‘ดุลยภาค ปรีชารัชช’ มองเลือกตั้งภายใต้ ‘เสนาธิปัตย์’ เมื่อกองทัพถูกรุกไล่พื้นที่สงวน

‘ดุลยภาค ปรีชารัชช’ มองเลือกตั้งภายใต้ ‘เสนาธิปัตย์’ เมื่อกองทัพถูกรุกไล่พื้นที่สงวน

หมายเหตุ – ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง 24 มีนาคม กับบรรยากาศความตื่นตัวการใช้สิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ และท่าทางของกองทัพหลังการเลือกตั้ง

⦁ ภาพความหนาแน่นของการเลือกตั้งล่วงหน้าใน ตปท.มันสะท้อนอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าบรรยากาศการเลือกตั้งในฝั่งประชาชนหลายที่มันสะท้อนภาพความคึกคักกระฉับกระเฉง โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต้องยอมรับว่ากระแสการเลือกตั้งของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 5 ปีที่ คสช.ปกครองมันอยู่ในหน้าข่าวบ้านเราตลอด ตั้งแต่การเลือกตั้งในพม่า มาเลเซีย กัมพูชา และเร็วนี้ก็จะถึงคิวของอินโดนีเซีย ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแบบที่น่าสนใจมากสำหรับการมองคุณภาพประชาธิปไตย เพราะหลายอย่างเราเรียนรู้เปรียบเทียบได้จากเพื่อนบ้าน

⦁ ชอบมีการนำโมเดลนั่นนี่ของประเทศเพื่อนบ้านมาเทียบกับการเลือกตั้งของไทย มันเทียบได้จริงไหม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

Advertisement

ในความรู้สึกของคนไทยคงเป็นความตื่นเต้น เช่นว่า พม่าหรือกัมพูชายังมีการเลือกตั้ง แล้วทำไมเราถึงยังไม่มีบ้าง แต่สำหรับตัวแบบบางอย่างเป็นตัวแบบที่ฉุดรั้งประชาธิปไตย แต่บางอย่างก็มีความก้าวหน้าที่เป็นบทเรียนให้ได้ อย่างพม่า การเลือกตั้งในปี 2015 ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ชนะถล่มทลาย ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่เป็นตัวสะท้อนคลื่นประชาธิปไตยใหญ่ในกระแสโลก เพราะสามารถเอาชนะพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคร่างทรงของทหารที่มีฐานมาจากมวลชนภาครัฐที่ฝักใฝ่รัฐบาลทหารในอดีตได้ เพราะคนพม่าเทคะแนนและให้โอกาสพรรค NLD เพราะ อยากเห็นชีวิตชีวาใหม่ทางการเมือง อยาเห็น ออง ซาน ซูจี มีโอกาสซักครั้งในการบริหารประเทศ ขณะที่ มาเลเซีย แม้ทหารจะไม่ได้เข้าแทรกแซงการเมือง แต่ก็มีลักษณะการเมืองแบบอนุรักษนิยมที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจ โดยเฉพาะพรรคอัมโนที่ชนะการเลือกตั้งอยู่เรื่อยไป แต่ที่มันฮือฮาก็เพราะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด นาจิบ ราซัค ผู้ที่ถือครองอัมโนอยู่เจอเรื่องทุจริต ประกอบกับการต้องมาต่อสู้กับ “ปากาตัน ฮาราปัน” แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่มี มหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้ที่ซึ่งเป็นผลผลิตจากอัมโนมาเปลี่ยนข้างล้มนาจิบ ราซัค คนที่ตัวเองสร้างมา แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งคราวนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า คุณภาพประชาธิปไตยมาเลเซียจะดีขึ้น เพราะแม้รูปร่างอาจเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน สลับปรับเปลี่ยนชนชั้นนำมากขึ้น แต่ที่สุดเนื้อในหลายอย่างเป็นอำนาจนิยมอยู่ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในระดับสูง เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย สำหรับกัมพูชา คล้ายไทยอย่างหนึ่ง ตรงที่เส้นทางประชาธิปไตยผูกอยู่กับเส้นทาง “เอกภาพชาติ” เพราะกัมพูชาผ่านสงครามกลางเมืองมาหลายปี สุดท้ายยูเอ็นต้องเข้ามาก่อนเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 1993 แล้วก็เกิดการงัดข้อกันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ ขั้วหนึ่งมีเจ้ารณฤทธิ์ พรรคฟุนซินเปก กับอีกขั้วมีสมเด็จฯฮุนเซน พรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP เมื่อแข่งกันมากๆ ฮุนเซนได้เปรียบแล้วจัดการฝ่ายตรงข้ามลง ทำให้ประชาธิปไตยในกัมพูชามีชีวิตชีวาได้แป๊บเดียว สุดท้ายเผด็จการก็เริ่มแทนที่เรื่อยด้วยอำนาจของฮุนเซนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง กัมพูชาเหตุที่มันน่าสนใจมาก เพราะการที่คนไม่อยากเอาพรรคฝ่ายตรงข้ามฮุนเซน เพราะความรู้สึกของคนที่ผ่านสงครามการเมือง กลัวการถูกต่างชาติเข้าแทรกแซง กลัวว่าประเทศจะไม่มีเสถียรภาพ ไม่อยากกลับไปสู่สงครามกลางเมืองอีก นี่คือเอกภาพชาติที่ฮุนเซนถือไพ่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งยังใช้ความเป็นเอกภาพชาติเป็นอาวุธเข้าจัดการกับฝ่ายตรงข้ามด้วยการยุบพรรคสังเคราะห์ชาติ ด้วยข้อหาที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วย ซึ่งคนกัมพูชาก็รับได้ เพราะกลัวไม่อยากถูกต่างชาติแทรกแซงอีก จึงเทคะแนนให้ฮุนเซน 

