เปิดใจ ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ จากนักวิชาการสู่…’โฆษกรัฐบาล’

หมายเหตุ – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดใจกับ “มติชน” ถึงเส้นทางการเมือง จากนักวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สู่กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกรัฐบาล

•เข้ามาสู่แวดวงการเมืองได้อย่างไร?
การเข้าสู่แวดวงการเมืองนั้นไม่ได้เกิดจากการวางแผน แต่คิดว่าเป็นชะตาลิขิตให้เดินมามากกว่า เพราะส่วนตัวรู้จักอาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาก่อน หลังเกิดรัฐประหารปี 2549 และพรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 ทำให้อาจารย์สมคิดถูกเว้นวรรคทางการเมือง อยู่ในบ้านเลขที่ 111 แล้วได้กลับมาช่วยงานด้านการศึกษา ไปให้คำปรึกษาในคณะบริหารธุรกิจ นิด้า ส่วนตัวเป็นรองคณบดีอยู่ ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรจากอาจารย์สมคิดเป็นอย่างดี จากนั้นเมื่ออาจารย์สมคิดไปตั้งมูลนิธิสัมมาชีพได้ไปช่วยทำตรงนั้นด้วย และร่วมก่อตั้งสถาบันอนาคตไทยศึกษากับท่านอาจารย์สมคิด สนับสนุนทางด้านวิชาการ ตรงนี้เป็นงานทางด้านสังคม ไม่ใช่งานด้านการเมือง
กระทั่งปี 2558 อาจารย์สมคิด ได้เข้ามาเป็นรอง นายกฯด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขณะนั้นคือ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ได้ให้ไปช่วยงานในตำแหน่งที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงาน แต่ก็ไม่ได้ลาออกจากงานในมหาวิทยาลัย งานที่กระทรวงแรงงานนี้ พล.อ.ศิริชัยให้ไปเป็นบอร์ดกองทุนประกันสังคม ตั้งเป้าให้กองทุนประกันสังคมนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดำเนินงานอย่างมืออาชีพ จึงได้เข้าไปช่วยงานท่านอยู่ 2 ปี กระทั่งต่อมาท่านได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ต่อมาพักใหญ่ อาจารย์สมคิดได้เข้ามาถามว่า อยากไปช่วยงานกระทรวงการคลังหรือเปล่า เห็นว่าเราน่าจะช่วยงานได้ จึงได้ไปพบกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วได้เข้ามาช่วยงานแบบไม่เป็นทางการก่อน ก่อนจะตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมมอบหมายให้ดูแลนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดิจิทัลไอดี ฯลฯ จนเมื่อมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ดร.อุตตม สาวนายน ได้ทาบทามให้มาเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ แต่ส่วนตัวรู้จักกับ ดร.อุตตมตั้งแต่ช่วยทำสถาบันอนาคตไทยศึกษาแล้ว

•มีส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างไรบ้าง
จริงๆ ก็ไม่ได้มีส่วนมากกว่าคนอื่น และเป็นคนเข้าไปเสริมเสียมากกว่า นโยบายนี้นายอภิศักดิ์มอบหมายงานให้ทำ โดยกำชับว่าต้องหาแนวทาง เช่น ทำแล้วจะต้องเห็นผลเป็นรูปธรรม ต้องแก้ไขปัญหาของผู้มีรายได้น้อยให้ได้จริงๆ เน้นคัดกรองผู้มีรายได้น้อยจริงๆ หาแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น มีรายได้น้อยเพราะอะไร และจะเสริมทักษะอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยได้อย่างไร ทำอย่างไรเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยไม่กลับไปเป็นหนี้ เป็นต้น
นโยบายนี้ทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยนั้น มีปัญหาความยากจนอยู่ตรงไหน อย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่านโยบายยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่ควร เราก็น้อมรับเสียงวิจารณ์ แต่ในอนาคตจะต้องปรับเปลี่ยนกันไป เพราะเรื่องสวัสดิการนั้น มีอยู่ 2 แบบ 1.สวัสดิการถ้วนหน้าคือ ให้กับทุกคนแจกทุกคน จึงไม่มีปัญหาว่าใครจนหรือไม่จน แต่ทว่าต้องใช้งบประมาณมโหฬาร 2.แยกประเภทของผู้มีรายได้น้อย และช่วยเฉพาะคนที่มีความต้องการจริงๆ แต่ก็มีปัญหาอีกว่าทำแล้ว ผู้มีรายได้น้อยได้จริงๆ หรือไม่ ก็หวังว่าความผิดพลาดในส่วนนี้ คงจะไม่มาก และจากผลวิเคราะห์ก็พบว่ามีไม่มากนัก และคิดว่าประเทศไทยนั้น ควรจะใช้รูปแบบนี้ โดยวางระบบคัดกรองคนให้ดี อัพเดตข้อมูลตามห้วงเวลา เราได้ดูโมเดลการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ 100%

