‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ มองการเมืองหลังเลือกตั้ง ถึงเวลาภาคต่อ ‘ระบอบประยุทธ์’?

หมายเหตุ – ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงสถานการณ์การเมืองไทยในยุครัฐบาล คสช. 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนนำไปสู่การตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสนามเลือกตั้งมีนาคม 2562

⦁ เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะมาเป็นพรรคพลังประชารัฐ คสช.ได้วางอะไรไว้ในโครงสร้างการเมืองไทยบ้าง?

หากมองย้อนกลับไปเทียบกับการรัฐประหารครั้งอื่นๆ การรัฐประหารรอบนี้ไม่ใช่สภาวะชั่วคราว แต่ได้ก่อตัวเป็นระบอบแล้วผมกับ อ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์ประจำอยู่ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันอธิบายและสรุปรวบยอดสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ที่ผ่านมา ผ่านบทความ โดยเรียกการเมืองหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 ว่า “ระบอบประยุทธ์” ถามว่าเพราะอะไร เพราะระบอบประยุทธ์เป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 16 ภายหลังจากขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร สังคมไทยไม่เคยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารยาวนานเท่านี้มาก่อน รัฐประหารปี’34 รสช.อยู่ไม่นาน ปี’35 ก็เลือกตั้ง รัฐประหารปี’49 คมช.อยู่ไม่นาน ปี’50 ก็เลือกตั้ง เพราะตั้งใจเข้ามาปัดฝุ่นบางอย่าง จัดระเบียบนิดหน่อยแล้วก็ไป แต่รัฐประหาร 57 จนป่านนี้ปี’62 แล้วก็ยังไม่ได้เลือก ด้วยระยะเวลามันชัดเจนว่า คสช.ต้องการเข้ามาและสืบทอดอำนาจต่อไปด้วย มันจึงน่าสนใจว่าทำไมรัฐบาลทหารถึงอยู่ได้นานเพียงนี้

⦁ ปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐบาล คสช.อยู่ได้ยาวนานขนาดนี้?

Advertisement

ผมคิดว่ามี 2 ปัจจัย 1.การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับภาคการเมือง และประชาสังคมใหม่ กับ 2.การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับกลุ่มทุน โดยทั้ง 2 ส่วนนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ คสช.อยู่ได้ยาวนาน จะเห็นได้ว่าระบอบประยุทธ์เป็นระบอบที่รัฐกับเอกชน โดยเฉพาะทุนผูกขาด 10 กว่ารายมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ผนึกกันเป็นพันธมิตร ชัดเจนที่สุดคือโครงการประชารัฐที่กรรมการบริษัทพลังประชารัฐสามัคคี ทั้งระดับชาติ และระดับจังหวัดต่างมีตัวแทนบริษัทต่างๆ เข้าไปร่วมเต็มไปหมด พูดได้เลยว่าหากปราศจากการสนับสนุนของทุนใหญ่เหล่านี้ ยากที่รัฐบาลทหารจะฝืนกระแสโลกอยู่ได้นานขนาดนี้

แน่นอน เมื่อมีการผนึกกำลังกับกลุ่มทุน จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศมันโตแต่หัว คนระดับรากหญ้าหรือแม้แต่ชนชั้นกลางก็บ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี นักเศรษฐศาสตร์เรียกสภาวะแบบนี้ว่า แข็งนอกอ่อนใน แข็งบนอ่อนล่าง เพราะในช่วง 4-5 ปี มันมีอยู่ไม่กี่บริษัทที่ได้ประโยชน์ ที่ผ่านมาทุนเหล่านี้มีกำไรเพิ่มขึ้นแบบ 200-300% กฎหมายต่างๆ ที่ออกมาต่างเอื้อทุนใหญ่ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในต่างจังหวัดสตาร์ตอัพต่างๆ ตายหมด เพราะการนำเอาทุนใหญ่ไปคุมทุนเล็ก คุมผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ชาวนาในนามของพี่เลี้ยง ดูผิวเผินเหมือนจะดี แต่สุดท้ายกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ไปคุมไม่ให้ต้นไม้เล็กโต รวยกระจุกอยู่แต่ทุนใหญ่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมันจึงสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนภาคการเมือง 4 ปีที่ผ่านมา กองทัพขยายอำนาจจนกลายเป็นรัฐทหาร นับตั้งแต่คนยุค 14 ตุลาฯ สังคมไทยไม่เคยเห็นทหารเข้าไปคุมทุกอย่างขนาดนี้ ฝ่ายบริหารก็เป็น ครม.สีเขียว แม้จะปรับเปลี่ยน แต่ทหารก็ยังมีบทบาทสูงสุด เช่นเดียวกับ สนช.ก็เขียวยิ่งกว่าในยุค คมช. มันสะท้อนว่าทหารไม่ไว้ใจใครเข้าไปคุมเอง ใช้ตำแหน่งเหล่านี้ต่างตอบแทนให้กับคนในกองทัพในฐานะกองหนุนสำคัญ รวมไปถึงสภาปฏิรูปต่างๆ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็มีทหารคอยประสานงาน นี่ยังไม่นับร่วมรัฐวิสาหกิจอีกนับไม่ถ้วน