แน่นอนว่า การเลือกตั้งเป็นปัจจัยที่จำเป็น แต่ไม่พอเพียงต่อประชาธิปไตยฉันใด การเลือกตั้งก็ยังเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการแปลงร่างของเผด็จการด้วยฉันนั้น ในกรณีของกัมพูชา ชี้ให้เห็นว่า เป็นเผด็จการในคราบของประชาธิปไตยชัดเจน จะเห็นได้ว่า กัมพูชา การยกเรื่องเอกภาพชาติ เป็นเรื่องความชอบธรรมของฮุนเซนในการครองอำนาจ แต่สำหรับไทย แม้ไม่มีสงครางกลางเมืองเหมือนกัมพูชา แต่เราแบ่งขั้วชัดเจน แต่กองทัพมักเคลิ้มตัวเองว่า เป็นผู้พิทักษ์ความสงบ สุดท้ายปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า คนไทยยังมีพื้นฐานเรื่องเอกภาพชาติ คนบางส่วนไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย อยากเห็นเสถียรภาพ จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่เพื่อความสงบ แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงผู้นำ อยากเห็นการหมุนเวียนชนชั้นนำ 2 ฝ่ายนี้ จึงสู้กัน

⦁ มีโอกาสที่ผลการเลือกตั้งของไทยจะเป็นมีรูปแบบหนึ่งในภูมิภาคหรือไม่ ?  