Advertisement

•งานการเมืองกับการเป็นนักวิชาการแตกต่างกันมากหรือไม่
แตกต่างมาก เพราะสิ่งที่เคยทำมานั้นคือ ด้านวิชาการและธุรกิจ แทบไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย ทั้ง 2 ส่วนที่ทำก่อนหน้านี้ เราได้รับการยอมรับพอสมควรจากคนในวงการ เช่น งานวิชาการก็ทำผลงานจนได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นศาสตราจารย์ ส่วนเอกชนเอง หลายที่ก็เชิญไปนั่งเป็นที่ปรึกษา คิดว่าชีวิตโอเคแล้ว
แต่อยู่ๆ เมื่อเดินเข้าสู่การเมือง ก็เหมือนนับหนึ่งใหม่ ขณะนี้ยังถือว่ากำลังเดินคลำทางอยู่ แต่ยังดี มีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ ผู้ใหญ่หลายท่านก็เมตตา ชี้แนะ และเป็นห่วง

•ตอนหาเสียง ดร.นฤมล ถูกยกให้เป็นเหมือนสัญลักษณ์นโยบายมารดาประชารัฐ
นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ จะมาจาก ส.ส.และแกนนำพรรค จะรู้ปัญหาความต้องการของพื้นที่ตัวเองเป็นอย่างดี ส่วนเราเหมือนเป็นแค่ผู้รวบรวม แล้วมาตกผลึก
จริงๆ คนที่พูดถึงนโยบายนี้คนแรกคือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ตอนนี้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ท่านทราบว่าเราจะมีส่วนในการเขียนนโยบาย จึงมาอธิบายถึงเรื่องของสิทธิผู้หญิงตั้งครรภ์ควรจะได้รับ เพื่อให้เด็กเกิดมามีการเจริญเติบโตที่ดี อันจะเป็นผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในภายภาคหน้า ดังนั้นจึงต้องดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ ส่วนตัวก็เคยทำเรื่องเกี่ยวกับสภาวะคนไทยมีบุตรน้อยลง อัตราการเกิดของประเทศนี้ลดน้อยลง จะส่งผลต่อประเทศ จึงได้นำข้อเสนอของนายสันติมาผนวกรวมกันเป็นนโยบายมารดาประชารัฐ โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นคนตั้งชื่อนโยบาย แต่เมื่อต้องพูดในเวที ดร.สุวิทย์กลับยกให้เราเป็นเหมือนตัวแทนมารดาประชารัฐ

•เข้ามาเป็นโฆษกรัฐบาลได้อย่างไร
ตำแหน่งโฆษกก็ไม่ได้วางแผนมาก่อนเช่นกัน เพราะเมื่อเป็น ส.ส.ก็ได้เข้าไปทำงานในสภาเพียง 2 เดือน กำลังดูว่าเราจะสามารถเข้าไปช่วยงานตรงไหนได้บ้าง บอกกับผู้ใหญ่เสมอว่า เราอยู่ตรงไหนก็สามารถทำงานได้ กระทั่งตอนที่มีข่าวว่านายกฯกำลังสรรหาโฆษก ก็พบว่ามีชื่อตัวเองปรากฏตามสื่อ เราก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยมีใครมาทาบทาม ขณะเดียวกันก็ลองถามตัวเองว่า เราจะสามารถทำงานในตำแหน่งโฆษกได้หรือไม่ ถ้าเขาเลือกจริง และพยายามศึกษาหาข้อมูลเผื่อไว้ แต่ก็ยังคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกคนอื่น เพราะมีข่าวว่าท่านอยากได้คนนอกมาทำหน้าที่นี้ อีกทั้งไม่มีการทาบทามใดๆ เพราะเราเข้าใจว่า ถ้าเลือกเรา อย่างน้อยก็คงต้องเรียกตัวไปคุย เพื่อจะได้รู้ทัศนคติกันเสียก่อน
แต่สุดท้ายทางทีมงานนายกฯได้ติดต่อมา เราจึงถือว่าได้รับเกียรติสูงมากจากนายกฯให้ความไว้วางใจ จึงคิดว่าท่านอาจจะดูจากหลายองค์ประกอบ รวมถึงจากการแนะนำของผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อท่านให้โอกาส เราก็ไม่ควรปฏิเสธ จึงตอบไปว่ายินดี

