สัมภาษณ์พิเศษ : ‘อุตตม สาวนายน’ ฉายภาพ‘อุตฯ’ปีหมู รุกต่อ8ด้านมุ่งสู่4.0

หมายเหตุนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแผนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมปี 2562 ตลอดจนการทำงานตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0

สําหรับแผนการยกระดับผู้ประกอบการในปี 2562 รัฐบาลมีโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท รัฐบาลช่วยภาระดอกเบี้ย ขณะนี้มีวงเงินเหลืออยู่ 30,000 ล้านบาท ล่าสุด ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดรับผู้เข้าร่วมโครงการ ฮัก แท็กซี่ เสริมแกร่งแท็กซี่ไทย เพื่อให้ผู้ขับแท็กซี่กู้เงินไปซื้อรถแท็กซี่คันใหม่ วงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา มั่นใจว่าคำขอจะเต็มจำนวนในเร็วๆ นี้ เพราะหลังจากเปิดรับวันแรกมีผู้เข้าโครงการล้นหลามแล้ว โดย ธพว.เปิดรับสมัครทางออนไลน์เพื่อให้ครบตามเป้าหมาย

นอกจากสินเชื่อแล้ว ทาง ธพว.จะจัดทำแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยเหลือผู้ขับแท็กซี่ให้ใช้ออนไลน์ในการเพิ่มความถี่การรับผู้โดยสาร และจะจัดอบรมด้านการบริการเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก หลังจากนี้จะหารือกับตัวแทนผู้ขับขี่แท็กซี่ถึงเพื่อยกระดับจรรยาบรรณของผู้ขับแท็กซี่ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ

หากวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาทเต็ม จะขยายโครงการหรือไม่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา โดย ธพว.ยังมีวงเงินสินเชื่อจากโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เหลืออยู่อีก 10,000 ล้านบาท

Advertisement

นอกจากนี้อีก 10,000 ล้านบาท ที่มีอยู่จะปล่อยสินเชื่อให้ร้านค้าขนาดเล็ก หรือโชห่วย คิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษเพื่อยกระดับโชห่วยสู่ 4.0 โดยใช้อีคอมเมิร์ซในการปรับตัว ลงทุนระบบโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการสามารถกู้ไปปรับหน้าร้าน ประสานกับ ธพว.ในการทำระบบออนไลน์เชื่อมกับผู้ค้าส่งเพื่อให้สินค้ามาจำหน่ายในราคาไม่แพง และขายสินค้าออนไลน์เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

จุดเด่นของโชห่วยคือ การขายสินค้าแบบแยกชิ้น ผู้บริโภคมีความต้องการอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องเสริมอีคอมเมิร์ซเข้าไป ความช่วยเหลือนี้ฟรี นอกจากนี้จะมีแอพพลิเคชั่นเข้าเสริม ช่วยเรื่องการทำบัญชี บริหารต้นทุนสินค้า และเรื่องปรับปรุงหน้าร้านใหม่ เป็นแบบบีทูบี คือโชห่วยกับผู้ค้าส่ง ผู้ประกอบการ และบีทูซี คือโชห่วยกับลูกค้า

อีก 10,000 ล้านบาท ขอเก็บไว้ก่อน หลังปีใหม่จะเปิดตัวอีกครั้ง ทั้งหมดเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการปรับตัวไปสู่โลกยุคใหม่

Advertisement

ส่วนภาพการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2562 นี้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ผมได้เรียกประชุม
ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดสิ่งที่ต้องการเห็นปีนี้ โดยจะต้องสื่อสารให้สังคมเห็นว่านี่คือการปรับตัวของกระทรวงไปสู่ 4.0 พร้อมกับผลงานที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1.การขับเคลื่อนศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) ที่การทำงาน การบริการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กต้องเข้มข้นยิ่งขึ้น ต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ให้งานเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นผล โดยสั่งการให้นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกอบชัย สิงสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยจัดงบประมาณสนับสนุนให้ไอทีซีเป็นกลไกการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เข้าถึงชุมชน ต้องออกไปหาชุมชนและผู้ประกอบการ ไม่ใช่รอแค่ให้พวกเขามาหาเท่านั้น และต้องประชาสัมพันธ์ โชว์ผลงาน เพราะประชาชนอาจยังไม่รู้จัก