Advertisement

ก็น่าลุ้น แต่สิ่งที่พอมองออก โดยมองผ่านตัวแบบจากพม่า คือการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไทยมีความเหมือนพม่าอย่างหนึ่ง นั่นคือ เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ออกแบบชนชั้นนำทหาร เปลี่ยนจากบนลงล่างคล้ายๆกัน พม่ามีเลือกตั้งปี 2010 แล้วปี 2011 ตั้งรัฐบาลใหม่ ตอนนั้นพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคทหารมาวิน เพราะไร้คู่แข่ง ซูจีคว่ำบาตรไม่สู้ศึก แม้จะถูกต่างชาติประณาม แต่ตั้งรัฐบาลได้ การเปลี่ยนผ่านแบบอำนาจนิยมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ผู้ที่กุมระบอบทหารอยากเห็น ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ ใส่บทบาทของกองทัพเข้าไปในสภา 25% แล้วก็เพิ่มบทบาทของกองทัพได้อีกหลายประเด็น แต่สิ่งที่ผู้นำทหารกลัว แต่ก็ต้องเผชิญ จนประสบความล้มเหลว นั่นคือการยันกับพลังอำนาจ จากพรรค NLD เพราะในการเลือกตั้ง 2015 ซูจีกลับมาสู้ โดยที่พรรค USDP คิดว่า ประชาชนน่าจะเลือกเขา เพราะ 5 ปี รัฐบาลเต็ง เส่ง มีผลงานเยอะในการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายสาธารณะ แม้จะมีความเป็นอำนาจนิยมเจือปนอยู่ก็ตาม แต่สุดท้ายคนก็อั้นเพราะคนอยากเห็นซูจีเป็นผู้นำ จึงเทไปที่ NLD โดยที่ผู้นำทหารพม่าคิดไม่ถึง

สิ่งเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะรัฐธรรมนูญพม่าป้องกันไว้แล้วว่า คนที่สมรส หรือบุตรกลายเป็นชาวต่างชาติจะเป็นประธานาธิบดีไม่ได้ ดังนั้น ต่อให้ชนะเลือกตั้งยังไงซูจีก็เป็นประธานาธิบดี ตำแหน่งที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐ และเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลไม่ได้ แต่ผลสุดท้าย NLD ชนะ ซูจีเป็นไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นไร ด้วยการมีทางแก้โดยชงตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐให้ แล้วเอานอมินีที่เธอรู้จักเป็นประธานาธิบดีแทน พอมีตำแหน่งเป็นมนตรีแห่งรัฐ ชนชั้นนำทหารก็ช็อกเลย เพราะไม่เคยคาดคิดว่า จะมีสูตรนี้เป็นทางแก้ นิตินัยไม่ได้เป็น แต่พฤตินัยคือ อยู่เหนือประธานาธิบดีอีก เพราะเป็นตำแหน่งที่เชื่อมในทางบริหารและนิติบัญญัติได้เลย แต่ก็ไม่ใช่ว่า พรรค NLD กับ ซูจี จะเล่นกับกองทัพได้ง่ายๆ เพราะสถานการณ์ในยะไข่ผลักดันให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองอยู่เป็นระยะๆ นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ได้ก่อนระหว่างและหลังเลือกตั้งในรอบต่างๆในพม่า สำหรับไทยมันมีความเหมือนพม่าอยู่ที่เสียง 250 ส.ว. ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เยอะมาก เช่นเดียวกับพม่าที่มีสภาประชาชนกับสภาชนชาติ ซึ่งกันที่ไว้สำหรับกองทัพ เป็นทหารในเครื่องแบบเข้าไปนั่งในสภาเลย แต่สิ่งที่ต่างคือยุทธศาสตร์ชาติ คสช.มองว่า เขามีหมัดเด็ดตั้งแต่แรกที่ ส.ว.แถมยังมียุทธศาสตร์ชาติวางไว้ถึง 20 ปี

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจะสำคัญมาก เมื่อระบบการเลือกตั้งมันออกแบบไม่ให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียว อีกทั้งยังมีพลังจาก ส.ว.เข้ามาคัดค้านอีก หากกลุ่มพรรคทักษิณ พรรคอื่นๆ ที่นิยามตัวเองว่า นิยมประชาธิปไตยได้เสียงก้ำกึ่งการสลายตัวของ คสช.จะเป็นอย่างไร จึงน่าสนใจ เพราะในระหว่างประกาศรับรองผล พล.อ.ประยุทธ์ยังมีอำนาจอยู่ มีม.44 หากเสียงก้ำกึ่งจริง จะมีช่วงที่เกิดสุญญากาศแน่นอน แต่หากพลังประชารัฐชนะรวมเสียงได้ คสช.ก็อาจหายไปรวดเร็ว เพราะสามารถเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างใหม่ได้แล้ว แต่ถ้าไม่ใช่ ช่วงสุญญากาศจะยาวเป็นเดือนหรือเป็นปีได้ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ได้เรื่อยๆไป จนกว่าสภาล่างจะตกลงกันได้ 

⦁ หากเทียบกับพม่า ซูจีชนะ เพราะยอดผู้ใช้สิทธิจำนวนมาก วันนี้ผลโพลที่ออกมาบอกว่า คนไทยจะออกมาใช้สิทธิ 80-90% ตัวเลขนี้ชี้ได้ไหมว่า คนอยากเปลี่ยนออกจากระบอบเผด็จการ ?