Advertisement

•โฆษกรัฐบาลถือเป็นตำแหน่งสำคัญ ได้เตรียมตัวอย่างไร
การเตรียมตัวก็ได้หาข้อมูลต่างๆ มาประกอบกัน เพราะงานโฆษกไม่ใช่แค่การออกหน้าสื่อ แต่ต้องบริหารข้อมูลข่าวสารหลังบ้านจำนวนมาก ที่สำคัญคือการกำหนดยุทธศาสตร์ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังรวมถึงภาพลักษณ์ในความเชื่อมโยงต่องานสภาด้วย เราพยายามทำตรงนี้ให้เกิดความชัดเจน โดยใช้บุคลากรที่มีอยู่ของสำนักโฆษก และขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะทุกคนอยากให้รัฐบาลมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน

•รับมืออย่างไร เพราะโฆษกเป็นด่านแรกที่คนจะวิจารณ์
ก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นแรงปะทะ เสียงวิจารณ์ ดูว่าเราจะเลือกตอบในประเด็นใดบ้าง และจะตอบแบบไหน อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี แต่เราก็มีผู้ใหญ่เชี่ยวชาญด้านการเมืองให้คำแนะนำอยู่ เข้าใจดีว่าหลายคนเป็นห่วงว่าเราจะไหวหรือไม่กับงานนี้ แต่เราจะพยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ประเด็นใดก็ตามที่ร้อนแรง เราจะพยายามชี้แจงด้วยข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ จะพยายามทำหน้าที่อย่างอดทน

•มีรูปแบบในการสื่อสารกับประชาชนอย่างไรบ้าง
สำหรับมุมที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี อยากให้ประชาชนได้เห็นอีกด้านหนึ่งของนายกฯ หลายคนไม่เคยได้เห็น จะพยายามสื่อสารว่านายกฯมีความตั้งใจทุ่มเทต่องานอย่างไรบ้าง เป็นการสื่อสารนอกเหนือจากหน้างาน แต่เป็นการสื่อสารให้เห็นในเบื้องหลังในรายละเอียด นำสิ่งเหล่านี้มาถ่ายทอดให้ประชาชนได้เห็นในรูปแบบต่างๆ ว่าผู้นำของเรานั้น มีความตั้งใจจริง มีความจริงใจจะช่วยเหลือประชาชน คิดว่าการสื่อสารรูปแบบนี้ จะทำให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงนายกฯมากขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ปรับโทนลงมามาก ดังนั้นเราจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารให้เห็นความเป็น พล.อ.ประยุทธ์ อีกรูปแบบหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นยันจบ จดการอภิปรายของฝ่ายค้านอย่างละเอียดยิบ พร้อมลุกขึ้นชี้แจงเท่าที่ชี้แจงได้ หาเอกสารมาประกอบด้วยตัวเอง เวลาพบกับผู้นำต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องมีโพย เพราะสามารถสื่อสารได้เลย งานทุกอย่างอยู่ในหัวของท่านหมดแล้ว นั่นเป็นเพราะ นอกจากความเข้าใจแล้ว แสดงว่าท่านเตรียมตัวมาอย่างดี
ส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาล เราอยากเป็นตัวกลางการสื่อสารเชื่อมพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ให้ทุกพรรคเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่ใช่เดินไปคนละทิศละทาง การสื่อสารจะต้องมีเอกภาพ