นอกจากนี้ยังมอบนโยบายด้านการพัฒนากำลังคน โดยปรับมุมมองการสร้างคนของกระทรวง สร้างคน
ในพื้นที่มากขึ้น จากเดิมคนที่ดูแลไอทีซีอาจเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด อาจตั้งโจทย์ว่าหากผู้บริหารระดับต้นสามารถทำผลงาน พัฒนาไอทีซีได้สำเร็จ ก็ควรผลักดันให้เติบโตในสายการทำงาน จะเป็นการกระตุ้นให้คนเก่ง คนทำงาน อยากทำผลงาน เป็นประโยชน์ทั้งผู้ปฏิบัติงาน และผลงานที่ตามมา เพื่อตอบโจทย์การมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0

นอกจากนี้เรื่องการมอบทุนข้าราชการกระทรวง ให้ปรับไปที่การศึกษาที่เกี่ยวกับการทำบิ๊กดาต้า เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ มอบนโยบายให้กับนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว

2.เรื่องการนวัตกรรม การพัฒนาสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่ 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและพันธมิตร ทั้งรัฐและเอกชนไทยและต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำกัด บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไซเบอร์พอร์ท ฮ่องกง (หน่วยงานสนับสนุนสตาร์ตอัพในฮ่องกง) รวมทั้งสถาบันการศึกษา ร่วมจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมหรือ อินโนสเปซ (ไทยแลนด์) ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ณ สถาบันวิทยสิริเมธี จ.ระยอง

อินโนสเปซนี้ จะตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือสตาร์ตอัพ
ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ สาขาการเกษตร ที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศไทย เบื้องต้นจะประเดิมเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์เปิดดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562

นอกจากนี้อินโนสเปซจะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่มีพลังจากเครือข่ายทุกส่วนมาช่วยส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ตอัพไทยแบบครบวงจร โดยเชิญชวนและสรรหาผู้ประกอบการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมูลค่าสูงเข้ามาร่วม ทั้งในและต่างประเทศโดยจะตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดำเนินการ เพราะรัฐบาลทำเองจะไม่คล่องตัว

ล่าสุด ได้รับแจ้งเบื้องต้นว่า นางแคร์รี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จะเดินทางมาไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อลงนามอย่างเป็นทางการระหว่างพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งอินโนสเปซ ซึ่งรวมถึงไซเบอร์พอร์ท ฮ่องกงด้วย

การลงนามนี้จะเปิดตัวแผนงานที่จะเริ่มดำเนินการทันที จะมีความชัดเจนของแผนงานแต่ละปี เป้าหมายต่างๆ เพื่อให้การทำงานเป็นรูปธรรม เรื่องนี้นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ดูแล

บทบาทของอินโนสเปซคือการสร้าง สนับสนุนสตาร์ตอัพให้เติบโตด้วยนวัตกรรม และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นไปที่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เกษตรทันสมัย เพราะเป็นแกนหลักของประเทศไทย

3.การจัดตั้งห้องเย็น เพื่อรองรับผลไม้ในภาคตะวันออกและพื้นที่อื่น ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง จะเป็นนิคมต้นแบบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เร็วๆ นี้ ผมจะนัดประชุมคณะทำงานอีเอฟซีเพื่อติดตามความคืบหน้า พร้อมเชิญบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ดูแลเรื่องห้องเย็นมาร่วมหารือ อัพเดตการทำงานด้วย เพราะจากการหารือกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ต่างมีความต้องการให้ห้องเย็นเกิดขึ้นโดยเร็ว ล่าสุด ธนาคารกรุงไทยสนใจเข้ามาร่วมด้วย

4.การขับเคลื่อนมาตรฐานสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยใช้ระบบออนไลน์ในการอนุมัติอนุญาต ตั้งเป้าหมายว่าปี 2562 จะต้องออนไลน์ 100% การทำงานต้องเชื่อมกับการทำงานของไอทีซีให้เข้มข้น สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในการขอมาตรฐาน มอก.เอส

5.บทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน ยื่นมือออกไปช่วยเหลือชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพ ความเป็นอยู่ ทั้งตัวแรงงานและชาวบ้านรอบพื้นที่