ผมคิดว่าเป็นช่วงที่มีการแบ่งเบียดแยกข้างระหว่างฝ่ายเอาประชาธิปไตยกับเอาการสืบทอดอำนาจยอดตัวเลขผู้ใช้สิทธิของไทยพอตอบได้ว่าจะเอาหรือไม่เอาอะไรแต่ก็ไม่ทั้งหมดเพราะมีคนอีกไม่ใช่น้อยที่จะตัดสินใจจากการดูนโยบายและปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างถามว่าการแบ่งขั้ว 2 ข้างอย่างเด็ดขาดชัดเจนให้คนเลือกเป็นแทคติคที่ถูกไหมผมว่าถูกต้องแล้วแต่หลายอย่างมันก็อมๆกันอยู่ต้องอย่าลืมว่ารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใตมันไฮบริดมีความลูกผสมอยู่เยอะประชาธิปไตยมันเทาๆไม่ขาวเหมือนประเทศตะวันตกบางประเทศคอนเน็กชั่นกับขั้วอำนาจเก่าระบบอุปถัมภ์มาเฟียมีหมดสำหรับประเทศไทยการเลือกตั้งยังเป็นปัจจัยที่จำเป็นแต่ไม่พอเพียงต่อการสร้างประชาธิปไตยเพราะกติกาหลายอย่างมันเป็นเครื่องต่ออายุเผด็จการด้วยถ้าพล.อ.ประยุทธ์ชนะจริงความชอบธรรมมันจะสูงไปด้วยคุยโอ้ได้เลย

  ⦁ มองกันว่า หากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ทหารก็ยังมีอำนาจเต็ม และคงไม่สลายตัวออกไปจากการเมืองอย่างรวดเร็ว?

ทหารแทรกแซงการเมืองมันมีระดับ เบา กลาง หนัก ของไทยไต่ระดับมาเรื่อยๆ จนเป็นหนักถึงขั้นมีรัฐบาลทหารปกครองมา 5ปี สิ่งที่น่าคิดคือ ทหารที่เป็นผู้ปกครอง คือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองที่หนักที่สุด คุมกลไกการปกครอง แล้วพยายามควบคุมสิทธิเสรีภาพเต็มที่เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะอยู่ยาว การที่ค่อยๆ คลายตัวเองให้อำนาจที่ปกครองมันเบาลง แล้วก็ดีไซน์รัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เนื้อในเปิดทางให้อำนาจนิยมเข้ามาแทนที่อำนาจนิยมทหารแบบดิบๆ เพื่อให้ภาพลักษณ์ภายนอกมันดูดีขึ้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งก็เป็นการเลือกตั้งที่ทหารยังมีอำนาจเต็ม เป็นการเลือกตั้งภายใต้เสนาธิปัตย์โดยคลายช่องว่างเพียงนิดหน่อยให้กลุ่มการเมืองมีพื้นที่เท่านั้น แต่สิ่งที่น่าคิดในขณะนี้ก็คือ ช่องว่างนิดหน่อยที่ทหารคลายตัวให้กลุ่มการเมือง มันกลับมีพลังมหาศาลที่กลุ่มการเมืองสามารถตีโต้อิทธิพลของทหารได้อย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะข้อเสนออันเป็นนโยบายเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ให้อำนาจนายกฯสามารถปลด ผบ.เหล่าทัพได้ ลดจำนวนนายพล ตัดงบอาวุธ พูดง่ายๆเป็นข้อเสนอทุบทหารให้พลเรือนมีอำนาจคุมกองทัพเลย ในมุมผม ในแง่ของความสัมพันธ์ทหาร พลเรือนสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่น่ารับฟัง เพราะมันสะท้อนความเหนือกว่าของพลเรือนที่มีเหนือกว่ากองทัพ ตัวนี้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพประชาธิปไตย เพียงแต่ช่วงเวลาที่เล่นเกมนี้ขึ้นมา เป็นช่วงรัฐบาลทหาร การที่มีข้อเสนอที่ตีไปที่หัวใจกองทัพ เข้าไปในพื้นที่สงวนทหารเลยทีเดียว