•งานประชาสัมพันธ์ คิดว่ามีอะไรจะต้องเพิ่มเติมจากรัฐบาลที่แล้ว
รูปแบบการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลที่ผ่านมา คิดว่าเป็นการประชาสัมพันธ์แบบสื่อสารผลงานของรัฐบาลซะส่วนใหญ่ ขณะที่ในมุมการเมืองนั้น ฝ่ายตรงข้ามได้โจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น วันนี้เรามีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านแล้ว หากมีการโจมตีรัฐบาล ก็จะทำหน้าที่ชี้แจง ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมานั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งเนื่องจากไม่มีฝ่ายค้าน จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายมากนัก
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสั่งการให้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ของฝ่ายค้าน หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการพูดในสภา หรือนอกสภา หากเห็นว่าเป็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เราก็พร้อมรับฟัง และนำมาปรับใช้ เราคิดว่าตรงนี้เหมือนทำงานวิชาการ เมื่อผลิตงานออกมา ก็ต้องการเสียงวิจารณ์ เพื่อนำไปปรับแก้ สุดท้ายจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

•ช่วงหลังๆ เห็นว่าสนิทกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงคิดว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็นคนเสนอให้เป็นโฆษก
ย้ำอีกครั้งว่าไม่ทราบใครเป็นคนเสนอชื่อ จริงๆ แล้วเพิ่งจะมารู้จักผู้กองธรรมนัสเมื่อเดือนมีนาคมนี้เอง จากการไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ เพราะพื้นที่นั้นเขาต้องการคนช่วยแบบเบาๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเก่า หากไปปราศรัยแบบดุเดือด ก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย จึงขอแบบผู้หญิงอ้อนๆ หวานๆ ทำให้ได้รู้จักกับผู้กองธรรมนัส เพราะผู้กองธรรมนัสเป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงภาคเหนือ แต่ความจริงแล้วเราอยู่กับ 4 กุมารมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมาทำงานในพรรค ก็ต้องประสานงานกับทุกคนทุกกลุ่ม

•ที่ผ่านมาคิดว่าการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างไรบ้าง
คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างมาก พล.อ.ประยุทธ์จำได้หมด ว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และเรียงลำดับการแก้ปัญหาต่างๆเป็นขั้นเป็นตอน พล.อ.ประยุทธ์ มักย้ำถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน พร้อมให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสร้างความยั่งยืน โดยต้องปฏิรูปบุคลากรของประเทศ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์จริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศจริงๆ

•พล.อ.ประยุทธ์จะต้องปรับเปลี่ยนบุคลิกตัวเองหรือไม่
คงไม่ต้อง เพราะแม้ในมุมหนึ่ง ท่านอาจดูเข้มแข็ง แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง ท่านอ่อนโยนและเป็นคนละเอียดอ่อน หากได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดจะรู้ว่าท่านใส่ใจผู้ร่วมงาน ใส่ใจประชาชน จะเห็นว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่กับชาวบ้าน จะมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์สวมกอดชาวบ้าน หรือไม่ก็น้ำตาคลอไปกับชาวบ้าน ไม่ได้มีแค่ภาพที่ดูเข้มแข็ง

•หลายฝ่ายมองว่าการดำเนินนโยบายรัฐบาล19 พรรคนั้นไม่ง่าย

ข้อดีของรัฐบาล 19 พรรค คือมีความเกรงอกเกรงใจกัน ไม่ใช่ใครคนเดียวมาทุบโต๊ะสั่งการได้เลย
นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามความขัดแย้ง ทุกคนต้องหลอมรวมความแตกต่าง และมาสมานฉันท์กันในเรือลำเดียวนี้ ไม่คิดว่าการมีรัฐบาลหลายพรรค จะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ แต่คิดว่าจะเกิดการประนีประนอมมากขึ้น เพราะพรรคร่วมทุกพรรค ก็อยากให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เมื่อมาร่วมรัฐบาลด้วยกันแล้วก็อยากให้รัฐบาลอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะเกิดความร่วมมือกัน

•จากนักวิชาการสู่บทบาทใหม่ การเมืองเป็นไปอย่างที่วาดฝันไว้หรือไม่?
ยังไม่มีอะไรผิดคาด เราก็จะอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น วันนี้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ ก็จะทำให้ดีที่สุด และไม่ยึดติดกับมัน ส่วนวันข้างหน้าจะเดินไปไหนต่อ ก็แล้วแต่โชคชะตาจะพาไป เหมือนที่บอกแล้วว่า อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้เหมือนกัน อนาคตทางการเมืองนั้น เราไม่เคยได้วางแผน แต่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ส่วนวันข้างหน้า จะไปไหนอย่างไร ก็แล้วแต่อนาคต

อนุชา ทองเติม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image