่ผ่านมามีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดกี่รายที่ถูกสั่งพักงาน ทำไม 4 คนนี้ถึงได้คืน ด้วยเหตุผลอะไร มีความใกล้ชิดอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่ ทำไมที่เหลืออยู่ยังไม่ได้ มีเอกสารยืนยันที่สรุปข้อคิดเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีความผิดจริงหรือไม่ เรียบร้อยแล้วหรือยัง เพราะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ประกาศว่าจะวางมือทางการเมืองเช่นบุคคลอื่นแสดงถึงความพร้อมที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย ชี้ให้เห็นว่าจะต้องมีพรรคพวก ซึ่งต้องสังเกตว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นพวกพ้อง

ดังนั้น สะพานที่ทอดไปยังนายก อบจ.ทั้ง 4 คนนี้ไม่ใช่การตรวจสอบค้นหาความผิดที่ธรรมดา อาจแฝงด้วยนัยยะทางการเมือง ซึ่งสังคมอาจมีการตั้งคำถามว่าชัดเจนอย่างไร มีอะไรเป็นเกณฑ์ชี้วัดความผิด ควรสอบถามความเห็นไปยังผู้บริหารองค์กรระดับท้องถิ่นรายอื่นที่ถูกสั่งพักงานว่า ทำไมถึงยังไม่ได้รับคืนตำแหน่งด้วย เพราะการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกันอยู่ในเมื่อคนเลือกเป็นคนเดียวกัน

แม้หัวหน้า คสช.ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งขึ้นในต้นปีหน้า แต่ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ฉะนั้นต้องมีความชัดเจนว่าอะไรคือความคลุมเครือที่เกิดขึ้นในตอนนี้ แต่เมื่อดูจากท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่ร้องขอประชาชนอย่าต่อว่าตนเอง มองเป็นความพยายามกู้เกียรติภูมิภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ ในด้านหนึ่งคือการพูดถึงตัวเองที่ควรได้รับความเคารพจากสังคม อีกด้านหนึ่งคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญทางการเมืองด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคงไม่รับแจ้งข้อกล่าวหาและได้ปล่อยตัวกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาชุมนุมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่บ่งบอกถึงการสร้างบรรยากาศสู่การเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นขึ้นได้เมื่อใด ต้องให้ คสช.เป็นฝ่ายพูดเอง ซึ่งขณะนี้ได้มีเสียงที่แตกเป็น 2 สาย ฝ่ายหนึ่งต้องการให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน ขณะที่อีกฝ่ายมองเห็นว่า ควรให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทีหลัง แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งหมด โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาได้ยกเลิกการเลือกตั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมถึงระงับไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าควรจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อน ซึ่งในท้องที่อื่นใช้วิธีที่ต่างจากการเลือกผู้ว่าฯกทม. โดยการกาบัตรลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคัดเลือกตำแหน่ง อบต. และ อบจ. สามารถทำได้ในวันเดียวกันโดยทำบัตรลงคะแนนเป็น 2 ชุด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ

ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเร่งฟื้นคืนบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยให้ประชาชนรู้สึกตื่นตัวและได้ถกเถียงนโยบายการเมืองว่าอะไรคือทางเลือกของประเทศไทยกัน หากรัฐบาลอยากได้คะแนนเสียงจะต้องผลักดันการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อนที่จะเป็นระดับประเทศ โดยตอนนี้ กกต.ว่างงานมา 4 ปี เป็นเหมือนม้าออกศึกที่พร้อมจะออกวิ่ง สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลยในไม่กี่เดือนข้างหน้า เป็นการฝึกซ้อมให้ประชาชนได้ลองใช้ความคิดก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศที่จะตามมา เพราะโดยหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยเป็นการเรียนรู้ฝึกฝนลองผิดลองถูกเป็นเรื่องปกติ แต่ยังมีบางฝ่ายต้องการให้จัดการเลือกตั้งระดับประเทศก่อน ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่และต้องใช้เวลามากกว่า โดยวิธีนี้ตนเองมองว่าจะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองที่ชัดเจนเกินไป


 

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการการกระจายอำนาจ
ให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (กก.ถ.)

เบื้องต้นเชื่อว่าความผิดยังไม่ชัดเจน แต่มีการประเมินว่ามีการใช้เหตุผลทางการเมืองเพื่อสั่งแขวนมากกว่าปัญหาเรื่องการทุจริต สำหรับการคืนตำแหน่งผู้มีอำนาจอาจมีการต่อรองกับนักการเมืองท้องถิ่นที่มีฐานใหญ่ในภาคเหนือหรือภาคอีสานให้เป็นหัวคะแนนเพื่อประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะฐานคะแนนนิยมในจังหวัดเชียงใหม่ และปัจจุบันจะเห็นได้ว่า คสช.ไม่ใช้ ม.44 สั่งแขวนผู้บริหารท้องถิ่นมานานหลายเดือน เนื่องจากไม่ต้องการสร้างปัญหาเพิ่มจากการสืบทอดอำนาจ ขณะที่ปัญหาการทุจริตไม่ได้ลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image