จากเว็บไซค์ https://futureforwardparty.org/

⦁ จึงเจอวาทะ “หนักแผ่นดิน” จาก ผบ.ทบ.ที่รุนแรงมาก ?

ใช่ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มันอยู่ภายใต้เสนาธิปัตย์ไง กองทัพและคสช.ที่ ก็คงคิดว่า ช่องวางนิดหน่อยที่คลายให้ กลุ่มการเมืองคงจะเกรงใจเขา เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เขายังอยู่ และเขาก็เป็นผู้ให้มีด้วย ใครจะไปคิดว่าช่องว่างนิดหน่อยมันกันมีพลังมหาศาลตีโต้ ด้วยความพยายามล้มอิทธิพลของทหารแบบฮวบฮาบเลย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ในประเทศกำลังพัฒนา หรือในรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางแห่ง เขาไม่ยอมให้พลเรือนเจาะเข้ามาเลย นี่ขนาดยังไม่ชนะเลือกตั้ง อยู่ในระหว่างหาเสียงอยู๋เลย จึงเจอฟีดแบ็กที่รุนแรงจาก ผบ.ทบ. พื้นที่สงวนทางการเมืองมี 5 พื้นที่ที่เป็นเป็นตัวชี้วัดประชาธิปไตยได้

ห้องแรก ดูได้จากชนชั้นนำในสภา หรือใน ครม.ว่า พลเรือน หรือทหารมากกว่ากัน ถ้าพลเรือนมากกว่าเมื่อนั้นคุณภาพประชาธิปไตยก็จะสูง ห้องที่ 2 การกำหนดนโยบายสาธารณะใครกำหนดได้มากกว่ากัน หากรัฐบาลพลเรือนคุมทั้งหมด ประชาธิปไตยก็สูง ถ้าต้องแบ่งทหารคุมบางกระทรวง คุณภาพก็จะไม่สูง ห้องที่ 3 การรักษาความมั่นคงภายในที่ต้องให้ตำรวจนำ แต่หากทหารนำรัฐบาลพลเรือนจะถูกจัดการได้ง่าย ซึ่งเป็นห้องที่ คสช.พยายามรุกไล่เข้ามาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ห้องที่ 4 นโยบายป้องกันประเทศ การกำหนดแผน กองทัพภาค เป็นต้น และห้องสุดท้าย การบริหารองค์กรของกองทัพ เลื่อนชั้นยศ การอบรมในโรงเรียนทหาร ทหารเกณฑ์ กำลังพล เป็นต้น 

ที่ผ่านมาของไทย ทหารไทยในฐานะผู้ปกครองมันเตะทั้ง 5 ห้องนี่เลย แต่รัฐบาลพลเรือนไม่เคยเตะถึง 2 ห้องหลังสุดเลย มีแต่ 3 ห้องแรกที่มันใช้ก้ำกึ่งระหว่างพลเรือนกับทหาร ดังนั้น 2 ห้องสุดท้ายจึงเป็นพื้นที่สงวนของทหารมาโดยตลอด ทหารเท่านั้นที่จะดูได้ ทั้งองค์กรทหาร ชั้นยศ เงินเดือน สวัสดิการ พรรคการเมืองไม่เคยมีใครเข้ามายุ่ง แม้แต่วิกฤตนองเลือดในประวัติศาสตร์ไทยที่ทำให้ทหารต้องกลับเข้าสู่ที่ตั้งครั้งไหน ก็ไม่เคยมีรัฐบาลพลเรือนไหนมายุ่งเท่านี้เลย  นี่จึงเป็นการตีโต้กลับของกลุ่มนักการมืองที่แม้แต่ทหารก็ตกใจ

⦁ มองกันว่า ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลกองทัพต้องเผชิญเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูป?