6.เน้นย้ำสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในการพัฒนาไบโอชีวภาพให้ได้ตามเป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการกำหนดให้ไบโอชีวภาพของไทยเป็นฮับ ต้องขยายความร่วมมือไปถึงเกษตรกร ชุมชน มหาวิทยาลัย ไม่ใช่มุ่งเน้นแค่โรงงานน้ำตาลเท่านั้น เพราะการเป็นฮับต้องพัฒนาพื้นที่ภาพรวม

ทั้งนี้ โรงงานจะมีบทบาทในการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อยกระดับแรงงาน การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร หรืออาจพัฒนาอาชีพให้ชุมชนรอบด้าน รูปแบบจะคล้ายกับอีอีซี ที่จะดูแลทุกด้าน ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ต้องเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับการลงทุน กำหนดกรอบความชัดเจนภายใน 3 เดือนจากนี้

7.การทำงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่จะต้องมีแผนงานในการออกไปพบ ให้ความรู้ เตรียมพร้อมเรื่องกฎหมายโรงงานฉบับใหม่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องการยกเว้นการต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน (ร.ง.4) โดย กรอ.และ ส.อ.ท.ได้ตั้งคณะทำงานสำหรับตรวจรับรองตนเองของโรงงานอุตสาหกรรม (เซลฟ์ดีแคลเรชั่น) เพื่อดูแลมาตรฐานโรงงานร่วมกัน

8.เรื่องการอนุมัติอนุญาตเหมืองแร่ ได้สั่งการให้อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างปรับตัวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ อาทิ การขอใบอนุญาต ซึ่งจะมีกลุ่มที่ประทานบัตรหมดอายุพอดี โดยกระทรวงจะออกไปชี้แจงทำความเข้าใจ ไม่ใช่นั่งรอให้ผู้ประกอบการเข้ามาทางเดียว เพราะทราบว่าหลายรายตกใจกับการใช้กฎหมายใหม่ อีกเรื่องคือการดูแลพื้นที่รอบเหมืองจะทำอย่างไร จัดทำข้อมูลที่สามารถตรวจสอบ นำมาใช้ประกอบการพิจารณาหาคำตอบได้

การทำงานของกระทรวงเหมือนรถยนต์ ก็ต้องเข้าเกียร์ตลอดเวลา ไม่ต้องใส่เกียร์ว่าง ไม่ว่าสถานการณ์ ณ เวลานั้นจะเป็นอย่างไร

นโยบายทำงานที่สั่งการมุ่งเน้นดูแลภาคประชาชน ธุรกิจรายย่อย สตาร์ตอัพมากขึ้น นั่นเพราะไทยกำลังก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นธรรมชาติที่จะต้องปรับเปลี่ยน โดยคนไทยต้องปรับทุกภาคส่วน จะทำเฉพาะส่วนใหญ่ไม่ได้ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดก็คือ ชุมชน โดยปี 2562 จะทำงานอย่างต่อเนื่อง
เน้นความลึกและความกว้าง

ส่วนที่ให้ประเมินผลงานตนเองในรอบ 1 ปีนั้น ตั้งแต่ผมมาทำงานก็มุ่งยกระดับหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมสู่ 4.0 สร้างความเข้าใจ กำหนดเป้าหมายชัดเจน กำหนดกิจกรรม พื้นที่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย การดูแลสิ่งแวดล้อม พัฒนาผู้ประกอบการ สิ่งเหล่านี้เริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจน

ต่อมาคือการเดินหน้าโครงการต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย มีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ อาทิ การทำงานกับไซเบอร์พอร์ท ฮ่องกง ในการผลักดันสตาร์ตอัพประเทศไทย ขณะที่สตาร์ตอัพตอนนี้กำลังเดินหน้า ส่วนเอสเอ็มอีเริ่มเดินหน้าแล้ว โดยปี 2562 หากได้รับโอกาสให้ทำงานก็พร้อมต่อยอด แต่อยู่ที่รัฐบาลชุดใหม่ด้วยว่าจะให้ทำงานต่อหรือไม่ ประเด็นนี้พอก่อนดีกว่าเดี๋ยวนอกเรื่อง (ยิ้ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image