Advertisement

อีกทั้งยังมีการแก้กฎหมายให้ทหารมีอำนาจจับกุม ตรวจค้นเหมือนตำรวจทุกอย่าง จนที่ผ่านมาตลอดเกือบ 5 ปีมานี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองแบบปกติที่ทหารกลับเข้ากรมกองเป็นไปได้ยากมาก ต่อให้มีเลือกตั้ง ใครชนะกลับมาก็จะต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบรัฐทหารต่อไปอีกหลายปี คล้ายกับกรณีพม่าที่แม้จะมีรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อรื้อความสัมพันธ์แบบปกติกับประชาคมโลก แต่ทหารยังเป็นผู้เล่นที่ทรงอำนาจเป็นอย่างมาก ถ้า คสช.ทำสำเร็จก็จะเพิ่มความชอบธรรมให้กับตัวเอง อย่างน้อยๆ คนจะมาชี้หน้าหาว่าผู้ปกครองปัจจุบันเป็นเผด็จการไม่ได้แล้ว

⦁ บทเรียนในประวัติศาสตร์ก็ชี้แล้วว่า ทหารไม่เก่งในเกมการเลือกตั้งเหมือนนักการเมือง?

ใช่ มันไม่ง่าย การทำรัฐประหารเป็นทักษะที่กองทัพรู้ว่าการโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำอะไรบ้าง แต่การจะรักษาอำนาจระยะยาว โดยยอมให้ประชาชนได้เลือกตั้งด้วยนั้นไม่เคยทำสำเร็จในการเมืองไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พอมาเล่นในเกมการเลือกตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลาชนะก็จริง แต่เสียอำนาจ จากกรณีเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 เพราะเป็นทหารมาทั้งชีวิต แต่พอต้องมาหาเสียงกับประชาชนไม่รู้จะหาอย่างไร สุดท้ายใช้กลไกรัฐมาช่วย แต่ก็ยังไม่กระเตื้อง ต้องไปข่มขู่ชาวบ้าน เขาก็ยังไม่เลือก จึงต้องใช้ “พลร่มไพ่ไฟ” เวียนเทียนให้ทหารออกมาเลือกซ้ำๆ ทำไฟดับเพื่อยัดหีบที่กาไว้ พอโกงแหลกลาญ ชนะแต่ก็โดนประท้วงอยู่ไม่ได้

จอมพลถนอม กิตติขจร พรรคสหประชาไท ก็ชนะเป็นอันดับ 1 แต่ไม่เยอะ สุดท้ายต้องตั้งรัฐบาลผสม อยู่ไม่นานก็ต้องรัฐประหารตัวเอง เพราะปวดหัวกับการต่อรองแบบพรรคการเมือง ต้องกลับไปเป็นเผด็จการแบบเดิม ที่ผ่านมาเคยแต่ออกคำสั่ง พอมีสภา ไม่มีอำนาจเด็ดขาด จึงไม่คุ้น คราวนี้ก็เช่นกัน ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯได้ ก็ไม่ใช่รัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดแบบเดิม เพราะต้องเป็นรัฐบาลภายใต้รัฐสภาปกติที่เต็มไปด้วยการต่อรอง อภิปรายถี่ยิบ เหมือนกับที่จอมพลถนอมเจอ ที่ต้องไปวิ่งเต้นเจรจาเพื่อให้รัฐบาลมันอยู่ต่อไป พอวันที่ทนไม่ได้ทำรัฐประหารตัวเองก็ทำให้สังคมอึดอัด เพราะเปิดแล้วปิดอย่างรวดเร็ว ประชาชนก็ผิดหวังรุนแรงนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นี่จึงเป็นสิ่งที่อันตรายมาก