แน่นอนว่า การจัดการบีบให้กองทัพปฏิรูป ต้องขึ้นอยู่กับพลังประชาชนเป็นสำคัญ รวมไปถึงรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และฐานอำนาจของประชาชนในการลดอำนาจของกองทัพมันมีมากแค่ไหน ที่ผ่านมามี 3 ระดับ เบาๆเบาะๆ กลางๆ หรือ จัดหนักเลย  ในระดับเบาๆ พม่าก็เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบได้ดีอีกเช่นกัน ซูจีเกลียดทหารเป็นที่สุด เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะเส้นทางภายหลังจากการชนะเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร มันบีบให้ต้องแชร์อำนาจแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับกองทัพ โดยเฉพาะปัญหาบางอย่าง เช่น ความไม่สงบในพื้นที่ เช่น วิกฤตโรฮิงญา ในรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น มันทำให้แม่ทัพภาค หรือ ผบ.ทบ.มีอิทธิพล บางพื้นที่สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แล้วยังสามารถเปลี่ยนถ่านอำนาจไปสู่ผบ.สส.ด้วย เมื่อโครงสร้างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เปลี่ยนโครงสร้างกองทัพบกได้  รัฐธรรมนูญพม่าจึงอยู่ได้ การเจาะพื้นที่สงวนในการรื้อรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ผบ.สส.เข้ามาแชร์อำนาจในครม.ถึง 3 กระทรวงหลัก จึงทำไม่ได้ สถานการณ์ในพม่าจึงออกมาในรูปการยอมประนีประนอมให้กองทัพมีอภิสิทธิ์อยู่ บางอย่างไม่แตะ กองทัพสบายใจมีที่มีทางอยู่ เพราะฉะนั้นหมัดสวนก็ไม่แรง ในระดับกลางๆ ของไทยเคยใช้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามใช้เสียงข้างมากที่ตนเองได้รับ ใช้ทหารที่เป็นครือข่ายความสัมพันธ์กับตระกูลชินวัตรเข้าไปคุม แม้จะสะท้อนความเหนือกว่า แต่ก็ประมาณหนึ่งเท่านั้น เกิดการแบ่งขั้ว แค่ระดับปานกลาง ก็ถูกคมช.ยึดอำนาจเป็นการโต้กลับแล้ว  ระดับจัดหนัก ถือว่า หากยากมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นในฟิลิปปินส์ ย้อนกลับไปในปี 1986 เมื่อเผด็จการมาร์กอสถูกโค่นล้มลง เส้นทางประชาธิปไตยเกิดขึ้น รัฐบาลอาคิโน่ ได้ใช้แรงหนุนจากพลังมวลชนที่จัดการกันเผด็จการมาร์กอสมาเป็นฐานกำลังจนกระทั่งดีไซน์รัฐธรรมนูญบล็อกอิทธิพลของกองทัพ จัดการกลุ่มเกลอที่เป็นสายเดียวกับมาร์กอส จนสามารถทำได้ แต่เวลาผ่านมา แม้ฟิลิปปินส์จะมีความก้าวหน้ามากในการจัดการกับกองทัพ แต่บางสถานการณ์กองทัพกลับขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่สามารถเป็นทหารผู้ปกครองได้เลย   จากนี้ไทยจะใช้ยุทธ์ศาสตร์ไหนใน 3 ระดับนี้ แล้วรัฐบาลประชาธิปไตยจะมีอำนาจแค่ไหนยังเป็นคำถามอยู่

⦁ ในปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีความพยายามในการแก้ให้นายกฯมีอำนาจตั้ง ผบ.เหล่าทัพได้ แต่ก็หยุดไป รอบนี้มีข้อเสนอไปไกลถึงขนาดล้มล้างผลพวงรัฐประหารเลยทีเดียว ?

