‘ฐากร’ ยืนยัน ‘5จี’ ปรับโฉมหน้าประเทศไทย (ชมคลิป)

หมายเหตุ – นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์เรื่องระบบ 5จี ที่จะมีการใช้งานในอนาคต ช่วยทำให้ประเทศไทยเกิดความรุดหน้าในทุกภาคส่วน


ที่ผ่านมา ประเทศไทยล้าหลังระบบ 3จี ประมาณ 10 ปี และล้าหลังระบบ 4จี ประมาณ 7-8 ปี ขณะที่องค์ประกอบสำคัญของ 5จี ได้แก่ 1.การส่งข้อมูลความเร็ว ที่ 5จี จะมีความเร็วสูงกว่า 4จี อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า ก่อนจะมีเปิดการใช้งานจริงในปี 2563 2.การเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน ที่ 5จี สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากถึง 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ในระบบ 2จี สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ไม่เกิน 1 แสนชิ้นต่อตารางกิโลเมตร และ 3.การส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก จะทำให้การใช้งานด้านอินเตอร์เน็ตต่างๆ เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โลกในอนาคตข้างหน้าที่อินเตอร์เน็ตมีความเสถียรเพิ่มขึ้น ด้านการสาธารณสุข การผ่าตัดที่ผ่านระบบหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ สามารถเกิดขึ้นได้

หาก 5จี ไม่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอะไรต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ 1.ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ที่จะสูญเสียโอกาสมากกว่า 7 แสนล้าน-1.6 ล้านล้านบาท (10-30% ของมูลค่าเพิ่มทั้งหมด) ผลกระทบที่จะตามมา คือ ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการผลิตจะตกต่ำลง ส่งผลให้การส่งออกเกิดปัญหา 2.ระบบสมาร์ทต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง และสมาร์ทฮอสพิทอล จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวในระบบใหม่ที่ใช้ระบบเวอชวล เรียลิตี้ (วีอาร์) ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ขณะที่ การดำเนินการเพื่อทำให้ 5จี เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 1.คลื่นความถี่ที่ในปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทุกรายถือครองคลื่นความถี่รวมกันอยู่ที่ประมาณ 310 เมกะเฮิรตซ์ เบื้องต้นเมื่อ 5จี เกิดขึ้น โอเปอเรเตอร์จะต้องถือครองคลื่นความถี่จำนวน 200 เมกะเฮิรตซ์ต่อหนึ่งโอเปอเรเตอร์ เทียบกับในปัจจุบันที่มีโอเปอเรเตอร์ถือครองคลื่นความถี่สูงสุดอยู่ที่ 55 เมกะเฮิรตซ์

Advertisement

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ที่ กสทช.มีแผนจัดสรร ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบันใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อเตรียมการดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ พร้อมทั้ง มีมาตรการเยียวยาให้กับกิจการทีวีดิจิทัล

2.คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่ประชุม กสทช.มีมติเรียกคืนคลื่นความถี่รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ จากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 154 เมกะเฮิรตซ์ กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก และกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 12 เมกะเฮิรตซ์ ที่เหลือเป็นคลื่นความถี่ที่ไม่มีการใช้งาน ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้ส่งหนังสือแจ้งมติที่ประชุม กสทช.ไปยัง บริษัท อสมท จำกัด แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของหน่วยงานดังกล่าวว่า จะมีข้อโต้แย้งหรือมีคำตอบอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อได้รับคำตอบจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช.ต่อไป

3.คลื่นความถี่ย่าน 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ย่านสูง ที่ว่างจากการใช้งาน โดยขณะนี้มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 300 กิกะเฮิรตซ์ และ 4.คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือครองอยู่จำนวน 200 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากประเมินว่า คลื่นความถี่จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการรองรับการใช้งานของไทยคม

Advertisement

กสทช.จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (มัลติแบนด์) เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และสามารถนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

หากไม่มีเหตุการณ์ใดเข้ามากระทบ คาดว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนตุลาคม 2562 และช้าสุดในเดือนมกราคม 2563 คลื่นความถี่ที่จะนำออกประมูล ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ คลื่นความถี่ย่าน 26 หรือ 28 กิกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ ถือว่า ยังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

ปัจจุบัน โอเปอเรเตอร์ ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ชี้แจงว่า การลงทุนในระบบ 3จี และ 4จี ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน (เบรค อีเวิน) อีกทั้งโอเปอเรเตอร์ได้ใช้เงินที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนในระบบ 4จี หมดแล้ว ส่งผลให้ขณะนี้ไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการลงทุนใน 5จี ที่คาดว่า จะมีมูลค่าในการลงทุน
ทั้งการประมูลคลื่นความถี่ และการปรับปรุงเครือข่ายเพื่อรองรับ 5จี มากกว่า 100,000 ล้านบาท