หรือพฤษภาฯ 35 จริงๆ พรรคสามัคคีธรรมซึ่งเป็นพรรคนอมินี รสช.ชนะ แต่คนก็ไม่ยอมรับเพราะไม่โปร่งใส สังคมรับไม่ได้กับการไปดึงคนที่ รสช.เคยตราหน้าว่าเป็นพวกคนเลว พ่อค้ายา จับยึดทรัพย์ด้วยซ้ำ แต่พอคนเหล่านี้มาช่วยตั้งพรรคก็ปลดจากบัญชีดำ คืนทรัพย์สินให้ทั้งหมด จนกระทั่งชัดเจนว่าเป็นการสืบทอดอำนาจก็อยู่ไม่ได้

⦁ คสช.เขาอยากฉีกประวัติศาสตร์เดิมเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่?

แน่นอน เขาคิดว่าเขาจะทำได้แตกต่างจากอดีต ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย เพราะได้สรุปบทเรียนจนกระทั่งอยู่ได้นานโดยไม่มีการเลือกตั้งถึงเกือบ 5 ปีได้ ถึงได้มีคำพูดว่า รัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่เสียของเหมือนกับปี’49 จึงต้องทำอะไรต่างออกไป เช่น การที่ผู้นำยึดอำนาจเป็นนายกฯเอง ต่างจาก คมช.ที่ได้เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็น หรือคราวที่แล้วปีเดียวยังไม่ทันกำราบพรรคการเมืองหรือภาคประชาชนได้เลยก็เลือกตั้งแล้ว แต่หนนี้วันนี้ก็ยังไม่ได้เลือก ต้องอยู่นานเพื่อพยายามบอนไซพรรคการเมือง โดยเฉพาะการเซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็โดน ทั้งๆ ที่กว่าจะสร้างฐานสมาชิกได้ไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมไทย ทำทุกอย่างให้ระบบเลือกตั้งอ่อนแอ พร้อมๆ กับการกดปราบขบวนการภาคประชาชนไม่ให้เหลือกำลังเพื่อไม่ให้พรรคตรงข้ามกลับสู่อำนาจได้ เพราะฐานคะแนนนิยมเขายังสูง เห็นแล้วจากปี’49 จึงต้องใช้มาตรการเข้มข้นกว่าเดิม

⦁ บอกวันนี้ได้เลยไหมว่า จะได้เห็นภาคต่อของระบอบประยุทธ์ภายหลังจากการเลือกตั้ง

ตอบล่วงหน้าลำบาก เพราะการเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง 8 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งมันยาวนานมาก จนไม่รู้ว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวอย่างในบริบทโลกบอกว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนมันผันผวนมาก ขนาดประเทศประชาธิปไตยปกติที่มีเลือกตั้งสม่ำเสมอผลโพลยังผิด การทำนายของนักวิเคราะห์ก็พลาด ไม่งั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบเบร็กซิทที่คนอังกฤษต่างเชื่อว่าผลประชามติจะออกมาว่าอังกฤษจะยังอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไป แต่สุดท้ายก็ออก หรือโดนัลด์ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็นเขาอยู่ในสายตา แต่แค่เดือนเดียวก็แซงทางโค้งชนะการเลือกตั้งได้ เพราะการสื่อสารมันรวดเร็ว ทำให้การรับรู้ข่าวสารมันเปลี่ยนตลอด การตัดสินใจของคนจึงเปลี่ยนไปด้วย จึงเป็น 8 ปีที่ยากแก่การทำนาย

แต่สมมุติว่าพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนยังเป็นแบบเดิม นับตั้งแต่ปี 2540 ที่คนเลือกพรรคมากกว่าสนใจที่ตัวผู้สมัคร พลังประชารัฐจะแจ้งเกิดลำบากเลย เพราะพรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ จะได้เปรียบ ใครย้ายออกจาก 2 พรรคนี้โอกาสสอบตกมีสูงมาก เพราะคนเลือกที่แบรนด์ ชอบที่ชุดนโยบาย เขารู้แล้วว่าการเลือก ส.ส.เขตไม่มีประโยชน์เท่าเลือกพรรคมาเป็นรัฐบาล เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลจึงไม่ศักดิ์สิทธิ์แบบเดิม พลังประชารัฐเกิดขึ้นโดยใช้โมเดลแบบนี้ แบบที่พรรคสามัคคีธรรมเคยใช้ ไปดูดเอาผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อที่มีฐานเสียงในเขตอิทธิพลของตัวเองมาโกยคะแนนให้ ถ้าพฤติกรรมการเลือกตั้งคนไม่เปลี่ยน อย่างเก่งก็เป็นได้แค่พรรคอันดับ 3