ใช่ ถ้ารัฐบาลพลเรือนเลือกเดินแบบนี้ บทบาท ผบ.ทบ.หลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จึงเป็นจุดที่น่าจับตา แล้วยิ่งพรรคอนาคตใหม่นำเสนอเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยด้วย ผมมองว่า แนวคิดพวกนี้น่ารับฟัง แต่ในแง่ความเหนือกว่าของพลเรือน แต่มันต้องมาถูกจังหวะ และกลุ่มเล่นต้องมีอำนาจจริงๆ จะทำ ไม่ใช่เปล่งวาจาเหมือนมีอำนาจ แต่ไส้ในยังไม่ขนาดที่ทำได้ ตอนนี้กองทัพถูกอัด เขาก็ระแวงแล้ว แทนที่เขาจะยืนนิ่งๆ แต่วันนี้เขาถูกต้อนให้ขาเขาเริ่มถอย หากมากจนใกล้ชนฝา เขาอาจรวมพลังอัดกลับเต็มที่ก็ได้   ต้องไม่ลืมว่า ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ประสบการณ์การต่อสู้กับคนเสื้อแดงแกก็มีฝังลึก ขณะที่มรดกจากคุณพ่อก็มีไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะ ภาพจำการรัฐประหารในทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งสัมพันธภาพ ความสัมพันธ์หลายอย่างก็เอนเข้าไปหาพล.อ.ประยุทธ์ การปริแยกกับคสช.จึงไม่เห็นเด่นชัด จากนี้จึงอยู่ที่ว่า ผบ.ทบ.จะอยู่อีกนานไหม จะต่ออายุหรือไม่ หากเขาเลือกปรับตรงนี้ ผบ.ทบ.ก็จะอยู่กับรัฐบาลหลังเลือกตั้งอีกระยะ การมอนิเตอร์ควบคุมเส้นทางประชาธิปไตยที่ต้องเดินไปกับเอกภาพชาติ ในมุมของกองทัพ จะเป็นปัญหาแหลมคมของการเมืองไทย เพราะว่า ระหว่างเส้นทางหลังเลือกตั้งจะราบรื่นแค่ไหน มีสุญญากาศทางการเมือง มีกลุ่มไหนออกมา หรือสถานการณ์พิเศษ ที่อาจจะเอื้อต่อการใช้ระบบความมั่นคงรวมศูนย์ ในการเข้าไปจัดการก็ได้ หากมีสถานการณ์ความวุ่นวายกระจายหลายพื้นที่ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ก็เป็นปัจจัยเอื้อให้กลุ่มติดอาวุธแบบถูกกฎหมาย นั่นคือ กองทัพ เคลื่อนกำลังรวดเร็ว มีสายบังคับบัญชา เข้ามาจัดการปัญหานี้ได้ดีกว่ากลุ่มอื่นเข้ามามีอำนาจ หากไม่ทำรัฐประหาร ก็จะสามารถแชร์พื้นที่โดยอาศัยสถานการณ์บางอย่างให้ทหารเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้น บทบาททางการเมืองและทางความมั่นคงที่ก้ำกึ่งกันเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาดู จะมีม็อบ วางระเบิดจนตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือตั้งแล้วกองทัพรู้สึกว่า ตัวเองถูกคุกคามจริงๆ เขาก็มีแรงดีดออกมาในระดับไหน เช่น ข่มขู่ไว้ก่อน ระดับจริงก็รัฐประหารนั่นแหละ แต่ถ้ารัฐประหารอีกครั้งก็น่าคิดอยู่ เพราะ วันที่ผบ.ทบ.รู้สึกว่า หลังชนฝาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะรู้ว่า ตัวเองหลังชนฝาด้วยหรือไม่ แล้วพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ตรงไหน มีความสัมพันธ์กับ ผบ.ทบ.จะเป็นยังไง มีตัวแปรอื่น ทำให้สัมพันธภาพมันเปลี่ยน ใกล้ชิดหรือห่างเหินมากขึ้น เราไม่รู้อีกหลายตัวแปร 

สิ่งเหล่านี้คือความน่ากลัวทั้งหมด !

ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image