ทำให้โอเปอเรเตอร์วางแผนจะสามารถเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ได้เพื่อรองรับ 5จี ได้ในปี 2564 เป็นเรื่องที่ กสทช. เข้าใจในเหตุผล และความจำเป็น แต่ทั้งนี้ การให้บริการ 5จี นอกเหนือจากกิจการโทรคมนาคมที่จะได้รับประโยชน์แล้วนั้น ภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรม มีส่วนที่จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ การแข่งขันของประเทศ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับด้วย

กสทช.จึงจะดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้งานคลื่นความถี่ 5จี ใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5จี แบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (เนชั่นไวด์) และใบอนุญาตแบบที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (สเปซิฟิก แอเรีย) เช่น ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5จี ทั้งนี้ สำหรับใบอนุญาตแบบสเปซิฟิก แอเรีย จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 17 เมษายน 2562 และคาดว่า ภายในเดือนตุลาคม 2562 จะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

สำนักงาน กสทช.ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติและทดสอบ 5จี เป็นเวลา 2 ปี ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ ศูนย์ 5จี เอไอ/ไอโอที อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ในอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5จี บนคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ในการเตรียมความพร้อม และรองรับการให้บริการโทรคมนาคม

ภายในศูนย์มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5จี ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานด้านโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมศึกษาและพัฒนารูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงทิศทางการนำ 5G ไปใช้งานในอนาคต และเมื่อ 5จี พร้อมให้บริการสามารถนำไปใช้งานได้ทันที

ขณะที่การศึกษาและพัฒนารูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) อยู่ภายใต้แนวคิด สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สมาร์ทเฮลธ์ เช่น 1.การรักษาพยาบาลทางไกล ใน 4 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง โรคตา โรคความดันโลหิต และโรคเบาหวาน ทั้งนี้ จะเริ่มทดสอบการรักษาโรคตา เป็นลำดับแรก และ 2.หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ซึ่งร่วมกับเอไอเอส ในการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

2.สมาร์ท โมบิลิตี้ หรือการสัญจรอัจฉริยะ เช่น การพัฒนาต้นแบบรถยนต์ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ ระบบฮาโม่ ที่จุฬาฯได้ร่วมกับโตโยต้า โดยจะมีการต่อยอด ด้วยการค้นหาวิธีการ ที่จะทำอย่างไร ให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเมื่อเลิกใช้งานแล้ว สามารถกลับมายังจุดจอดได้ตามเดิม ซึ่งขณะนี้ ได้ร่วมกับ ทรู ในการค้นหาวิธีการ

3.สมาร์ท เอ็นไวรอนเมนท์ หรือสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เช่น การทดสอบระบบการใช้งานเสาอัจฉริยะ (สมาร์ท โพล) ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คิดค้นวิธีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายติดตั้งสายอากาศสำหรับ 5จี บนเสาส่งสัญญาณเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการวางโครงข่าย อีกทั้ง โอเปอเรเตอร์, เวนเดอร์ และ กสทช.ก็จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้

สมาร์ทเฮลธ์ เป็นเรื่องที่ กสทช.ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในอนาคตหลายประเทศทั่วโลกจะต้องเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ สำหรับในไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัจจุบันไทยมีผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 7% ของประชากรทั้งหมด คาดว่าปี 2566 ประเทศไทย จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14% ของจำนวนประชากร อีก 3-4 ปีข้างหน้า ไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ หรือประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรน้อยลง

คาดว่า ปี 2578 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุเกินกว่า 20% ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ภายใต้ภาวะที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้ง รายได้ของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งแตกต่างกับ 5 ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เกาหลี, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ผู้สูงอายุมีศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

จากข้อมูลปี 2553-2565 รัฐบาลจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากเดิม 0.6% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 2-5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพื่อลดค่าใช้จ่าย กสทช. จึงมีแผนงานนำเทคโนโลยี 5จีระบบการให้บริการแพทย์ทางไกลเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อทำการรักษาพยาบาลใน 4 โรคดังกล่าว โดยที่ผู้สูงอายุไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ในเมือง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม ฉะนั้น การจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของไทย 74,987 หมู่บ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญ

คาดว่า ปลายปี 2562 ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยจะใช้งานบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ครอบคลุมทั้งหมด ถือเป็นความสำเร็จในรอบ 10 ปี สำหรับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประชาชน และคาดว่า เมื่อเกิดระบบการให้บริการแพทย์ทางไกลจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลได้ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “มติชน” จัดงาน “5จี ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ขึ้นในวันที่ 3 เมษายน เวลา 08.30-16.00 น. ที่ห้องประชุมอาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.matichon.co.th หรือ สมัครทางคิวอาร์โค้คในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือในเครือมติชนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image