แต่อีกมุมหนึ่ง หากพลังประชารัฐได้เสียงเป็นกอบเป็นกำได้ที่นั่งเยอะมาก หรือแซงประชาธิปัตย์ได้ ก็หมายความได้ว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนเปลี่ยน หันกลับมาเลือกตั้งตัวบุคคลมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นผลของการหว่านเงินลงไปในต่างจังหวัดหลายล้านล้านบาทในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในนามโครงการประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน วันนี้เราประเมินไม่ได้ว่ามันมีผลเปลี่ยนความคิดของคนหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่ามีแน่ๆ ต่อคนที่ได้ประโยชน์จากเงินเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการ หัวคะแนนที่หันไปช่วยพลังประชารัฐ

⦁ โจทย์ของ คสช.คือแพ้ไม่ได้ จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งรุนแรงหรือไม่?

เมื่อกองทัพต้องการเป็นผู้กำหนดการเมือง ต้องการเป็นผู้พิทักษ์ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีเดิมพันที่สูงมาก เพราะถือเป็นโอกาสที่ระบอบประยุทธ์จะปรับจากอำนาจนิยมเต็มใบไปเป็นอำนาจนิยมครึ่งใบที่ตัวเองยังอยู่ในอำนาจ ดังนั้น การแข่งกันจะรุนแรงมาก รุนแรงในความหมายที่มีการแข่งขันกันในเชิงนโยบายและอุดมการณ์ที่จะดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์ ถามว่าความรุนแรงจะมีหรือไม่ ผมว่าจะออกมาในแง่การใช้กลไกรัฐเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง ข่มขู่ปิดกั้นฝ่ายตรงข้าม ไม่รู้ว่าจะถึงขนาดเลือกตั้งสกปรกในสมัยจอมพล ป.หรือไม่ แต่โอกาสเกิดขึ้นมันมี เพราะมีสัญญาณกลไกรัฐแทรกแซงเยอะจริงๆ

แต่ความรุนแรงในความหมายที่มีการยิงกันแบบลอบสังหาร ปาระเบิดถล่มที่ทำการพรรคจะไม่มี เพราะส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างหัวคะแนนกับหัวคะแนน หรือนักการเมืองกับนักการเมืองที่เป็นเจ้าพ่อด้วยกัน แต่วันนี้ถือว่าสังคมเปลี่ยน รูปแบบที่เจ้าพ่อทำตัวกร่าง มีมือปืนลูกน้องเดินตาม สังคมแอนตี้ คนเรียนรู้ทางการเมืองจนกระทั่งนักการเมืองยังต้องปรับตัว ลบภาพเดิมๆ มาพัฒนาจังหวัดสร้างความภาคภูมิใจ พูดง่ายๆ คือต้องมีผลงาน อีกทั้งในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารจะไม่มีความรุนแรง เพราะทหารคุมทั้งการเลือกตั้ง ผู้มีอิทธิพลและนักเลง จึงไม่มีใครกล้า

⦁ คิดว่าคนระดับล่างที่สนใจเรื่องปากท้องมาก่อนจะออกไปโหวตโดยเลือกว่าจะเอาไม่เอา คสช.จริงๆ เปล่า?

งานวิจัยทั่วโลกชี้ว่า อารมณ์มีส่วนกับการตัดสินใจโหวต คนไม่ได้ดูนโยบายปลีกย่อย แต่จะตัดสินใจจากโดยรวมว่า จะฝากความหวังไว้กับใครแล้วชีวิตเขาจะดีขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ ประชาชนจะเชื่อมั่นใครมากกว่ากัน แน่นอนการเลือกตั้งครั้งนี้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ คสช.จะถูกหยิบขึ้นมาพูด เพราะระบอบประยุทธ์ก็คือระบอบทักษิณในอดีต ในความหมายที่ว่า เป็นรัฐบาลมานาน การหาเสียงจึงต้องตีที่รัฐบาลเดิม ถ้าอยากชนะก็ต้องหยิบมาให้ได้ว่า คสช.ทำอะไรไม่ดีไว้บ้าง อย่างเลือกตั้งปี’54 พรรคประชาธิปัตย์ โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ถูกตีไปที่ค่าครองชีพ เศรษฐกิจฝืดเคือง ครั้งนี้รัฐบาล คสช.ก็โดนเช่นกัน ดังนั้น คสช.กับเรื่องปากท้องมันแยกกันไม่ได้หรอก การเอาไม่เอา คสช.ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง แต่มันยังผูกติดกับผลงานการบริหารงานที่ผ่านมาด้วย

⦁ มองกันว่ารัฐบาลที่ได้จากการเลือกตั้งคราวนี้จะอยู่ไม่นาน และจะมีต้องเลือกตั้งกันอีกเรื่อยๆ

เห็นด้วย ผลการเลือกตั้งไม่ว่าใครชนะได้รัฐบาลผสมแน่นอน ฝั่งคุณทักษิณ ชินวัตร หากแหวกกระแสเอาชนะกลไกต่างๆ มาได้ ตั้งรัฐบาลได้จริงก็อยู่ไม่นาน เพราะการเมืองไม่ได้จบในสภา ยังมีกลไกอื่นล็อกไว้อีกมาก ทั้งด่านองค์กรอิสระ ยุทธศาสตร์ชาติ สามารถโดนสอยร่วงได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับฝ่าย คสช.การขึ้นเป็นนายกฯไม่ยาก แต่บริหารประเทศไม่ง่าย การเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงเกิน 250 ไม่มากจะต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ย้อนกลับไปดูในประวัติศาตร์รัฐบาลผสมโอกาสล่มมีสูง ถอนแค่พรรคเดียวก็พังทั้งรัฐบาลแล้ว ดังนั้น รัฐบาลผสมที่มีการต่อรองสูงจะไร้เสถียรภาพมาก อย่างสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ในอำนาจ 8 ปีก็จริง แต่สภายุบบ่อย ไม่ราบรื่น

ดังนั้น ในเวลาอันรวดเร็วสังคมจะได้เลือกตั้งอีกครั้ง คล้ายๆ กับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบททดสอบให้ทุกฝ่ายรู้ว่า 8 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนกับระบบเลือกตั้งที่ใช้เป็นครั้งแรกในโลกเป็นอย่างไร วันนี้ทุกพรรคกำหนดยุทธศาสตร์ด้วยการทดลองทั้งนั้น ทำไปโดยไม่รู้ว่ามันเวิร์กจริงหรือไม่ เช่น การแตกพรรค เพราะไม่การันตีว่าคิดถูกต้อง เผลอๆ การสู้แบบพรรคเดียวอาจจะดีกว่าก็ได้ เพราะคนไม่สับสน หรือการที่พลังประชารัฐชนะก็เท่ากับคนกลับมาเลือกที่คนไม่ได้เลือกที่พรรค รวมไปถึงพรรคทางเลือกต่างๆ จะรู้เช่นกันว่าตกลงคนรุ่นใหม่ตื่นตัวจริงหรือเปล่า รักประชาธิปไตยแค่ไหน

ภาพรวมของสังคมไทยเวลานี้ถือว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการค้นหาระเบียบทางการเมืองที่ยังไม่ลงตัวระหว่างตัวละครทางการเมืองต่างๆ กับสถาบันหลักทางการเมือง เพราะระเบียบเดิมได้สูญสลายไปแล้ว ตั้งแต่รัฐประหารปี’57 จนตอนนี้ก็ไม่มีใครมีอำนาจนำที่ชัดเจนที่ทุกฝ่ายยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ การจะหาจุดลงตัวจนรู้ว่าใครมีอำนาจมากกว่ากันยังอีกยาว ไม่จบแค่การเลือกตั้งรอบนี้หรอก อาจจะต้องใช้เวลาอีก 6-7 ปี
กว่าสังคมไทยจะมีระเบียบการเมืองใหม่

การเมืองไทยวันนี้มองภาพยาวลำบาก เพราะปัจจัยผันผวนมาก ปีหนึ่งข้างหน้าก็มองไม่เห็นว่าจะออกหน้าไหน ต้องมองกันรายเดือน เพราะเมื่ออำนาจนำไม่นิ่ง ทุกอย่างจึงไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ไปด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image